การสำรวจกายภาพของกระดาษด้วยการทดลองทางความคิดสร้างสรรค์ของ Tashi Brauen
Photography: Courtesy of Ronewa Art Projects & Swita Uancharoenkul
Author: MutAnt
ผลงานของทาชิ บราวน์เอน (Tashi Brauen) ศิลปินร่วมสมัยชาวสวิส-ทิเบต แห่งเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากการเล่นกับคุณสมบัติทางกายภาพของพื้นผิวและโครงสร้างของวัสดุที่อยู่รอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันเราอย่าง ‘กระดาษ’ นำมาทดลองด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อค้นหาแนวทางของความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์
บราวน์เอนมีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ มากมาย ทั้งในซูริก, เบอร์ลินและมิวนิก เยอรมนี รวมถึงในประเทศไทย ทั้งใน Serindia Gallery, SAC Gallery ในกรุงเทพฯ ฯลฯ ผลงานของเขาถูกสะสมในคอลเลกชั่นส่วนตัวของนักสะสมทั่วโลก อีกทั้งยังถูกสะสมเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงรัฐซูริก รัฐเบิร์น และ Wettingen Art Collection อีกด้วย
“ผลงานชุดนี้เกิดจากความบังเอิญ เพราะงานในชุดก่อนหน้านี้ของผมเป็นงานภาพถ่าย ที่ใช้กระดาษทาสีทำโมเดลคล้ายกับงานสถาปัตยกรรมและงานนามธรรม แต่อยู่มาวันหนึ่ง ผมรู้สึกว่าผมต้องการพื้นที่ทำงานที่ใหญ่กว่าเดิม เพราะผมคิดว่างานภาพถ่ายก็โอเคนะ แต่มันบอบบางมาก คุณต้องเก็บรักษาอย่างดี และต้องระมัดระวังมากๆ ผมก็เลยคิดว่าจะเลิกทำงานในลักษณะนี้ และปล่อยให้กระดาษเป็นอย่างที่มันเป็น หลังจากตัดสินใจย้ายที่ทำงานไปยังสตูดิโอใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมที่ซูริก ผมก็เอากระดาษพวกนี้แพ็คเก็บไว้เพื่อขนย้ายไปที่นั่น หลังจากย้ายไปแล้ว ผมหยิบกระดาษที่เก็บเอาไว้ออกมาดูอีกครั้ง และพบรอยยับและรอยแตกกะเทาะของสีที่เคลือบทาบนกระดาษ ที่ดูเหมือนงานวาดเส้น พอได้เห็นแล้วผมรู้สึกชอบมาก และเกิดไอเดียขึ้นมาทันที ผมคิดว่ารอยยับและรอยแตกของกระดาษเหล่านี้ทำให้วัตถุแบนๆ อย่างกระดาษดูมีความนูนและมิติเพิ่มออกมาจนเหมือนเป็นวัตถุสามมิติเลย
ผลงานในชุด ‘Cracks’ ที่เขาสร้างขึ้นลงบนพื้นผิวของกระดาษเคลือบสีและพับให้เกิดรอยแตกกะเทาะของสีบนพื้นผิว จนดูราวกับเป็นสายฟ้าที่พาดผ่านพื้นผิวของกระดาษก็ไม่ปาน
“ดูเผินๆ งานของผมดูเหมือนจิตรกรรมนามธรรม แต่ผมคิดว่างานของผมอยู่ตรงกลางระหว่างงานแบบนามธรรมและงานแบบเหมือนจริง เพราะรอยแตกกะเทาะของสีบนกระดาษก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นนามธรรม แต่เป็นรอยแตกจริงๆ ในขณะเดียวกันก็ให้อารมณ์แบบนามธรรม ผมเองก็เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศแวดล้อมของงานศิลปะนามธรรมในมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สอนผมก็เป็นศิลปินนามธรรมและมินิมอลลิสม์ (minimalism)
