นิทรรศการ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times?

Share This Post

Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times? เป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากโครงการ Challenging Time, Artists and Curatorial Exchange, and Research Residency Program Between Thailand and Taiwan 2020 ซึ่งเป็นโครงการศิลปินในพำนักเพื่อการแลกเปลี่ยนและวิจัยเชิงทดลองออนไลน์ ภายใต้ความร่วมมือทางไกลระหว่าง หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในกรุงเทพฯ และ พิพิธภัณฑ์ฮงกา ในไทเป

- Advertisement -

นอกเหนือจากการขยายเครือข่ายที่มีอยู่ระหว่างแวดวงศิลปะของประเทศไทยกับไต้หวันแล้ว นิทรรศการนี้ยังถือเป็นความร่วมมือระหว่างภัณฑารักษ์ ศิลปิน กับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงผู้ชม ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมคุณค่าของการร่วมสนทนา การเชื่อมต่อถึงกัน และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อันเป็นแบบอย่างสำหรับการอยู่ในโลกนี้ในช่วงเวลาที่ท้าทายในปัจจุบัน

นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการลำดับที่ 2 ในนิทรรศการชุดสงครามเย็นของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โดยเน้นที่บริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทยและไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงปัจจุบัน นิทรรศการนี้ที่เป็นผลลัพธ์ของการอภิปรายอย่างต่อเนื่องระหว่างศิลปินและองค์กรศิลปะทั้งสองแห่งที่เข้าร่วม โดยเป็นการนำประวัติศาสตร์สงครามเย็นกลับมาพิจารณาใหม่ และยังใช้เป็นจุดเริ่มต้นที่มีส่วนช่วยในการสำรวจการคงอยู่ของประวัติศาสตร์และผลพวงจากยุคสงครามเย็น ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นและสัมพันธ์กับความเป็นจริงร่วมสมัย อีกทั้งยังส่งผลถึงการมองหาความเป็นไปได้ในอนาคตที่คลุมเครือ

Shadow Dancing เปิดเผยเรื่องเล่าของประวัติศาสตร์กระแสรองที่ทำให้เราครุ่นคิดพิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิตความเป็นอยู่ในโลกที่ซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุม โดยหยิบยืมมโนทัศน์จากการ การเคลื่อนไหวในความมืด อันเป็นพลวัตที่ตรงข้ามกับความชัดแจ้งและความชอบธรรม ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และเมื่อเราต้องจมอยู่กับความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เราจะมองหาแสงสว่างในช่วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้ได้จากที่ไหน? โดยที่เราไม่รู้ตัว จังหวะชีวิตของเราถูกก่อกวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ยังไม่นับความจริงที่ว่าเราได้ใช้ชีวิตภายใต้การควบคุมจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกมาตลอด ในทำนองเดียวกัน Shadow Dancing ยังพาดพิงถึงประวัติศาสตร์อันซับซ้อนและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ตลอดจนสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ปั่นป่วนในไทยที่คล้ายกับถูกม่านหมอกสีดำปกคลุมไปทั่ว ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์จากการพบปะพูดคุยเสมือนจริงและการวิจัยออนไลน์ตลอดระยะเวลาสี่เดือนโดยศิลปินชาวไต้หวันและชาวไทยทั้ง 8 คน ประกอบด้วยผลงานศิลปะสหสาขา ที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วม รวมถึงศิลปะวิดีโอการแสดงและศิลปะจัดวางเสียง ผลงานของศิลปินต่างสะท้อนมุมมองอันหลากหลายและนำเสนอการอภิปรายอันล้ำลึกหลายชั้นและต่อเนื่อง

จากความสนใจเกี่ยวกับการตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในบ้านเกิดของ ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ได้สำรวจแนวคิดเรื่องพื้นที่นอกอาณาเขต และตรวจสอบหาความจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของทหารในเขตเป่ยโถวและบริเวณใกล้เคียงในไต้หวัน นอกจากนี้เขายังพิจารณาการมีอยู่ของพื้นที่นี้ภายในไทย ซึ่งทำให้เขาได้พบบันทึกเหตุการณ์ของกองทหารก๊กมินตั๋ง กองพันที่ 93 ซึ่งหลังจากถอนที่มั่นออกจากเมืองยูนนานในปี พ.ศ. 2492 บางส่วนได้อพยพไปไต้หวันผ่านโครงการความร่วมมือทางทหารระหว่างไต้หวัน ไทย พม่า กับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ถูกทิ้งและยังคงอาศัยอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ส่วน ศรภัทร ภัทราคร ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่และการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นประชาธิปไตย โดยเขาอ้างถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมและนักเคลื่อนไหวที่สำคัญในประวัติศาสตร์จากทั้งสองฝั่ง ด้วยความที่เขาสนใจเรื่องเล่ากระแสรองและต้องการรวบรวมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เกี่ยวข้องมาไว้ในงานของเขาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ด้วยวิธีการที่เขาทำสามารถสร้างพื้นที่ให้เรื่องเล่าขนาดย่อมและเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการเติมส่วนที่ขาดหายไป

