ปะการังเทียม เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์ทะเลไทย

Share This Post

จากโครงการ Seiko “Save The Ocean” ที่จัดขึ้นทุกปี ปีนี้เป็นครั้งที่ 5 ที่ไปทำบ้านปลาปล่อยลงทะเลเพื่อเป็นที่ให้ปลาได้วางไข่ ปีนี้ได้มีการปล่อยปะการังเทียมที่มีรูปทรงคล้ายปะการังจริงอีกด้วย แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่าปะการังเทียมมาจากไหน มีประโยชน์เช่นไร และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เรารวบรวมคำตอบมาให้ตรงนี้

- Advertisement -


แน่นอนว่าท้องทะเลไทยมีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามของธรรมชาติระดับ โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติทางทะเลที่สมบูรณ์ของประเทศไทย และมีเกาะมากมายที่สวยงามระดับโลก โดยเฉพาะหมู่เกาะพีพี ความสวยงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผลที่ตามก็หนีไม่พ้นมลพิษทางทะเลทั้งขยะและการทำลายแนวปะการังจากเรือท่องเที่ยวรวมถึงนักดำน้ำ
ไซโก ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ในการเสริมสร้างแนวปะการังเทียมเพิ่มเติม เพื่อฟื้นฟูปะการังเดิมที่ถูกทำลายไป และเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง โดยปะการังเทียมทั้งหมดนี้ถูกผลิตขึ้นจากซีเมนต์พิเศษขึ้นรูปโดยการใช้เทคโนโลยี 3D Printing (อ่านเรื่อง SEIKO Save the Ocean 2022 ที่ https://hommesthailand.com/2022/03/seiko-save-the-ocean-2022/)

ปะการังเทียมที่ใช้ในการปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้มีแบบสวยงามเสมือนปะการังจริงกลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยวัสดุที่ใช้ผลิตจากปูนนั้นเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล โดยทาง SCG พัฒนาแบบพื้นผิวให้เหมาะสมกับการยึดเกาะตัวอ่อนปะการังและดีไซน์ให้โครงสร้างมีความซับซ้อนเพื่อให้เหมาะสำหรับสิ่งมีชีวิตเข้าไปอยู่อาศัย พร้อมช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลได้อย่างยั่งยืนและยาวนาน
ย้อนไปถึงการเริ่มต้นโครงการการทำปะการังเทียมหรือนวัตปะการังเกิดจากความร่วมมือของเอสซีจี โดยธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือในการพัฒนาวัสดุ Advanced Materials ด้วยเทคโนโลยี 3D Cement Printing สำหรับเป็นฐานลงเกาะของตัวอ่อนปะการังและการปลูกปะการังธรรมชาติ สร้างต้นแบบปะการังเทียมรุ่นใหม่ที่มีความเสมือนจริง ซึ่งสามารถใช้เศษคอนกรีตรีไซเคิลเป็นส่วนผสมทดแทนหินปูนถึง 40%
ก่อนหน้านี้จะมีการพัฒนา ‘ปะการังเทียม’ แต่เทคโนโลยีที่ผ่านมาไม่ใช่การฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เนื่องจากยังมีจุดด้อยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่ไม่คงทน ถูกพัดไปกับกระแสน้ำ จมลงในทราย ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เวลาเข้ากับธรรมชาตินานเกือบ 10 ปี


นวัตปะการังนี้ไม่ใช่เพียงแต่มีประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ท้องทะเลไทย แต่จะช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรงหากมีการจัดพื้นที่และส่งเสริมการท่องเที่ยวในการดำน้ำชมปะการังที่มีความสวยงามเสมือนจริง สร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้ และสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงที่ได้มีการพึ่งพาปะการังหรือปะการังเทียม เนื่องจากบริเวณดังกล่าวสามารถทำการประมงได้ในปริมาณที่มาก ส่งผลให้เกิดรายได้ในชุมชน
ก่อนนั้นปะการังเทียมที่ทำในยุคก่อนฐานเป็นซีเมนต์ ทำโดยเทคนิคใช้การก่อสร้างปกติ รูปแบบที่ทำได้เป็นสี่เหลี่ยมหรือรูปโดม ถือเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยียุคนั้น แต่ ‘นวัตปะการัง’ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้โครงสร้างพื้นผิวมีความซับซ้อน มีร่มเงามีซอกหลืบให้ปลาว่ายน้ำได้ ซึ่ง 3D Printing ตอบโจทย์โครงสร้างนี้ และเป็นสิ่งพิสูจน์ว่านวัตกรรมมีส่วนสำคัญ


