New Exhibition at Bangkok National Museum

Share This Post

ชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร หลังปิดไปพักใหญ่เพราะสถานการณ์โควิด 19 ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดนิทรรศการใหม่ที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ที่ชื่อ อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร เป็นนิทรรศการหมุนเวียนที่เน้นอิทธิพลของศิลปะลพบุรี(เขมรในประเทศไทย)

- Advertisement -

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด 19 รอบ 3 ที่สาหัส ทำให้ไม่มีโอกาสมาชมเพราะมีคำสั่งปิดพิพิธภัณฑ์ หอศิลปะทุกแห่งในพื้นที่สีแดงเข้ม  จนมาวันที่ 16 มิถุนายน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และ พระราชวังบวรสถานมงคลได้เปิดให้เข้าชมอีกครั้งเป็นวันแรก จึงต้องมาชมเพราะไม่อยากพลาดเพราะตามกำหนดเดิมนิทรรศการหมุนเวียนนี้จะหมดวันที่ 30 มิถุนายนนี้ และนิทรรศการถาวรภายในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ก็มีการจัดใหม่เสร็จสมบูรณ์และเปิดให้ชมเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้มาเพราะสถานการณ์โควิด 19 นี่แหละ ที่รีบมานี่ก็เพราะไม่อยากพลาดอะไรอีก 

ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งของจัดแสดงที่มีในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี้ไม่แพ้ที่ใดในโลกเรื่องโบราณวัตถุชิ้นงามๆ ชิ้นเอกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปปารีสก็ยังไปชมมิวเซียมกีเมต์ บ่อยๆ เพราะชอบนิทรรศการหมุนเวียนของเขา แต่จริงๆ แล้วโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์บ้านเราก็สวย เพียงแต่ก่อนการจัดแสดงอาจจะไม่ดึงดูดใจ และนิทรรสการหมุนเวียนไม่ค่อยมี แต่หลายปีมานี้ต้องบอกว่าโฉมหน้าของพิพิธภัณฑ์พระนคร เปลี่ยนไป การบูรณะครั้งใหญ่ทำให้ส่วนนิทรรศการถาวรมีชีวิตชีวาน่าเยี่ยมชมมากกว่าเดิม ที่ว่าเดินวันเดียวก็ชมไม่ทั่วก็เป็นจริงแล้วในยุคนี้ ถ้าจะชมอย่างละเอียดนะ ใครที่ไม่เคยมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นานเกินสามสี่ปีนี่ต้องมาเยือนให้ได้เลย ยิ่งใครบอกว่าเคยมาตอนเด็กๆ ที่โรงเรียนพามาก็ขอให้มา ไปปารีสเรายังต้องเข้าคิวยาวนานเป็นหลายๆ ชั่วโมงเพื่อจะได้ชมรอยยิ้มของแม่โมนา แต่ที่บ้านเรารอยยิ้มของเศียรพระใหญ่ที่พบที่วัดพระศรีสรรเพชร อยุธยา ก็มีเสน่ห์ยืนชมไม่เบื่อเช่นกัน เป็นไฮไลท์หนึ่งที่ต้องมาชมให้ได้ วันนี้ยังไม่ต้องถกกันเรื่องเป็นเศียรของพระศรีสรรเพชรหรือไม่นะ เพราะเดี๋ยวจะยาว มีนักวิชาการถกกันแล้วเขียนหนังสืออกมาเป็นเล่มๆ แล้ว แต่มาทีไรก็จะต้องแวะมาชมทุกครั้งไป

การเปิดพิพิธภัณฑ์ พระนคร ครั้งนี้การเข้าชมนอกจากคนไทยเสียค่าเข้าชมปกติ 30 บาทแล้ว เราต้องใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวเพื่อเช็คอินเข้าสถานที่ และรับแทคตามตัวที่จะบอกได้ว่าเราเดินไปชม ณ จุดใดบ้างในกรณีที่มีการสอบสวนโรค ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ปลอดภัยและสบายใจสำหรับคนที่มาเข้าชม เมื่อชมเสร็จก็ออกมาคืนแทคตามตัว

