Guatemala The Lost World

Share This Post

- Advertisement -

ความลึกลับของชนเผ่ามายาในทวีปอเมริกากลางเป็นเรื่องชวนค้นหาว่าอารยธรรมที่มีความเจริญถึงขีดสุดและยืนยงต่อเนื่องยาวนานทั้งทางด้านดาราศาสตร์ การปกครอง สถาปัตยกรรมแห่งนี้มีที่มาที่ไปเช่นไร และทั้งๆ ที่เรามีความรู้เกี่ยวกับอารยธรรมนี้น้อยมาก ทำไมปฏิทินมายาถึงมีความสำคัญมาจนถึงยุคปัจจุบันที่ยังมีความเชื่อว่าโลกจะสิ้นสุดลงในปี 2012 ตามการสิ้นสุดของปฏิทิน 

อารยธรรมมายามีศูนย์กลางอยู่ที่ตอนกลางของทวีปอเมริกากลาง แถวตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก และคาบสมุทรยูคาตัน ตอนกลางและตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา ประเทศแบลิซ ฝั่งตะวันตกของฮอนดูรัสและเอล ซัลวาดอร์ เจริญมายาวนานจนมาร่วมสมัยกับอารยธรรมแอสเท็กในตอนกลางของเม็กซิโก อารยธรรมมายาประกอบด้วยอาณาจักรใหญ่น้อยที่ต่างปกครองตนเอง มีความเจริญมั่งคั่งและความเสื่อมของแต่ละเมือง เกิดการแย่งชิงอำนาจทั้งภายในและจากภายนอกตลอดระยะเวลาอันยาวนานเป็นพันปีจนล่มสลายไปในที่สุด โบราณสถานของชาวมายาส่วนใหญ่ซ่อนตัวอยู่เขตในป่าลึกที่มีต้นไม้ปกคลุม เข้าถึงยากและมักจะถูกทำลายไปเสียมากเพราะความชื้นของอากาศ ดิน และต้นไม้ ต่างกับอารยธรรมอื่นๆ เช่นอียิปต์ ซี่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

15 ปีก่อน ฉันไปเม็กซิโกและลงใต้ไปจนถึงเมืองซานคริสโตบอลเดอลาสคาซัส ที่อยู่ชายแดนเม็กซิโก-กัวเตมาลา เพื่อไปปาเลงเก (Palenque) เมืองสำคัญเมืองหนึ่งในอาณาจักรมายาโบราณ ครั้งนั้นเราไม่ได้วางแผนอะไรมากมาย เรียกรถแท็กซี่ที่แล่นผ่านมาต่อรองราคาได้พอใจแล้ว เราก็ออกเดินทางกัน จากซานคริสโตบอลไปปาเลงเกระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมงไปกลับ 6 ชั่วโมงมีเวลาชมปาเลงเกจริงๆ แป๊บเดียว ทั้งๆ ที่โบราณสถานแห่งนี้กว้างใหญ่และมีอะไรให้ดูมากมาย ทั้งพีระมิดใหญ่น้อยที่อนุญาตให้ปีนขึ้นไปได้ตามใจชอบ ยกเว้นองค์สำคัญที่ค้นพบพระศพของเจ้าผู้ครองนคร ตั้งแต่นั้นมาฉันตั้งใจว่าโบราณสถานสำคัญที่ไหนก็ตามที่เราอยากไป จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วันเพื่อจะดูให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปลายปีที่ผ่านมา ฉันยังคงไล่ตามความฝันที่จะค้นหาเมืองโบราณมายาที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา “ติกาล” เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในอาณาจักรมายาโบราณ เป็นเมืองที่มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาถึง 1,500 ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งเมืองเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 10 มีความเจริญสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 4 – 6 เป็นศูนย์กลางแห่งพิธีกรรมและเป็นใหญ่เหนือดินแดนแถบนั้นทั้งหมด โดยสร้างเครือข่ายกับเมืองมายาอื่นๆ เช่น ปาเลงเก ทางตะวันออกของอาณาจักร โดยมีศัตรูร่วมกันคือชาลักมุล (Calakmul) ครั้งหนึ่งติกาลเคยถูกรุกรานจากอาณาจักรเตโอติอัวกันที่มาไกลจากตอนกลางของเม็กซิโก (ปัจจุบันคือเมืองเม็กซิโกซิตี้และรอบๆ) จากช่วงคลาสสิกเป็นต้นมา ผู้ครองนครติกาลกลับเป็นผู้ที่เตโอติอัวกันส่งมา ชาวยุโรปคนแรกๆ ที่น่าจะเคยเห็นติกาลคือ นักบวชชาวเสปน Andres de Avendano เขาผ่านมาแถวนี้ในปีค.ศ. 1696 และบันทึกไว้ถึงเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีตึกรามบ้านช่องสีขาว แต่การสำรวจติกาลมาเกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปีค.ศ. 1848 และมีการสำรวจเรื่อยมา มีโครงการความร่วมมือที่เกิดรองรับการซ่อมแซมโบราณสถานที่นี่หลายหลังโดยเฉพาะมวลหมู่พิระมิดตรงใจกลางเมือง แต่ก็ยังมีอาคารอีกจำนวนมากที่รอการขุดค้นและซ่อมแซมอย่างถูกต้อง

