Author: Pacharee Klinchoo
Photographer: Perakorn Voratananchai
‘From Flaw to Flawless’ คือสิ่งที่ชารีฟ ลอนา Design Director ของ Studio Act of Kindness ดีไซน์สตูดิโอสุดเก๋ ยึดมั่นในการรังสรรค์วัสดุไม้จากเศษไม้เหลือเก็บในโกดังของ Champaca แบรนด์ผลิตและจำหน่ายไม้แท้คุณภาพสูง ที่ลูกค้าและสถาปนิกชั้นนำเลือกใช้ภายใต้ชื่อ ‘Kindness Wood’ หลังจากที่เขาได้เรียนรู้ว่าเศษไม้เหลือใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์นั้นมีมากมายมหาศาลขนาดไหน “ตอนแรกสุดที่ผมได้เข้าไปคุยงานกับแบรนด์ Champaca ก็คือเขาอยากได้คอลเลกชั่นไม้พื้นลายแปลกๆ แต่พอผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน ผมเห็นทันทีเลยครับว่าแบรนด์นี้มีศักยภาพที่จะไปได้มากกว่าการทำแพทเทิร์นพื้นไม้ไปขายในโชว์รูม” เขาเริ่มต้นเล่าโปรเจ็กต์วัสดุไม้จากเศษไม้ด้วยแววตาตื่นเต้น “ผมไปเจอเศษไม้เหลือจากการผลิตเข้า… อธิบายแบบนี้ดีกว่าครับ เวลาได้ซุงมาท่อนหนึ่งน่ะครับ ซุงจะถูกเลือกให้เป็นเกรดเออยู่แค่ 70% เท่านั้น อีก 30% ที่เหลือที่มีตาไม้หรือร่องรอยของธรรมชาติจะถูกคัดออกว่าเป็นไม้ตกเกรด แต่ด้วยธรรมชาติของต้นไม้ ทำให้เราไม่สามารถควบคุมเกรดของไม้ได้เลย ทำให้โรงงานนั้นสะสมเศษไม้ไว้สามโกดังขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการสะสมมาสามชั่วอายุคนแล้วครับ พอผมเปรยว่าผมอยากจะทำโปรเจ็กต์แบบนี้ คุณพ่อของแพท (พัฒนิศ เจริญกุล Vice President ของ Champaca) ก็ไฟเขียวทันทีเลยครับ เพราะตลอดชีวิตของท่านที่ทำงานมา ท่านเห็นมาตลอดว่าหนทางเดียวในการกำจัดไม้เหล่านี้คือการเผาทิ้ง ทำเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ส่วนอื่นๆ ของโรงงาน ท่านแฮ้ปปี้มากเลยครับกับโปรเจ็กต์นี้”
ตั้งแต่วันที่ชารีฟได้ก้าวเข้าไปสัมผัสกับเศษไม้จำนวนมหาศาลมาจนถึงวันเปิดแสดงงานนิทรรศการ Reclaimed Legacy ที่โชว์เคสการประยุกต์ใช้วัสดุไม้จริงนั้นกินเวลาเพียงห้าเดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าสั้นมากจริงๆ สำหรับโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้ “ที่ผ่านมา ผมเรียนสถาปัตย์ฯ มา ก็รู้ดีว่าการดีไซน์อย่างยั่งยืนนั้นมันทำได้หลายรูปแบบมาก มีแนวคิดหลากหลายแบบ ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ที่ผ่านมา ทุกคนมองเวลาของขยะสั้นไปหน่อย การนำเอาผักตบชวาหรือขวดน้ำมาทำเก้าอี้หรือเฟอร์นิเจอร์มันก็สวยได้แป๊บเดียว เป็นแค่อีเวนต์หนึ่ง แล้วมันก็กลายเป็นขยะอยู่ดี ผมเลยอยากทำอะไรที่มันยั่งยืนกว่านั้น เลยมองว่าเรามีกลุ่มคนที่ไม่สามารถซื้อไม้สักทั้งก้อนได้อยู่แล้ว ถ้าเราสามารถทำไม้สำเร็จรูปจากไม้สักจริงที่มีลายพร้อมใช้เป็นตัวเลือกให้คนเหล่านี้ โดยราคาถูกกว่าเป็นครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะดีกว่า”
เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Reclaimed Legacy ครั้งนี้คือคอลเลกชั่นที่จับต้องได้เพื่อแสดงศักยภาพของ Kindness Wood ว่าทำอะไรได้บ้าง “หลังจากสำรวจเศษไม้ทั้งหมดสามโกดังเต็มๆ แล้ว ผมก็แยกเศษไม้ทั้งหมดออกมาเป็น 14 หมวด” ชารีฟอธิบายต่อด้วยแววตาตื่นเต้นเช่นเคย “ที่มีกรุ๊ปค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทุกอย่างมีจำนวนมหาศาลเลยครับ ผมก็ทำไม้ประกอบออกมาทั้งหมด 7 ซีรีส์ ซึ่งระบบหลักของมันคือไม้เหล่านี้จะออกมาเป็นก้อน เหมือนซุง แต่ในแง่ของธุรกิจแล้ว ถ้าลูกค้าต้องการไม้แผ่น ทางเราสามารถจัดการให้ได้ด้วยความบางที่สุดถึง 4 มิลลิเมตร ซึ่งการอัดไม้ก้อนนี้ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ใหม่กันหมดทุกคน ทุกภาคส่วน คนงานเองก็ได้พัฒนาตัวเอง บริษัทเองก็ได้ทำงานสร้างสรรค์ใหม่โดยใช้ต้นทุนเดิมของตัวเองที่กองเสียเปล่าอยู่มาหลายทศวรรษ ทำให้เกิดมูลค่าใหม่ ดังนั้น นิทรรศการ Reclaimed Legacy นี่คือแสดงอย่างชัดเจนว่า Kindness Wood มีศักยภาพแค่ไหน เนื่องด้วยความพิเศษที่ผมดีไซน์แต่ละลาย คือในหนึ่งก้อนไม้สามารถตัดออกมาได้สี่ลายไม่เหมือนกันตามแต่ว่าเราจะตัดในมุมไหน ซึ่งถ้าเอาก้อนไม้ทั้งหมด 7 ลายมาตัดเรียงกัน คุณจะได้แพทเทิร์นลายไม้ทั้งหมด 28 แบบ ดังนั้น ไม้หนึ่งก้อนที่คุณซื้อไป สามารถใช้หมดได้ 100% เลยครับ”
เรายังอดประทับใจความรวดเร็วในการรันโปรเจ็กต์ Kindness Wood ระหว่างสองธุรกิจนี้ไม่ได้ มันเหมือนกับเจอเนื้อคู่น่ะ เราออกความเห็น “ที่ผ่านมา ทาง Champaca ได้พยายามจะทำอะไรหลายอย่างอยู่แล้วครับ” ชารีฟยิ้ม “ไปร่วมมือกับองค์การป่าไม้ ไปปลูกป่า ทำอะไรหลายๆ อย่าง ทดแทนสิ่งที่ตัวเองรู้สึกผิดในระหว่างการทำงาน ส่วนผมเองก็เป็นอินทีเรียร์ดีไซน์ที่ทำงานลักชัวรี่เรสซิเดนท์มาเยอะมาก ใช้ไม้ ใช้หินกันแบบสิ้นเปลืองเหมือนจะระเบิดทั้งเขามา ดังนั้น ลึกๆ ผมเองก็รู้สึกผิดอยู่เช่นกันครับ และพอเราได้มาคุยกัน เราเลยคลิกกันทันทีครับ และผมเชื่อนะครับว่า ช่างไม้เองก็คงจะรู้สึกผิดไม่แพ้พวกเราหรอกครับ เพราะไม้ก็คือเครื่องมือทำมาหากินของพวกเขา ถ้าเราจะสามารถเอาเศษเหลือเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ และยืดระยะเวลาการตัดไม้ออกไปได้อย่างแท้จริง ใครจะไม่ทำล่ะครับ”
นิทรรศการ Reclaimed Legacy by Kindness Wood จัดแสดงที่ Warehouse 30 (โกดัง 3) ตั้งแต่วันนี้ – 8 เมษายนนี้ ติดตามรายละเอียดได้ ที่นี่