กลับมาอีกครั้งกับ Seiko “Save The Ocean” ในปี 2022 นี้เป็นปีที่ 5 อย่างเป็นทางการที่ไซโกได้ร่วมสนับสนุน ฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายนาฬิกา Seiko Prospex มาจัดทำโครงการดีๆ นี้ในทุกๆปี โดยโครงการ “Save The Ocean” ได้จัดทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยหน้านี้ในแถบ หมู่เกาะราชา จังหวัดภูเก็ต, เกาะกระดาน จังหวัดตรัง และ บริเวณอ่าวท่าเลน จังหวัดกระบี่ มาปีนี้เรามาที่ภูเก็ตและหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่
นำทีมโดย ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ แบรนด์แอมบาสเดอร์ นาฬิกาไซโก , มิสเตอร์ฮิโรยูคิ อะกาชิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไซโก (ประเทศไทย) พร้อมด้วยเจ้าที่และผู้บริหาร คุณวิเชษฐ์ ชูเชื้อ กรรมการผู้จัดการบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ทุ่งสง) และ มีแขกพิเศษคือ ศิลปินแม็กซ์-ณัฐวุฒิ เจนมานะ ที่วันนี้ไม่ได้มาชวนเดินเข้าป่าแต่ชวนมาอนุรักษ์ท้องทะเลกัน รวมถึงสื่อมวลชนหลากหลายแขนง ที่ร่วมสำรวจพื้นที่ สร้างและปล่อยปะการังเทียมลงสู่ท้องทะเล
เมื่อเราเดินทางไปถึงจังหวัดภูเก็ตซึ่งตรงกับมื้อกลางวัน ไซโกไม่ยอมให้เราหิวโดยแวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้าน Good Forest ส่วนตัวขอแนะนำเลยว่าใครมาภูเก็ตต้องแวะร้านนี้ อาหารอร่อยรสเข้มข้น(ไม่เผ็ด)เพราะใช้เครื่องแกงของชาวมุสลิมที่ขึ้นชื่อเรื่องการใส่เครื่องเทศแต่ไม่มีกลิ่นฉุนรสเข้มถึงใจไม่เน้นเผ็ด แน่นอนว่าเราติดใจกับขนมจีนน้ำยาปู แกงเขียวหวานไก่ แกงมัสมั่นเสิร์ฟมากับโรตีมันฝรั่ง ไข่เจียวปูก็ล้ำ ต้องไม่พลาดจานนี้ แต่ชอบที่สุดก็คือห่อหมก ไม่ได้กินรสนี้นานแล้วต่างจากห่อหมกภาคกลางอย่างโดดเด่น และที่บอกว่าต้องเผื่อท้องไว้ก็คือขนมหวานในแนวขนมอบต่างๆ ร้านที่กรุงเทพฯ หลายๆ ร้านอาจจะต้องหลบให้เพราะอร่อยหอมมันไม่หวานจัด มาช่วงนี้ก็ต้องทาร์ตมะยงชิด พลาดไม่ได้จริงๆ
จากนั้นเราก็เข้าที่พักที่ Foto Hotel Phuket ที่สวยทั้งตัวสถาปัตยกรรมและพักผ่อนสบายด้วยเตียงที่นอนหลับลึก และตื่นมาอีกทีกับวิวพระอาทิตย์ขึ้น แม้ที่นี่จะไม่มีหาดส่วนตัวแต่การออกแบบให้มีสระว่ายน้ำแทรกอยู่ในตัวสถาปัตยกรรม และหาดทรายเล็กๆที่สร้างขึ้นมาริมทะเลก็ถือว่าไม่ทำให้เสียความตั้งใจจะมานอนอาบแดดหรือลงว่ายน้ำ เพราะมีสระว่ายน้ำแทบจะทุกมุมของโรงแรม แถมสถานที่ตั้งก็ไม่ไกลจากตัวเมืองเก่าภูเก็ต
ในปีนี้ ไซโก รวมถึงคณะสื่อมวลชน, เหล่าคนรักนาฬิกาไซโก และ พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ได้กลับมาทำโครงการบ้านปลาเพื่ออนุบาลสัตว์ทะเล ให้กับชุมชนชาวแหลมตุ๊กแก ที่บริเวณอ่าวซันไรส์ จังหวัดภูเก็ตร่วมกับชาวบ้าน และยังจัดทำแนวปะการังเทียมระยะทางกว่า 10 เมตร เพื่อนำไปหย่อนลงบริเวณอ่าวเปลว ในแถบหมู่เกาะพีพี เพื่อหวังให้เกิดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลรวมถึงเป็นที่ยึดเกาะของปะการังจริงเพื่อสร้างความสมดุลให้กับท้องทะเลในระยะยาว โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรอย่าง บริษัท SCG จำกัด มหาชน ที่ร่วมสนับสนุนปะการังเทียมที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลเพิ่มเติมให้กับโครงการ รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของกรมอุทธยาน หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อีกด้วย
