พาย้อนชมทุกเรื่องราวก่อนปิดฉากตำนานเครื่องยนต์ V12 จิตวิญญาณอันเร้าใจของยานยนต์คาแรคเตอร์เท่ ลัมโบร์กินี 


เตรียมโบกมือลาสาวกกระทิงดุอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับเครื่องยนต์ V12 แบบไร้ระบบอัดอากาศผลงานการผลิตขุมพลังเบนซินอันยอดเยี่ยมที่ขับเคลื่อน Lamborghini (ลัมโบร์กินี) มายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนได้เวลาเดินทางเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านอย่างเต็มตัวกับการเปิดตัวรถสปอร์ตซูเปอร์คาร์ไฮบริดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2023 ซึ่งก่อนที่เราจะไปเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ร่วมกัน จึงถือโอกาสนี้รวบรวมทุกเรื่องราวน่าจดจำเพื่อเป็นเกียรติส่งท้ายให้กับตำนานเครื่องยนต์สุดยิ่งใหญ่แห่งยนตรกรรมโลก

เครื่องยนต์ V12 ถือเป็นหัวใจสำคัญของลัมโบร์กินีมาตั้งแต่ปี 1963 ซึ่งจวบจนปัจจุบันมีการผลิตเครื่องยนต์ V12 เพียงแค่ 2 รุ่นที่ถูกวางอยู่ในรถซูเปอร์สปอร์ตคาร์ โดยรุ่นแรกเป็นเครื่องยนต์พื้นฐานสำหรับรถแข่งที่ “ถูกปรับแต่ง” สำหรับใช้วิ่งบนท้องถนนซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของจิอ็อตโต้ บิซซารินี เปิดตัวครั้งแรกในรถยนต์ลัมโบร์กินีรุ่นแรกอย่าง 350 GT ส่วนเครื่องรุ่นที่สองถูกออกแบบใหม่ทั้งหมดแต่ยังคงยึดแนวคิดเชิงเทคนิคแบบเดิม ติดตั้งครั้งแรกในรถยนต์ตระกูล Aventador เปิดตัวในปี 2011 ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญของบริษัท ตลอดจนการสร้างมาตรฐานใหม่ทั้งในด้านกำลังเครื่องและประสิทธิภาพที่มั่นใจได้

เดิมทีบิซซารินีรังสรรค์เครื่องยนต์ V12 เพียงเพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทสามารถก้าวเข้าสู่โลกของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต ทว่า เฟอร์รุชโช ลัมโบร์กินี กลับนำมาทำเป็นเครื่องยนต์สำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ จนกลายเป็นเรื่องราวแห่งยนตรกรรมอันน่าหลงใหลที่สืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยหลังจากใช้ในรถยนต์ 350 GT และรุ่นต่อยอดอื่นๆ เครื่องยนต์ V12 ได้ถูกนำมาวางไว้ในรถยนต์Miura ในปี 1966, Countach ในปี 1971, Diablo ในปี 1990 รวมถึงรุ่น Murciélago

เมื่อเครื่องยนต์ถูกพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นจาก 3.5 ลิตรในรุ่น 350 GT เป็น 6.5 ลิตรในรุ่นMurciélago จึงยิ่งจำเป็นต้องลดน้ำหนักลง ด้วยเหตุนี้ลัมโบร์กินีจึงริเริ่มใช้วัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดน้ำหนักของเครื่องยนต์บนโครงแชสซี

เมาริซิโอ เรจจิอานี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ลัมโบร์กินี กล่าวไว้ว่า “ด้วยความจุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เครื่องยนต์ยาวขึ้น ซึ่งหมายความว่าเราต้องย้ายจุดศูนย์ถ่วงไปที่ส่วนท้ายของตัวรถ ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้เกิดความลำบากในการขับขี่และคุณต้องประสบกับอาการท้ายปัดมากขึ้น เราจึงต้องปรับรูปแบบการวางตำแหน่งเครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด โดยใช้เครื่องยนต์เป็นตัวเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วงของรถ” 

จึงเป็นที่มาของแนวคิดและการคิดค้นเพลาลูกเบี้ยวคู่ ซึ่งเป็นการออกแบบเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์เป็นครั้งแรก ที่ช่วยเพิ่มมุมองศารูปตัว “V” ของเครื่องและทำให้ได้จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง โดยเลือกติดตั้งเครื่องยนต์แนวขวางบริเวณกลางส่วนท้ายของรถยนต์ Miura เพื่อให้มีการกระจายน้ำหนักที่ดีขึ้นและทำให้ระยะช่วงล้อสั้นลง โครงของกระปุกเกียร์และเฟืองท้ายยังถูกผสานเป็นหนึ่งเดียวกับระบบส่งกำลัง ในขณะที่รุ่น Countach ที่มุ่งมั่นยกระดับประสิทธิภาพการกระจายน้ำหนัก ทีมนักออกแบบได้เลือกใช้เครื่องยนต์แบบเดิมแต่เปลี่ยนตำแหน่งติดตั้งมาเป็นบริเวณกลางท้ายตัวถังและหมุนมุมเพิ่มอีก 90 องศา ซึ่งถือว่าเป็นการปรับมุมจากครั้งแรกในรุ่น 350 GT ไปถึง 180 องศาเลยทีเดียว

