The Reflection of Thai Saṃsāra in Boxing Ring

Share This Post

- Advertisement -

ต่อยจริงเจ็บจริงตายจริงการเกิดขึ้นและดับไปบนสังเวียนสังสารวัฏในทัศนะของอำนาจ

Author: NEERAJ TRIRONGAUBON

Portrait & Match Photographers: NAPAT GUNKHM / PONPISUT PEKAROEN

จากกำหนดเดิมที่ต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 365 วัน แต่ด้วยผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การก่อสร้างสนามมวยแห่งชาติล่าช้าออกไปถึง 3 ปี เดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 สนามมวยเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก และได้ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นด้วยการสร้างหลังคาครอบ เพื่อป้องกันฝนที่มักเป็นอุปสรรคในการแข่งขันหลายครั้งก่อนหน้านี้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2496 บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด เข้ามาทำหน้าที่บริหารงานสนามมวยแห่งชาติภายใต้วัตถุประสงค์เดิมก็คือ ส่งเสริมและสนับสนุนมวยไทย พร้อมเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘สนามมวยเวทีราชดำเนิน’ ตามที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกสนามมวยแห่งนี้เพราะตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน การแข่งขันยังคงดำเนินต่อไปในฐานะมหรสพของประชาชนที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีการแข่งขันเฉพาะวันอาทิตย์ ต้องขยายเวลามาจัดการแข่งขันเพิ่มในวันพฤหัสฯ เป็นจุดกำเนิดของนักชกระดับตำนานหลายคน รวมถึงการพนันที่ถูกกฎหมาย เจ้าพ่อ มาเฟีย ที่เคยเขย่าพระนครด้วยบารมีมากล้น จนพบจุดจบแบบที่พระเครื่ององค์ละหลายล้านก็ช่วยอะไรไม่ได้

เชื่อมโยงถึงรากเหง้าเรื่องเล่าเพื่อปลอบประโลม

หมัดขวาค่อยๆ บรรจงวางเข้าหน้าอย่างจัง หมัดเดียวของขวัญชัย วรสูตร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชกเข้าที่หน้าของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มาเป็นประธานในพิธีปิดกีฬาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผลคือรัฐบุรุษคนสำคัญของไทย ล้มหงายทอดกายไปกับพื้น เลือดอาบเต็มหน้า ในขณะที่ทหารอารักษ์ที่ยืนอยู่ต่างตกตะลึงจนพลเอกเปรมต้องตะโกนโพล่งขึ้นมาว่า “อย่าให้มันชกกู” คงไม่มีใครคิดว่านักมวยอย่างขวัญชัยจะกล้าชกหน้านายกรัฐมนตรีในตอนนั้น เหตุผลของเขาก็ คือไม่พอใจที่พลเอกเปรมครองอำนาจเผด็จการมายาวนาน 3 สมัย ท้ายที่สุด มีข่าวว่า ขวัญชัยถูกจับไปเข้าโรงพยาบาลและแพทย์วินิจฉัยว่า ‘เป็นบ้า’ ทหารและคนติดตามพลเอกเปรมถูกย้าย บางคนต้องหนีตายไปต่างประเทศ ส่วนสุขุม นวลสกุล อธิการบดีในตอนนั้นต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่ถึงแม้ว่าพลเอกเปรมจะมี ประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับความรุนแรงทางหมัดมวยเท่าไหร่ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าเขาคือ หนึ่งในผู้สนับสนุนนักมวยไทยตัวยง เจ้าของวลี “เจ็บไหมลูก” ที่เขาถามสด จิตรลดา ขณะที่คาดเข็มขัดแชมป์โลกให้กับมือ หลังจากที่สดเอาชนะคู่แข่งจนได้แชมป์โลก รุ่นฟลายเวทของสภามวยโลกได้สำเร็จ และยังมีนักมวยระดับตำนานอีกหลายคน แวะเวียนไปกราบลาพลเอกเปรมก่อนจะไปชกชิงแชมป์โลกในต่างประเทศ

นอกจากสถาบันทหารจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกีฬามวย สถาบันกษัตริย์ก็เป็นผู้อุปถัมภ์วงการมวยมาแต่ช้านาน ถ้านับกันตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ ยุคเฟื่องฟูของมวยไทยคือสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงฝึกฝนการชกมวยไทย และโปรดฯ ให้จัดการแข่งขันชกมวยคาดเชือกหน้าพระที่นั่ง โดยคัดเลือกนักมวยฝีมือดีจากภาคต่างๆ มาประลองแข่งขัน จนเกิดธรรมเนียมการชกมวยถวายหน้าพระที่นั่งเป็นประจำ เรื่อยมาในรัชกาลที่ 6 ที่หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล นำมวยฝรั่งเข้ามาเผยแพร่ในไทย โดยเริ่มสอนเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งมีนิยม ทองชิตร เป็นลูกศิษย์ของที่นี่ และเขาได้กลายเป็นครูมวยของโผน กิ่งเพชรแชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย

16 เมษายน 2503 โผน กิ่งเพชร ขึ้นชกมวยสากลอาชีพชิงแชมป์โลกกับ ปาสคาล เปเรซ เบื้องหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทคนแรกของไทย พระองค์ทรงยกพระหัตถ์ตบไหล่โผน ตรัสว่า เก่งมาก ให้รักษาตำแหน่งเอาไว้ให้นานๆ รัชกาลที่ 9 โปรดการทอดพระเนตรมวยเป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จฯ เมื่อโผนชกไปถึงยก 7 หรือยก 8 ในเวลานั้นโผนทำท่าจะหมดแรง แล้วมีคนตะโกนว่าพระองค์เสด็จฯ มาแล้วโผนได้ยินก็มีกำลังใจ ฮึดขึ้นมาทันที จนคว้าชัยชนะมาครอบครองได้ เรื่อยมาจนถึงในรัชกาลปัจจุบัน ครั้งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารก็ได้พระราชทานกระเช้าผลไม้มายังสมรักษ์ และทีมงาน พร้อมทั้งทรงอวยพรให้สมรักษ์ได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1996 แอทแลนต้า สหรัฐอเมริกายิ่งถ้าย้อนกลับไปในสมัยอยุธยาก็จะพบว่ามวยไทยเป็นมหรสพและอาชีพที่มีมานานแล้ว ลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เคยเขียนถึงบรรยากาศเมืองอยุธยาไว้ในบันทึกของเขาช่วงหนึ่งว่า “ผู้คนนิยมชกมวยมาก และบางคนยังยึดเป็นอาชีพด้วย”

วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ละครเรื่อง ‘นายขนมต้ม’ ออกฉายครั้งแรกบนจอแก้ว โดยมีสมรักษ์ คำสิงห์ รับบทเป็นนายขนมต้ม ตัวละครในเรื่องเล่าที่ล้อมากับประวัติศาสตร์ชาติไทยกระแสหลัก แม้ว่าการแสดงของสมรักษ์จะอยู่ในระดับใช้ได้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นค่านิยมของสังคมไทยที่มักมอบโอกาสในวงการบันเทิงให้กับวีรบุรุษโอลิมปิกเพื่อต่อยอดความสำเร็จของพวกเขา ละครเรื่องนายขนมต้มเป็นการยึดโยงประวัติศาสตร์ชาตินิยมเข้ากับแม่ไม้มวยไทยว่าเป็น ศิลปะการป้องกันตัวของเรามาแต่โบราณ และเป็นสมบัติของชาติที่ต้องรักษาไว้ไม่ให้สูญหาย ซึ่งอันที่จริงแล้วศิลปะการป้องกันตัวโดยใช้ร่างกายเป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวอุษาคเนย์ กล่าวคือ หากการต่อสู้แบบนี้อยู่ในประเทศอื่น ก็จะมีชื่อชนชาติห้อยตามท้าย เช่น มวยพม่า มวยเขมร เป็นต้น แต่มวยไทยกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือ สร้างชาติตั้งแต่ในรูปแบบรัฐนิยม เรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น และอาจจะยังมี มรดกตกทอดถึงปัจจุบัน แม้นักประวัติศาสตร์นอกขนบอย่างสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เรื่องของนายขนมต้มที่สามารถเอาชนะชาวอังวะนับสิบคน เป็นแค่นิทานปลอบใจชาวกรุงเก่าเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่สามารถหาหลักฐานได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับวีรบุรุษ-วีรสตรีตามภาคต่างๆ ซึ่งมีตัวตนขึ้นมาหลัง พ.ศ. 2475 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรวมรัฐชาติสมัยใหม่ แต่รัฐไทยก็พร้อม ที่จะรับนิทานเหล่านี้มาเล่นต่อด้วยหวังสร้างผลกระทบทางการเมือง โดยเฉพาะการบูชาชาติไทยให้สูงส่งและยิ่งใหญ่จนไม่มีใครเทียม

