CHRISTIAN DIOR: DESIGNER OF DREAMS EXHIBITION

นิทรรศการ “คริสเตียน ดิออร์: นักออกแบบผู้สร้างฝัน” CHRISTIAN DIOR: DESIGNER OF DREAMS EXHIBITION

ใครได้ไปโตเกียวช่วงนี้ไม่ควรพลาดนิทรรศการใหญ่ของ Dior ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งโตเกียว MUSEUM OF CONTEMPORARY ART OF TOKYO (MOT) เพื่อยกย่องเรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่าง Dior กับญี่ปุ่น ดังที่ทราบกันว่ามิสเตอร์ดิออร์สนใจในเรื่องศิลปะจนเปิดแกลเลอรีงานศิลป์ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วงการแฟชั่น แม้ยุคของเขาจะเป็นช่วงปลายของกระแส Japonism ที่เกิดในช่วงศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ แต่มิสเตอร์ดิออร์ก็มีความชื่นชอบในงานศิลปะและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นโดยมีจุดเชื่อมโยงคือการเป็นคนรักธรรมชาติและการจัดสวน ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก คริสเตียน ดิออร์มีความสนใจ และผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นในฐานะดินแดนตะวันออกไหลที่ชวนฝัน นอกจากความผูกพันทางจิตใจแล้ว ก็ยังมีธุรกิจที่ดำเนินร่วมกันอย่างต่อเนื่องดังปรากฏเรื่องราวทั้งหมดได้จากเอกสารเพิ่มเติมเพื่อการประชาสัมพันธ์ “ดิออร์กับญี่ปุ่น: มิตรภาพอันงดงาม” (Dior et le Japon, une amitié passionnée)


แม้นิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดขึ้นที่ปารีสก่อนจะไปยังเมืองต่างๆ แต่เมื่อมาที่โตเกียว นิทรรศการได้เน้นเรื่องดิออร์กับความผูกพันกับญี่ปุ่นให้โดดเด่นขึ้น หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามที่ Musée des Arts décoratifs ในกรุงปารีส นิทรรศการ “คริสเตียน ดิออร์: นักออกแบบผู้สร้างฝัน” หรือ Christian Dior: Designer of Dreams exhibition ก็ได้เดินทางมาจัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งกรุงโตเกียว(MOT) ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2022 จนถึง 28 พฤษภาคม 2023 ภายใต้การดูแล และอำนวยการของภัณฑารักษ์ฟลอเรนซ์ มูลเลอร์ ร่วมกับงานออกแบบเพื่อยกย่องเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยสถาปนิก โชเฮอิ ซิเกะมัตสึ บรรดาผลงาน, ภาพถ่าย ตลอดจนเอกสาร และหลักฐานต่างๆ ถูกร้อยเรียงอย่างมีศิลปะเพื่อใช้เล่าเรื่องราวแห่งความรัก และพลังทางการสร้างสรรค์อันสืบทอดยาวนานกว่า 75 ปี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากวิสัยทัศน์บุกเบิกของคริสเตียน ดิออร์

บรรดาหลักฐานแสดงความมิตรภาพผูกพันลึกซึ้งระหว่างคริสเตียน ดิออร์กับญี่ปุ่น ไม่ต่างอะไรจากการเดินทางข้ามเวลาจากปัจจุบันย้อนไปสู่อดีต และข้ามทวีปจากกรุงปารีสมาสู่นครโตเกียว เอกสารสำคัญทั้งหลายซึ่งมีการค้นพบในแผนกจัดเก็บผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของแบรนด์ เราจะได้เห็นจดหมาย, ภาพร่างแบบ และผลงานบางส่วน หรือเสื้อผ้าบางชุด ซึ่งเคยถูกจัดแสดงในเมืองต่างๆ หลายแห่งของญี่ปุ่น รวมถึงบรรดาของที่ระลึก และเอกสารสัญญากับบัญชีรายการ ทั้งหมดนี้คือบทอ้างอิงการทำงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างดิออร์กับบริษัทสิ่งทอ และห้างสรรพสินค้าไดมารู หรือกับบริษัทเครื่องสำอางคาเนโบ

การเดินทางย้อนเวลาดำเนินอย่างต่อเนื่องด้วยผลงานสร้างสรรค์ชิ้นเด่น ซึ่งออกแบบขึ้นโดยผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ประจำห้องเสื้อ Dior ในแต่ละรุ่น แต่ละยุคสมัยผ่านภาพถ่ายฝีมือของยูริโกะ ทาคากิ แต่ละภาพสะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการทางมิติทรง หรือโครงสร้างเสื้อผ้ากลุ่มต่างๆ ที่มงซิเออร์ ดิออร์ได้ริเริ่มไว้ผ่านมุมมอง และวิถีรังสรรค์ของเหล่าผู้ที่สืบทอดในรุ่นต่อๆ มาของห้องเสื้อดิออร์ โดยเน้นบรรยากาศสถานที่จัดงานให้เรียบง่ายตามขนบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น หลังผ่านช่วงเวลาดุจฝัน ผู้ชมก็จะมาถึงห้องตกแต่งด้วยผ้าใบขาวสว่างเจิดจ้า เพื่อจะได้สำรวจผลจากงานฝีมืออันเป็นเลิศของช่างตัดเย็บผู้ร่วมกันถ่ายทอดสัดส่วนโค้งเว้าจากแบบร่างเสื้อผ้ากลุ่มต่างๆ ของดิออร์ให้กลายเป็นผลงานสวมใส่ได้จริง

