สำรวจความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและการกีดกันความหลากหลายทางเพศผ่านศิลปะการจัดดอกไม้ของนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์
Photography: Courtesy of The Gallery
ดอกไม้ นอกจากจะใช้ประดับ ตกแต่ง เติมแต้มสีสันบรรยากาศมอบความสวยงาม กลิ่นหอมจรุงใจแก่ผู้คนได้แล้ว ในหลายครั้งดอกไม้ยังสามารถใช้แทนสัญลักษณ์ที่สื่อสารบอกเล่าประเด็นต่างๆทางสังคม ทั้งความหวัง เสรีภาพ สันติภาพ ความเท่าเทียม หรือแม้แต่ความหลากหลายทางเพศ ดังเช่นที่ปรากฏในนิทรรศการศิลปะ ที่มีชื่อว่า Nature versus Nurture โดยนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ศิลปินภาพถ่ายและศิลปะจัดวาง ผู้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการถูกกีดกันเพศสภาพและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านภาพของ ‘ดอกไม้’ หลากรูปแบบและแนวทางอย่างต่อเนื่องจริงจัง
“นิทรรศการ Nature versus Nurture ได้แรงบันดาลใจจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติและการเลี้ยงดูว่าอะไรที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์มากกว่ากันระหว่างการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือวิธีการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม ว่าตัวเรานั้นเป็นผลผลิตจากธรรมชาติหรือการเลี้ยงดูกันแน่ ผลงานในนิทรรศการนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โดยแทนค่าด้วยการเจริญเติบโตตลอดช่วงชีวิตของดอกไม้ 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ช่วงที่ดอกไม้ถูกเลี้ยงดูอยู่ในฟาร์มเพาะมาจนถึงช่วงที่ถูกตัดส่งขายไปยังตู้แช่ดอกไม้ในประเทศต่างๆ และจบลงที่ผู้คนซื้อไปใช้จัดดอกไม้ตามบ้าน กระบวนการผลิตเช่นนี้สะท้อนช่วงชีวิตที่ถูกควบคุมและจัดการ เช่นเดียวกับกระบวนการจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ด้วยการดัดแปลง ทำลาย หรือกีดกันตัวตนและเพศสภาพให้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับ เป้าหมายของนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการสะท้อนให้ผู้คนตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมและไร้เสรีภาพที่เกิดขึ้นผ่านสิ่งธรรมดาสามัญอย่างดอกไม้ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวี่วัน
“ส่วนแรกเป็นผลงานชุด Cut Chrysanthemum Production เป็นเรื่องของดอกเบญจมาศที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมและได้รับการเลี้ยงดูในฟาร์มเพาะจนกลายเป็นเพียงผลิตผลที่สวยงาม ด้วยความที่ผมไปค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับฟาร์มเพาะดอกเบญจมาศแล้วพบว่า ดอกเบญจมาศในฟาร์มส่วนใหญ่ถูกปลูกแบบควบคุมแสง ลดช่วงเวลากลางคืนให้สั้นลง (break night) เพื่อให้ดอกเบญจมาศมีก้านยาวและดอกโตขึ้น จึงทำให้ดอกเบญจมาศที่ปลูกขายกันทุกวันนี้เป็นดอกไม้ที่ถูกทำลายตัวตนเดิมที่เคยมีในอดีตลงไป จนกลายเป็นสินค้าอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเศร้ามาก เพราะเราไม่สามารถสืบค้นได้ว่าดอกเบญจมาศยุคดั้งเดิมมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะมันถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรมมาอย่างยาวนานมาก หรืออย่างดอกลิลี่ สมัยก่อนก็เป็นดอกไม้ที่บานคว่ำ แต่ด้วยความที่ดอกไม้ส่วนใหญ่มักถูกจัดในช่อ พอดอกบานคว่ำก็จัดเข้าช่อได้ยาก ดอกลิลี่เลยถูกดัดแปลงสายพันธุ์ให้กลายเป็นดอกไม้ที่บานหงายจะได้ถูกจัดช่อได้ง่ายขึ้น
“เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเราเองในแต่ละช่วงวัน ผมรู้สึกว่ามีข้อจำกัดบางอย่างทำให้เราไม่สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่แตกต่างอะไรกับดอกไม้เหล่านี้ที่ถูกจำกัดตัวตนจากการเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการคนเราเองก็ถูกสังคมจำกัดด้วยการเป็นสิ่งที่สังคม ณ เวลานั้นต้องการเหมือนกัน ผมก็เลยตั้งคำถามว่า แล้วคนเรา ณ ปัจจุบันหลงเหลือความเป็นตัวตนที่แท้จริงอยู่มากน้อยแค่ไหนกันแน่
“ด้วยความที่ผมสั่งดอกเบญจมาศจากฟาร์มหนึ่งเพื่อมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ แต่ปรากฏว่าวันที่ต้องนำดอกไม้มาแสดง ทางฟาร์มโทรมายกเลิกการส่ง เพราะเจอพายุเข้าจนทำให้ดอกไม้ในแปลงเสียหายเละเทะ ไม่สามารถตัดส่งมาให้ได้ ผมเลยรู้สึกว่านี่แหละคือชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้ เมื่อดอกไม้ถูกสภาพแวดล้อมทำลาย ก็ต้องกลายเป็นขยะที่ฟาร์มคัดทิ้ง ไม่มีโอกาสเจริญเติบโตได้เลย ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เราเผชิญในการถูกบังคับให้เป็นคนในแบบที่สังคมต้องการ ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเองตามที่เราต้องการได้เลย เราต้องพยายามเป็นเหมือนดอกไม้ที่สมบูรณ์แบบ เพื่อให้สังคม ณ เวลานั้นยอมรับเรา
“ผมจึงซื้อดอกไม้มาจากอีกที่หนึ่ง เพื่อทำงานศิลปะจัดวางที่จำลองแปลงดอกไม้ของฟาร์มที่ผมสั่งจองเอาไว้ ให้เห็นว่าแปลงดอกไม้ที่ถูกพายุเข้ามีสภาพเป็นอย่างไร ส่วนดอกไม้ที่สมบูรณ์แบบก็จะถูกตัดก้านวางบนแท่นแสดงงาน เพื่อให้เห็นว่ามีดอกไม้ส่วนหนึ่งที่สวยงามถูกตัดเพื่อนำไปขายเป็นสินค้า ในขณะเดียวกัน ดอกไม้ที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ถูกปล่อยทิ้งให้ตายคาต้นไป
“ส่วนที่สองคืองานชุด Flower Refrigerator เป็นภาพของดอกไม้ที่ถูกจัดวางไว้ในตู้แช่ ผมต้องการเล่าประเด็นเกี่ยวกับการที่บางประเทศการเป็นเพศทางเลือกเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผมคิดว่าสิ่งที่มนุษย์เราไม่สามารถเลือกได้คือเรื่องของเพศ ครอบครัว ชนชั้นและประเทศที่เราถือกำเนิด เมื่อเราเกิดขึ้นมาในพื้นที่ที่เราถูกกฎหมายหรือแม้แต่ศาสนาจำกัดสิทธิเสรีภาพต่างๆ เช่นเดียวกันกับดอกไม้เมื่อถูกเพาะเลี้ยงเพื่อตัดดอกส่งออกไปยังหลายประเทศ เพื่อไปวางขายอยู่ในตู้แช่ตามร้านขายดอกไม้ต่างๆ ดอกไม้ที่ถูกเลี้ยงดูในฟาร์ม เมื่อถูกตัด แล้วถูกนำไปอัดแน่นไว้ในพื้นที่จำกัดอย่างตู้แช่ ก็ไม่ต่างกับการที่ดอกไม้เหล่านั้นถูกจำกัดเสรีภาพเช่นกัน
“ผมทำการค้นคว้าเกี่ยวกับร้านดอกไม้ในประเทศต่างๆ ที่มีกฎหมายที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศว่าเขาขายดอกไม้ชนิดไหนบ้าง แล้วก็ใช้ดอกไม้เหล่านั้นมาจัดเรียงสีสันให้คล้ายกับธงชาติของประเทศที่ว่า ดอกไม้บางส่วนอาจเป็นดอกไม้ท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น บางส่วนอาจเป็นดอกไม้ที่ถูกนำเข้ามา เหมือนกับคนเราที่พอเดินทางไปต่างประเทศก็จะถูกกฎหมายของประเทศเหล่านั้นมาจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือตัวตนของเรา เช่นเดียวกับดอกไม้เหล่านี้ที่ไม่ได้มีสิทธิเลือกอะไรให้ตัวเอง
