ชวน FrenchW คุยถึงผลงานเพลงและบทเรียนชีวิตทางด้านดนตรี

Share This Post

- Advertisement -

Photographer: Ponpisut Pejaroen

Direction by: Napat Roongruang

ความฝันเป็นจริง

จากศิลปินอิสระเจ้าของอีพี ‘29 to 3’ จนได้รับการทาบทามจากค่าย Tero Music มาวันนี้ เฟรนช์ – สหรัฐ วงศ์อนันต์ชัย หรือ FrenchW ก็กลายเป็นศิลปินอีกคนที่น่าจับตาจากเพลง ‘โทรศัพท์เครื่องเก่า (Memories)’ เฟรนช์ย้อนเล่าถึงวันที่ได้วัตถุดิบในการแต่งซิงเกิลนี้ว่า “เพลงโทรศัพท์เครื่องเก่าเกิดขึ้นตอนที่เฟรนช์เก็บห้องอยู่ แล้วไปเจอโทรศัพท์เครื่องเก่า มันก็มีเรื่องราวหลายๆ อย่างในอดีต เหมือนกับสิ่งที่รวบรวมความทรงจำของเราไว้ ซึ่งอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ แต่สุดท้ายแล้ว มันทำให้ชีวิตของเราในวันนี้มีความหมายครับ” ด้วยเนื้อหาตรงไปตรงมาและติดหู ก็ทำให้เอ็มวีเพลงนี้มียอดรับชมบน YouTube เกินสิบล้านครั้งไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวก็ภูมิใจกับผลตอบรับเกินความคาดหมายนี้ “ชื่นใจและดีใจครับ ที่ได้เห็นเพลงนี้มีความหมายสำหรับใครบางคนไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องแย่ๆ อยู่ หรือว่าเจอเรื่องดีๆ แล้วมีเพลงนี้เป็นเพื่อนเขา”

ตอนที่เราได้รับข้อมูลคร่าวๆ ก่อนสัมภาษณ์ เราเห็นว่าเฟรนช์ฝันที่จะเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอนไหนกันล่ะที่เขาตัดสินใจได้ ‘จริงๆ’ ว่าจะทุ่มเทชีวิตบนเส้นทางดนตรี “ตอนอายุ 16-17 ครับ ต้องบอกว่าเป็นตอนจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อเลยก็ได้ ช่วงนั้นเราขอที่บ้านไปเรียนโปรแกรมดนตรีช่วงซัมเมอร์ที่ Berklee [College of Music] ในบอสตัน เราก็ได้เปิดโลก แล้วหลายๆ คนทำให้เราอยากจะจริงจังด้านนี้ พอเรากลับมาบ้านเลยบอกว่า ‘พ่อแม่ครับ เฟรนช์อยากเป็นศิลปิน’” หลังจากลองออกเล่นตามร้านในกรุงเทพฯ เฟรนช์ก็ไปเรียนต่อปริญญาตรีด้านดนตรีโดยตรงที่สถาบัน BIMM ในอังกฤษ ที่ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้และขัดเกลาความคิดเกี่ยวกับการเป็นศิลปิน

