Hommes Interview : THE Sound of Asia

Asia7 กับการเดินทางครั้งสำคัญในโลกดนตรีพร้อมมุมมองใหม่ๆ ที่ทำให้วงเข้มแข็งยิ่งขึ้น

Photographer: Perakorn Voratananchai

Direction by: Napat Roongruang

มีศิลปินไทยหลายคนหรือหลายวงที่เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากกว่าในบ้านเกิด และ Asia7 ก็เป็นอีกวงที่เป็นเช่นนั้น จุดเด่นของวงคือการนำดนตรีพื้นบ้านไทยมาผสมผสานกับแนวดนตรีหลายหลาก เพื่อถ่ายทอดความเป็นเอเชียและตัวตนของวงเอง เราสงสัยว่าพวกเขามีหลักเกณฑ์อะไรไหมที่จะแฝงเอกลักษณ์ท้องถิ่นลงไปในเพลงแต่ละเพลง “จริงๆ เราดูตามความเหมาะสมของแต่ละเพลงค่ะ คือสมาชิกในวงก็เล่นเครื่องดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านกันอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็มีความรู้สึกที่เป็นเหมือนกับสัญชาตญาณ เช่น ใส่ประมาณนี้น่าจะพอดีกับเพลงนี้ แต่บางเพลงอาจจะยังไม่พอ ต้องเพิ่มอีก” โยเย – นริศรา (มือซอของวง) ตอบ

การเดินทางไปแสดงดนตรีที่ต่างประเทศก็ทำให้ Asia7 ได้รับพลังงานดีๆ กลับมาเหมือนกัน และที่ที่พวกเขาประทับใจที่สุดทุกครั้งที่ไปคืออินเดีย “เพราะว่าผู้คนเขาจะชอบดนตรีอยู่แล้ว เขาจะชอบความ‘เถิดเทิง’ (หัวเราะกันทั้งวงสัมภาษณ์) ความเอนจอยค่ะ” ออย – อมรภัทร ร้องนำ อธิบายจนเราเห็นภาพชัด ส่วนดิว – ภูวิช มือเบส เสริมต่อว่า “นอกจากคนดูจะเอนจอยแล้ว เราก็ได้ไอเดียการทำเพลงกลับมาเยอะครับ… เราอาจจะเป็นวงที่ดูแปลกใหม่ในไทย แต่จริงๆ เวลาไปอยู่ข้างนอก ผมเองรู้สึกประหม่าด้วยซ้ำ แล้วพอเราไปเล่นในอินเดีย พื้นที่ที่เป็นเหมือนเจ้าแห่งดนตรีโลก กลับกลายเป็นว่าเขาเปิดรับเรา และถ้าเป็นเฟสติวัล เราจะเจอวงเก่งๆ เยอะมาก”

หลังจากที่เป็นศิลปินอิสระมานาน Asia7 ก็ได้มาสังกัดค่าย Gene Lab เมื่อปีก่อนผ่านโครงการ GMM Audition นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของวงทีเดียว “ผมว่า การที่เราอยู่ค่ายนี้ทำให้เรารู้สึกเป็นศิลปินจริงๆจากที่เราทำกันเองมาห้าหกปี ลองผิดลองถูกกันมาทุกอย่าง ทีนี้ พอเรามีบ้านที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องคิดมากขึ้น เพราะมีการลงทุน มีทีม มีโปรดักชัน มันทำให้เราโตขึ้นครับ” โอม – กฤตเมธ แซกโซโฟน ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟัง เมื่อเข้ามาที่ Gene Lab ความท้าทายใหม่ของวง

