รายนาม 5 บุคคลผู้ทรงเกียรติที่พิชิตรางวัล ROLEX AWARDS FOR ENTERPRISE ประจำปี 2021 โดยโครงการต่าง ๆ ของผู้ทรงเกียรติเหล่านี้จะช่วยสร้างสรรค์อนาคตให้ยั่งยืนขึ้นกว่าเคย Rolex ได้ประกาศรายนามผู้บุกเบิกทั้งห้าท่าน ที่ได้รับตำแหน่งบุคคลอันทรงเกียรติผู้ได้รับรางวัล Rolex Awards for Enterprise จากโครงการอันกล้าหาญและเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ของพวกเขา ซึ่งพร้อมด้วยศักยภาพที่จะสรรค์สร้างอนาคตขึ้นมาใหม่ได้
เหล่าผู้ทรงเกียรติที่ได้รับรางวัลทั้งห้าท่านล้วนมาจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ประเทศบราซิล ชาด เนปาล สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักอนุรักษ์ นักสำรวจขั้วโลก ผู้ประกอบการเพื่อสังคมและนักภูมิศาสตร์ รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ
Rolex Awards ริเริ่มขึ้นเมื่อ 45 ปีก่อน เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีของนาฬิกา Oyster ซึ่งเป็นนาฬิกาข้อมือกันน้ำเรือนแรกของโลก ภายใต้โครงการดังกล่าว Rolex สนับสนุนบุคคลที่มีความโดดเด่นผู้ดำเนินโครงการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่สร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ ปกป้องสิ่งแวดล้อมผ่านการช่วยรักษาถิ่นที่อยู่และสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์
Rolex Awards คือหนึ่งในสามส่วนหลักของโครงการ Rolex Perpetual Planet ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนเหล่าบุคคลที่มีส่วนในการสรรค์สร้างโลกให้ดีกว่าที่เคย ซึ่งในปัจจุบันได้ร่วมสนับสนุนโครงการ Mission Blue ของ Sylvia Earle เพื่ออนุรักษ์บรรดามหาสมุทรและขยายความร่วมมือกับ National Geographic ที่เป็นพันธมิตรกับ Rolex มาตั้งแต่ปี 1954 เพื่อทำความเข้าใจสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงผ่านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
บุคคลผู้ทรงเกียรติประจำปี 2021 ได้แก่
Felix Brooks-church จากประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อสู้กับปัญหาภาวะทุพโภชนาการในประเทศแทนซาเนียโดยการพัฒนาเครื่อง ‘เพิ่มสารอาหาร’ เพื่อใช้กับโรงโม่แป้งในชนบท ซึ่งช่วยเพิ่มสารอาหารรองที่สำคัญในอาหารหลัก
Hindou Oumarou Ibrahim จากประเทศชาด นำองค์ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิม มาใช้ประโยชน์ในการสร้างแผนที่ทรัพยากรทางธรรมชาติและป้องกันปัญหาความขัดแย้งอันมีสาเหตุมาจากสภาพภูมิอากาศ ณ บริเวณพรมแดนกึ่งทะเลทรายซาเฮล
Rinzin Phunjok Lama จากประเทศเนปาล ทำงานเพื่อปกป้องระบบนิเวศอันสมบูรณ์หลากหลายของภูมิภาคทรานส์-หิมาลายัน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น
Gina Moseley จากสหราชอาณาจักร มีจุดมุ่งหมายที่จะนำคณะสำรวจทีมแรกเข้าสำรวจกลุ่มถ้ำที่ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของโลก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่มนุษย์มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเขตอาร์กติก
Luiz Rocha จากประเทศบราซิล ทำการสำรวจและปกป้องแนวปะการัง Mesophotic รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเหล่าแนวปะการังในมหาสมุทรอินเดีย และส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศเหล่านี้ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