แน่นอนว่าสถานที่แรกที่เข้าชมก็คือพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน กับนิทรรศการหมุนเวียน‘อารยธรรมวิวัฒน์ ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร’  ซึ่งเล่าเรื่องแบ่งออกเป้น 4 หัวเรื่อง คือ รากฐานและพัฒนาการก่อนอิทธิพลศิลปะลพบุรี, ลพบุรี-ศรีรามเทพนคร, มรดกจากลพบุรี คลี่คลายปัจจุบัน และคืนชีวิตประติมากรรม โดยส่วนหลังสุดนี้คือการนำเสนอความรู้เรื่องเรื่องการฐูรณะประติมากรรมพระโพธิสัตว์สำริดบ้านโตนด นครศรีธรรมราช ซึ่งองค์จริงเป็นไฮไลท์ตั้งอยู่ในโถงแสดงนิทรรศการ ส่วนที่สี่ที่ให้ความรู้เรื่องการบุรณะนี้จะอยู่ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการโดยมีแบบจำลองต่างๆ จัดแสดงไว้

นอกจากการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านโบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่คัดสรรมา การจัดแสดงนั้นยังมีคำอธิบายที่ชัดเจน 2 ภาษา คือ ไทย-อังกฤษ สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ศิลปะวัตถุแต่ละชิ้นจัดแสดงในส่วนต่างๆ อย่างเหมาะสมทั้งระดับการมองจากผุ้ชม การจัดแสงไฟส่องสว่างต่างๆ แม้แต่โทนสีของส่วนจัดแสดงก็จัดทำอย่างเหมาะสมงดงาม โดยในห้องโถงใหญ่เราจะได้เห็นเศียรพระใหญ่ที่เป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่ครั้งนี้อยู่บนฐานและฉากหลังโดยรอบที่เป็นสีเขียวอ่อนทำให้ดูแปลกตาไป แต่ใครๆ ที่มาที่นี่ก็อยากจะชมเศียรพระใหญ่นี้ แต่ก็มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบางหัวข้อที่ต้องปิดส่วนนี้ไปเพราะเศียรพระใหญ่อาจจะไม่เป็นเรื่องเดียวกับหัวข้อนิทรรศการ แต่ถ้าจัดแสดงไว้ในฐานะที่เป็นชิ้นเอกที่คนต้องการมาชมก็น่าจะดีกว่า เพราะใครที่มาที่นี่แล้วไม่ได้ชมของชิ้นเอกที่ตั้งใจมาชมก็จะรู้สึกเหมือนไม่เต็มอิ่ม

นอกจากองค์พระโพธิสัตว์สำริดจากบ้านโตนด อ.โนนสูง ที่ตั้งเด่นเป็นสง่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ถูกคนร้ายลักลอบไปขายที่สหรัฐอเมริกา และนายเอเวลรี่ รันเดอร์ ได้ส่งคืนมาให้กรมศิลปากรในปี พ.ศ.2513 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นเอก(คนละชิ้นกับทับหลังนารายณ์ฯ ที่คนไทยเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาส่งคืนในยุคที่มีเพลงเอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา ชิ้นนั้นไปตั้งอยู่ที่ปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ตามเดิมแล้ว) ส่วนทับหลังปราสาทหนองหงส์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น ที่เราเพิ่งได้รับคืนมานั้นยังไม่ได้เปิดให้ชมในวันนี้ แต่คาดว่าจะมีการจัดแสดงให้ชมเร็วๆ นี้ 

แต่โดยส่วนตัวก็ต้องชื่นชมว่าการจัดแสดงทับหลังในห้องนิทรรศการครั้งนี้ทำให้น่าสนใจมาก เพราะจัดวางในระดับสายตา ทำให้เราได้ชมความงามอย่างละเอียด ต้องยอมรับว่าการแกะสลักหินทรายของช่างโบราณนั้นทำได้วิจิตรเหลือเกิน อีกชิ้นหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้กันก็คือทับหลังเทพนพเคราะห์ ที่อาจจะแปลกตากว่าทับหลังที่เราคุ้นชิน เพราะแกะสลักเป็นรูปเทพนพเคราะห์เรียงเป็นแถวอย่างวิจิตรงดงามโดยไม่มีลวดลายใดๆ มาเป็นส่วนประกอบ ขอให้ไปชมเพราะปกติถ้าทับหลังอยู่ที่ปราสาทหินเราจะต้องเงยหน้าขึ้นชม แต่นี่มาจัดแสดงให้ชมในระดับสายตา ทำให้เราได้พินิจความงามจนเต็มอิ่ม 