คือการตีโจทย์ทั้งด้านธุรกิจและด้านการสร้างสรรค์ผลงาน “บางคนคิดว่า ‘เฮ้ย [ดนตรีพื้นบ้าน] อาจจะเชยแล้วหรือเปล่า เป็นมิตรกับผู้ฟังได้อย่างไรกัน’ แล้ว Asia7 เองก็เกิดขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่า ธุรกิจนี้ในฟอร์แมตแบบนี้ เป็นการต่อยอดไอเดียที่นำความเป็นพื้นบ้านและดนตรีตะวันออก[เฉียงเหนือ] มาผสมกับป็อปคัลเจอร์ แล้วยังรับใช้สังคมปัจจุบันได้” ต้น – ต้นตระกูลมือเครื่องดนตรีอีสาน พูดถึงด้านธุรกิจก่อน

ต่อมา สุนทร มือกีตาร์ เล่าถึงการปรับเนื้อหาเพลงให้เข้าถึงผู้ฟังในวงกว้างขึ้นว่า “[ในผลงาน] ก่อนหน้านี้ หลายคนที่ฟังเพลงเราเขาบอกว่า รู้สึกได้รับพลังแรงใจ และเนื้อหาเพลงก็จะบอกทุกคนว่า ‘เฮ้ย ทุกคนต้องเข้มแข็งนะ’ ก็จะเป็นทรงนั้นไปเรื่อยๆ จนพอเข้ามาอยู่ค่ายปุ๊บ เรารู้สึกว่า การพูดแบบนั้นไม่ทำให้เราอยู่ใกล้ชิดกับคนฟัง เราเลยได้รับคำปรึกษาจากพี่โอม [Cocktail] และพี่แพท [Klear] ที่เข้ามาช่วยดูเนื้อเพลงครับ ก็เป็นความท้าทายของเราด้วยที่ได้ลองทำอะไรอย่างนี้กับดนตรีสไตล์ Asia7” ดังนั้น ผู้ฟังอย่างเราๆ จึงเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งด้านเนื้อหาและแนวดนตรี ระหว่างเพลง ‘ขวัญเจ้าเอย’และ‘จำขึ้นใจ’ เป็นต้น

เป้าหมายอันใกล้ของ Asia7 คือการทำให้วงเป็นที่รู้จักในไทยมากขึ้น ส่วนเป้าหมายไกลออกไปนั้นคือการขึ้นเวทีคอนเสิร์ตและขยายกลุ่มแฟนคลับต่างแดน และในเมื่อเป้าหมายแรกเป็นรากฐานสำคัญที่สุด Asia7 จึงปล่อยซิงเกิลใหม่ที่ชื่อ ‘ลืม’ ซึ่งสมาชิกทั้งแปดหวังว่าจะเป็นอีกเพลงที่ช่วยให้ผู้ฟังทั่วไปได้รู้จักวงมากขึ้น “เพลงนี้จะเกี่ยวกับว่า เรามีคนรักคนหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆเขาก็บอกให้เราลืมเรื่องของเขาและเรื่องระหว่างเราสองคนไปทั้งหมด เราก็สงสัยว่า การที่บอกให้ลืมคนคนหนึ่งมันง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ เราเลยตอบกลับไปว่า ‘ถ้าลืมได้ เธอลืมเราไปก่อนเลย’ ก็จะเป็นเพลงช้าที่ฟังง่ายค่ะ” ออยพูดถึงเนื้อหาเพลงล่าสุด

Asia7 บอกกับเราว่า สตูดิโออัลบั้มของวงจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้ “ที่สำคัญที่สุดก็คือ [หากมีโอกาส] อยากให้ทุกคนได้มาดูพวกเราแสดงสดค่ะ จากที่ฟังหลายๆคนมา ถ้าอยากรู้จัก Asia7 จริงๆต้องมาดูตอนเล่นสดให้ได้สักครั้งค่ะ” ออยกล่าวทิ้งท้าย และเราหวังว่าพวกเขาทั้งแปดจะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอด ‘เอกลักษณ์แห่งเอเชีย’ ผ่านเสียงดนตรีดังที่ได้ตั้งเป้าไว้

– Author: Peerachai Pasutan –

ติดตามผลงานของ Asia7 ได้ทุกช่องทางสตรีมมิง และทาง YouTube channels:  ASIA7 BAND และ Gene Lab