POP ART : Is Drama Necessary?

เปลี่ยนดราม่าให้กลายเป็นงานศิลปะอันเปี่ยมสีสัน ในนิทรรศการ Unnecessary Drama โดยอาร์ม – วันทยา ธิติไพศาล

Author: MutAnt

Photography: Courtesy of The Gallery

เมื่อพูดถึงดราม่า แน่นอนว่าอาจเป็นสิ่งที่ใครหลายคนชอบเสพ แต่คงไม่สนุกนักถ้าหากต้องเจอกับตัวเองเข้าให้ ในสังคมเรามีดราม่าเกิดขึ้นมากมายไม่เว้นในแต่ละวัน บางดราม่าก็เกิดขึ้นจากเหตุอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางดราม่าก็เกิดขึ้นอย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นทั้งๆ ที่ความเป็นจริงก็สามารถหลีกเลี่ยงและตัดทิ้งไปจากชีวิตเราได้ เช่นเดียวกับผลงานในนิทรรศการศิลปะหนึ่งที่มีชื่อว่า Unnecessary Drama ที่แสดงให้เราเห็นว่า บางครั้งดราม่าก็สามารถเป็น แรงบันดาลใจให้แก่การทำงานสร้างสรรค์ได้ด้วยเหมือนกัน

นิทรรศการ Unnecessary Drama นำเสนอผลงานของอาร์ม – วันทยา ธิติไพศาล ศิลปินหนุ่มผู้ผันตัวจากการทำงานในสายโฆษณาในปี 2561 หันมามุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างจริงจัง วันทยาสร้างผลงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม เซรามิก และภาพเคลื่อนไหว ผลงานของเขามุ่งเน้นไปที่การสำรวจบทสนทนาของผู้คนรอบๆ ตัวรวมถึงการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงปัญหาด้านสังคมและการเมืองอันซับซ้อน ผลงานแต่ละชิ้นของเขาสะท้อนให้เห็นมุมมองที่เขามีต่อสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันอย่างเปี่ยมอารมณ์ขัน

ในนิทรรศการล่าสุดของเขาในครั้งนี้ วันทยาแสดงให้เห็นถึงมุมมองอันลึกซึ้งที่ศิลปินมีต่อบทสนทนาในชีวิตประจำวัน โดยเขาสมมติให้ตัวเองเป็นเสมือนหนึ่ง ‘คู่หู’ ของผู้ชม ด้วยการสวมบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์สถานการณ์หรือแม้แต่ดราม่าในสังคม (ที่หลายคนชอบเสพกว่าอาหารสามมื้อ) ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “สำหรับผมการตำหนิหรือการมีส่วนร่วมนั้นไม่ได้สร้างความแตกต่าง” เขาเลือกที่จะแสดงข้อสังเกตถึงดราม่ารอบตัวเหล่านี้ผ่านภาพวาด ให้ผู้ชมกลายเป็นพยานในการตีความดราม่าเหล่านี้จากมุมมองของศิลปิน ที่กลั่นกรองออกมาให้เห็นเป็นผลงานศิลปะ

นอกจากสไตล์การทำงานที่มุ่งเน้นในการตีความปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ผลงานของเขายังสื่อถึงความอ่อนไหวและแสดงให้เห็นถึงความเข้าอกเข้าใจปนหยอกเย้า ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “เพื่อทำให้ตัวผมสงบลง ผมพยายามมองหาความสนุกที่มีอยู่ในสิ่งต่างๆ จนเรียกได้ว่าเกือบจะล้อเลียนเรื่องราว (หรือผู้คน) ในแบบของผมเอง” คุณสมบัติเช่นนี้แฝงอยู่ในตัวละครการ์ตูนในภาพวาดของเขา ที่เล่าเรื่องราวรอบตัวทั่วไป ไปจนถึงปัญหาทางสังคมและการเมืองที่เป็นประเด็นอยู่ในช่วงเวลานี้ ด้วยการใช้สีสันอันสดใส และการจัดวางองค์ประกอบอันกระชับ ชัดเจน เปี่ยมเอกลักษณ์ ในขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงความขัดแย้งสำแดงอารมณ์ความรู้สึกสนุกสนานอย่างล้นเหลือ และถ้าหากสังเกตผลงานเขาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่าผลงานของวันทยาแอบแฝงเรื่องราวอันซับซ้อนในรูปทรงอันเรียบง่ายของเขาอย่างพิถีพิถัน