“ก่อนหน้านี้ผมทำงานในสีเอกรงค์ แต่ในช่วงหลังผมหันมาลองใช้สีสันสดใส และจับคู่สีเหล่านี้เข้าด้วยกัน สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสีพวกนี้ก็คือ บางสีคุณจะเห็นรอยยับและรอยแตกกะเทาะของสีได้ชัดเจนมาก แต่บางสีเรากลับเห็นแค่รอยพับจางๆ จนแทบจะมองไม่เห็นเลย”
หรือในผลงานอีกชุดในนิทรรศการอย่าง ‘Du’ ที่บราวน์เอนใช้เทคนิคการพิมพ์และกระบวนการทำงานศิลปะขั้นพื้นฐานที่สุด โดยนำเอาสิ่งของรอบตัวอย่าง ‘นิตยสาร’ มาเติมแต่งด้วยการพิมพ์สีสันสดใสระหว่างหน้ากระดาษของนิตยสาร ผสมผสานรูปแบบนามธรรมกับข้อความและรูปภาพ จนเกิดเป็นองค์ประกอบที่โดดเด่นเปี่ยมเอกลักษณ์
“ผมเริ่มทำงานชุดนี้จากกระดาษของนิตยสาร Du (แปลว่า ‘you’) นิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ตั้งแต่ทศวรรษ 1940s ซึ่งเป็นนิตยสารที่ผมเติบโตมากับมัน พอดีในช่วงสถานการณ์โควิดในปี 2020 ร้านค้าทุกอย่างในซูริกปิดหมดในช่วงล็อกดาวน์ แม้แต่ร้านขายอุปกรณ์ศิลปะ ผมหาวัสดุอะไรทำงานไม่ได้เลย ผมก็เลยหันไปมองรอบๆ สตูดิโอ และเห็นนิตยสาร Du ที่ผมสะสมเอาไว้เป็นตั้งๆ ผมก็เลยหยิบกระดาษจากนิตยสารเหล่านี้มาทำงานด้วยเทคนิคง่ายๆ อย่างการทำภาพวาดพับครึ่ง (folded paper painting) หรือภาพพิมพ์ครั้งเดียว (monoprint) ที่เด็กๆ มักจะทำกัน ในขณะเดียวกันผมก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ Rorschach inkblot test (แบบทดสอบรอยหยดหมึกของรอร์สชาค) อีกด้วย”
“ที่ผมได้มาแสดงงานที่นี่ก็เพราะในปี 2016 ผมมีนิทรรศการแสดงงานที่ Serindia Gallery ในกรุงเทพฯ และผมได้ยินมาว่าทำเนียบเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทยนั้นออกแบบโดยสถาปนิกคนสำคัญชาวสวิสอย่างฮันส์ ฮอฟมานน์ (Hans Hofmann) ผมเลยอยากมาดูสถานที่แห่งนี้มาก จึงขออนุญาตทางสถานทูตเพื่อมาเยี่ยมชมที่นี่ พอได้มาดู ผมก็ถ่ายภาพเอาไว้ และผมก็บอกกับ (อดีต) ท่านทูตว่าผมสามารถทำงานศิลปะจัดวางในสวนของบ้านได้ ในปี 2016 ผมก็เลยได้ทำงานศิลปะจัดวางจากเก้าอี้และแสงไฟในสวนที่นี้ หลังจากนั้นผมก็ได้พบกับโรเจอร์ วอชิงตัน (Roger Washington) ผู้อำนวยการหอศิลป์ Ronewa Art Projects ที่เบอร์ลิน และ SAC Gallery ที่กรุงเทพฯ ที่ช่วยให้ผมได้กลับมาแสดงงานที่บ้านพักประจำตำแหน่งของท่านทูตในกรุงเทพฯ แห่งนี้เป็นพิเศษอีกครั้ง”
น่าเสียดายที่นิทรรศการครั้งนี้จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น แต่ผู้ชมทั่วไปก็สามารถเข้าไปชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ทางออนไลน์ได้ที่ https://ronewa.com/viewing-room/16-tashi-brauen-hold-on-to-that-paper-again-in/
“ผลงานในชุด “Cracks” ที่สร้างขึ้นลงบนพื้นผิวของกระดาษเคลือบสีและพับให้เกิดรอยแตกกระเทาะของสีบนพื้นผิว”
“Du” ผลงานที่ใช้เทคนิคการพิมพ์ขั้นพื้นฐานที่สุด โดยนำเอา “นิตยสาร” มาเติมแต่งสีสันสดใสระหว่างหน้ากระดาษ ผสมผสานรูปแบบนามธรรมกับข้อความและรูปภาพ