POP ART : Yindee’s and My Mysterious Friends

Photography: Courtesy of the Gallery

โดยปกติทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าศิลปะมักต้องบอกเล่าเรื่องราวของความสวยงาม ความสุขสดใส หรือนำเสนอมุมมองในแง่บวกของชีวิต แต่ในความเป็นจริง ศิลปะสามารถบอกเล่าเรื่องราวของความทุกข์ ความเศร้าและนำเสนอมุมมองในแง่ลบของชีวิตได้เช่นเดียวกัน แต่ในทางกลับกัน เรื่องราวความทุกข์เศร้าและมุมมองในแง่ลบเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องขาดไร้ความงามเสมอไป

เช่นเดียวกับผลงานในนิทรรศการ Yindee’s Mysterious Friends ของฟาน.ปีติศิลปินและนักวาดภาพประกอบ ผู้หลงรักการวาดภาพลายเส้นละเอียดลออ และมักวาดธรรมชาติรอบตัว ทั้งพืชพรรณ สัตว์ตัวจิ๋วและภูตตัวน้อย ที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กและเทพนิยาย เธอสร้างงานศิลปะที่คอยย้ำเตือนเราเสมอถึงปัจจุบันที่มีค่าและสร้างพลังให้เราก้าวต่อไปในอนาคตด้วยความเชื่อมั่นในจิตวิญญาณวัยเด็กที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวผู้ใหญ่ทุกคน

ในฐานะศิลปินและนักวาดภาพประกอบ ฟานมีผลงานโดดเด่นหลากหลาย ทั้งนิทรรศการแสดงกลุ่มกับทีม Story Box ที่ Wilton’s Music Hall กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี 2017, งานเขียนและภาพวาดประกอบหนังสือ London Book Sanctuary ในปี 2019 รวมถึงงานวาดภาพประกอบและออกแบบปกหนังสือหลากเล่ม เธอยังเป็นหนึ่งในศิลปินที่ชนะเลิศในเวทีประกวดโปสต์การ์ด Happening  Makers ในปี 2019 และได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Vespa, Smeg และ Esteé Lauder อีกด้วย

ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งแรกของเธอคราวนี้ ฟานพาเราก้าวเข้าไปสำรวจในห้องนอนของเด็กหญิงยินดี ผู้โดดเดี่ยวเดียวดาย เข้าไปแอบอ่านไดอารี่บนโต๊ะของเธอเพื่อค้นพบความลับที่เธอและครอบครัวเก็บซ่อนไว้ภายในสวนลึกลับที่ห้อมล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพรรณที่มีเพียงยินดีคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเป็นสถานที่ที่เหล่าเพื่อนในจินตนาการของเธอแอบซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจูดี้ หนูที่กลายเป็นหมอนปักเข็ม, ซามูเอล งูที่ปลอมตัวเป็นดอกไม้เพื่อเรียกร้องความรัก, โทมัส ลิงไร้หน้า, ไมเคิล ลูกเสือครึ่งปลาผู้ทำให้พ่อผิดหวังเสมอ และทอมมี่ กระต่ายนักวิ่งผู้เหนื่อยล้าและอยากหลับใหลไปตลอดกาล ตัวละครเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรูปของผลงานภาพวาดที่จัดแสดงในพื้นที่แสดงงานแปลกตาน่าพิศวงราวกับเป็นป่ามหัศจรรย์ก็ไม่ปานฟาน ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน เผยให้ฟังถึงที่มาที่ไปเบื้องหลังตัวละครเด็กหญิงยินดีและเหล่าบรรดาเพื่อนๆ สารพัดสัตว์ในจินตนาการของเธอว่า

“ตัวละครเด็กหญิงยินดี มีที่มาจากตอนที่ทางแกลเลอรีติดต่อให้ฟานทำนิทรรศการแสดงเดี่ยว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสถานการณ์โควิด-19 พอดี ฟานอยู่ในช่วงที่รู้สึกเครียดและเศร้า คิดเรื่องดีๆ ร่าเริงๆ ไม่ค่อยออกก่อนหน้านี้งานของฟานส่วนใหญ่จะเป็นงานในเชิงบวกที่ค่อนข้างสดใสร่าเริง แต่พอเจอกับสถานการณ์โควิด-19 เหมือนฟานดึงแต่พลังลบของตัวเองออกมา แล้วช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่เรานึกถึงตัวเองในวัยเด็ก นึกถึงเรื่องที่อาจจะเป็นความทรงจำไม่ค่อยดีที่เกิดขึ้นกับเรา หรือเรื่องที่เพื่อนเคยเล่าให้ฟังถึงเรื่องแย่ๆ ในอดีตที่เคยเจอ ช่วงเวลานี้ก็เลยเป็นเหมือนการได้ทบทวนตัวเอง และย้อนไปมองอดีต ทำให้เราคิดได้ว่าจริงๆ เราทุกคนต่างมีวัตถุดิบที่น่าสนใจว่าวัยเด็กของเราผ่านอะไรมา และทำให้เรากลายเป็นแบบไหนในปัจจุบัน ฟานว่าวัยเด็กมีผลมากเลย และการเจอเรื่องไม่ดีในวัยเด็กนี่แหละ ที่ส่งผลให้เราเป็นคนแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

