นาหว้าโมเดล
การฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ
หนึ่งในพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่สร้างประโยชน์อันล้นพ้นให้แก่ประชาชนชาวไทย นั่นก็คือโครงการศิลปาชีพฯ ที่มีจุดกำเนิดที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงจัดตั้ง “กลุ่มทอผ้าไหมแห่งแรกของประเทศไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2520 ในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าของพระองค์ ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพ ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส
เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปยังวัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทอดพระเนตรนิทรรศการความเป็นมาของกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และได้พระราชทานแนวทางในการพัฒนานาภูมิปัญญา ฟื้นฟูลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมุ่งมั่น ฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าลายโบราณให้มีความร่วมสมัยสู่สากล เพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนบ้านนาหว้า อันเป็นที่มาของ “โครงการนาหว้าโมเดล” และได้ทรงพระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ที่มีความหมายลึกซึ้งน่าประทับใจ
“นาหว้าโมเดล” เป็นโครงการตามแนวทางพระดำริฯ ที่มีภารกิจในการฟื้นฟูภูมิปัญญา ลายผ้า และความเป็นมาของโครงการศิลปาชีพฯ ที่ขับเคลื่อนโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งมั่นสนับสนุนแนวพระดำริของ คม พ.ศ. 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา อย่างเต็มกำลังเสมอมา เพื่อให้ช่างทอผ้าสามารถพึ่งพาตนเองในด้านการสร้างสรรค์ผืนผ้าตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืน โดยมี 6 กลุ่มทอผ้าจากชุมชนบ้านนาหว้าเข้าร่วมโครงการดังต่อไปนี้
1. ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์
2. กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ
3. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัดศรีบุญเรือง
4. กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด
5. กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า
6. กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ และการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและนักออกแบบหลากหลายสาขา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังความต้องการของชุมชน และร่วมบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาผืนผ้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัย มีความเป็นสากล และเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้โครงการนาหว้าโมเดล เป็นโครงการต้นแบบที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในด้านความสำเร็จของการฟื้นคืนภูมิปัญญาท้องถิ่นให้หวนคืนกลับมาอยู่คู่ชุมชน เพื่อชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผืนผ้าและผลิตภัณฑ์อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดี ให้แก่ช่างทอผ้าและครอบครัวอย่างยั่งยืน
จึงเป็นที่มาของ “นิทรรศการนาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ และเพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านนาหว้า
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2565 ณ Iconcraft ชั้น 5 Iconsiam โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษา โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย และสมาชิก 6 กลุ่มทอผ้าจากชุมชนบ้านนาหว้า เข้าร่วมโครงการ