แต่ที่ไม่ควรพลาดอีกชิ้นหนึ่งก็คือผอบรูปปลาและสิ่งของต่างๆ ที่บรรจุในผอบ ทำจากวัสดุต่างๆ อาทิ หิน ทองคำ ดินเผาเคลือบ แก้วผลึกและอัญมณี เป็นศิลปะอยุธยา อายุประมาณ 600 ปีมาแล้ว ได้จากกรุปรางค์ประธาน วัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา แต่การจัดแสดงที่นี่ทำให้เราได้ชมข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อยต่างๆ ได้อย่างชัดเจนเต็มตา ซึ่งเป็นเหมือนของเล่นชิ้นจิ๋วต่างๆ รวมทั้งแหวนหนวดกุ้งและแหวนทองคำประดับทับทิมวงเล็กๆ สำหรับเด็ก และตัวผอบปลาก็มีความสวยงามยิ่ง จริงๆ มีชิ้นงานเด่นๆ อีกมาก ทั้งพระพุทธรูปหินทรายและหล่อโลหะ แผ่นหินสลักพระรัตนตรัยมหายานที่แสดงถึงฝีมือช่างยุคนั้น พระอวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่แกะจากหินทรายมราพบที่ปราสาทเมืองสิงห์ กาญจนบุรี ก็มีความสวยงามไม่เหมือนที่ไหน แม้แต่เครื่องปั้นดินเผาที่เราอาจจะไม่เคยเห็นอย่างไหรูปนกเคลือบสองสี เตาพนมดงเร็ก บุรีรัมย์ มีอายุประมาณ 800-900 ปีมาแล้ว ซึ่งนายโยธิน-นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เอื้อเฟื้อจัดแสดง รวมทั้งเครื่องปั้นดินเผาอีกหลายชิ้น 

จากนั้นก็มายังอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นนิทรรศการถาวรเพื่อจัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตรืและโบราณคดีไทยหลัง พ.ศ.1800 เป็นต้นมา โดยจัดแสดงโบราณวัตถุรวม 918 รายการ แบ่งเป็นห้องล้านนาที่มีหลวงพ่อนากพระพุทธรูปที่เจ้าเมืองพระเยาเป็นผู้สร้างเมื่อปี พ.ศ.2019 สิลปะล้านนาที่มีองค์สุกปลั่งงดงาม ห้องสุโขทัย ที่มีหลักศิลาจากรึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหงจัดแสดงให้ชมแบบใกล้ชิดและใครใคร่อ่านหลักจารึกนี้ก็ทำได้ง่าย เพราะตั้งอยู่ระดับสายตา ห้องอยุธยาที่มีธรรมาสน์สังเค็ต วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี จัดแสดงไว้ ซึ่งการบูรณะทำให้ชิ้นงานมีความสวยงามสมบูรณ์ และห้องที่แสดงตู้พระธรรม โดยมีตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย ที่เป็นหนึ่งในชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์นี้มาตั้งแต่แรกจัดแสดงอยู่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าการนำตู้พระธรรมไปอยู่ในกล่องกระจกทำให้ชมได้ไม่ถนัดชัดตาดังแต่ก่อน แต่อาจจะด้วยเหตุผลทางด้านการอนุรักษ์ แต่จริงๆ แล้วลายรดน้ำของตู้พระธรรมวัดเซิงหวายนี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาที่ถือเป็นงานครูที่ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน ตั้งไปดูเองว่าลายกระหนกที่ลุกเป็นเปลวไฟนั้นงดงามตื่นตาเพียงใดต้องมาดูที่นี่