ผลงานของ เอนคาริอน อัง ใช้เทคนิคการดัดแปลงเสียงและภาษาที่อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มีความเกี่ยวเนื่องกับภูมิศาสตร์และปรากฏการณ์ระดับโลก ศิลปินทำการรวบรวมภาพยนตร์ไทยและคลิปเสียงจากแหล่งต่าง ๆ มากมาย และสร้างสรรค์เสียงในรูปแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อท้าทายการรับรู้และความเข้าใจของเรา ในขณะที่ เจิ้ง ถิงถิง ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง The Beach และภาพข่าวในประเทศไทยของผู้ประท้วงสองคนที่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำไปยังรัฐสภา ศิลปินฉายภาพเกาะพีพีของประเทศไทย อันเป็นเกาะสวรรค์ของคนไทยและนักท่องเที่ยว เป็นดั่งจุดหมายที่ไม่มีวันไปถึงได้ กล่าวได้ว่าแดนสวรรค์ในความเป็นจริงนั้นแตกต่างออกไปเมื่อนำไปใช้กับบริบทของเวลาในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราครุ่นคิดถึงความเป็นจริงที่ท้าทายต่อความคาดหวังและการมองอนาคตของเรา

งานวิจัยของ หลิน อี๋จวิน เกี่ยวกับบทบาทของคนค้าขายหาบเร่ตามท้องถนนในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังจากศิลปินได้รู้เห็นว่าคนค้าขายหาบเร่เหล่านี้ตอบสนองต่อการประท้วงและโอกาสทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ศิลปินยังย้อนกลับไปพิจารณาความเป็นมาของคนค้าขายหาบเร่ของไต้หวันอีกด้วย ในขณะที่ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ค้นพบแรงบันดาลใจจากวงไอดอลหญิงล้วนยอดนิยมของญี่ปุ่นอย่าง AKB48 และวงน้องสาวต่างประเทศของพวกเขาในเอเชีย ซึ่งรวมถึง BNK48 ในกรุงเทพฯ และ TPE48 ในไทเป เขาสร้าง ANGSUMALIN 48 หรือ ANG 48 เพื่อล้อเลียนวงดังกล่าวว่าทำงานเพื่ออุดมการณ์กระแสหลัก เขายังชี้ให้เห็นถึงความแพร่หลายของวัฒนธรรมหรือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศญี่ปุ่นในเอเชียตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เจิง เยี่ยนอวี๋ มักใช้ผ้ามาทำหุ่นเชิดโดยใช้เทคนิคการห่อและรัดให้แน่น ศิลปินเกิดความประทับใจต่อการมีส่วนร่วมในชุมชนของ คุณจิม ทอมป์สัน ตลอดจนวิสัยทัศน์ของเขาที่มีต่องานหัตถกรรมและการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างบทบาทให้ผู้หญิง ส่วน กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ ในฐานะแพทย์สำหรับครอบครัว เขาสนใจการปะทะสังสรรค์กันระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมกับบุคคลที่ถูกจำกัด เขาจึงสำรวจเรื่องราว “ดั้งเดิม” ที่ถูกละเลยและความเชื่อมโยงของเรื่องราวเหล่านี้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ศิลปะและการทรงเจ้าเข้าผี นอกจากนี้เขายังจัด Limbic Release โครงการฉายภาพยนตร์ที่จะเชื้อเชิญให้เราขบคิดทบทวนเรื่องการล่าอาณานิคมและผลกระทบของโลกาภิวัตน์

นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, มูลนิธิ เจมส์ เอช. ดับเบิลยู. ทอมป์สัน, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม, GroundControl, และ SEALECT BRAND, ร่วมกับสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ไต้หวัน (TFAI), สถานีโทรทัศน์สาธารณะไต้หวัน (PTS), โรงภาพยนตร์ลิโด้ และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) และขอขอบคุณสมาชิกของเราที่มีส่วนร่วมและสนับสนุนในการจัดนิทรรศการและโปรแกรมของเรา

โปรแกรมสำหรับสาธารณชน:

17 มีนาคม 2565 วันเปิดงานนิทรรศการ ณ ห้องโถง Event Space ชั้น 2

● เวลา 16:00 – 17:00 น.
ลงทะเบียนและรับการตรวจ ATK ณ ชั้น G

● เวลา 17:00 – 18:30 น.
เสวนาโดยศิลปินไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล, กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, และปณชัย ชัยจิรรัตน์
ดำเนินรายการโดย ปวีณา เนคมานุรักษ์
ศิลปินไทยทั้ง 3 คนจะมานั่งพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการทำงานและการพัฒนาผลงานศิลปะในระหว่างการเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ช่วงออนไลน์มาจนถึงการติดตั้งผลงาน ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

