POP ART : Keep The Distance

Author: MutAnt

Photography: Courtesy of The Gallery

ที่ผ่านๆ มา เมื่อเราเอ่ยถึงศิลปะนามธรรม (abstract art) คนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงและเข้าใจยากจนต้องปีนกระไดดู หรือไม่ก็พานคิดว่าเป็นงานศิลปะของคนมักง่าย ที่ทำอะไรมั่วๆ ขึ้นมาก็ได้ จนบางคนอาจถึงกับกล่าวว่า “ลูกอายุสามขวบที่บ้านก็ทำได้” ก็ยังมี จนทำให้เกิดระยะห่างขวางกั้นระหว่างงานศิลปะนามธรรมกับคนทั่วไปจนไกลโขทั้งๆ ที่ผลงานเหล่านี้ปรากฏให้เห็นจะแจ้งอยู่ข้างหน้า เช่นเดียวกับนิยามและความหมายที่ปรากฏในชื่อของนิทรรศการหนึ่งที่มีชื่อว่า Distance and Existence

นิทรรศการที่พยายามนำเสนอบทสนทนาเพื่อลดระยะห่างที่คั่นกลางระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะนามธรรม และพยายามนำเสนอแนวความคิดและการรับรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อผู้ชมให้เข้าถึงภาษาของศิลปะนามธรรมร่วมสมัยยิ่งขึ้น จากการรวมตัวกันของ 5 ศิลปินหลายรุ่นที่น่าจับตาอย่างเกศ ชวนะลิขิกร, กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย, จิรัชยา พริบไหว, อ้อ สุทธิประภา และอมรเทพมหามาตร กับผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวางหลากชนิด ที่ถูกคัดสรรโดยภัณฑารักษ์หนุ่มหน้ามน ชล เจนประภาพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจิตรกรรมนามธรรมของเกศ ชวนะลิขิกร ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอกระบวนการทำงานจิตรกรรมผ่านผลงานภาพวาดสีเอกรงค์อันเคร่งขรึม แต่แอบซ่อนชั้นสีสดใสหลากสีสันที่ถูกทับซ้อนกันหลายชั้นข้างใต้พื้นผิวด้านบน หากเผยให้เห็นเป็นคราบไคลหลากสีที่ไหลย้อยด้านข้างเฟรมผ้าใบ โดยไม่บอกเล่าเรื่องราวใดๆ ปล่อยให้ผู้ชมตีความและจินตนาการถึงความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ตามใจปรารถนา

หรือผลงานจิตรกรรมนามธรรมของกิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ที่เล่นกับมิติของความแบนและความลึก ความแตกต่างระหว่างพื้นผิวทั้งเรียบ ด้าน และมันเงาการจับคู่เปรียบของวัสดุต่างชนิด และการจับคู่ความขัดแย้งแตกต่างระหว่างบางสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างแสงสว่างในยามกลางคืน แสงอาทิตย์ในยามฝนตก หรือความร้อนของน้ำแข็ง ด้วยงานจิตรกรรมที่เป็นส่วนผสมของสีอะคริลิก การคอลลาจ (ตัดแปะ) กระดาษสี และการเคลือบแล็กเกอร์บนแคนวาส

ผลงานของจิรัชยา พริบไหว ได้แรงบันดาลใจจากสวนหลังบ้านของเธอที่เป็นเสมือนหนึ่งพื้นที่ทางจิตวิญญาณ และกิจกรรมการทำสวนที่เปรียบดังการทำสมาธิ จิรัชยาสังเกตปรากฏการณ์ในสวนอย่างแสงแดด สายลม หรือร่องรอยการบินของผีเสื้อ ออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมนามธรรมสีอะคริลิกบนผ้าใบ ที่สะท้อนถึงการให้คุณค่ากับเวลาในปัจจุบันขณะของชีวิต