ความท้าทายครั้งใหม่ เริ่มต้นขึ้นเมื่ออาวดี้ (Audi) ซื้อหุ้นส่วนใหญ่ในลัมโบร์กินี ซึ่งเจ้าของรายใหม่ตระหนักดีว่า
ลัมโบร์กินีต้องการรักษาอัตลักษณ์และความโดดเด่นระดับเอ็กซ์คลูซีฟเอาไว้ “นับตั้งแต่วันแรก อาวดี้เข้าใจดีว่าสิ่งใดที่สามารถร้องขอจากลัมโบร์กินีได้และสิ่งใดที่ขอไม่ได้ ซึ่งการเคารพความต้องการของกันและกันช่วยสร้างสมดุลให้ทั้งสองบริษัทสามารถพัฒนาผ่านการส่งเสริมจุดเด่นที่แตกต่างกันของทั้งคู่” เรจจิอานี กล่าว

จึงมีการใช้แนวทางที่แตกต่างเพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องยนต์ V12 จากเดิมที่พยายามเพิ่มกำลังเครื่องให้ได้สูงสุด ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญในด้านประสิทธิภาพเชิงปริมาณเพื่อให้สอดคล้องตามกฎข้อบังคับที่เริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในรถยนต์ Murciélago ซึ่งเผยโฉมในปี 2001 ด้วยเครื่องยนต์ V12 ความจุ 6.2 ลิตร ที่ให้กำลังเครื่อง 580 แรงม้า ต่อมาได้รับการอัพเดตในปี 2007 เป็นเครื่องยนต์ความจุ 6.5 ลิตร และมอบกำลังเครื่องได้อย่างน่าประทับใจถึง 670 แรงม้า นอกจากนี้ยังสามารถทำให้ตัวรถเบางลงได้ถึง 100 กก. รวมถึงมีการอัพเกรดเครื่องยนต์
ในหลายๆ ด้าน อาทิ ดรายปั๊ม ซึ่งช่วยให้ลัมโบร์กินีสามารถลดระยะระหว่างเพลาข้อเหวี่ยงและด้านล่างของตัวรถ ช่วยปรับปรุงการบังคับรถให้ดียิ่งขึ้น 

โดยต้องยอมรับว่าการพัฒนาเครื่องยนต์ V12 ในรถยนต์ Murciélago ทำให้ลัมโบร์กินีค้นพบตำแหน่งที่ชัดเจนของตัวเองภายในอาณาจักรของอาวดี้ และยิ่งไปกว่านั้นการตัดสินใจออกแบบเครื่อง V12 ใหม่ทั้งหมด ทำให้ทีมนักออกแบบของลัมโบร์กินีสามารถตั้งเป้าหมายใหม่และสร้างประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ได้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  

Aventador จัดเป็นรถยนต์ที่ผลิตด้วยเครื่องยนต์รูปแบบใหม่ครั้งแรกภายใต้ร่มเงาของอาวดี้ ซึ่งคือรุ่นสุดท้ายของ
ลัมโบร์กินีที่มาพร้อมเครื่องยนต์ V12 แบบไร้ระบบอัดอากาศ ก่อนที่แบรนด์จะก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องยนต์ไฮบริดในอีกไม่ช้า

เรจจิอานี กล่าวว่า สำหรับลัมโบร์กินี รถยนต์ Aventador เปรียบเสมือนการพิสูจน์ว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านกำลังเครื่อง น้ำหนัก ประสิทธิภาพ รวมถึงความทนทานที่ทางกลุ่มบริษัทต้องการจากเรา ซึ่งผลลัพธ์ก็เห็นได้ชัดเจน เพราะเราสามารถจำหน่ายรถยนต์รุ่นนี้ได้มากเป็นสองเท่าจากที่คาดการณ์ในช่วงแรก และสิ่งนี้ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีถึงความสำเร็จของ Aventador

โดยเขายังกล่าวอีกว่า “เราตระหนักได้ว่าตลอดอายุของรถยนต์ Aventador จำเป็นต้องเพิ่มกำลังเครื่องยนต์อย่างน้อย 10% ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่มาก” จะเห็นได้จากเครื่องยนต์ของAventador ซึ่งเปิดตัวมาในปี 2011 มอบกำลังเครื่องยนต์ 690 แรงม้าที่ 8,250 รอบต่อนาที ด้วยความจุ 6.5 ลิตร ต่อมาได้ถูกปรับแต่งสำหรับใช้กับรถยนต์รุ่น LP 700-4 ในปี 2013, รุ่น LP 750-4 ในปี 2015, รุ่น Superveloce ในปี 2016 โดยในรุ่น SVJ ปี 2019 ได้เพิ่มกำลังเครื่องยนต์ขึ้นเป็น 759 แรงม้า และในปี 2021 กับรุ่น Ultimae รถยนต์สำหรับท้องถนนรุ่นสุดท้ายในตระกูล Aventadorที่มาพร้อมกำลังเครื่องถึง 780 แรงม้า

ร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษจากซูเปอร์สปอร์ตคาร์ได้ที่ “ลัมโบร์กินี กรุงเทพฯ” โชว์รูมและศูนย์บริการครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุด
ในเอเชียแปซิฟิก ถนนวิภาวดีรังสิต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-512-5111

rhunrun เรียบเรียง