● เวลา 18:30 – 18:45 น. พิธีเปิดนิทรรศการและการกล่าวต้อนรับโดย กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน และ เถียน โย่วอัน ผู้อำนวยการฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป แห่งประเทศไทย

● เวลา 18:45 – 21:30 น. เดินชมนิทรรศการ ณ แกลเลอรี่ 1 และ 2 ชั้น 3

23 เมษายน 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Limbic Release ภาค 1 โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
การฉายภาพยนตร์เรื่องสั้น ที่ห้อง Event Space หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน
ประกันชีวิต (2009, นฆ ปักษนาวิน, 30 นาที)
เงาสูญสิ้นแสง (2018, กฤษดา นาคะเกตุ, 25 นาที)
32 Km – 60 Years (2018, ลาฮา มีโบ, 20 นาที)
Water without Source (2017, เหลี่ยง ติงหยู, 30 นาที)

เสวนา (ประมาณ 30-45 นาที)
หัวข้อ: สนทนาข้ามสาขาวิชาชีพระหว่างภัณฑารักษ์กับแพทย์/ผู้สร้างภาพยนตร์

ผู้ดำเนินรายการ: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (แพทย์/ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)
ผู้ร่วมเสวนา: นฆ ปักษนาวิน (แพทย์/ผู้สร้างภาพยนตร์)
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)

7 พฤษภาคม 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Screen World: ด้วยความร่วมมือระหว่างหอศิลป์บ้านจืม ทอมป์สัน, บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลอรี่, สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โปรแกรมฉายภาพยนตร์ Onsite & Online และการเสวนาข้ามสาขาวิชาชีพกับศิลปิน
จุฬญาณนนท์ ศิริผล ในการรื้อสร้างประวัติศาสตร์และการปลดแอก “ความโรแมนติก” ในประเทศไทยและเอเชีย

ผู้ร่วมเสวนา: อ. ดร. วิกานดา พรหมขุนทอง
(สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล )
รศ. ดร. นัทธนัย ประสานนาม
(ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

*ดำเนินรายการด้วยภาษาไทยพร้อมการแปลสดภาษาอังกฤษ

21 พฤษภาคม 2565
● เวลา 16:00 – 18:00 น.
Limbic Release ภาค 2 โดย กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ
การฉายภาพยนตร์เรื่องยาว ที่ โรงภาพยนตร์ลิโด้ สยามสแควร์ ซอย 2
Bodo (1993, ฮวง หมิง ฉวน, 80 นาที)

เสวนา (ประมาณ 30-45 นาที)
หัวข้อ: สนทนาข้ามสาขาวิชาชีพขยายความเคลื่อนไหวของภาพยนตร์

ผู้ดำเนินรายการ: กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ (แพทย์/ภัณฑารักษ์ภาพยนตร์)
ผู้ร่วมเสวนา: ปวีณวัช ทองประสพ (ศศ.ม. สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญ
ด้านนิเวศวิทยาและกฎหมายพื้นเมือง)
รณฤทธิ์ มณีพันธุ์ (ศศ.ม. สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เชี่ยวชาญด้าน
วรรณคดีในช่วงความสะพรึงสีขาว (White Terror), ประวัติศาสตร์
บาดแผล และการศึกษาความทรงจำ)

* โปรแกรมออนไลน์เพิ่มเติมจะประกาศในภายหลัง อย่างไรก็ตามโปรแกรมทางกายภาพอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดติดตามการอัพเดทเพิ่มเติมบนเว็บไซต์และหน้าเพจเฟสบุ๊คของหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

หมายเหตุ: ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านต้องได้รับการตรวจ ATK ที่หน้างาน จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
โทรศัพท์ (+66) 02 001 5470
อีเมล artcenter@jimthonpsonhouse.com
เว็บไซต์ www.jimthompsonartceter.org
เฟสบุ๊ค Jim Thompson Art Center
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 10.00 น. – 18.00 น.
ค่าเข้าชม: บุคคลทั่วไป 50 บาท; เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีเข้าชมฟรี; สมาชิกเข้าชมฟรี
กลุ่มนักเรียนนักศึกษา (กรุณาจองล่วงหน้า)

ข้อมูลเพิ่มเติม: เรามีที่จอดรถจำนวนจำกัด ท่านสามารถเดินทางมาหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สันด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออกที่ 1 และเดินเข้าซอยเกษมสันต์ 2 เข้ามาประมาณ 200 เมตร

- Advertisement -