ส่วนชั้นล่างเป็นห้องกรุงธนบุรี-รัตนโกสินทร์ ที่มีศิลปะวัตถุสมัยกรุงธนบุรีจัดแสดงทั้งพระแท่นไม่แกะสลักที่พระเจ้าตากสินเคยประทับ เก้าอี้พับที่เจ้าพระยาจักรี(รัชกาลที่ 1 ยุครัตนโกสินทร์)ใช้ประทับเวลาออกศึกสงคราม ตู้พระธรรม ฉากกั้นเขียนลายเรื่องอิเหนา กล่องเก็บยาไทยทำจากกระส่วนซองยาทำจากผ้าทอสวยงามตัดเป้นทรงต่างๆ ไว้เก็บสมุนไพรและยาไทย จริงๆ ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์ แบ่งออกเป็น 2 ห้อง แต่รวมเอาศิลปะวัตถุทั้งสองยุคสมัยไว้ด้วยกัน เพราะสมัยธนบุรีจะมีระยะเวลาสั้น โดยห้องที่จัดแสดงเครื่องราชบรรณาการที่พระราชินีวิคตอเรียถวายแก่พระจอมเหล้าเจ้าอยู่หัวนั้นมีทั้งลูกโลกขนาดใหญ่ รถไฟจำลองที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีพระโทรนองค์แรกของรัชกาลที่ 5 พระสถูปเจดีย์ที่ทำจากถมปัด แต่ที่น่าสนใจมากก็คือเครื่องมือที่ใช้ในพระราชพิธีวางไม้หมอนเส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพลั่วและรถเข็นดินนั้นทำอย่างวิจิตรจากวัสดุมีค่า โดยเฉพาะพลั่วนั้นงดงามมาก

ในวันแรกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้มาเปิดให้บริการอีกครั้งนี้ยังไม่ได้เปิดส่วนจัดแสดงนิทรรศการที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แต่ส่วนจัดแสดงอื่นๆ ในหมู่พระวิมานได้เปิดให้ชมตามปกติ ทั้หง้องที่จัดแสดงเครื่องดนตรีไทย ห้องจัดแสดงอิสริพัสตราภูษาภัณฑ์ ห้องจัดแสดงเครื่องโลหะศิลป์  ห้องจัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่น่าสนใจและใช้เวลาเดินชมทั้งหมดในหนึ่งวันก็ไม่ครบ ส่วนใครที่หิวหรือกระหายน้ำมีร้านอาหารท้ายวังกับเมนูอาหารง่ายๆ ให้บริการ รวมทั้งกาแฟร้อนจากเครื่องต้มมอคค่า อยู่ด้านหลังของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์นั่นเอง 

จริงๆ มาที่นี่ค่อนข้างบ่อยในช่วงที่ยังไม่มีวิกฤติโควิด 19 เลยมาแนะนำให้ชมในส่วนจัดแสดงที่เพิ่งปรับปรุงเสร็จล่าสุด แต่จริงๆ โรงราชรถก็เป็นที่ที่ชาวต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยเองนิยมเข้าไปชมความวิจิตรของชิ้นงาน ส่วนใครต้องการชมที่ประทับของพระบามสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไปชมได้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ใกล้ๆ กับอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จะเห็นเครื่องเรือนของใช้ในที่ประทับ รวมทั้งภาพของประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ส่งมาถวาย ซึ่งเชื่อว่ามีภาพแบบนี้เพียงไม่กี่ภาพในโลก และพระปิ่นเกล้าฯ ทรงชื่นชมประธานาธิบดีท่านนี้มาก ทรงนำมาตั้งชื่อพระราชโอรสคือพระองค์เจ้ายอช วอชิงตัน แต่ภายหลังรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่าพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศฯ และก่อนกลับอย่าลืมไปชมจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่รวมเอาความเป็นเอกของช่างวังหน้ามาไว้ รวมทั้งนมัสการพระพุทธสิหิงค์ หนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยเพื่อความเป็นสิริมงคล   

- Advertisement -