ภาพสะท้อนสังคม ‘ก็อดฟาเธอร์’ แบบไทยๆ

นอกจากบันทึกเรื่องมวยไทยในสยามแล้ว ส่วนหนึ่งในบันทึกของลาลูแบร์เขียนไว้ว่า “ชาวสยามรักเล่นการพนันเสียเหลือเกิน จนกระทั่งฉิบหายขายตนหรือไม่ก็ขายบุตรธิดาของตน ด้วยในประเทศนี้ถ้าลูกหนี้คนใดไม่มีเงินทองหรือข้าวของตีราคาให้เจ้าหนี้แล้ว ก็ขายลูกเต้าของตนเพื่อชำระหนี้สินไปได้ และถ้ายังไม่พอกับหนี้สินที่ตนทำเข้าไว้ ตัวของตัวเองก็ตกเป็นทาสไปด้วยอีกคน… พวกคนดูที่เล่นพนันขันต่อไว้ก็เปล่งเสียงร้องและออกท่าทางราวกับว่าลงไปพายร่วมกับเขาด้วยตนเอง” น่าแปลกที่ในด้านหนึ่งสังคมไทยต่อต้านการพนันทั้งทางโลกและทางธรรม แต่สนามมวยกลับกลายเป็นโลกยูโทเปียที่การพนันถูกกฎหมายได้อย่างน่าอัศจรรย์ งานวิจัยเรื่องโครงสร้างและพฤติกรรมการพนันมวยไทยของ ดร.รัตพงษ์ สอนสุภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุเอาไว้ว่า การพนันมวยไทยถูกกฎหมายจะมีมูลค่าประมาณ 13,152 – 14,448 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2558 ที่มีมูลค่าประมาณ 14,420 ล้านบาท

กลิ่นเงินที่หอมหวานดึงดูดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในเกมนี้ เพราะนอกจากรายได้มหาศาล การพนันในสนามมวยยังเป็นเครื่องมือสร้างระบบอุปถัมภ์อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวข้องกับการพนันมักจะมีขาใหญ่ในวงการมาเกี่ยวข้อง ขาใหญ่จะมีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการในการควบคุมและจัดการวงการมวยไทยให้เลื่อนไหลไปได้ คู่ขนานไปกับอำนาจที่เป็นทางการในแง่ผลประโยชน์ร่วม ซึ่งคุณลักษณะของขาใหญ่ในวงการมวยมักจะเป็นบุคคลที่ผ่านการสะสมทุนในวงการมาก่อน เป็นผู้ที่มีอิทธิพล มีบารมีอำนาจ (ทั้งในระบบและนอกระบบ) และมีเครือข่ายกว้างขวางทั้งคนวงใน เช่น นายสนามมวย โปรโมเตอร์ หัวหน้า ค่ายมวย ตัวนักมวย และคนวงนอก โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักการเมือง

ระบบกลไกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์และระบบพวกพ้องยังคงเป็นพลังสำคัญในวงการมวย การพนันเป็นตัวหล่อเลี้ยงธุรกิจมวยไทย เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่จะเข้าไปเล่นการพนัน ซึ่งอาจมีวงเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อรายการ ระบบการพนันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการได้หรือเสียของนักพนันและยังควบคุมไม่ให้มีการล้มมวยอีกด้วย ผู้จัดรายการจะต้องประกบคู่ชกให้เป็นที่พอใจกับเซียนมวย เพราะนอกจากจะดูสนุกแล้ว ยังทำให้มีปริมาณการเล่นการพนันมาก เพราะมีราคาต่อรองที่สูสีนั่นเอง ส่วนสนามมวยก็ต้องการผู้จัดรายการที่ประกบคู่ได้สูสี เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ชมที่เข้ามาเล่นการพนันนั่นเอง

ในยุครุ่งเรืองถนนราชดำเนิน ความบันเทิงเฟื่องฟูควบคู่ไปกับวัฒนธรรมเจ้าพ่อที่มีการต่อรองผลประโยชน์ และฆ่ากันกลางเมืองเหมือนไม่มีขื่อแป นับตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2500 ชื่อของ ‘เฮียเหลา สวนมะลิ’ หรือแคล้ว ธนิกุล เริ่มเป็นที่รู้จักบนถนนสายนักเลง เขาเติบโตและแผ่ขยายอิทธิพลจนกลายเป็นผู้กว้างขวางที่มีผู้นับหน้าถือตาจนได้ฉายา ‘เจ้าพ่อนครบาล’ นอกจากบทบาทการเป็นมาเฟียอย่างเป็นทางการแคล้วยังเป็นเจ้าของค่ายมวย ‘ส.ธนิกุล’ มีนักมวยที่มีชื่อเสียงหลายคน และยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยมาแล้ว

เวลา 4 ทุ่มกว่าของวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2523 หลังเกมการชกซึ่งเป็นที่พอใจของแคล้วจบลง เขาเดินออกมาจากสนามมวยราชดำเนินอย่างสบายใจโดยไม่ทันสังเกตว่ามีวัตถุประหลาดบางอย่างวางอยู่ริมทางออกของสนามมวย ระหว่างที่แคล้วกำลังขึ้นรถ มีระเบิดลูกหนึ่งถูกขว้างเข้ามาเพื่อหวังปลิดชีพ แต่ลูกน้องของแคล้ว 2 คนเอาตัวบังรับสะเก็ดระเบิดนั้นแทนจนเสียชีวิต ส่วนแคล้วหลบออกจากบริเวณได้ปลอดภัยสมชื่อ แคล้วเชื่อว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้คือ ‘เต็งโก้’ เจ้าพ่อพลัดถิ่นจากจังหวัดขอนแก่นที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นคู่แข่งในยุคของเขา เมื่อมีความแค้นก็ต้องชำระ สุดท้ายเต็งโก้โดนมือปืนอาชีพยิงดับอยู่ที่บ้านพักของเขา ไม่มีหลักฐานยืนยันว่านี่เป็นคำสั่งของแคล้ว แต่สังคมก็เชื่อว่าเป็นการกำจัดคู่แข่งให้พ้นระบบนิเวศของตัวเอง

5 เมษายน 2534 ขณะที่แคล้วเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดสมุทรสงคราม มือปืนกลุ่มหนึ่งดักระดมยิงรถของเขาด้วยกระสุนรวมทั้งสิ้น 117 นัด แคล้วเสียชีวิตทันทีโดยอมพระสมเด็จวัดระฆังไว้ในปาก สังคมตั้งข้อสังเกตว่าการตายของแคล้วอยู่ในช่วงที่คณะ รสช. กำลังมีนโยบายกวาดล้างผู้มีอิทธิพลให้หมดไปจากประเทศ และมือปืนที่สังหารแคล้วก็ทำงานอย่างเป็นระบบคล้ายหน่วยคอมมานโด จนถึงปัจจุบันก็ยังจับไม่ได้ว่าใครเป็นผู้สั่งให้เก็บแคล้ว ธนิกุลแต่เป็นไปได้ว่าคำสั่งนั้นอาจจะออกมาจากเจ้าพ่อตัวจริง ผู้เป็นเจ้ามือรายใหญ่ของการพนันในสนามมวยตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