ผลงานส่วนใหญ่ของเขายืนอยู่กึ่งกลางระหว่างศิลปะรูปลักษณ์ (figurative art) กับศิลปะนามธรรม (abstract art) โดยใช้แรงบันดาลใจจากอวัยวะในร่างกายมนุษย์ในการเล่าเรื่องต่างๆ อย่างคลุมเครือ เพื่อให้ผู้ชมตีความและหาความหมายที่แท้จริงของแต่ละภาพด้วยตัวเอง ดังนั้น ถึงแม้แต่ละภาพจะเป็นเหตุการณ์ที่ตัดทอนมาจากสถานการณ์ต่างๆ รอบตัว แต่วันทยาก็จงใจที่จะตัดทอนความสมจริงออกไปจากผลงาน เพื่อหลีกเลี่ยงความกดดันและความดราม่าที่เกินจำเป็นนั่นเอง

“แนวคิดหลักๆ ของนิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากวิธีการทำงานของผมด้วยความที่เวลาทำงาน ผมไม่ได้เริ่มจากการสเก็ตช์งานก่อน แต่เริ่มทำงานอย่างฉับพลัน ด้วยการป้ายสีลงบนเฟรมผ้าใบทันที เป็นเหมือนกึ่งๆ action painting สิ่งที่ได้ออกมานั้นมีเยอะมาก จนผมไม่นึกว่าจะออกมาดราม่าขนาดนี้ได้ยังไง ทั้งสี เส้น หรือรูปทรง จนผมต้องค่อยๆ ปรับหรือตัดอะไรบางอย่างเพื่อให้ภาพมีความชัดเจนขึ้นจนเสร็จออกมาเป็นผลงาน ผมมักจะใช้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายในการเล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้มือเป็นตัวละครหลักในการเล่าเรื่อง เรื่องราวที่เล่าส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการนั่งพูดคุยสนทนากับเพื่อนๆ กับผู้คนเวลาคุยกัน ผมมักจะเป็นคนรับฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยพูดแทรกหรือขัดจังหวะใคร ผมอยากรู้ว่าเขาคิดอะไรกันอยู่ บางครั้งผมก็จะถามเพื่อให้เขาเล่าออกมาเรื่อยๆ แล้วก็เก็บเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาคิดเป็นงานขึ้นมา บางครั้งก็เป็นเรื่องราวข่าวสารบ้านเมือง หรือเรื่องราวดราม่าที่พบเจอบนอินเทอร์เน็ตอยู่บ่อยๆ”

“เหตุที่ผมวาดรูปเป็น semi-abstract (กึ่งนามธรรม) เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยวาดรูปที่เล่าเรื่องออกมาเป็นฉากๆ แบบสมจริง แล้วรู้สึกว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ดราม่าล้นเกินจากความเป็นจริงมากๆ ผมเลยดึงรายละเอียดบางอย่างที่แย่งความสนใจของภาพมากจนเกินไปออก และเลือกเก็บแค่รายละเอียดที่จำเป็นเอาไว้ ซึ่งลักษณะการทำงานแบบนี้ก็เชื่อมโยงกับชื่อของนิทรรศการ (Unnecessary Drama) ด้วย”

“แรงบันดาลใจในการทำงานส่วนใหญ่ของผมมีที่มาจากเหตุการณ์ที่ผมไม่เข้าใจหรือทำความเข้าใจลำบาก แล้วผมพยายามคิดหาคำตอบ แต่ก็หาคำตอบไม่ได้เสียที ผมก็เลยทำงานศิลปะเพื่อระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ข้างในออกมา ด้วยการทำงานที่ค่อนข้างแสดงออกอย่างฉับพลันแบบ abstract expressionist แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้การขูดออกและลบทิ้งเยอะเหมือนกัน เหมือนเวลาทำงานผมจะไม่ค่อยใช้ความคิด ลงมือทำไปเลย แต่จะมาคิดอีกทีตอนทำเสร็จแล้วมานั่งดู แล้วค่อยแก้ไขตกแต่งทีหลัง ความลังเลและไม่มั่นใจของตัวเองเช่นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของผมด้วย”