“ฟานเลยเอาเรื่องนี้มาเป็นจุดตั้งต้นโดยนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก ว่ามีอะไรที่เราอยากบอกกับตัวเองบ้าง คือตอนเด็กๆ ฟานชอบเล่นตุ๊กตา และมักจะจินตนาการเกี่ยวกับตุ๊กตาเป็นเรื่องราว ซึ่งก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของปัญหาที่ตัวเราเจอ ก็เอามาเล่นเป็นละครเล็กๆ ของเรา ให้ตุ๊กตาแสดงเรื่องราวเหล่านั้นแค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นโดยที่ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เจอเรื่องแบบนี้คนเดียวนะ ตุ๊กตาพวกนี้ก็เจอเหมือนเราด้วย ฟานเลยคิดอยากจะทำนิทรรศการที่เป็นเรื่องเศร้าของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่รู้จะระบายกับใคร เธอมีแค่ไดอารี่เป็นเหมือนเพื่อนเพียงคนเดียว เธอก็เขียนระบายเรื่องเศร้าลงไดอารี่ แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้พบว่าในห้องนอนของเธอมีตุ๊กตาและเพื่อนๆ ในจินตนาการมากมายที่เจอเรื่องราวเหมือนเธอแต่แฟนตาซีกว่า ทำให้เด็กหญิงยินดีรู้สึกว่าเธอไม่ต้องเผชิญเรื่องร้ายๆ เหล่านี้คนเดียว”

นอกจากภาพวาดเหล่าบรรดาสัตว์ในจินตนาการของศิลปินในนิทรรศการแล้ว ผู้ชมยังสามารถเปิดอ่านเรื่องราวความรู้สึกของเด็กหญิงยินดีในไดอารี่ของเธอได้จริงๆ อีกด้วย

“เรื่องราวในไดอารี่ของเด็กหญิงยินดีถูกเขียนขึ้นมาโดยเพื่อนของฟานชื่อหน่อไม้คือช่วงที่พัฒนาแนวคิดว่าจะทำตัวละคร 10 ตัวขึ้นมาคู่กับไดอารี่ ฟานคิดถึงเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ว่ามีบาดแผลอะไรในวัยเด็กบ้างพอคิดจบ หน่อไม้ก็เอาเรื่องราวทั้งหมดมาร้อยเรียงเป็นความทรงจำของเด็กหญิงยินดี ซึ่งอาจจะไม่ได้พูดถึงตัวละคร 10 ตัวนี้ตรงๆแต่เหมือนเรื่องราวที่เด็กหญิงคนนี้เจอถูกพัฒนาไปเป็นสัตว์ทั้ง 10 ตัวนี้ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจที่สะท้อนถึงกัน โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงตัวละครเหล่านี้เลยก็ได้

“ก่อนหน้านี้ฟานจะค่อนข้างกลัวที่จะพูดถึงด้านมืดของตัวเอง ฟานรู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนมีทั้งด้านบวกและด้านลบแหละ แต่เวลาวาดรูป ฟานมักจะวาดรูปสวยๆ เหมือนเป็นการแสดงแค่ด้านบวกของตัวเองออกมา แล้วเก็บความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้กับตัว แต่สำหรับนิทรรศการนี้ฟานกลับรู้สึกว่าเราเล่าเรื่องที่เราทุกข์ใจด้วยภาพที่สวยงามได้ เหมือนความเศร้าเองก็ดูสวยงามได้ ทำไมจะไม่ได้ล่ะ

“การทำงานแบบนี้เป็นเหมือนการระบายเรื่องที่เราคิดอยู่ในใจ ทั้งความรู้สึกโกรธที่เข้มข้นความรู้สึกไม่ดีที่เข้มข้น เข้มข้นมากจนเรา

