Blue Fantasy: The Imaginary Narrative

Author: MutAnt

Photography: Courtesy of The Artist / The Gallery

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในสังคม มักใช้ ‘เรื่องเล่า’ในรูปแบบต่างๆ อย่างตำนาน พงศาวดาร หรือแม้แต่ประวัติศาสตร์ เป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมืออันทรงอำนาจในการควบคุม กำหนดความรู้สึกนึกคิดและชะตาชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครองโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ในทางกลับกัน สามัญชนผู้ถูกปกครองในหลายยุคสมัย ต่างก็ท้าทายอำนาจของเหล่าบรรดาชนชั้นนำและผู้มีอำนาจ ด้วยการสร้างเรื่องเล่าของตัวเองเพื่อรื้อถอน ปลดปล่อยตนเองให้สามารถโต้แย้ง ตั้งคำถาม หรือแม้แต่ต่อรองกับอำนาจปกครองเหล่านั้นอยู่เสมอมา ไม่ว่าจะในรูปแบบของนิทาน นิยาย เพลงพื้นบ้านหรือแม้แต่งานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เช่นเดียวกับที่ปรากฏในผลงานของ กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินช่างภาพชาวไทยที่มีผลงานโดดเด่นจากการสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายแบบคอลลาจ ผู้มักหยิบตำนานพื้นบ้านมาถ่ายทอดผ่านภาพถ่าย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเรื่องเล่าพื้นถิ่นที่ส่งผลต่อความเป็นหญิงในสังคมวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม

ในนิทรรศการภาพถ่ายชุดล่าสุดของเธออย่าง ‘Blue Fantasy: ประวัติศาสตร์เพ้อฝัน’ กมลลักษณ์ท้าทายอำนาจของชนชั้นนำ ด้วยการใช้เรื่องเล่าที่เคยเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ มาแทรกแซงและดัดแปลงเพื่อสร้างประวัติศาสตร์สามัญของตนเองขึ้นมาใหม่ ในฐานะ ‘ศิลปินผู้ตัดต่อประวัติศาสตร์’ 

กมลลักษณ์สร้างเรื่องราวในแบบฉบับของเธอเอง โดยแทนที่ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์พงศาวดารด้วยใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว การตัดปะประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่ในแบบฉบับของเธอจึงเป็นการผสมผสานภูมิหลังของครอบครัว จินตนาการของชาวบ้านในท้องถิ่น วรรณกรรม ความฝันของสมาชิกในบ้าน ตลอดจนเรื่องราวเก่าแก่ของสิ่งของดั้งเดิมภายในบ้าน โดยเธอได้เน้นย้ำและยกย่องถึงคุณค่าของครอบครัว เพื่อให้ความหมายแก่สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองข้ามไปกมลลักษณ์พัฒนาผลงานชุดนี้ขึ้นในระหว่างการเป็นศิลปินในพำนัก (residency) ที่บ้านเกิดของเธอในจังหวัดราชบุรี โดยให้สมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา เพื่อเป็นการก้าวข้ามกรอบอำนาจแห่งเรื่องเล่าที่ผู้อยู่ใต้อำนาจอย่างเราถูกทำให้เชื่อ ด้วยความจริงชุดใหม่ที่ถูกตีความผ่านจินตนาการ การสร้างภาพ ความเพ้อฝัน และประวัติศาสตร์ส่วนตัว เพื่อให้สามัญชนสามารถเป็นเจ้าของเรื่องเล่าของตัวเองได้ในท้ายที่สุด

“นิทรรศการนี้พูดถึงเรื่องราวของแฟนตาซี เรามองแฟนตาซีในแง่ของความปรารถนา เหมือนเวลาเราชอบอะไรบางอย่างเราก็สร้างแฟนตาซีของตัวเองขึ้นมา ในงานชุดนี้เราสร้างแฟนตาซีส่วนตัวขึ้นมาผ่านแฟนตาซีของพงศาวดารเขมร เรื่องพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ และบังเอิญว่าในพงศาวดารเรื่องนี้มีดอกบัว ที่เราเคยทำงานเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าเหมาะกับการนำมาเล่าในครั้งนี้ แต่เราไม่ได้เล่าเรื่องพงศาวดารนี้แบบตรงไปตรงมา แต่จะเล่าผ่านประวัติของครอบครัวเรามากกว่า งานชุดนี้จึงเริ่มจากการกลับไปบ้านที่ราชบุรี เพื่อกลับไปค้นคว้าประวัติ กับเรื่องราวของที่บ้าน

“อย่างเรื่องของป้าคนหนึ่งของเราที่เขาเคยถูกครอบครัวหนึ่งอุปการะเลี้ยงดูมา แล้วเขาถูกครอบครัวนั้นกระทำบางอย่างจนรู้สึกรับไม่ไหวเขาก็เลยหนีออกมาด้วยการแกล้งทำเหมือนฆ่าตัวตาย โดยเอาผ้าถุงไปพาดริมบ่อ เหมือนกระโดดน้ำตาย พอคนที่บ้านไปงมก็ไม่เจอไปดูหมอดูก็บอกว่าดวงนี้เป็นดวงของคนที่ยังไม่ตาย เราก็ใช้เรื่องราวเหล่านี้เชื่อมโยงกับพงศาวดาร โดยให้ป้าคนที่แกล้งฆ่าตัวตายเย็บดอกบัวประดิษฐ์จากถุงน่องเพื่อจำลองเป็นสระเบญจปทุมชาติขึ้นมา ซึ่งเป็นการจำลองเรื่องราวในพงศาวดารที่ฤๅษีเจอเด็กทารกในดอกบัวในสระ ที่ต่อมากลายเป็นพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์

