ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ ตำนานประชันเส้นสีและฝีแปรงของครูช่างยุคต้นกรุง

ตำนานคือเรื่องเล่าที่อาจจะมีเค้าความจริงหรือเป็นเรื่องเล่าสืบๆ กันมาซึ่งย่อมจะผิดเพี้ยนไปตามปากผู้เล่า แต่จะมีตำนานใดที่เกี่ยวกับช่างเขียนระดับบรมครูของไทยที่มีสีสันเท่ากับการประชันฝีมือระหว่างครูทองอยู่กับครูคงแป๊ะ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง แม้จะมีหลักฐานให้สืบค้นถึงตัวตนเพียงน้อยนิด ฝากไว้แต่ผลงานจิตรกรรมบนผืนผนังให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมถึงอัจฉริยภาพของครูทั้งสอง

ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านบำรุงเมืองให้พระนครแห่งใหม่ที่อยู่ตรงข้ามกับกรุงธนบุรีเป็นไปอย่างคึกคักเพื่อให้สมกับชื่อกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ ให้สมเป็นเทพสร้าง และคนยุคต้นกรุงหลายต่อหลายคนย่อมเคยเห็นความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยามาก่อน

พระมหากษัตริย์ต้นบรมราชจักรีวงศ์ทรงอุทิศพระวรกายทะนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสนา ไม่แต่เฉพาะขอบเขตกำแพงพระนคร แม้แต่ฝั่งกรุงธนบุรี ที่เป็นที่ตั้งรกรากของพระญาติต่างๆ วัดไหนที่เก่าแก่ทรุดโทรมก็ให้มีการบูรณะ อย่างวัดทองริมคลองบางกอกน้อย ที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่ามาก่อน ในสมัยพระไชยราชาธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงให้ขุดคลองลัดเพื่อย่นระยะการเดินทาง ปัจจุบันคลองลัดได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่แทน ถ้าเราจะเห็นวัดเก่าแก่สืบได้จนสมัยกรุงศรีฯ ตามเส้นทางคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่ ก็ไม่แปลก เพราะนี่คือเส้นทางแม่น้ำสายเดิมนั่นเอง

หลักฐานหนึ่งของการเป็นจิตรกรเอกยุคต้นกรุงของครูทั้งสองท่านคือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน ครูทองอยู่ได้เป็นหลวงวิจิตรเจษฎา ส่วนครูคงแป๊ะเป็นกรมหลวงเสนีบริรักษ์ ไม่เพียงแต่ผลงานที่ปรากฏและเสียงชื่นชมที่ได้รับจนมีลูกศิษย์และด้อมของแต่ละคนศรศิลป์ไม่กินกันไปโดยปริยาย เพราะครูก็ไม่วิสาสะกัน ด้อมแต่ละฝ่ายก็สรรเสริญเมนตนและเสียดสีเมนฝ่ายตรงข้าม ยิ่งกระพือโหมให้สองครูห่างเกินจนแม้แต่ลูกศิษย์ลูกหาเจอครูของอีกฝ่ายก็ไม่ไหว้ไม่เคารพ

จริงๆ แล้วครูทองอยู่คงจะมีอาวุโสกว่า และครูคงแป๊ะคงเป็นรุ่นใหม่มาแรง ถ้าจะเปรียบครูทองอยู่คือศิลปินยุคเรอเนสซองส์ แต่ครูคงแป๊ะคือยุคแมนเนอริสม์ ทั้งสองยุคนี้ต่อเนื่องกัน อย่างงานจิตรกรรมของมิเคลันเจโล ผลงานส่วนใหญ่ของเขายืนยันถึงความรุ่งเรืองของยุคเรอเนสซองส์ แต่ผลงานหลังๆ ของเขาจะแหวกขนบเดิมๆ เน้นกล้ามเนื้อหรือการจัดวางท่าที่บิดเหมือนผิดธรรมชาติ แต่แท้จริงแล้วเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมกับภาพนั้นๆ ไม่เน้นความสวยแบบสมมติเทพเช่นเดิม