ชุมชนชาวแหลมตุ๊กแก แถบหมู่เกาะสิเหร่ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีอาชีพประมงเป็นหลัก โดยทางไซโก ได้ร่วมสนับสนุนชุมชน ในการสร้างบ้านปลา เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กในบริเวณอ่าวซันไรส์ที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งจับสัตว์น้ำเพื่อประกอบอาชีพ จำนวนกว่า 10 หลัง เพื่อเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในการสร้างอาชีพ โดยมีชาวบ้านและคณะ มาร่วมแสดงศิลปะพื้นเมืองของภาคใต้อย่าง “รองเง็ง” ในวันแถลงข่าวและร่วมกันทำบ้านปลาอีกด้วย
หลายต่อหลายครั้งที่เรามักละหลงลืม และเผลอทำร้ายธรรมชาติโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งจากชุมชนหรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยว ทำให้ในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายหน่วยงานที่เดินหน้าในการทำโครงการอนุรักษ์เพื่อปลูกจิตสำนึกและคืนความสวยงามให้กับท้องทะเลอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับ Seiko ของเราที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้ก้าวออกมาจัดทำโครงการเล็กๆ ด้วยจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูท้องทะเลไทย โดยมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ภายใต้ชื่อโครงการ Seiko “Save The Ocean” เพื่อทำกิจกรรมคืนความสวยงามสู่ท้องทะเลจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่ความจริงจังและวิธีการที่เป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
จังหวัดภูเก็ตขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเลที่สมบูรณ์ของประเทศไทย และมีเกาะมากมายที่สวยงามระดับโลก โดยเฉพาะหมู่เกาะพีพี ซึ่งแน่นอนว่าความสวยงามของสถานนั้นนอกจากจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกคงหนีไม่พ้นมลพิษทางทะเลทั้งขยะและการทำลายแนวปะการังจากเรือท่องเที่ยวรวมถึงนักดำน้ำ โดยครั้งนี้ ไซโก ได้ร่วมกับกรมอุทธยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี ในการเสริมสร้างแนวปะการังเทียมเพิ่มเติม เพื่อฟื้นฟูปะการังเดิมที่ถูกทำลายไป และเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง โดยปะการังเทียมทั้งหมดนี้ถูกผลิตขึ้นจากซีเมนต์พิเศษขึ้นรูปโดยการใช้เทคโนโลยี 3D Printing
ปะการังเทียม 3D Printing
ปะการังเทียมที่ใช้ในการปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้ มีแบบสวยงามเสมือนปะการังจริงกลมกลืนกับธรรมชาติ โดยวัสดุที่ใช้ผลิตจากปูนนั้นเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล โดยมี calaium carbonate (แคลเซียม คอร์บอเนต)ที่เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนปะการังใช้ดักจับจากน้ำทะเลในธรรมชาติเพื่อเอามาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองอยู่แล้ว โดยทาง SCG พัฒนาแบบพื้นผิวให้เหมาะสมกับการยึดเกาะตัวอ่อนปะการังและดีไซน์ให้โครงสร้างมีความซับซ้อนเพื่อให้ เหมาะให้สิ่งมีชีวิตเข้าไปอยู่อาศัยและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืนและยาวนากว่า
ทางบริษัท ไซโก (ประเทศไทย) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Seiko save the ocean จะเป็นโครงการเล็กๆที่ก่อให้เกิดประโยชน์และการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนและท้องทะเลต่อไป