หรือผลงานของอ้อ สุทธิประภา ในรูปของศิลปะจัดวางจากเซรามิกที่ผสานสองขั้วระหว่างความแกร่งและบอบบางของเซรามิก ด้วยรูปทรงที่โค้งมนและอ่อนช้อย ราวกับรูปทรงกำลังพลิ้วไหวไปตามกระแสของธรรมชาติ และความแข็งแกร่งของดินเหนียวที่นำเสนอได้อย่างลื่นไหล กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มในผลงาน

และผลงานของอมรเทพ มหามาตร ที่สื่อสารถึงความเป็นอดีตและปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ที่เขาเข้าไปสัมผัสกับแหล่งอารยธรรมเก่าก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุสิ่งของในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ ที่ส่งแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเซรามิกนามธรรม ที่สื่อถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติด้วยความเคารพและสัมผัสด้วยใจ รวมถึงผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากอักขระภาษาธรรมโบราณทับซ้อนกันจนกลายเป็นงานสุนทรียะแบบนามธรรมในแบบของเขาเอง

ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า “นิทรรศการครั้งนี้เริ่มต้นจากความสนใจของผมเกี่ยวกับงานศิลปะนามธรรม ผมมองว่าก่อนหน้านี้เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคทองของศิลปะนามธรรม’ ในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2500 – 2520 มีศิลปินนามธรรมในประเทศไทยเกือบ 100 คน หลังจากนั้นมา ศิลปะนามธรรมก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง แต่อันที่จริงแล้วก็ไม่ได้หายไปไหน ศิลปินที่ทำงานศิลปะนามธรรมก็ยังคงทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ศิลปินบางคนอาจเปลี่ยนทิศทางไปทำงานในแนวทางอื่นๆ ผมก็เลยตั้งคำถามถึงความแตกต่างในปัจจุบัน ระหว่างศิลปินนามธรรมผู้ยังคงยืนยันแนวทางเดิม ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเคลื่อนไหวของศิลปะนามธรรมจากตะวันตกหรืออเมริกันในช่วงยุคสงครามเย็น กับศิลปินนามธรรมเจนเนอเรชันใหม่ๆ ที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับกระแสเคลื่อนไหวของตะวันตกเลย หากแต่ทำงานในแนวคิดแบบร่วมสมัย ทำให้นิยามของศิลปะนามธรรมเกิดความเปลี่ยนแปลงไป นับจากยุคทองที่ศิลปะนามธรรมถูกนำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์เท่านั้น แต่ในปัจจุบัน สื่อทางศิลปะอื่นๆ อย่างงานเซรามิก หรือศิลปะจัดวาง (installation art) ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในงานศิลปะนามธรรมมากขึ้น”

“ผมเลยรู้สึกว่าอยากจะทำนิทรรศการที่สร้างบทสนทนาระหว่างศิลปินสองยุคสมัย โดยเริ่มต้นจากศิลปินรุ่นใหญ่อย่างเกศ ชวนะลิขิกร ที่ถือว่าเป็นศิลปินชั้นครูของงานนามธรรมคนหนึ่งที่ทำงานมาอย่างยาวนานมาก กับผลงานจิตรกรรมนามธรรมบนผืนผ้าใบที่ใช้ฝีแปรงและสีสันอย่างเป็นอิสระในการแสดงออก ตามมาด้วยศิลปินรุ่นกลางอย่างอมรเทพ มหามาตร ที่ทำเซรามิกเป็นงานศิลปะนามธรรมที่มีความโดดเด่นในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ศิลปินเซรามิกอีกคนอย่างอ้อ สุทธิประภา ที่ทำงานเซรามิกในแบบนามธรรมในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และการหันมาทำความเข้าใจกับสภาวะภายในของตนเอง ผมมองว่ากระบวนการทำงานเซรามิกมีความสอดคล้องกับงานศิลปะนามธรรมตรงที่การทำงานเซรามิกมักจะมีเรื่องของความไม่คาดหมายและเหตุบังเอิญในกระบวนการทำงาน เช่นเดียวกับการทำงานศิลปะนามธรรม”

“หรือศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยอย่างกิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ที่ทำงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์แบบนามธรรมเชิงทดลอง ที่นำเสนอผ่านเทคนิคการคอลลาจ (ตัดแปะ) ลงบนผืนผ้าใบ และศิลปินรุ่นใหม่อย่างจิรัชยา พริบไหว ที่ทำงานจิตรกรรมนามธรรมด้วยแนวคิดอันเรียบง่าย แต่แฝงความซับซ้อนและเปี่ยมเสน่ห์เฉพาะตัวบางอย่างอยู่”

“การทำนิทรรศการครั้งนี้เป็นความพยายามในการค้นหาความเป็นไปได้อื่นๆ ของความเป็นศิลปะนามธรรมในกระแสเคลื่อนไหวของงานศิลปะร่วมสมัย ต่อไปอาจมีคนทำงานศิลปะดิจิทัลหรือวิดีโอจัดวางเป็นงานศิลปะนามธรรมก็ได้ เอาจริงๆ ในปัจจุบันเราอาจจะพ้นยุคของการนิยามความหมายของศิลปะแบบต่างๆ แล้วก็เป็นได้ ศิลปินบางคนก็ไม่อยากนิยามว่าตัวเองทำงานแบบไหน ในอนาคตการทำงานในลักษณะนี้อาจไม่ถูกเรียกว่าศิลปะนามธรรมก็เป็นได้”

ชลยังเสริมท้ายถึงที่มาที่ไปของชื่อนิทรรศการที่ได้แรงบันดาลใจจากสื่อศิลปะต่างแขนงว่า “ชื่อนิทรรศการ Distance and Existence ผมได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Secret Life of Walter Mitty (2013) ในฉากหนึ่งที่ตัวละครวอลเตอร์ มิตตี้ เดินทางตามหาช่างภาพระดับตำนาน ฌอน โอ’คอนเนล จนไปเจอเขาซุ่มรอถ่ายภาพเสือดาวภูเขา แต่พอเสือดาวเดินออกมาผ่านเลนส์ ฌอนกลับไม่กดชัตเตอร์ แล้วปล่อยให้มันเดินผ่านไปเสียอย่างงั้น มิตตี้ถามฌอนว่าทำไมไม่ถ่ายภาพเอาไว้ ฌอนตอบว่า ‘ความงามที่แท้จริงไม่เรียกร้องความสนใจ’ ผมชอบประโยคนี้มาก ผมรู้สึกว่าประโยคนี้สามารถใช้นิยามสุนทรียะของความเป็นศิลปะนามธรรมได้”

“ในขณะที่ในยุคหนึ่งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าศิลปะนามธรรมเข้าถึงและเข้าใจยาก หรือเป็นเหมือนงานที่ดูมักง่าย ใครๆ ก็ทำได้ แต่ในปัจจุบัน คนเริ่มเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจและชื่นชมกับงานในลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งในแง่ของทัศนธาตุ กระบวนการทำงาน หรือสุนทรียะของสี การจัดวาง ซึ่งเป็นการรับรู้ด้วยประสบการณ์ตรง ผมเลยเลือกใช้คำว่า distance เพื่อสื่อถึงระยะห่างระหว่างผู้ชมกับศิลปะนามธรรม ส่วนคำว่า existence ซึ่งแปลว่าการดำรงอยู่ หมายถึงการดำรงอยู่ของความงามในศิลปะนามธรรม เหมือนในฉากที่ฌอน โอ’คอนเนล ไม่กดชัตเตอร์ แล้วพูดประโยคนั้นออกมา ผมเลยอยากจะชวนผู้ชมมาสร้างบทสนทนาและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามของงานศิลปะนามธรรมกัน นี่เป็นเหตุผลที่ผมไม่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังของผลงานของศิลปินแต่ละคนมากนัก เพราะผมคิดว่าถ้าอธิบายจนหมดก็คงไม่เหลืออะไรให้จินตนาการหรือคิดต่อแล้ว”

นิทรรศการ ‘Distance and Existence’ จัดแสดง ณ บริเวณหอศิลป์ 

ชั้น 1 เอส เอ ซี แกลเลอรี (SAC Gallery)