วันทยากล่าวถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจหันเหจากการทำงานโฆษณามาทำงานศิลปะเต็มตัวว่า

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นครีเอทีฟ ทำโปรดักชัน และเป็นผู้กำกับในบริษัทโฆษณา เพราะผมเรียนมาทางด้านออกแบบผลิตภัณฑ์และแอนิเมชัน ไม่ได้มีพื้นฐานทาง fine art มาก่อนแต่พอทำงานโฆษณามาสักระยะหนึ่ง ผมก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า เราเคยเชื่อว่าการทำงานโฆษณาจะสามารถเปลี่ยนอะไรบางอย่างในสังคมได้ เพราะโฆษณาเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ง่าย แต่หลังๆ กลับกลายเป็นว่าเหมือนผมกำลังบอกผู้ชมด้วยน้ำเสียงอันนุ่มนวลว่า ชีวิตคุณจะดีขึ้นด้วยการซื้อของเหล่านี้ ผมมีสิทธิ์อะไรที่จะไปบอกใครต่อใครว่าชีวิตคุณควรจะเป็นอย่างไร ในขณะที่ตัวผมเองก็ทำไม่ได้ แต่หลักๆ ก็คือเบื่อด้วยแหละ เพราะผมใช้เวลาเป็นสิบปีทำมาแล้วก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรในชีวิตสักเท่าไรในระหว่างที่ทำงานโฆษณา ผมก็หาเวลาว่างไปทำงานเซรามิก ถ่ายภาพ ทำภาพเคลื่อนไหว แอนิเมชันบ้าง อะไรบ้าง ทำงาน painting ด้วย แต่วาดภาพเล็กๆ ไม่ได้มีสตูดิโอวาดภาพของตัวเอง พอดีช่วงนั้นมีศิลปิน คุณสมยศ หาญอนันทสุข ซึ่งเป็นคุณลุงของเพื่อนผม มาเปิดเวิร์คช็อป painting ที่อัมพวาประมาณหนึ่งสัปดาห์เต็ม ผมก็เข้าไปเรียนด้วย ใช้เวลาประมาณ 10 วัน ได้วาดรูปทุกวัน ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักเลยว่างาน abstract คืออะไร ตอนเข้าไปคุณสมยศบอกผมว่าให้ทำอะไรก็ได้ที่ผมอยากทำ ไม่เคยมีใครพูดอะไรแบบนี้กับผมมาก่อนในชีวิตเลย พอได้ยินแบบนี้ผมก็คิดว่าผมอยากทำอะไรกันแน่ แล้วก็ทำออกมาเลย คุณสมยศก็จะคอยชี้แนะวิธีการและเทคนิคการทำงานให้”

“ผมพบว่าการทำงาน painting แรกสุดคือการสร้างปัญหาบนแคนวาส เป็นอะไรที่โกลาหลวุ่นวาย จนใช้คำว่าดราม่าเลยก็ได้ ที่เหลือคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจนได้ออกมาเป็นรูปทรง เป็นชิ้นงานออกมา ผมใช้วิธีแบบนี้มาจนถึงทุกวันนี้”

ท้ายสุดวันทยาทิ้งท้ายถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการครั้งนี้เกิดจากการที่หลุยส์ ซัพเพิล (Louis Supple) คิวเรเตอร์ บังเอิญได้ไปเจองานของผมที่ฝากแสดงที่ร้านอาหารกึ่งบาร์ของเพื่อนของผม ซึ่งก่อนหน้านั้นเขาก็เคยตาม Instagram ของผมอยู่ด้วย เขาก็เลยมาเยี่ยมสตูดิโอของผม และนำงานของผมไปขาย สุดท้ายก็เอางานชุดนี้ของผมมาเสนอที่หอศิลป์ River City Bangkok ซึ่งก็ตอบรับ เราก็เลยได้ทำนิทรรศการนี้ขึ้นมาในที่สุด”

นิทรรศการ Unnecessary Drama โดยอาร์ม – วันทยา ธิติไพศาล และคิวเรเตอร์ หลุยส์ ซัพเพิล 

จัดแสดงที่ RCB Photographers’ Gallery 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชั้น 2