“หลังจากตามหาดอกไม้ตามฤดูกาลที่มาเรียงให้ตรงตามสีธงชาติของประเทศเหล่านั้นแล้ว ผมก็บันทึกภาพดอกไม้เหล่านั้น ด้วยกระบวนการ scanography หรือการสแกนด้วยเครื่องสแกนขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดเป็นภาพที่ดูเหมือนดอกไม้ถูกอัดแน่นอยู่ในตู้แช่และไฟของเครื่องสแกนเองก็ดูคล้ายกับไฟของตู้แช่ที่มีแสงสว่างส่องอยู่ที่ระยะด้านหน้าและทิ้งความมืดไว้ในระยะด้านหลัง ส่วนโครงของตู้แช่ผมให้ร้านกรอบรูปผลิตขึ้นมาให้ดูใกล้เคียงกับตู้แช่แต่มีขนาดเล็กลง และนำมาวางทับบนภาพดอกไม้อีกที ส่วนป้ายชื่อบนตู้แช่ผมใช้ชื่อของดอกไม้ประจำประเทศที่ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพื่อเป็นสัญญะบอกใบ้ให้ผู้ชมตีความโดยไม่บอกชื่อประเทศเหล่านั้นตรงๆ เมื่อพลิกดูภาพในแนวนอน ผู้ชมก็อาจจะพอเดาออกว่าเป็นสีของธงชาติประเทศใดบ้าง
“ส่วนที่สามคืองานชุด The Other Side of Flower Arrangement ที่พูดเรื่องการจัดดอกไม้ ซึ่งผมไปค้นคว้ามาว่า ในอดีตการจัดดอกไม้ถูกสงวนเอาไว้สำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมการจัดดอกไม้ถึงถูกจำกัดเอาไว้แค่สำหรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น หรือเราถูกแบ่งแยกชนชั้นผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างการจัดดอกไม้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ผมอยากสมมติตัวเองว่า ถ้าตัวผมเกิดในยุคสมัยนั้น ผมจะสามารถจัดดอกไม้ออกมาเป็นแบบไหนได้บ้าง ด้วยความที่ผมเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ผมก็เลยอยากเอาวัตถุในชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางอย่างขันน้ำ ชามใส่อาหารแมว กะละมังล้างผัก หรือครกมาเป็นภาชนะแทนแจกันใบหรูที่คนร่ำรวยชนชั้นสูงใช้จัดดอกไม้กันเพราะผมอยากลดความสูงส่งของการจัดดอกไม้ในอดีตลงด้วยการใช้ความเป็นชนชั้นกลางของตัวเองสร้างผลงานชุดนี้ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของชนชั้นกลางที่ค่อนมาทางล่าง ที่ใช้ขันอาบน้ำโดยไม่ได้ใช้ฝักบัวด้วยซ้ำไป
“ผมเลือกใช้เทคนิคการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ เพราะที่บ้านผมมีหนังสือสอนจัดดอกไม้ที่พิมพ์มาหลายสิบปีแล้ว ในหนังสือบอกเอาไว้ว่าการจัดดอกไม้แบบอิเคบานะเป็นที่นิยมในประเทศไทย เพราะใช้ดอกไม้จำนวนน้อย ทำให้ใช้เงินไม่เยอะ ผมคิดว่านี่เป็นรูปแบบการจัดดอกไม้ที่เหมาะกับผมมาก เพราะผมเองก็ไม่ได้ร่ำรวยขนาดที่จะซื้อดอกไม้มากมายมาจัด ในขณะเดียวกัน การเรียนอิเคบานะในยุคปัจจุบันกลับเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมาก ผมจึงอยากลดความสูงส่งลงด้วยการใช้การจัดดอกไม้
แบบอิเคบานะที่ผมฝึกฝนเองโดยไม่ได้ไปเรียนมาจากที่ไหน
