The Birth of Victory Monument: จุดกำเนิดหลักกิโลเมตรที่ศูนย์แห่งถนนพหลโยธิน

ปฏิเสธไม่ได้เลยนะครับว่าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี่ถือเป็นอีกหนึ่งในชัยภูมิสำคัญของหลากหลายผู้คน ทั้งการรวมตัวกันของคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือเดินทางกลับต่างจังหวัด เป็นเสมือนทางแยกที่กระจายตัวไปทุกมุมกรุงเทพมหานคร เอาเป็นว่า… มีใครไม่เคยผ่านสถานที่แห่งนี้กันบ้าง เดาว่าคงไม่มีใช่ไหมครับ

ในครั้งที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสเรื่องพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเมื่อนานมาแล้วนั้น มีผู้เสียชีวิตชาวไทยทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกว่า 59 คน รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงมอบหมายให้หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล สถาปนิกคนสำคัญในยุคนั้นออกแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อระลึกถึงวีรชนดังกล่าว มีการวางศิลาฤกษ์โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเปิดอย่างเป็นทางการโดยจอมพล ป.พิบูลสงครามในปีพ.ศ. 2485 

แรงบันดาลใจสี่ประการของการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินั้นได้แก่ ปฏิบัติการของกองทัพทั้งห้าเหล้า ปฏิบัติการของกำลังพลเฉพาะ อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ และกรณีพิพาทอันเป็นเหตุให้เกิดการสู้รบ ดังนั้น สัญลักษณ์สำคัญของตัวอนุสาวรีย์คือดาบปลายปืน อันเป็นอาวุธของทหารในยุคนั้นจำนวนห้าเล่มมารวมกัน ให้ปลายดาบชี้ขึ้นบน คมดาบหันออก ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ด้านในบรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทดังกล่าว ส่วนด้านนอกมีรูปปั้นหล่อด้วยทองแดงขนาดประมาณสองเท่าของคนธรรมดา อันเป็นตัวแทนของนักรบห้าเหล่าของประเทศไทย ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และประชาชนพลเรือน 

โดยศิลปินผู้รังสรรค์รูปปั้นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์ศิลป์เป็นผู้คุมการปั้นด้วยตัวเอง ด้านนอกมีแผ่นทองแดงสลักชื่อผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามหลายครั้งไล่มาตั้งแต่พ.ศ. 2483 – พ.ศ. 2497 ศิริรวมทั้งหมด 801 นาย 

ใครอยากไปชื่นชมความงามของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราแนะนำว่าให้ไปเวลาโพล้เพล้ เพราะท้องถนนจะเต็มไปด้วยรถราและแสงไฟ นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นทีเด็ดในแถบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้แก่ ‘ก๋วยเตี๋ยวเรือ’ ที่เรียงรายอยู่โดยรอบ ถือเป็นอีกหนึ่งสตรีทฟู้ดที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว

taken near Victory Monument Station, Bangkok, Thailand