ครูทองอยู่จะวาดภาพตามขนบจิตรกรรมไทยดั้งเดิมอย่างเด่นชัด มีแบบแผน เน้นความยิ่งใหญ่อลังการ การวางท่าทางแบบนาฏลักษณ์ และเป็นงานไทยคลาสสิก ครูนิยมวาดภาพเนมิราชชาดก ซึ่งเป็นเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยชาติเป็นกษัตริย์เนมิราชที่บำเพ็ญอธิษฐานบารมี ได้ไปเยี่ยมนรกสวรรค์และกลับมาเล่าให้ปวงราษฎร์เพื่อให้พวกเขาประพฤติตัวอยู่ในธรรม ส่วนครูคงแป๊ะจะแหวกขนบตั้งแต่การนำเอาชาวต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนเสริมให้ตัวเด่นที่เป็นแบบขนบไทยดั้งเดิมดูโดดเด่นยิ่งขึ้น การจัดวางองค์ประกอบเน้นเส้นที่เคลื่อนไหว แม้จะบิดผิดจากธรรมชาติ แต่กลับมีพลังพวยพุ่ง หรือแม้แต่การแบ่งเนื้อเรื่องในภาพแทนที่จะใช้เส้นสินเทา แต่ใช้กระบวนและขบวนของผู้คนในภาพแทรกสลับกับทิวเขาและต้นไม้หรือป่า ให้ความรู้สึกเป็นงานแบบสากล ถึงแม้จะไม่มีจุดทัศนียภาพ (perspective) ตามแบบงานตะวันตก แต่ก็รู้สึกได้ถึงความใกล้ไกลหรือระยะในภาพจากการวางองค์ประกอบของจุดเด่นและจุดรอง ภาพกระบวนการสัประยุทธ์นั้นมีความเคลื่อนไหวดึงดูดสายตา ทำให้เราไม่ได้สนใจว่าภาพนี้ไม่ได้มีการจัดวางองค์ประกอบแบบสมมาตรเลย

แล้วก็มาถึง ณ จุดไฮไลท์ของการประชันฝีมือ นั่นก็คือที่วัดทองที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ริมคลองบางกอกน้อย รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานชื่อว่า ‘วัดสุวรรณาราม’ สมเด็จกรมพระราชวังมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเมรุหลวงใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ที่นี่ด้วย และใช้จนถึงรัชกาลที่ 4

ในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณาราม และครั้งนี้เองที่ให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถ โดยรวบรวมเอาช่างฝีมือชั้นครูของสยามมาทำงานนี้ แน่นอนว่าต้องมีครูทั้งสองท่านนี้ด้วยเพราะเป็นช่างที่โปรด มีเรื่องเล่าว่าคงแป๊ะฆ่าคนไม่ติดคุก เพราะความเป็นคนอารมณ์หุนหันและชอบดื่มสุรา ครั้งหนึ่งครูคงแป๊ะมีเรื่องวิวาทและพลั้งมือทำให้คู่อริเสียชีวิต โทษหนักนั้นไม่แน่ว่าถึงประหารชีวิตหรือไม่ แต่รัชกาลที่ 3 พระราชทานอภัยโทษด้วยเสียดายว่าเป็นคนมีฝีมือ แต่เรื่องฉาวนี้ทำให้ครูคงแป๊ะเสียชื่อเสียง จนคนไม่เรียกครู เรียกแต่คงแป๊ะเฉยๆ

ในเมื่อด้อมแต่ละฝ่ายกังขากันนักว่าฝีมือใครเหนือใคร ผนังด้านซ้ายของพระประธานในโบสถ์วัดทองจึงเป็นที่ประชันฝีมือแบบกั้นม่าน ผนังนั้นอยู่ติดกันเว้นด้วยช่องหน้าต่าง ห่วงโลหะที่ใช้ติดม่านนั้นก็ยังมีเหลือร่องรอยอยู่ ซึ่งเราเห็นห่วงเหล็กคร่ำสนิมนั้นก็น่าจะเป็นหลักฐานว่าเรื่องกั้นม่านเขียนภาพนี้น่าจะจริง

ครูทองอยู่เลือกเขียนภาพเนมิราชที่เน้นเส้นสายของภาพที่งดงามวิจิตร การวางท่าทางตัวละครในภาพอ่อนช้อยงดงามตามลีลานาฏลักษณ์ ฝีมือการตัดเส้นสุดเฉียบที่ร่ำลือมีให้เห็นอย่างไม่ต้องสงสัยเรื่องฝีมือ รวมทั้งสีสันที่ช่างแต่ละท่านจะมีสูตรลับของการสร้างสรรค์สีจากวัสดุธรรมชาติและจะไม่ถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ รายละเอียดของสถาปัตยกรรมสุดวิจิตรเป็นเวียงวังที่โอ่อ่าตระการตา การแบ่งเนื้อเรื่องใช้เส้นสินเทาที่พลิกพลิ้วอ่อนช้อย ไม่ใช่เส้นหยักฟันปลาเพียงอย่างเดียว ในภาพแม้จะแบ่งให้การเที่ยวเทวโลกของเนมิราชนำโดยมาตุลีเทพอยู่ด้านล่างของผนัง แต่ก็มีเส้นสินเทาที่พลิ้วคดโค้งงดงามประดับด้วยลายดอกไม้ ไม่ได้เป็นเส้นสินเทาหยักฟันปลาแบบดั้งเดิม ขณะที่การเที่ยวชมสวรรค์ถูกแบ่งด้วยเส้นสินเทาแบบเดียวกันล้อรับกับยอดปราสาทของเนมิราชที่มีรูปทรงที่โอ่อ่าวิจิตร การจัดวางองค์ประกอบภาพเป็นแบบสมมาตรทุกสิ่ง อ่อนช้อยและโอ่อ่าน่าศรัทธาคงจะนิยามผลงานของครูทองอยู่ได้