ติกาลอยู่ในเขตป่าฝนในแคว้นเปเตนทางเหนือของประเทศ เราอยากจะเดินทางทางรถเช่นที่เคยทำมา แต่ระยะทาง 500 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลา 10 ชั่วโมงนั้นนานเกิน เครื่องบินออกจากกัวเตมาลาซิตี้ตอนหกโมงเช้าใช้เวลาบินหนึ่งชั่วโมงไปลงที่เมืองฟลอเรส ก่อนนั่งรถต่อไปอีกหนึ่งชั่วโมง เราจองโรงแรมหนึ่งในสามแห่งที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติ โดยเลือกโรงแรมที่อยู่ใกล้จุดตรวจบัตรผ่านที่สุด เพื่อที่จะได้เข้าชมโบราณสถานได้ตั้งแต่เช้าและสามารถกลับมาค่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเข้าอุทยานเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการ เพราะเราต้องเสียค่าเข้าเป็นรายวัน เขาจะให้เราจ่ายค่าเข้าอุทยานไว้ตั้งแต่ลงเครื่องที่สนามบิน โดยไปจ่ายที่ธนาคารที่อยู่อาคารถัดไป และจ่ายได้เฉพาะเงินสดเท่านั้น เรื่องเช่นนี้ไม่มีการแจ้งจากโรงแรมหรือที่ไหนๆ โชคดีที่เรามีเงินสดสำรอง เพราะเห็นฝรั่งบางครอบครัวต้องรวบรวมเงินกันใหญ่ แถมไม่พอต้องยืมเงินจากคนขับรถหรือคนที่มาต้อนรับจากโรงแรมไปก่อนด้วย จะไปเสียเงินที่หน้าทางเข้าอุทยานก็คงทำได้ แต่เขาว่าคิวยาว จ่ายไปจากที่นี่จะสะดวกกว่า ยิ่งพวกที่ค้างคืนข้างในอย่างเรา ถ้าจะให้ดีให้จ่ายเท่าจำนวนวันที่จะอยู่เลย เพราะถ้าจะเทียวไล้เทียวขื่อจ่ายทุกวันหมายถึงต้องเดินทางออกมา 16 กิโลไปกลับ 32 กิโลไปอีก นี่ยังไม่รวมการไปชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกจากโบราณสถานซึ่งจะต้องมีตั๋วแยกต่างหาก ทำให้ต้องวางแผนว่าจะต้องการใช้ตั๋ววันไหน โชคดีที่เราไม่นิยมชมพระอาทิตย์เลยตัดตรงนี้ไปได้ 

