‘น้ำหอมนิช’ (niche perfume) เรายังสามารถใช้คำว่า ‘นิช’ (niche) กับมันได้อยู่หรือไม่

เมื่อใครๆ ก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับ ‘น้ำหอมนิช’ (niche perfume) จนเรายังอดสงสัยไม่ได้ว่าเรายังสามารถใช้คำว่า ‘นิช’ (niche) กับมันได้อยู่หรือไม่

Naxos จาก Xerjoff, Eyes Closed จาก Byredo, 724 จาก Maison Francis Kurkdjian, Viking Cologne จาก Creed, English Oak & Hazelnut จาก Jo Malone London

Author: Chayanon Chongprasert
Photographer: Ponpisut Pejaroen

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น้ำหอมและชายหนุ่มนั้นกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้น จากที่เมื่อก่อนหลายๆ คนจะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือทำให้พวกเขาดู ‘สำอาง’ ไปเลยเหลือเกิน กลิ่นหอมที่บ่งบอกถึงตัวตนและอารมณ์ของพวกเขาต่างก็ถูกประพรมไปทั่วร่างกาย แต่เห็นจะมีน้ำหอมจำพวกหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นนั่นก็คือ ‘น้ำหอมนิช’ (niche perfume) กลิ่นหอมที่มีคาแรคเตอร์และเรื่องราวที่น่าตื่นตา ที่ตอนนี้ใครๆ ก็ต้องมีไว้ซักขวดถึงแม้คำว่าน้ำหอมนิชจะกลายเป็นที่คุ้นหูในไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ตั้งแต่ในยุคโบราณน้ำหอมเองนั้นไม่ว่าจะเป็นกลิ่นในโทนใดก็ตาม ก็ต่างถูกจัดให้เป็น ‘สินค้าเฉพาะกลุ่ม’ (niche product) ทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่ปัจจัยของกลิ่นหอมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยของราคา ความรู้และความเข้าใจ รวมไปถึงรสนิยม จึงสร้างความเอ็กซ์คลูซีฟให้กับน้ำหอมไปโดยปริยาย เพราะคนบางกลุ่มเท่านั้นที่จะเลือกใช้ ดื่มด่ำ และเข้าถึงน้ำหอมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความพิถีพิถันเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นราชนิกุล ชนชั้นสูง หรือคนร่ำรวย น้ำหอมถือเป็นงานศิลป์ชนิดหนึ่งที่ต้องการมากกว่าแค่สัมผัสการดมกลิ่นเพื่อเข้าถึงมันในยุคนั้นเลยก็ว่าได้แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้การผลิตสินค้าต่างๆ นั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็วเพื่อจำนวนที่มากยิ่งขึ้น สินค้าหรูหราไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าจากแบรนด์แฟชั่นหรือแม้แต่น้ำหอมเองก็ต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของฐานผู้บริโภคที่กว้างขึ้นด้วยการมาถึงของห้างสรรพสินค้า นั่นก็นำไปสู่การเข้าถึงที่ง่ายดายมากยิ่งขึ้นของสินค้าเหล่านี้ไปโดยปริยายอย่างไรก็ตามเราก็ยังสามารถเห็นได้ถึงความเอ็กซ์คลูซีฟของน้ำหอมที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง เพราะมันถูกหยิบไปเชื่อมโยงกับโลกของแฟชั่นอย่างชัดเจนทุกอเตลิเย่ร์แฟชั่นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น Chanel, Dior, Givenchy หรือ Lanvin ก็ต่างเปิดตัวน้ำหอมกลิ่นซิกเนเจอร์ที่ผูกโยงกับเรื่องราวของแบรนด์ทั้ง, Miss Dior, L’Interdit และ My Sin ซึ่งก็ยังถูกเพิ่มคุณค่าในด้านต่างๆ เข้าไปมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกว่ากลิ่นเหล่านี้นั้นเปรียบดังผู้หญิงของแบรนด์นั้นๆ ทำให้ผู้ใช้ยิ่งมีจินตนาการเมื่อฉีดพรม หรือถูกเปรียบให้เหมือนหนึ่งในอาภรณ์ชิ้นเด่นของแบรนด์ อย่างคำพูดของมงซิเออร์ดิออร์ที่ว่า “A drop of perfume and you are dressed in Dior!”