ครูคงแป๊ะนิยมวาดภาพมโหสถที่เน้นขบวนรบมีคนสัประยุทธ์กัน ความสับสนวุ่นวายในการรบถูกจัดให้อยู่ในเส้นแนวของลีลาการยุทธ์และวางตำแหน่งให้ขบวนม้าขบวนช้างสอดคล้องต่อเนื่องสอดแทรกตามโขดหินและพงป่า แม้จะไม่ใช่การเขียนภาพแบบทัศนียภาพแบบตะวันตก แต่เรากลับรับรู้ระยะใกล้ไกลของภาพได้ ม้าที่วิ่งห้ออย่างสุดฝีเท้ามีลำตัวเหยียดยาวเป็นเส้นพุ่งให้รู้สึกถึงความแรงของฝีเท้า แม้จะผิดจากกรอบเดิมๆ และไม่เป็นนาฏลักษณ์

ว่ากันว่าครูคงแป๊ะมีเชื้อสายจีน หลายๆ ภาพที่ท่านวาดมีอิทธิพลของกระบวนจีน แต่ภาพที่วัดทองนี้กองทัพเมืองพาราณสีที่มาบุกเมืองมิถิลาแต่งกายแบบเปอร์เซีย ขณะที่ภาพเหล่าข้าราชบริพารเมืองมิถิลาสวมเสื้อหลายอย่าง เหล่ากษัตริย์แต่งกายและมีลีลาแบบนาฏลักษณ์แบบจิตรกรรมไทย ไม่เพียงแต่วาดภาพช่วงสัประยุทธ์ ครูคงแป๊ะยังเลือกวาดเรื่องมโหสถชาดก แต่จับตอนมโหสถพาพระเจ้าวิเทหราชหนีลงอุโมงค์ใต้ดิน แสดงให้เห็นถึงฝีมือและจินตนาการในการวาดบรรยากาศในอุโมงค์อย่างวิจิตรงดงาม และผนังข้างๆ กันก็มีภาพเนมิราชที่วาดโดยครูทองอยู่ เพียงแต่งานชิ้นเอกบนผนังของโบสถ์วัดอรุณนี้ถูกไฟไหม้เสียหายในสมัยรัชกาลที่ 5 จนไม่อาจซ่อมแซมได้ (ครูทั้งสองเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

นี่แหละคือสิ่งที่อยากให้ทุกคนหาโอกาสไปชมงานจิตรกรรมที่ถือเป็นหนึ่งในงานชั้นครูของศิลปะไทย เพราะงานจิตรกรรมฝาผนังนั้นไม่สามารถคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน ยิ่งงานช่างไทยที่ใช้สีที่ผสมขึ้นเองจากธรรมชาติ ไม่ใช่สีวิทยาศาสตร์แบบยุคสมัยนี้ ใครจะคิดไปชมงานครูควรหาโอกาสไปชม อย่าคิดว่าเมื่อไรก็ไปได้ เพราะภาพเหล่านั้นจะลบเลือนสูญหายไปตามกาลเวลา

มีผลงานของครูทองอยู่และครูคงแป๊ะอยู่ที่ผนังโบสถ์วัดบางยี่ขัน (ไม่ได้เปิดให้ชมนอกจากวาระพิเศษ) วัดดาวดึงษ์ และวัดที่เราไปชมได้ค่อนข้างสะดวกก็คือวัดสุวรรณาราม ริมคลองบางกอกน้อยนี่เอง และภาพฝีมือของครูทั้งสองยังเคียงคู่กันอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เท่าที่กาลเวลาที่ผ่านมาเกือบสองร้อยปีจะคงไว้ได้ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่อาจจะยืนยันได้ว่าแท้จริงแล้วในใจของครูทองอยู่จะไม่ได้บาดหมางกับครูคงแป๊ะรุนแรงอย่างที่เอฟซีของแต่ละฝ่ายร่ำลือกัน เพราะครูทองอยู่ฝากผลงานไว้ที่วัดบางยี่ขันที่มีรายละเอียดภาพเป็นเทวดาอยู่ด้านบน แต่มีเทวดาองค์หนึ่งลักษณะเป็นคนจีนมีเคราแพะ ว่ากันว่าคือภาพกึ่งหยอกถึงครูคงแป๊ะนั่นเอง