เขตเปเตนมีความแตกต่างจากเขตอื่นๆ ของกัวเตมาลา โดยเฉพาะพืชพันธุ์ที่เป็นป่าเบญจพรรณ ที่มีอารมณ์เหมือนต้นไม้ตามเกาะต่างๆ ในเมืองไทย และผู้หญิงที่นี่เท่าที่เห็นจากข้างทางไม่ค่อยมีใครใส่ชุดพื้นเมืองเหมือนทางใต้ที่เราจากมา เราผ่านทางเข้าอุทยานไปง่ายๆ เพราะซื้อตั๋วมาแล้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติติกาลนี้ครอบคลุมเนื้อที่เกือบ 600 ตารางกิโลเมตร นับจากทางเข้าไปจนถึงบริเวณที่พักเป็นถนนที่ร่มรื่นที่สุด เขาจำกัดความเร็วไว้ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อไม่ให้ทำอันตรายต่อสัตว์ที่อาจจะโผล่มาโดยไม่รู้ตัวเช่นเดียวกับที่เขาใหญ่ แต่ก็เห็นรถทั่วไปยังวิ่งกันฉิว 9 โมงเช้าเราก็มาถึงโรงแรมเพื่อพบว่ายังเข้าห้องไม่ได้จนกว่าจะบ่าย 3 เข้าไปชมโบราณสถานเลยก็แล้วกัน จุดตรวจบัตรห่างจากโรงแรม 20 เมตร เราต้องผ่านเพื่อโชว์ตั๋วแลกรับสายข้อมือ สองข้างทางเดินคือต้นไม้สูงใหญ่ที่ช่วงแรกทางก็กว้างขวางดีแต่ยิ่งลึกเข้าไปทางก็เริ่มแคบและรก ต้องปีนป่ายไปตามบันไดรากไม้ธรรมชาติ ไต่ขึ้นไปบนเนิน ข้ามสะพานไม้ เสียงจักจั่นร้องเซ็งแซ่ อากาศร้อนชื้นจนเหนอะหนะ จนเราเริ่มคิดว่านี่จะต้องข้ามสะพานไม้กี่สะพานและปีนบันไดอีกกี่ขั้น โบราณสถานอยู่ที่ไหนต้องเดินไปอีกนานแค่ไหนถึงจะถึง แผนที่ราคา 20 เควตซาลไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยตรงกับป้ายบอกทาง และแผนที่กับป้ายก็ไม่เห็นตรงกับความเป็นจริง กำลังเหนื่อยได้ที่ก็พอดีโผล่ออกมาเจอลานกว้างที่มีทั้งซุ้มขายน้ำและที่นั่งพัก รวมถึงห้องน้ำไว้บริการ ข้างหน้ารำไรบนเนินใต้ยอดไม้สูงนั่นคือด้านหลังของพีระมิด เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่ข้างๆ ชี้ไปแล้วบอกนั่นไงวิหารแห่งเสือจากัวร์ผู้ยิ่งใหญ่ นี่แหละพีระมิดมายันที่ฉันต้องการจะมาเห็น ความฝันที่ยาวนานกว่า 15 ปี กับที่ใช้เวลาเดินเข้ามากว่าครึ่งชั่วโมงเป็นอันหายเหนื่อย 

หมู่โบราณสถานตรงนี้คือใจกลางของเมืองโบราณที่ประกอบด้วยวิหารหมายเลข 1 วิหารหมายเลข 2 อะโครโพลิซและปาลาสิโอหรือหมู่พระราชวัง วิหารที่สำคัญที่สุดคือวิหารหมายเลข 1 หรือวิหารแห่งเสือจากัวร์ผู้ยิ่งใหญ่ (Temple of the Great Jaguar) ที่สร้างตามแบบอย่างของสังคมมายา คือมีฐานพีระมิดที่มีชาน 9 ชั้น แต่ละชั้นจะมีภาพสลักตกแต่งที่ปัจจุบันไม่มีอะไรเหลือ มีบันไดยาวพุ่งตรงไปสู่ยอด บันไดนี้จะทำมุม 70 องศากับตัวอาคาร บนยอดเป็นอาคารที่น่าจะเป็นศาสนสถานแบ่งเป็นห้องแคบๆ สามห้อง ด้านหลังสร้างเป็นรูปครึ่งวงกลมสูงขึ้นไปจากอาคารด้านหน้า เป็นส่วนที่เรียกกันว่า Maya Arch นักโบราณคดี เทรย์ เอสทริกค้นพบที่ฝังพระศพของกษัตริย์ Jasaw Chan K’awil ในปีค.ศ. 1962 โดยพบอยู่หลังเทอเรสชั้นแรก มีทั้งหน้ากากหยกที่ทำเพื่อปิดหน้าศพ เครื่องปั้นดินเผาเขียนลายงดงาม เครื่องประดับทั้งที่ทำจากปะการัง หยก และมุก และโบราณวัตถุมีค่าอีกมาก ที่สำคัญคือพบแผ่นเสื่อที่รองใต้พระศพ การปูเสื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของราชวงศ์มายัน ประเพณีการฝังศพเช่นนี้เจอในเมืองมายาสำคัญๆ เช่นใน Temple of the Inscriptions เมืองปาเลงเกที่ซึ่งพระศพของกษัตริย์ปาสคาล ได้รับการฝังไว้ใต้ช่องลับ 

ตอนเช้าจุดตรวจบัตรเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าสำหรับตั๋วปกติ ไฟในโรงแรมเพิ่งเปิดหลังจากดับตามเวลาไปตอนเที่ยงคืน ฟ้ายังสลัวและไม่มีคนเลย เราต้องเดินตามทางเดิมเพื่อไปให้ถึงใจกลางของโบราณสถาน ผ่านต้นนุ่นใหญ่ยักษ์ ที่เขาว่ากันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธ์ของชาวมายัน เช้านี้หมอกลงจัดและชื้น แต่ก็สดชื่น รอบข้างทึมๆ มัวๆ ราวกับจะมีอนาคอนดาหรือคิงคองยักษ์โผล่ออกมาได้ทุกขณะจิต โชคดีที่เมื่อวานพอรู้ทางอยู่บ้าง ถ้าเพิ่งเข้ามาวันนี้มีได้หลงป่าไปไหนต่อไหนเพราะทางแยกเยอะเหลือเกิน วันนี้เราตั้งใจจะไปให้ถึงวิหารหมายเลข 4 ที่อยู่ไกลที่สุดและอยู่สูงที่สุด เป็นที่ที่เขานิยมไปชมพระอาทิตย์ขึ้นกัน ระหว่างที่ผ่านลานใหญ่ใจกลางเมือง ฉันอดไม่ได้ที่จะปีนขึ้นไปบนวิหารหมายเลข 2 ที่เมื่อวานเราได้แต่แหงนมองจากด้านล่างเพราะคนเยอะ วันนี้วิหารเป็นของเรา จากวิหารหมายเลข 2 เรามองเห็นวิหารหมายเลข 1 สลัวๆ อยู่ใต้สายหมอก ด้านหน้าของวิหารมีแท่นกลมที่พวกมายันใช้ก่อกองไฟเพื่อทำพิธีใหญ่ ครั้งหนึ่งประชาชนชาวมายันจะพากันมารวมตัวหน้าวิหารใหญ่ เฝ้าดูพิธีบูชาไฟอันศักดิ์สิทธิ์ กษัตริย์ ราชวงศ์และพระชั้นผู้ใหญ่จะเดินลงจากบันไดแห่งสวรรค์ ท่ามกลางควันกำยานที่คละคลุ้งและเสียงสวดมนต์ก้องกังวาน นักบวชจะสวดอ้อนวอนเทพแห่งฝน พระอาทิตย์ เทพแห่งลม และเทพีข้าวโพดเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันทุกๆ ปีผู้คนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมายันยังพากันมารวมตัวกันที่นี่เพื่อทำพิธีเช่นที่เคยทำมาในอดีตกาล

จากความสูง 38 เมตรที่วิหารหมายเลข 2 เราบุกป่าฝ่าดงต่อไปอีกเกือบ 40 นาทีก่อนจะไต่ความสูง 70 เมตรขึ้นไปยังยอดวิหารหมายเลข 4 พวกทัวร์ชมพระอาทิตย์ขึ้นมานั่งรออยู่แล้วจำนวนหนึ่งแต่เขาน่าจะผิดหวังเพราะวันนี้หมอกลงจัดจริงๆ แม้ว่าฟ้าจะสว่างจนมองเห็นยอดวิหารอีก 3 ยอดเรียงกันเหนือยอดไม้ แต่ไม่มีดวงอาทิตย์มาให้เห็น จุดที่เรานั่งกันอยู่ตอนนี้เป็นวิวเดียวกับที่แฟนๆ สตาร์วอร์ได้เห็นในหนัง Star War IV : A New Hope ตอนยานมิลเลนเนียมฟัลคอนบินเข้ามาในยาวิน 4 และลงจอดบนวิหารหมายเลข 3 วันนี้เราลองเลี้ยวอ้อมไปทางซ้าย เพื่อไปสู่ Complego G, โบราณสถานกลุ่ม H เดินไปเดินมาเจอโบราณสถานกลุ่มเหนือได้ยังไงก็ไมรู้ ทางด้านนี้จะรกและวกวน โบราณสถานส่วนใหญ่ยังไม่ได้บูรณะ ระหว่างทางเราเจอนักท่องเที่ยวพื้นเมืองทำท่าลับๆ ล่อๆ มองไปเห็น spider monkey หลายตัวกำลังโหนต้นไม้อย่างสนุกสนาน ขากลับออกมายังได้เห็นนก great curassow อีก