อย่างไรก็ตาม ความเอ็กซ์คลูซีฟที่ถ่ายทอดผ่านลงมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณนั้นก็ถูกแสดงออกมาแบบครึ่งๆ กลางๆ ด้วยน้ำหอมที่ถูกโปรโมทโดยแบรนด์แฟชั่นชั้นนำมาในราคาที่ค่อนข้างจับต้องได้มากยิ่งขึ้น และจำนวนของน้ำหอมจากแบรนด์แฟชั่นเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นอย่างมากโขนั้นก็ทำให้มันไม่ได้เป็น ‘สินค้าเฉพาะกลุ่ม’ (niche product) อีกต่อไป ถึงแม้จะมีไลน์น้ำหอมชั้นสูงอยู่ในแบรนด์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากนัก จนทำให้ผู้คนมากมายต่างก็สามารถดื่มด่ำไปกับจินตนาการอันหอมหวนเหล่านี้ได้ ทำให้เกิดหลายมุมมองที่ถกเถียงกันขึ้นมาภายในอุตสาหกรรมน้ำหอมว่าผลิตภัณฑ์นี้นั้นยังคงเต็มไปด้วยความพิถีพิถันมากน้อยแค่ไหน และผู้คนที่ใช้หรือเป็นเจ้าของน้ำหอมนั้นได้ดื่มด่ำกับจิตวิญญาณของงานศิลป์แห่งกลิ่นนี้อย่างลึกซึ้งแค่ไหน จนกลายมามีคำกล่าวของนักปรุงน้ำหอมนิชสัญชาติอังกฤษอย่าง Roja Dove ออกมาว่า “People don’t really smell perfume anymore, they smell marketing.” ถึงอย่างนั้น เราก็ต่างรู้ดีว่ากระแสแฟชั่นนั้นก็เปลี่ยนไปตามความต้องการหาตัวตนของแต่ละบุคคล โลกของน้ำหอมนั้นก็เช่นกัน กลิ่นหอมที่คุ้นหน้าคุ้นตาหรือจะเรียกว่าเป็นกลิ่นแนวแมสนั้นก็ได้ถูกใช้และดื่มด่ำจนทะลุปรุโปร่งไปหมดแล้ว จึงไม่แปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มเสาะหากลิ่นหอมใหม่ๆ ที่สามารถระบุความเป็นตัวของเขาเหล่านั้นได้อย่างโดดเด่นกว่าใคร ชื่อของเมซงน้ำหอมที่มีอายุยาวนานและยังคงผลิตน้ำหอมด้วยความประณีตจึงกลายมาเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้ง Xerjoff, Maison Francis Kurkdjian, Diptyque หรือ Jo Malone London ในอีกด้านแฟชั่นแบรนด์หรือแม้แต่บิวตี้แบรนด์ชื่อดังก็ต่างหันมาโปรโมทหรือเปิดตัวไลน์น้ำหอมชั้นสูงของตัวเองอีกครั้งทั้ง Le Exclusifs de Chanel, La Collection Prive ของ Dior หรือ L’Art et la Matire ของ Guerlain และเมื่อโลกของน้ำหอมนิชถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ที่ได้เข้าสู่โลกนี้นั้นก็สามารถสัมผัสได้ถึงความโดดเด่นที่ยากจะหาได้ตามน้ำหอมทั่วไป ทั้งกลิ่นหอมที่มีมิติ พัฒนาเปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาและเคมีบนผิว กลายเป็นกลิ่นหอมที่มีเอกลักษณ์หาตัวจับได้ยาก ถึงแม้ว่าบางกลิ่นนั้นจะมีส่วนผสมน้อยเสียยิ่งกว่าน้ำหอมในท้องตลาดโดยทั่วไป พร้อมกับเรื่องราวและแรงบันดาลใจที่ช่างน่าค้นหา แถมบางกลิ่นยังเปิดกว้างไร้ซึ่งขอบเขตเรื่องเพศนอกจากจะเป็นกลิ่นหอมที่น่าหลงใหลประจำตัวแล้วนั้น

Naxos จาก Xerjoff, Eyes Closed จาก Byredo, 724 จาก Maison Francis Kurkdjian, Viking Cologne จาก Creed, English Oak & Hazelnut จาก Jo Malone London

ในปัจจุบันน้ำหอมนิชก็กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเรื่องของรสนิยมที่แตกต่าง และความดื่มด่ำในศิลปะแห่งกลิ่น เพราะกลิ่นของน้ำหอมนิชหลายกลิ่นนั้น ถึงแม้จะมาพร้อมความน่าสนใจ แต่ก็มักจะมาพร้อมกับกลิ่นที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ คุณไม่สามารถตัดสินอะไรได้เลยจากกลิ่นที่ผ่านพ้นหัวสเปรย์มาเพียงไม่กี่นาที มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ได้เกิดมาสำหรับทุกคน’ ก็ว่าได้ แต่ในทางกลับกัน น้ำหอมนิชบางกลิ่นอย่างเช่น ‘Baccarat Rouge 540’ กลิ่นขายดีติดอันดับของแบรนด์ Maison Francis Kurkdjian ก็เหมือนจะกลายเป็นที่นิยมจนอาจจะเสียภาพของน้ำหอมนิชไปเสียแล้ว เป็นปรากฏการณ์ที่เราถึงกับต้องถามตัวเองว่า “เรายังเรียกมันว่าน้ำหอมนิชได้อยู่หรือเปล่า” เรียกได้ว่า ณ ขณะนี้เป็นช่วงยุครุ่งเรืองอีกครั้งของน้ำหอมนิชก็ว่าได้ ถึงกาลเวลาจะเปลี่ยนไป แต่ความเป็นเอกลักษณ์ใหม่ๆ ก็ถูกค้นหาโดยคนเราอยู่เสมอไป ทำให้โลกของน้ำหอมนั้นดูมีสีสันและความหลากหลายขึ้นไปโดยปริยาย แต่ในฐานะหนึ่งในผู้ชื่นชอบงานศิลป์แห่งกลิ่นหอมนี้ เราก็ยังคอยจับตามองอุตสาหกรรมน้ำหอมนิชอยู่ทุกย่างก้าว และได้แต่ตั้งคำถามว่าอนาคตของมันจะต่อยอดไปถึงตรงไหน ความหรูหรา อู้ฟู่ น่าหลงใหลของมันจะยังคงเป็นที่ดึงดูดอยู่หรือไม่ในสภาวะของโลกที่เร่งรีบและความใส่ใจในความยั่งยืนต่อธรรมชาติในปัจจุบัน น้ำหอมนิชในวันนี้จะยังคงความ ‘นิช’ ของมันไปได้นานเพียงใด และน้ำหอมแบบไหน

Model: Jung-min @WM Management
Grooming: Sirima Khongtong