ไม่กล้าเล่าออกมาให้เพื่อนฟังตรงๆ ด้วยซ้ำแต่พอเราวาดรูปแสดงออกผ่านงานศิลปะเหมือนเราพูดออกมาอ้อมๆ เล่าให้กระดาษฟังด้วยการวาด เหมือนเราได้ระบายออกไปทางอ้อมจะว่าไปก็เหมือนเป็นศิลปะบำบัดสำหรับฟานเราวาดรูปสร้างเรื่องราวออกมาเป็นงานเหล่านี้ แล้วงานเหล่านี้ก็กลับมาบำบัดตัวเราเอง “ฟานเคยคิดเหมือนกันว่า เวลาฟานใช้ชีวิตประจำวัน ออกไปเจอเพื่อนฝูง ฟานต้องเก็บด้านมืดของตัวเองให้มิดชิดที่สุด เวลาเรารู้สึกไม่พอใจใคร เราโกรธ เราเกลียด เราต้องเก็บให้มิดชิดที่สุด แต่พอใช้ชีวิตมาถึงจุดหนึ่งฟานรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเราเก็บไม่ได้หรอก เราต้องระบายออกมา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่งั้นจะระเบิดข้างใน แล้วเราอาจจะป่วยตอนนี้ฟานเจอวิธีที่ healthy กับตัวเอง คือการระบายออกมาผ่านงานศิลปะ พูดออกมาแบบอ้อมๆ หรือไม่ตรงไปตรงมาเกินไป เป็นเหมือนช่องทางหนึ่งในการเล่าเรื่องราวของเรา “ตัวละครต่างๆ ที่วาดออกมา เราได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตตัวเอง ชีวิตเพื่อนฝูงคนรอบตัวที่เราเคยคุยกับเขา เก็บเกี่ยวเรื่องราวของเขามา เป็นการผสมผสานระหว่างความทรงจำของเรากับความทรงจำของคนรอบตัว เวลาเราสมมติเรื่องราวขึ้นมาในหัวฟานก็จะจินตนาการว่าสัตว์ชนิดไหนหรือตุ๊กตาตัวไหนที่เราจะใช้เล่าและพูดเรื่องนี้ได้ดีที่สุด อย่างเช่น สัตว์ชนิดไหนที่เป็นตัวแทนของการถูกทำร้าย สัตว์ชนิดไหนที่เป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์ที่ถูกหักหลังฟานก็จะออกแบบเป็นตัวละครขึ้นมา เหมือนฟานมีนิทานเด็กอยู่ในหัว แล้วลองแต่งนิทานเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ คิดฝันจินตนาการไปเรื่อยๆ แต่เราไม่กล้าเอาตุ๊กตามาทำแบบนั้นจริงๆ นะ เพราะพอเราเป็นคนจินตนาการเยอะเราก็จะรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิตหมด เราก็จะสงสารเขา”

นอกจากสภาพแวดล้อมในห้องแสดงงานที่ถูกตกแต่งประดับประดาจนดูราวกับป่ามหัศจรรย์แล้ว ภายในห้องยังมีองค์ประกอบอีกอย่างที่ขับเน้นความเป็นจินตนาการและความฝันของเด็กหญิงอย่างเตียงนอนสีขาวสะอาดตาที่ตั้งอยู่กลางห้องนั่นเอง 

“ที่ทำห้องนอนขึ้นในห้องแสดงงานเพราะฟานรู้สึกว่าเวลาเราเจอความรุนแรงในบ้าน หรือในสังคมรอบข้าง ห้องนอนจะเป็นที่ปลอดภัยสุดท้ายของเรา เป็นที่ซ่อนตัวหลบภัยสำหรับฟาน เป็นที่ที่เราเขียนบรรยายความรู้สึกส่วนตัวอยู่ในที่ที่รู้ว่าไม่มีใครอื่นเพราะห้องนอนเป็นที่ที่เราจินตนาการทุกสิ่งขึ้นมาได้ ฟานรู้สึกว่า สำหรับเด็กหญิงยินดีหรืออันที่จริงตัวฟานเองนี่แหละ ห้องนอนคือความจริงที่ซ้อนทับกับความฝัน ฟานก็เลยสร้างห้องนอนกึ่งจริงกึ่งฝันขึ้นมา ที่เหมือนเราได้เข้าไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์ ที่มีต้นไม้มีดอกไม้ มีสัตว์อยู่เป็นเพื่อนเรา มีเพื่อนที่เข้าใจห้อมล้อมเรา คอยดูแล รักษา โอบอุ้มคุ้มครองเรา เหมือนเป็นป่าของเรา ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นพื้นที่ปลอดภัย ผู้ชมที่มาชมงานก็สามารถเข้ามานั่งหรือนอนบนเตียงนี้ได้ด้วย”

– Author: MutAnt –

นิทรรศการ Yindee’s Mysterious Friends โดยฟาน.ปีติ จัดแสดงที่ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชั้น 2 ห้อง 248