 ถึงวันที่ 3 เข้าๆ ออกๆ มา 6 รอบ เจ้าหน้าที่กับเราก็ซี้กันแล้ว ไม่เซ้าซี้ถามอะไรวุ่นวายอีก ไปถึงก็ยื่นป้ายติดข้อมือให้เลย วันนี้เราแยกไปอีกทาง เพื่อไป Palacio de las Acanaladuras พระราชวังอีกแห่งหนึ่ง บริเวณนี้มีนักท่องเที่ยวน้อย และบรรยากาศรกเรื้อ อาคารหลายหลังยังมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมราวกับเราเป็นคนแรกที่มาถึง กำลังเดินถ่ายรูปอยู่ดีๆ จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงเหมือนสัตว์คำรามสะท้อนก้องไปมาบนยอดไม้ โชคดีเราเคยดูสารคดีมาก่อนจึงรู้จักเจ้า howler monkey มาแล้วว่าเป็นลิงที่มีเสียงร้องอันน่ากลัวเหมือนเสียงกรีดร้อง ถ้าไม่เคยรู้มาก่อนท่ามกลางป่าครึ้มและโบราณสถานที่รกร้างกับพวกเราแค่ 3 คนคงหลอนไม่ใช่เล่น เราผ่านวิหารหมายเลข 5 ที่กว้างใหญ่จนเราดูเหมือนมนุษย์มดไปสู่ Plaza de los Siete Templo หรือจัตุรัสแห่งวิหารทั้งเจ็ด ที่นี่เราถูกกองทัพตัวโคอาตีมุนดี (Coatimundi) บุก มันวิ่งข้ามเนินดินไปมาอยู่รอบๆ เราเพื่อหาอาหาร โดยตามกันเป็นพรวนจำนวนหลายสิบตัว น่ารักดี

 ในจำนวนโบราณสถานที่ได้ชมจนทั่วในเวลา 3 วัน วิหารที่ฉันชอบที่สุดมี 3 หลัง คือวิหารหมายเลข 5 Mundo Perido ที่เป็นพิระมิดที่มีทางขึ้น 4 ด้านต่างจากพิระมิดมายาทั่วไปที่ขึ้นได้ข้างเดียว และวิหารหมายเลข 6 ที่ซ่อนอยู่ห่างไกลจากวิหารอื่นๆ เราใช้เวลาช่วงบ่ายของวันสุดท้ายเพื่อมาที่นี่ ทางไปวิหารนี้จะต้องเลี้ยวซ้ายออกไปจากทางเดินหลัก และเดินไปตามทางที่ไม่มีใครสักคนโผล่มาให้เห็น นอกจากลิง 2 – 3 ตัว และกองทัพยุงยักษ์ที่ไล่ตามเราอย่างกระหายเลือด แม้จะทายากันยุงที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในกัวเตมาลาแล้วก็ยังเอาแทบไม่อยู่ แสงอาทิตย์ส่องลอดช่องว่างของป่าลงมาเป็นเงา พอให้ทางเดินไม่ดูเปลี่ยวและน่าหวาดหวั่นจนเกินไป ครึ่งชั่วโมงต่อมา เราก็มาถึงวิหารหลังย่อม วิหารหมายเลข 6 หรือ Templo of Inscription น่าจะได้รับการขุดค้นแล้วแต่ยังไม่ได้ซ่อมแชมให้ดี ทางขึ้นเป็นอิฐหักๆ พังๆ จากที่เคยเป็นบันไดแต่ก็พอจะไต่ขึ้นไปได้ วิญญาณนักโบราณคดีเข้าสิงทำให้ฉันใจกล้าไต่ขึ้นไปจนถึงยอด แต่ขาลงนี่สิยากเพราะความชัน จะหันหน้าลงก็แคบมาก หันหลังก็มองไม่เห็นทาง กว่าจะไต่ลงมาได้เล่นเอาเหงื่อตกก่อนลาจากติกาลฉันตั้งใจจะไปอาคารหมายเลข 38 ที่ไม่ปรากฏในแผนที่

แต่ฉันเดินผ่านทางเล็กๆ ที่มีป้ายชี้ไปในป่านี้ทุกวัน แต่พอจะไปจริงๆ ฉันกลับหาทางเข้าไม่เจอ!!!!!! เดินวนอยู่หลายรอบตรงที่คิดว่าเห็นแต่ไม่มี จนชักไม่แน่ใจว่าตัวเองเห็นจริงหรือเปล่า ไปถามเจ้าหน้าที่เขาก็งงๆ บางคนก็ว่ามี บางคนก็ไม่รู้ ได้แต่หวังว่าฉันคงได้มีโอกาสกลับมาพิสูจน์

มีข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับการล่มสลายของนครที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองสุดขีด ไม่ว่าจะเป็นหายนะที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ภูเขาไฟ หรือโรคระบาดที่ติดมาจากชาวยุโรป แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากอาณาจักรมายาเอง ทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทำให้ทรัพยากรถูกแบ่งปันจนถึงขั้นไม่พอเลี้ยง ชนชั้นปกครองต้องการอำนาจและความหรูหราร่ำรวย เกิดสงครามการแย่งชิงความเป็นใหญ่และจบลงด้วยการพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย สิ่งเหล่าจะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับทุกอารยธรรม

- Advertisement -