เพื่อสะท้อนถึงอิทธิพลที่มีแก่กัน สวนย้อนยุคสุดอัศจรรย์คือการยกย่องความงดงามแห่งธรรมชาติผ่านงานฝีมือทำด้วยกระดาษของศิลปินอายูมิ ชิบาตะ นำเสนอแนวทางอันหลากหลายของการออกแบบจาก House of Dior จากทองคำมาสู่สีสันจากมวลพฤกษา จากน้ำหอม J’adore มาสู่ Miss Dior ในขณะที่ Colorama3 หรือตู้เก็บของมหัศจรรย์อันเต็มไปด้วยสิ่งของแปลกตาหลากสรรพสีจากหลายท้องถิ่นทั่วโลก ซึ่งได้รับการรังสรรค์ขึ้นโดยฝีมือของโฌเอ็ล แอนเดรียโนเมียริโซอา เพื่อตอกย้ำบทบาทสำคัญของเครื่องประดับทั้งหลายของ Dior จากเครื่องสำอาง และน้ำหอมไปจนถึงหมวก ที่ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นโดยสตีเฟน โจนส์ ช่างทำหมวกชื่อดังแห่งอังกฤษ นอกจากนั้นผู้เข้าชมจะได้พบกับผลงานต้นแบบของเสื้อผ้าชุดต่างๆ ซึ่งเคยสวมโดยสุภาพสตรีผู้มีชื่อเสียงของโลก จากเกรซ เคลลีมาจนถึงนาตาลี พอร์ตแมน แม้แต่มาริลิน มอนโรในรูปแบบภาพพิมพ์ตะแกรงไหมอันโด่งดังของแอนดี วาร์ฮอลถึงสามชิ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในครอบครองของ MOT เช่นเดียวกับผลงานหลายชิ้นในครอบครองของ MOT ที่ได้ถูกเลือกมาร่วมจัดแสดงในวาระนี้

อีกช่วงเวลามหัศจรรย์ปรากฏในรูปแบบของชุดราตรียาวหรูหรา และมาถึงบทใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์ของดิออร์ นั่นก็คือกระเป๋าถือ Lady Dior ผลงานระดับไอคอนที่อยู่เหนือกระแสความนิยมของยุคสมัย และได้รับการรังสรรค์ ดัดแปลงเป็นผลงานรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายรุ่น ทั้งยังได้อวดโฉมผ่านนิทรรศการ Lady Dior As Seen By ในหลายเมือง ตลอดจนโครงการศิลปะที่เหล่าศิลปินหลากสาขาจากทั่วโลกสร้างกระเป๋า Dior Lady Art editions ร่วมกันนำเสนอแรงบันดาลใจสู่การออกแบบกระเป๋าอันเป็นแบบฉบับ จากกรีกสู่สเปน, จากอินเดียสู่อียิปต์มาจนถึงญี่ปุ่น ล้วนได้หล่อหลอมผลงานสไตล์ Dior ในรูปโฉมใหม่สำหรับแต่ละฤดู ส่วนบทส่งท้ายสุดเซอร์ไพรส์คือประสบการณ์ล้ำค่าที่ทุกสายตาจะได้ดื่มด่ำผ่านเดรสสุดวิจิตร ผลงานของศิลปินหญิง เพนนี สลิงเกอร์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสถาปัตยกรรมต้นแบบด้านหน้าตัวอาคารเลขที่ 30 บนถนนมงตาญ

นี่คือนิทรรศการที่พลาดไม่ได้สำหรับคนที่รักงานดีไซน์ แม้เรื่องราวหลักจะเป็นเรื่องของแฟชั่น แต่เรื่องของการดีไซน์นิทรรรศการนี้ทำได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สะท้อนการเป็นนิทรรศการในยุคสมัยใหม่ที่ดึงดูดความสนใจให้ผู้ชมก้าวเข้าสู่อีกห้วงมิติหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่นิทรรศการต้องการนำเสนอ เป็นการบอกเล่าผ่านผลงานที่อยู่ในคลังประวัติศาสต์ของห้องเสื้อดิออร์ ผสมผสานกับงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ โดยเฉพาะชิ้นที่อยู่ในความดูแลของพิพิธภัณฑ์ MOT เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่จะปรับทับใจผู้ที่ได้ชมไปนานแสนนาน

o

o