“Rolex ได้ตระหนักมาเป็นเวลานานถึงความรับผิดชอบของแบรนด์ในการร่วมสร้างสรรค์โลกที่ยั่งยืน นั่นคือ Perpetual Planet” Arnaud Boetsch ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์ของ Rolex กล่าว “แทนที่จะเดินทางไปเสาะหาดินแดนที่ไม่มีใครรู้จักและไม่ปรากฏบนแผนที่ แต่นักสำรวจสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้กลับมีปณิธานมุ่งมั่นที่จะปกป้องโลกใบนี้ ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทั้งห้าท่าน คือตัวอย่างชั้นเลิศของการเป็นผู้พิทักษ์อนาคต”
ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทั้งห้าท่านจะได้รับเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของพวกเขา และสิทธิประโยชน์อีกมากมาย อาทิ การประชาสัมพันธ์โครงการไปทั่วโลก ซึ่งมักจะก่อให้เกิดแรงสนับสนุนเป็นวงกว้าง พวกเขาเหล่านี้ได้รับเลือกจากคณะกรรมการตัดสินรางวัล Rolex Awards ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระจากทั่วโลก โดยสมาชิกของคณะกรรมการทั้ง 10 ท่าน ได้แก่
Meena Ganesh ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยีจากอินเดีย Toshiyuki Kono ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและที่ปรึกษาด้านมรดกทางวัฒนธรรมจากญี่ปุ่น Louise Leakey นักบรรพชีวินวิทยาและมานุษยวิทยาจากเคนยา Chris Lintott นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากสหราชอาณาจักร Wanjira Mathai นักสิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศจากเคนยา Sam Myers นักวิทยาศาสตร์การวิจัยและแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Konstantin Novoselov นักฟิสิกส์และเจ้าของรางวัลโนเบลจากรัสเซียและสหราชอาณาจักร Jon Paul Rodríguez นักนิเวศวิทยาและนักชีววิทยาการอนุรักษ์จากเวเนซุเอลา Norbu Tenzing ผู้ดำเนินงานด้านมนุษยธรรมและนักสิ่งแวดล้อมจากสหรัฐอเมริกา Zhu Dajian ศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากจีน
คณะกรรมการผู้ตัดสินได้ทำการประชุมผ่านทางออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 เพื่อคัดเลือก ผู้ทรงเกียรติจากรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 15 ท่าน โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 1,659 ท่าน จาก 139 ประเทศ ซึ่งประเทศที่มีผู้สมัครมากเป็นสามอันดับแรก ได้แก่ ผู้สมัครชาวอเมริกัน (ร้อยละ 13) บราซิล (ร้อยละ 10) และไนจีเรีย (ร้อยละ 7) ขณะที่อายุเฉลี่ยของผู้สมัครนั้นไม่ถึง 40 ปี (ร้อยละ 39.4) โดยร้อยละ 26 ยังมีอายุไม่ถึง 30 ปี ผู้สมัครที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 18 ปี และสูงสุดคือ 86 ปี ทั้งหมดนี้ร้อยละ 34 เป็นสตรี และกว่าร้อยละ 50 จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดมาจากสาขาสิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 34) รวมถึงสาขาวิทยาศาสตร์และสุขภาพ (ร้อยละ 26)
“โครงการที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 155 โครงการจากช่วงเวลาเกือบครึ่งศตวรรษนั้น ต่างเป็นโครงการที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างยิ่งใหญ่บนโลกใบนี้ โดยมีคนหลายล้านคนบนโลกเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์”Boetsch กล่าวเสริม “ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติแต่ละท่านต่างโดดเด่นทั้งด้านผลงาน ความเป็นเลิศ และความสำเร็จ โดยแต่ละโครงการได้สะท้อนถึงคุณค่าที่เป็นรากฐานของ Rolex มาตั้งแต่เริ่มต้น”
งานเฉลิมฉลองให้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจะจัดขึ้นผ่านทางออนไลน์สิ้นปีนี้