สร้างมาตรฐานให้วงการมวยไทย

การต่อยมวยที่มีรากเหง้ามาจากมวยไทยกลับมาได้รับความนิยมในคนรุ่นใหม่อีกครั้งหลังจากปรับเปลี่ยนรูปแบบและทำให้เป็นรายการเอนเตอร์เทนเม้นท์มากขึ้น คำถามก็คือความรุนแรงในสังเวียนยังเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ยอมรับได้หรือไม่ มวยไทยจะพัฒนาไปในทิศทางไหน หรือสนามมวยจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเมืองสมัยใหม่อย่างไร

กว่า 77 ปีที่สนามมวยราชดำเนินเปิดดำเนินการ อาจจะถึงเวลาที่ต้องอาบน้ำแต่งตัวใหม่ไม่ให้กลายเป็นลุงแก่บนถนนราชดำเนิน ปัจจุบันสนามมวยราชดำเนินมีชื่อเรียกใหม่คือ RWS ซึ่งย่อมาจาก Rajadamnern World Seriesและผู้บริหารรุ่นใหม่ภายใต้บริษัท Global Sports Ventures หรือ GSV เข้ามาดำเนินการต่อเพื่อพาให้เวทีประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็น sports entertainment center และศูนย์กลางแห่งกีฬามวยไทยมาตรฐานระดับสากลแห่งแรกของโลก โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาจากในอดีตโดยเฉพาะความโปร่งใสในการตัดสินเพื่อความเป็นธรรมกับนักกีฬาอาชีพทุกคน พร้อมเพิ่มแสง สี เสียง เพื่อสร้างความสนุก และสร้างกติกาใหม่เพื่อให้ผู้ชมทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ง่าย

แบงค์ – เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์ ซีอีโอบริษัท GSV ทายาทนครหลวงโปรโมชั่น ผู้เติบโตมากับวงการมวยตั้งแต่เด็ก และเรียนจบทางด้าน sports management มาโดยเฉพาะจากอเมริกา เล่าให้เราฟังว่า “เวทีราชดำเนินเป็นสนามแห่งความฝันของนักมวย การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะเปิดประตูให้กับคนดูกลุ่มใหม่ๆ ทำให้ที่นี่เป็น global destination ของมวยไทย” เขาอยากลบภาพจำที่ไม่ดีซึ่งฉุดรั้งวงการมวยไทยให้อยู่กับที่ และขับเคลื่อนวงการด้วยมรดกที่มีค่า ให้กลายเป็นแบรนด์ไทยที่คนทั้งโลกต้องรู้จัก

การทำให้มวยไทยกลายเป็น world sport, world standard คงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับภาพลักษณ์ให้คนรุ่นใหม่สนใจมหรสพนี้มากยิ่งขึ้น คำถามที่ยังคงค้างคาใจอีกหลายคนซึ่งกำลังจับจ้องต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คือ พัฒนาการที่ว่ามีจุดประสงค์สร้างให้มวยไทยสอดรับกับความสนใจของผู้บริโภคในศตวรรษที่ 21 หรือเป็นเพียงการใส่ตะกร้าล้างน้ำ ปรับโฉมให้การพนันเสรีรอบสังเวียนมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแบรนด์จะเติบโตได้ด้วยความนิยมในระดับสากลหรือคลื่นพลังสีเทาที่อยู่เป็นเส้นคู่ขนานกับเวทีราชดำเนินมาเนิ่นนาน

- Advertisement -