โอเดอมาร์ ปิเกต์ แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยสองเวอร์ชั่นใหม่ของนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet กับกลไก Selfwinding Flying Tourbillon พร้อมหน้าปัดดีไซน์ใหม่ที่มีรายละเอียดของงานสุดประณีตกับ Aventurine ที่วาววับราวกับท้องฟ้ายามค่ำคืน
เพื่อเติมเต็มความโดดเด่นของรูปทรงและรายละเอียดอันรุ่มรวยไม่รู้จบ โอเดอมาร์ ปิเกต์เลือกประดับหน้าปัดสีทองของนาฬิกาในคอลเลกชั่นนี้ด้วยการผสานเทคนิคการลงยาแบบ “Grand Feu” กับการประดับด้วย Aventurine ที่เผยให้เห็นสัมผัสของความคิดสร้างสรรค์น่าค้นหา
หน้าปัดลงยาแบบ “Grand Feu” นั้นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครทั้งด้วยวัสดุออร์แกนิกจากธรรมชาติ พร้อมกับเทคนิคการสร้างสรรค์ที่ใช้มือเท่านั้น รวมถึงเวลาที่ต้องทุ่มเทลงไปในการสร้างชิ้นงาน กระบวนการทำงานเริ่มจากการผสมทรายแก้วกับน้ำก่อนวางลงไปบนผง Aventurine ด้วยมือ จากนั้นจึงนำไปผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 800 องศาเซลเซียสในเตาอบที่ออกแบบมาเฉพาะ ก่อนทำซ้ำกระบวนการดังกล่าวนี้อีกหลายครั้งเพื่อให้เกิดลักษณะโปร่งแสง ความลึก และมุมมองของแสง โดยกระบวนการทำงานแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้อุณหภูมิและเวลาที่แตกต่างกันไป
โมเดลแรกของนาฬิกาในคอลเลกชั่นใหม่นี้มาพร้อมหน้าปัด Aventurine สีดำลงยาที่เป็นเสมือนพื้นหลังที่ขับเน้นให้เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมง ตัวเลขอารบิก และเข็มนาฬิกาพิ้งค์ โกลด์ 18 กะรัตดูโดดเด่นบนตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเช่นเดียวกัน โดยช่องกลไก Flying Tourbillon ที่ปรากฏอยู่ในตำแหน่ง 6 นาฬิกาเผยให้เห็นสัมผัสของสีพิ้งค์โกลด์ที่โดดเด่นด้วยเช่นกัน กระจกแซฟไฟร์ทรงโค้ง 2 ชั้นตอบรับกับเส้นโค้งของขอบตัวเรือนที่บางเฉียบได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งช่วยขับเน้นความพร่างพราวราวกับท้องฟ้ายามค่ำคืนของหน้าปัดที่สะดุดตาในทันทีที่หน้าปัดนาฬิกากระทบกับแสง
อีกหนึ่งเรือนในคอลเลกชั่น Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon เลือกผนวกหน้าปัด Aventurine สีน้ำเงินลงยา เข้ากับตัวเรือนที่รังสรรค์จากไวท์ โกลด์ 18 กะรัต โดยทุกรายละเอียดที่กล่าวมาใช้เทคนิคการสร้างสรรค์ด้วยมือเท่านั้น หน้าปัดได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยเทคนิคการไล่เฉดสีเพื่อเติมมิติและรายละเอียดสุดประณีตเข้ามา การไล่ระดับสีนี้รังสรรค์ขึ้นได้โดยการผสมผสาน Aventurine สีน้ำเงินและสีดำลงไปในงานลงยา ส่วนช่องกลไก Flying Tourbillon โทนสีโรเดียมที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาสอดรับกับโทนสีสว่างของตัวเรือนไวท์โกลด์ของนาฬิกาเรือนนี้ด้วย และเพื่อให้แมตช์กับสีสันของตัวเรือนมากยิ่งขึ้น โอเดอมาร์ ปิเกต์จึงเลือกรังสรรค์ Oscillating weight ที่มองเห็นได้ผ่านฝาด้านหลังประดับแซฟไฟร์ด้วยพิ้งค์ โกลด์ 22 กะรัตโทนสีโรเดียมด้วยเช่นกัน
ตัวเรือนทองของทั้งสองโมเดลในคอลเลกชั่นนี้มาพร้อมเทคนิคการขัดเงาสลับกับการขัดแบบซาติน เพื่อเติมความเด่นให้กับหลากหลายเหลี่ยมมุมของนาฬิกาเรือนนี้ โดยมีทีมช่างผู้เชี่ยวชาญทีมเล็ก ๆ ผู้มีประสบการณ์อันยาวนานเข้ามาทำหน้าที่ตกแต่งตัวเรือนของนาฬิกาที่มีความซับซ้อนเช่นนาฬิกาเรือนนี้ ที่ประกอบขึ้นด้วยรายละเอียดสุดพิถีพิถันทั้งขอบตัวเรือนที่บางเฉียบ ส่วนกลางของตัวเรือนรูปทรงแปดเหลี่ยม ฝาหลังทรงกลม และขานาฬิกา
กลไก Flying Tourbillon อันล้ำค่า
สองโมเดลใหม่ในคอลเลกชั่น Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon ขับเคลื่อนด้วยกลไกออโตเมติกของคาลิเบอร์ 2950 ที่ผสานกลไก Flying Tourbillon เข้ากับกลไกส่วนกลาง
นับตั้งแต่ถูกพัฒนาขึ้นในยุค 1920s กลไก Flying Tourbillon ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเลิศในศิลปะแห่งการสร้างสรรค์เรือนเวลา จวบจนปัจจุบัน โอเดอมาร์ ปิเกต์นับได้ว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้สร้างสรรค์เครื่องบอกเวลาเพียงไม่กี่แบรนด์ที่สามารถสร้างสรรค์กลไกนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ โอเดอมาร์ ปิเกต์เปิดตัวนาฬิกาข้อมือที่มาพร้อมกลไก Flying Tourbillon เรือนแรกในปี 2018 กับคอลเลกชั่น Royal Oak Concept ส่วนคอลเลกชั่น Code 11.59 by Audemars Piguet ถือว่าเป็นคอลเลกชั่นที่ 2 ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ที่มาพร้อมกลไกอันล้ำค่านี้
“โมเดลใหม่ล่าสุดของ Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon เผยให้เห็นความงดงามดั่งฝันของหน้าปัด Aventurine ที่ส่องประกายระยิบระยับพร้อมกับเทคนิคการสร้างสรรค์กลไกที่มีความซับซ้อนที่สุด”
ไมเคิล ฟรีดแมน ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพลิเคชัน กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon ได้ที่
เอพี เฮ้าส์ ชั้น 4 เกษรทาวเวอร์ และโอเดอมาร์ ปิเกต์ บูติก ชั้น G เซ็นทรัลเอ็มบาสซี หรือ โทร. 02-108-6305
Born in Le Brassus, raised around the world. – www.audemarspiguet.com