“หรือเรื่องของดอกบัวที่งอกในสระเบญจปทุมชาติ แล้วมีเด็กอยู่ข้างใน เราก็แทนค่าด้วยภาพของดอกบัว 8 ดอกในไหเรามองว่าไหคือตัวแทนของสระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนมดลูกของย่าของเรา ดอกบัวจำนวน 8 ดอกในไห แทนลูก 8 คนของย่า

“หรือมีป้าอีกคนที่เล่าให้เราฟังว่า ตอนเด็กๆ เขายากจน ไม่ค่อยมีเสื้อผ้าใส่ ก็เลยทำให้เขาอยากเป็นช่างตัดผ้า เพื่อจะได้เย็บเสื้อผ้าให้น้องสาวใส่ เราก็ให้ป้าคนนี้คัดลอกพงศาวดารลงกระดาษหนังสือเรียนแล้วนำมาพิมพ์ลงบนผ้าที่ป้าคนนี้เย็บจากเศษผ้าเหลือๆ ต่อกันเป็นผ้าปูที่นอน หรือในพงศาวดารจะมีตอนที่ฤๅษีบวงสรวงเทพยดาเพื่อให้มีน้ำนมไหลออกจากนิ้วมือเพื่อเลี้ยงทารก เราก็ให้ป้าที่เป็นช่างเย็บผ้าทำหยดน้ำนมจากผ้าขึ้นมา

“หรือในตอนหนึ่งของพงศาวดารที่ฤๅษีฝันว่าพระอินทร์มาบอกให้เดินทางไปยังทิศตะวันออก แล้วจะเจอบ้านเมืองที่เด็กคนที่เลี้ยงดูจะกลายเป็นกษัตริย์ครองราชย์ที่เมืองนั้นเราจัดฉากถ่ายที่เล้าไก่หลังบ้าน แล้วให้คนที่บ้านสวมบทเป็นฤๅษี โดยไม่ได้ยึดว่าจะต้องเป็นเพศไหนโดยเฉพาะเจาะจง “หรือในช่วงตอนที่ฤๅษีเดินทาง เราก็เอาเรื่องของพ่อตอนที่เคยบวชแบบมอญแล้วต้องสวมชฎา ขี่ม้าด้วยความเชื่อทางพิธีกรรมที่รำลึกถึงเจ้าชายสิทธัตถะที่ขี่ม้าออกไปบวชเราก็จำลองภาพกระบวนการบวชแบบมอญของพ่อขึ้นมาใหม่ โดยอ้างอิงจากสมุดบันทึกของก๋งที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของทางบ้าน ที่เราบังเอิญไปเจอ ซึ่งก๋งเป็นคนเขียนกำหนดการอุปสมบทด้วยลายมือของตัวเอง เราก็เลยหยิบเอาประวัติศาสตร์ส่วนตัวนี้มาเล่าผ่านภาพถ่ายเพื่อแสดงฉากการเดินทางของฤๅษีขึ้นมา “หรืองานวิดีโอจัดวาง เราก็ทำเลียนแบบละครโฆษณาชวนเชื่อของแนวคิดชาตินิยม ที่เล่าเรื่องราวของจิตวิญญาณที่เหมือนจะตายไปแล้ว แต่ถูกปลุกขึ้นมาด้วยการโหมประโคมความโรแมนติกของละครโฆษณาชวนเชื่อแบบชาตินิยม

“ชื่อนิทรรศการอย่าง Blue Fantasy มีความหมายถึงเลือดสีน้ำเงินที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูง ซึ่งเราแทนด้วยเรื่องราวจากพงศาวดารของกษัตริย์เขมร แต่พอเราเอาประวัติส่วนตัวของครอบครัวเราแทรกลงไป ก็เหมือนเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของเรื่องราวเดิมลง เพราะเรามองว่าความศักดิ์สิทธิ์เป็นเหมือนแฟนตาซีของความปรารถนา เราต้องการเล่นล้อกับแนวคิดในการคัดเลือกคัดสรร เติมแต่ง และสร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัวขึ้นมา เพื่อเป็นการช่วงชิงพื้นที่บางอย่างในเชิงสัญญะ เพราะโดยปกติ ผู้มีอำนาจมักใช้เรื่องเล่า (อย่างตำนานหรือพงศาวดาร) เป็นเครื่องมือในการกุมอำนาจ เราก็สร้างอำนาจของสามัญชนขึ้นมาใหม่ผ่านเรื่องเล่าของเราเอง”

‘Blue Fantasy ประวัติศาสตร์เพ้อฝัน’ นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดย กมลลักษณ์ สุขชัย และภัณฑารักษ์ สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ จัดแสดงที่ HOP PHOTO GALLERY ชั้น 3 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์