“ดอกไม้ที่จัด ผมก็ซ่อนสัญลักษณ์บางอย่างด้วยการดัดใบและดอกไม้ให้เป็นคำหยาบ (ภาษาอังกฤษ) เพราะผมมองว่า พอคนเห็นว่าเป็นคำหยาบปุ๊บ ก็จะมองว่าเป็นของต่ำ ผมรู้สึกว่านี่เป็นอีกสิ่งที่คนเราให้คุณค่าความเป็นชนชั้นให้กับมัน ทั้งๆ ที่ก็เป็นภาษาเหมือนๆ กันผมก็เลยอยากใส่คำหยาบเหล่านี้ลงไปในการจัดดอกไม้ในครั้งนี้ เพราะอยากลดทอนความสูงส่งของการจัดดอกไม้ที่มีมาแต่อดีต หรือตัวดอกไม้เอง บางดอกก็มีคนมองว่าเป็นดอกไม้ราคาถูก ไม่ควรเอามาจัดช่อ เพราะคนที่ได้รับไปคงไม่ชอบ ผมกลับมองว่าดอกไม้แต่ละชนิดควรมีความเท่าเทียมกัน ไม่ควรถูกมนุษย์เอาไปแบ่งแยกชนชั้นเป็นของต่ำ-ของสูง หรือผ้าที่ใช้ทำฉากถ่ายรูปก็เป็นผ้าราคาถูกที่หาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป กล้องที่ใช้ถ่ายภาพก็เป็นกล้องดิจิทัลที่ผมใช้ถ่ายรูปมาเป็นสิบปีแล้ว ภาพที่พิมพ์ออกมาผมใช้เทคนิคทำพื้นผิวให้ดูเหมือนเป็นภาพเก่าๆ ในสมัยก่อน เพราะผมค้นคว้ามาว่าสมัยก่อนคนชอบถ่ายภาพการจัดดอกไม้ในลักษณะนี้
“งานชุดนี้ผมใช้ทุกสิ่งอย่างที่อยู่ในชีวิตของผมจริงๆ ไม่ได้เสแสร้งปลอมแปลงหรือพยายามทำให้ดูสูงส่ง สำหรับผม ภาชนะใส่ดอกไม้จะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เพียงสามารถใส่น้ำแล้วก็หล่อให้ดอกไม้มีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ก็เพียงพอแล้ว ตอนเด็กๆ ผมเองก็ไม่กล้าใช้แจกันถูกๆจัดดอกไม้ เพราะผมรู้สึกว่าดูไม่ดี แต่พอโตขึ้นมา ผมก็รู้ว่านั่นคือสิ่งที่สังคมพยายามบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ สิ่งนี้ราคาถูก ราคาแพง สิ่งนี้ของต่ำ ของสูง ผมมองว่าแค่เราได้มีโอกาสใช้เวลาในการจัดดอกไม้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
“ดอกไม้เป็นสิ่งที่ผมชอบมาตั้งแต่เด็ก ในอัลบั้มภาพถ่ายที่แม่เก็บเอาไว้มักจะเป็นรูปตัวผมไปดมดอกไม้ในที่ต่างๆ สมัยเด็ก ทุกๆ ปีผมจะไปอยู่กับป้าที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านป้าจะมีหนังสือเกี่ยวกับดอกไม้เยอะมากผมก็ชอบไปเปิดอ่าน จนสามารถจำได้ว่านี่คือดอกอะไร ชื่ออะไร เวลาที่ผมไปตลาดต้นไม้ดอกไม้กับแม่ ผมรู้จักชื่อดอกไม้แทบทุกชนิด จนแม่ผมตกใจว่าทำไมถึงรู้จักดอกไม้เยอะขนาดนี้ สมัยเด็กๆ ผมยังเคยเอาดอกไม้มาทำเป็นมงกุฎสวมหัวเดินรอบบ้าน ผมรู้สึกว่าดอกไม้เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ผมรู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น
“สำหรับผม ดอกไม้ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ มันมีอวัยวะคล้ายคลึงกับมนุษย์ มีชีวิต เติบโต มีตูม มีบาน มีเหี่ยวเฉา และโรยรา ใกล้เคียงกับชีวิตมนุษย์ ผมคิดว่าดอกไม้กลายเป็นสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวที่ผมเคยเผชิญมาได้แทนคำพูด ผมแค่อยากเอาตัวตนของผมใส่เข้าไปในงานศิลปะ โดยมีดอกไม้เป็นตัวกลาง
“สมัยเด็ก ผมไม่กล้าบอกใครว่าตัวเองเป็นเพศทางเลือก เพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ ความกลัวนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมต้องปิดบังตัวเองมาโดยตลอด ผมเลยรู้สึกว่าในช่วงเวลาที่ผมปิดบังซ่อนเร้นตัวเองมาหลายสิบปีนี่ผมสูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วผมจะเรียกคืนสิ่งที่สูญเสียเหล่านั้นกลับมาได้อย่างไร ผมอยากใช้ดอกไม้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านงานศิลปะที่ผมทำขึ้นมา”
– Author: MutAnt –