‘นวัตปะการัง’ ยังสามารถพัฒนาไปในด้านระบบนิเวศทางทะเลแบบ ‘สวนสาธารณะปะการัง’ (Coral Park) เป็นศูนย์ข้อมูลด้านปะการังในรูปแบบ Smart Station สามารถติดกล้องและเครื่องวัดแสง เครื่องวัดอุณหภูมิ สามารถต่อยอดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสำหรับผู้บริโภค ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหารทะเลเพราะสามารถควบคุมระบบนิเวศน์เองได้
จากข้อมูลเอกสารของ SCG ปี 2020 นวัตปะการังหนึ่งชิ้นจะใช้เวลาพิมพ์ประมาณ 6 รูป มูลค่าประมาณ 15,000 บาทต่อชิ้น สามารถปรับแต่งรูปแบบ และลักษณะทางโครงสร้าง รวมทั้งความซับซ้อนของช่องว่าง แสง และเงาให้เข้ากับสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่การติดตั้ง มีน้ำหนักเบาทำให้ขนย้ายได้ง่าย ถอดประกอบได้เป็นการลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง และแรงงานในการติดตั้ง ที่สำคัญเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่ใต้น้ำได้นานหลายสิบปี


ความยากในการพัฒนาปะการังเทียมคือต้องไม่ถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำและไม่จมไปกับผืนทราย เนื่องจากสิ่งที่กำลังจะเข้าไปคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
‘นวัตปะการัง’จึงเป็นที่เพาะพันธุ์ปะการังที่ต่อยอดจากธรรมชาติที่หักไป เป็นหลุมเป็นที่ฝังปะการังไปให้โตเร็วขึ้นด้วย ทั้งการออกแบบที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต เกิดการสร้างปะการังใหม่และระบบนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ต้องสามารถมาใช้ชีวิตเสมือนว่าเป็นปะการังจริงๆ นวัตปะการังยังแก้ปัญหานักดำน้ำหน้าใหม่เตะปะการังได้อีกด้วย เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวสัมผัสหรือเตะจะไม่ทำให้นวัตปะการังเสียหาย


โดยการทดลองนำนวัตปะการังไปวางใต้ท้องทะเลในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2020 ในพื้นที่ต่างๆ เช่น หมู่เกาะสีชัง เกาะขาม เกาะล้าน เกาะยอ ฯลฯ เพียงแค่สี่เดือนก็เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัย ทั้งปลานกแก้ว ดอกไม้ทะเล รวมไปถึงปลาการ์ตูน นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังยังเป็นแหล่งเกาะตัวของปะการัง ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพ
จะเห็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นสามารถนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเป็นส่วนสำคัญไม่จำเป็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติจะต้องใช้วิถีธรรมชาติหรือใช้เวลาเพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นคืนเพียงอย่างเดียว เราใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปช่วยธรรมชาติได้ แต่ก็ต้องมีการศึกษาอย่างรัดกุมถึงผลกระทบต่างๆ


ท้องทะเลไทยในช่วงที่ผ่านมาได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจะด้วยการที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปรุกล้ำธรรมชาติอย่างมากเกินไป แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันข้างหน้าเราก็ต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ ที่ต้องการมาชมความสวยงามของท้องทะเลบ้านเรา แต่บทเรียนหนึ่งจากช่วงวิกฤติโควิด 19 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นคือเวลาที่ท้องทะเลและธรรมชาติได้พักฟื้นอย่างแท้จริง ในอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราได้เตรียมช่วงพักให้กับธรรมชาติบ้างหรือไม่ และควรที่จะต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างจริงจังและเข้มข้นเสียที

- Advertisement -