ครั้งแรกในกรุงเทพฯ! ซีอีเอ จับมือ สถาบันเกอเธ่ จัดนิทรรศการ ‘สิ่งที่มองไม่เห็น’

Share This Post

- Advertisement -

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จัดนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” (Invisible Things) นิทรรศการที่นำเสนอของใช้ในชีวิตประจำวัน จากประเทศเยอรมนี 25 ชิ้น และประเทศไทย 25 ชิ้น ที่ชวนให้ผู้เข้าชมนิทรรศการฯ ขบคิดและเข้าอกเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิด และวิถีชีวิตอันเป็นลักษณะเฉพาะของผู้คนทั้งสองประเทศ ผ่าน 50 สิ่งจัดแสดงที่สะท้อนความเป็นเยอรมัน และความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด อาทิ จมูกตัวตลก จากเครื่องหมายอัศเจรีย์สีแดง สู่สัญลักษณ์สร้างความสุขให้ผู้คน รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก รองเท้าที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้ใช้งาน มากกว่าแฟชั่น กระบอกตั๋วรถเมล์ ในเสน่ห์เสียงการเขย่ากระบอก อีกมุมคือนวัตกรรมที่เข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริง และ สติกเกอร์เปลี่ยนสีรถ สิริมงคลต้นทุนต่ำ แต่เพิ่มมูลค่าอบอุ่นใจเพียงแรกติด นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการดังกล่าว ยังฉายภาพยนตร์สั้นที่เล่าถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่างวัฒนธรรมโดยกลุ่มนักศึกษาจากทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ได้จัดพิธีเปิดนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า “ประเทศเยอรมัน” ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับสหภาพยุโรป และเวทีโลก มีการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ออกแบบบนแนวคิดสร้างสรรค์ผสมกับอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ มีแบรนด์สินค้าชั้นนำระดับโลกหลากหลายแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ได้สะท้อนชัดเจนในมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศเยอรมนีที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

CEA ได้จับมือกับ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) เปิดนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” หรือ Invisible Things นิทรรศการที่ได้ทำการรวบรวม และจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของใช้ธรรมดาในชีวิตประจำวัน จาก 2 ประเทศ อย่าง “เยอรมนีและไทย” จำนวนทั้งหมด 50 รายการ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ทั้งหมดแฝงเรื่องราวน่าเรียนรู้ในหลากมิติ ทั้ง เสน่ห์ตัวตน  วัฒนธรรม  ความเชื่อ  ไลฟ์สไตล์ และความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงมุมมองต่อสิ่งของต่างวัฒนธรรม ผ่านคำถามว่าอะไรคือความเป็นไทย และอะไรคือความเป็นเยอรมัน  ได้อย่างเด่นชัด โดยมีภัณฑารักษ์จากทั้ง 2 ประเทศ ประกอบด้วย นายฟิลิป คอนเวล-สมิธห์  นายมาร์ติน เรนเดล และ นายพิบูลย์ อมรจิรพร เป็นทีมผู้สร้างสรรค์นิทรรศการฯ เป็นผู้คัดเลือก อาทิ

  •  ‘จมูกตัวตลก’ จากเครื่องหมายอัศเจรีย์สีแดง สู่สัญลักษณ์สร้างความสุขให้ผู้คน (Fake Nose) จมูกทรงกลมสีแดง ขนาดใหญ่เทียบเท่าผลมะเขือเทศพันธุ์ลูกท้อของไทย หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ถูกนำมาใช้ในสร้างความสุขของผู้คนในประเทศเยอรมัน ในช่วงที่มีการจัดเทศกาลคาร์นิวัล เพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์แทนเครื่องหมายอัศเจรีย์ และบอกใบ้ว่าทุกสิ่งที่ทำหรือพูดออกมาล้วนแต่ตั้งใจจะให้ตลก นับเป็นการสะท้อนถึงความเป็นชนชาติที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องตลกเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดจากภาพจำของผู้คนจากนานาประเทศทั่วโลกที่มองว่า ผู้คนในเยอรมันเป็นคนที่ตึงเครียด 
  • ‘รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก’ รองเท้าที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้ใช้งาน มากกว่าแฟชั่น (Birkenstock sandals) แบรนด์รองเท้าเพื่อสุขภาพในตำนาน จากรัฐนอร์ธไรน์-เวสต์ฟาเลีย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผสานความสบายสูงสุดกับการเดินอย่างถูกหลักสุขภาพ โดยเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกอย่างต่อเนื่องถึง 245 ปี เหตุเพราะผู้ผลิตได้ทำการคัดสรรวัสดุคุณภาพดีมาใช้ในกระบวนการผลิต อาทิ หนังแท้ที่มาพร้อมคุณสมบัติคงทน มีผิวสัมผัสที่นุ่มสบาย พื้นรองเท้าที่สามารถปรับพื้นผิวให้รับกับฝ่าเท้าของผู้สวมใส่ ซึ่งช่วยลดอาการปวดขา และปวดหลังได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงดีไซน์ที่ทันสมัยสามารถนำไปแมชต์กับการแต่งกายได้ทุกเพศทุกวัย
  • ‘กระบอกตั๋วรถเมล์’  – ในเสน่ห์เสียงการเขย่ากระบอก อีกมุมคือนวัตกรรมที่เข้าใจผู้ใช้อย่างแท้จริง (Conductor’s Ticket Tubes) นวัตกรรมทรงประสิทธิภาพประจำรถเมล์ไทย ที่คนไทยคุ้นเคยตั้งแต่วัยเด็ก มาพร้อมเสน่ห์ของการเขย่ากระบอกตั๋ว เพื่อเป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารเตรียมชำระค่าโดยสาร นอกจากนี้ กระบอกตั๋วดังกล่าว ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานสารพัดประโยชน์ ทั้งด้านพื้นที่ที่สามารถใส่ตั๋วได้ทุกชนิดราคา และใส่เหรียญได้ทุกขนาด รวมไปถึงฝากระบอกที่สามารถทำหน้าที่ตัดหรือฉีกตัวคืนผู้โดยสาร เพื่อระบุว่าผู้โดยสารขึ้นและลงที่ระยะใด
  • ‘สติกเกอร์เปลี่ยนสีรถ’ สิริมงคลต้นทุนต่ำ แต่เพิ่มมูลค่าอบอุ่นใจเพียงแรกติด (Car Color Stickers) สติกเกอร์มงคลต้นทุนต่ำ อย่างสติกเกอร์ที่มีข้อความ ‘รถคันนี้สีแดง’ หรือ ‘รถคันนี้สีขาว’ ถือเป็นสิ่งที่สร้างการโต้เถียงแก่ผู้พบเห็น เพราะข้อความบนสติกเกอร์ย้อนแย้งกับความเป็นจริงของสีรถ แต่สิ่งดังกล่าว กลับสะท้อนความเชื่อเรื่องโชคลาง และสีมงคลของคนไทยได้เป็นอย่างดีว่า สติกเกอร์สีดังกล่าว ช่วยสร้างความอบอุ่นทางจิตใจ เป็นสิริมงคลกับเจ้าของรถ รวมถึงยังช่วยให้เจ้าของรถประหยัดงบไม่ต้องไปทำสีใหม่ทั้งคัน

นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการดังกล่าว ยังฉายภาพยนตร์สั้นที่เล่าถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่างวัฒนธรรมโดยกลุ่มนักศึกษาจากทั้งสองประเทศ คือ ทีมนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ ทีมนักศึกษาจาก Technische Hochschule Köln (Cologne University of Applied Sciences) ประเทศเยอรมนี โดยนิทรรศการชุดดังกล่าว พร้อมเปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งแบบรายบุคคลและหมู่คณะ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 15 กันยายน 2562 นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นางสาวมาเร็น นีเมเยอร์ ผู้อำนวยการสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) ในฐานะองค์กรด้านวัฒนธรรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศเยอรมัน และมีเครือข่ายกระจายอยู่ทุกประเทศทั่วโลก มีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ได้ริเริ่มนิทรรศการ “สิ่งที่มองไม่เห็น” (Invisible Things) ขึ้น โดยมุ่งหมายให้ผู้เข้าชมจากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงคนไทยมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นตัวตนของชาวเยอรมันในทุกมิติ ขณะเดียวกัน สถาบันฯ มุ่งสร้างการตระหนักรู้ให้คนไทยมองเห็นนัยยะสำคัญที่ซ่อนอยู่ในสิ่งสามัญธรรมดา ที่สะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และการแก้ปัญหาของคนไทย ซึ่งเชื่อได้ว่า คนไทยทุกคนล้วนมีประสบการณ์ในมิติต่างๆ ทั้งการพบเห็น การสัมผัส และการใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งเหล่านั้นจนคุ้นชิน อันนำไปสู่การมองข้ามคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ว่ารากเหง้าความเป็นไทยเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าว ได้สัญจรไปจัดแสดงในหลายประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศจีน และล่าสุดที่ประเทศไทย ณ TCDC กรุงเทพฯ ซึ่งทุกครั้งของการเดินทาง สถาบันฯ ได้เตรียมมุมแปะกระดาษโพสอิท (Post It) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าชมนิทรรศการที่มีต่อประเทศเยอรมัน และเมื่อเดินทางไปจัดแสดงครบตามกำหนดแล้ว สถาบันเกอเธ่ จะทำการรวบรวมทุกความคิดเห็นจากผู้เข้าชมทุกประเทศทั่วโลก มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการอีกครั้งในภายหลัง ณ ประเทศเยอรมนี เป็นลำดับต่อไป นางสาวมาเร็น กล่าว

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการยกระดับศักยภาพนักออกแบบไทย ผ่านการเรียนรู้แนวคิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ได้นำความคิดสร้างสรรค์ไปเพิ่มมูลค่าสินค้า ธุรกิจและบริการ อันนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถเที่ยวชมนิทรรศการดังกล่าวได้ฟรี! ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 15 กันยายน 2562 เวลา 10.30 – 21.00 น. (ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์) ณ ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง (ส่วนหลัง) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ (TCDC กรุงเทพฯ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ โทรศัพท์  02-105-7400 ต่อ 213, 214 หรือติดตามรายละเอียดที่ tcdc.or.th และ #InvisibleThings

- Advertisement -