ประสบการณ์ในห้องเรียน

สำหรับเฟรนช์ บทเรียนสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้จนถึงตอนนี้คือการใส่ใจในรายละเอียด “ผมได้บทเรียนนี้มาตอนเรียน ป.ตรี ที่อังกฤษครับ [อาจารย์] เขาบอกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในระดับมือสมัครเล่น หรือระดับมืออาชีพ คุณต้องใส่ใจรายละเอียดที่คุณทำลงไปทุกอย่าง เพราะว่านั่นจะบ่งบอกให้คนดูได้รู้ว่าคุณเป็นศิลปินที่ดีหรือไม่” นอกจากนี้ ในฐานะที่เฟรนช์เคยผ่านระบบการศึกษามาสามประเทศ เราจึงอยากรู้ว่าแนวทางการเรียนการสอนดนตรีในอเมริกา อังกฤษ และไทย เหมือนหรือต่างกันอย่างไร “จริงๆ ด้านเนื้อหาก็ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนะครับ หลักๆ จะต่างกันตรงที่ mindset และการสื่อสารมากกว่า อย่างเช่น ตอนเรียนอยู่ที่อังกฤษ เฟรนช์ไม่ได้ซ้อมเพลงที่จะต้องไปแสดงกับเพื่อนๆ ในคลาส ครูเขาเลยบอกว่า ‘ยูไม่ต้องเข้ามา ออกไปเลย ไปซ้อมมาหนึ่งชั่วโมง แล้วค่อยกลับมา’ ผมไม่เคยเจอตอนอยู่ไทยที่ครูก็จะอะลุ่มอล่วยกว่าครับ”

นอกจากเนื้อหาในตำราแล้ว เฟรนช์เล่าให้เราฟังว่า วงการเพลงไทยก็มักจะเป็นหัวข้อที่เขาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับอาจารย์ในอังกฤษอยู่ตลอด “เขาบอกว่ามันมีอยู่สองอย่าง คือ input และ output สมมติว่าเราพูดถึงวงการ T-pop ในภาพรวม อินพุตของเรา คือ อัตลักษณ์และสิ่งที่เรามีอยู่ เขาบอกว่าต้องหาจุดเด่นให้เจอ แบบที่ K-pop หรือ Britpop ทำได้ ที่สำคัญก็คือต้องให้ชาวต่างชาติเข้าถึงจับต้องได้ ส่วนเอาต์พุตก็คือการนำกระแสของเราออกไปอยู่ในระดับโลก จะทำได้อย่างไรล่ะ เราก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องเสรีภาพในการพูดและความคิด เฟรนช์เชื่อว่าศิลปะจะเบ่งบานที่สุดต่อเมื่อไม่มีอะไรมากีดกั้น หรือว่าจะต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ศิลปินไทยได้แสดงออกมากขึ้น [ถ้าเป็นเช่นนั้น] ก็สร้างกระแส T-pop ในระดับโลกต่อไปได้ครับ”

สนามชีวิตจริง

หากสิ่งที่เรียนมาคือเสาเข็ม ประสบการณ์จริงก็คือโครงสร้างส่วนอื่นๆ ที่ผู้คนจะเห็น การทำงานในระบบค่ายทำให้เฟรนช์ตระหนักถึงแง่มุมอื่นๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ไปกว่าการสร้างสรรค์เพลง “ตอนทำเพลงลงตามสตรีมมิงต่างๆ เอง มันเหมือนกับเราเปิดก๊อกน้ำ เปิดน้ำลงมาใส่แก้วให้คนได้ดื่มโดยไม่มีตัวกรองครับ แต่พอมาอยู่กับค่าย มันก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องกรองก่อน ต้องมีการพูดคุยกับโปรดิวเซอร์และทีมงานค่าย แล้วก็มีกระบวนการกรูมมิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอ็มวี เสื้อผ้าหน้าผม โซเชียลมีเดีย ซึ่งมีแผนงานและกลยุทธ์ที่ชัดเจนขึ้น” เขาพูด

แม้จะเป็นการสัมภาษณ์สั้นๆ แต่เราก็ได้เห็นถึงความตั้งใจและความคิดหลายๆ ด้านของเฟรนช์ เชื่อว่าหากเขายังคงมีไฟและใจรักในการเป็นศิลปินอย่างที่เป็นอยู่ เขาจะค้นพบสิ่งใหม่ๆ บนเส้นทางดนตรีไปอีกนานเท่านาน

– Author: Peerachai Pasutan –

ติดตามผลงานของ FrenchW ได้ทุกช่องทางสตรีมมิง และ YouTube: FrenchW, Tero Music

- Advertisement -