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Rolex Awards ครั้งต่อไป ท่านสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ Rolex.org/rolex-awards/ ในปี 2022
เกี่ยวกับโครงการ PERPETUAL PLANET
สำหรับผู้ก่อตั้ง Rolex อย่าง Hans Wilsdorf (ฮันส์ วิลส์ดอร์ฟ) โลกนี้เปรียบได้ดั่งห้องทดลองที่มีชีวิต นับตั่งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 เขาเริ่มทดสอบนาฬิกาในห้องทดลองนี้ โดยส่งนาฬิกาไปยังสถานที่สุดหฤโหด สนับสนุนเหล่านักสำรวจที่ออกเดินทางไปสู่ดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก ทว่าปัจจุบันโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไป
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 บริษัทได้ต่อยอดจากการสนับสนุนการสำรวจเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ ไปสู่การอนุรักษ์โลกธรรมชาติพร้อมตอกย้ำเจตนารมณ์ของ Rolex ผ่านการเปิดตัวโครงการ Perpetual Planet ในปี 2019 เพื่อสนับสนุนบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก พร้อมเสาะหาแนวทางแก้ไขที่จะช่วยคืนสมดุลกลับสู่ระบบนิเวศของเรา
เกี่ยวกับ ROLEX
กิตติศัพท์ที่หาที่เปรียบไม่ได้ด้านคุณภาพและความเชี่ยวชาญ
Rolex เป็นผู้ผลิตนาฬิกาแบบบูรณาการอย่างอิสระจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ซึ่งแบรนด์มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านความเชี่ยวชาญและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเลิศ ความหรูหรามีระดับ และคุณค่าอันทรงเกียรติ นาฬิการุ่น Oyster Perpetual และ Cellini ได้รับการรับรองจาก COSC และได้รับการทดสอบภายในองค์กรเพื่อรับรองด้านความเที่ยงตรง สมรรถนะ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งการรับรองสถานะ Superlative Chronometer สังเกตได้จากตราสัญลักษณ์ซีลสีเขียว เพื่อเป็นการรับประกันว่านาฬิกาแต่ละเรือนผ่านการทดสอบเฉพาะโดย Rolex ภายในห้องปฏิบัติการของแบรนด์ตามเกณฑ์อันเข้มงวดที่กำหนดขึ้น ซึ่งจะได้รับการประเมินโดยองค์กรอิสระจากภายนอกอยู่เป็นระยะ
คำว่า “Perpetual” ที่ปรากฏอยู่บนนาฬิกา Rolex Oyster ทุกเรือนนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่คำที่อยู่บนหน้าปัดนาฬิกา หากแต่หมายถึงปรัชญาที่หล่อหลอมวิสัยทัศน์และค่านิยมของบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน โดย Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้บ่มเพาะแนวคิดของความเป็นเลิศอย่างยั่งยืนที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ และเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมการผลิตนาฬิกาที่สำคัญ ของ Rolex อีกมากมาย อาทิ รุ่น Oyster นาฬิกาข้อมือรุ่นแรกของโลกที่กันน้ำได้ ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 1926 และกลไกไขลานอัตโนมัติ Perpetual rotor ที่ Rolex คิดค้นขึ้นในปี 1931 ทั้งนี้ Rolex ได้จดสิทธิบัตรมาแล้วกว่า 500 ฉบับตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของแบรนด์ ณ ไซต์ทั้งสี่แห่งในสวิตเซอร์แลนด์ แบรนด์สามารถออกแบบ พัฒนา และผลิตชิ้นส่วนสำคัญของนาฬิกาได้เอง นับตั้งแต่การหล่อส่วนทองอัลลอย การประกอบกลไก การประดิษฐ์ด้วยฝีมือเชิงช่าง การประกอบตัวเรือน และการเก็บรายละเอียดของกลไก ตัวเรือน หน้าปัด และสายนาฬิกา นอกจากนี้ Rolex ยังมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม กีฬา และการสำรวจ ตลอดจนบุคคลที่ทุ่มเทในการหาแนวทางเพื่อช่วยอนุรักษ์โลกใบนี้