“โอ้โห…” เป็นคำอุทานของเหล่าทีมงานที่หลุดออกมาจากปากอย่างพร้อมเพรียงกันเมื่อก้าวเท้าเข้าไปในพื้นที่อันกว้างขวางของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมที่ดูเหมือนจะคับแคบไปถนัดตาเพราะรถสารพัดขนาดและหน้าตาที่จอดเรียงรายกันจนเต็มพื้นที่ ทีมงานหลายคนดูจะตื่นเต้นกับรถขนาดกะทัดรัดที่เรียกว่า ‘ไมโครคาร์’ ส่วนอีกหลายคนก็ตาดีไปเห็นใบพัดใต้ท้องรถและตระหนักว่ารถคันตรงหน้านั้นสามารถแปลงร่างเป็นเรือได้ในยามจำเป็น ในขณะที่ทีมงานเพศชายที่มีใจรักรถยนต์เป็นทุนเดิมอยู่นั้นก็ดูจะตื่นตาไปกับรถโบราณหน้าตาดีที่รายเรียงกัน จนทำให้เราต้องปล่อยให้ทุกคนแยกย้ายกันไปเก็บภาพและหาโลเคชั่นกันตามใจ ท่ามกลางสายตาอันอ่อนโยนและเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจของเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ด้วยใจรัก
“ที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรีนะครับ” เขาเริ่มต้นเล่าด้วยน้ำเสียงใจดีไม่ผิดกับหน้าตา “เปิดบริการตั้งแต่พ.ศ. 2549 แล้วครับ ผมไม่หวังผลกำไร แค่อยากจะอนุรักษ์มรดกและประวัติศาสตร์เรื่องยานพาหนะและเครื่องจักรกลจากทั่วโลกเท่านั้นเองครับ
“จุดเริ่มต้นเหรอครับ” เขานิ่งคิด “ผมก็คงคล้ายกับเด็กผู้ชายหลายคนที่ตอนเด็กๆ ชอบรถยนต์และบรรดาเครื่องยนต์กลไกต่างๆ บังเอิญที่บ้านก็มีอาชีพเกี่ยวกับการซ่อมรถด้วย ผมจึงเติบโตมากับพวกรถยนต์และเครื่องยนต์น่ะครับ พอโตมาก็มีอาชีพเกี่ยวกับยานพาหนะด้านบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะรถดับเพลิง ทำให้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป เวลาว่างผมก็จะเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์รถยนต์และเครื่องจักรกล หรือที่แถบนั้นเรียกกันว่า Technik Museum เรียกได้ว่าไปกี่ครั้งๆ ก็จะต้องเจียดเวลาเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ทุกครั้ง เห็นรถสะสมที่เป็นรถยนต์ขนาดเล็ก หรือ ‘ไมโครคาร์’ ก็เริ่มอยากสะสมบ้าง เลยเริ่มต้นซื้อตามงานประมูลต่างๆ โดยรถคันแรกที่มาถึงมือผมได้แก่ Messerschmitt KR200 เป็นรถสัญชาติเยอรมันที่ผมประมูลได้มาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อพ.ศ. 2540 ตั้งแต่คันนั้นมาถึงบัดนี้ผมมีไมโครคาร์รวมๆ แล้วกว่า 300 คันครับ
“Messerschmitt เป็นบริษัทผลิตเครื่องบินให้กับกองทัพเยอรมันครับ หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทก็ถูกประเทศสัมพันธมิตรสั่งห้ามผลิตเครื่องบินต่อ เลยเบี่ยงมาผลิตรถยนต์แทน แต่เขาก็ยังรักษารูปร่างหน้าตาไว้ให้เหมือนเคบินของเครื่องบิน ตัวเครื่องไม่กี่ซีซีเท่านั้น เพราะน้ำมันราคาสูง และวัสดุผลิตก็หายากเนื่องจากประเทศแพ้สงคราม รถ Messerschmitt KR200 คันแรกของผมนี่เปิดประตูโดยยกขึ้นจากด้านข้าง แบบนี้นะครับ” มีคนแสดงกลไกการเปิดประตูอันน่าทึ่งนี้ให้เราเห็นจริงจัง ท่ามกลางเสียงฮือฮาของทีมงาน “นี่คือไมโครคาร์คันแรกของผม ผมเลยเอามาทำเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ครับ
“ส่วนคันนี้คือ BMW Isetta ซึ่งความพิเศษคือมันเคยเป็นบริษัทผลิตสกูตเตอร์และตู้เย็นของประเทศอิตาลี เขาจึงออกแบบมาให้ไมโครคาร์คันนี้เปิดหน้าเหมือนกับประตูตู้เย็น พอ BMW ซื้อลิขสิทธิ์มาก็ผลิตต่อโดยเคารพรูปแบบดั้งเดิม ลักษณะกลมมนแบบนี้ทำให้มันถูกเรียกว่า ‘บับเบิลคาร์’ ซึ่งไมโครคาร์ส่วนใหญ่ก็มีสามล้อเป็นปกติแล้วนะครับ และที่สำคัญคือเวลาเกิดอุบัติเหตุสามารถเปิดหลังคาผ้าใบแล้วลุกหนีออกจากรถได้เลย หลังๆ ก็มีการซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตต่อโดยหลายบริษัทครับ อย่าง Heinkel Kabine ก็ใช่ครับ ในพิพิธภัณฑ์มีหลายคันอยู่”
นอกจากนั้นแล้วเจษฎายังเล่าเรื่องราวของไมโครคาร์หลากหลายสัญชาติให้พวกเราฟัง ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยที่เขาจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา เพราะกระแสเสียงความรักนั้นส่งผ่านมาถึงทีมงานเราได้ไม่ยากนัก “ความสุขของการสะสมจริงๆ คือการได้เห็นรถเก่าพวกนี้กลับมาวิ่งได้อีกครั้งหนึ่ง ผมให้ทีมงานของผมซ่อมจนทุกคันกลับมาใช้การได้จริงนะครับ และผมโชคดีมากๆ ที่มีโอกาสได้นำของสะสมเหล่านี้ไปรับใช้ในงานสำคัญๆ ของประเทศ การได้เห็นไมโครคาร์คันจิ๋วๆ วิ่งเรียงรายกันบนถนนราชดำเนิน ถนนเยาวราชนั้น เป็นภาพที่สวยงามและแปลกตาจริงๆ ครับ ถือเป็นขบวนพาเหรดบนถนนสายสำคัญของประเทศจริงๆ” สีหน้าของเขาแสดงความสุขอย่างปิดไม่มิด
“ตอนนี้ผมซื้อที่ริมแม่น้ำไว้ขยายพิพิธภัณฑ์แล้วนะครับ” เขาเล่าต่อ “ตอนแรกๆ น่ะผมก็สะสมรถเหล่านี้ไว้ดูคนเดียว แต่มันก็เพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นหลายร้อยคัน เวลาเพื่อนฝูงได้มาชมทุกคนก็ชอบ พอผมได้ตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำเก่าของโซเวียตก็จัดแถลงข่าว เริ่มมีคนภายนอกรู้จัก ผมจึงตัดสินใจเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเมื่อพ.ศ. 2549 เพราะทุกอย่างก็พร้อมอยู่แล้ว ตอนนี้ผมเปิดให้เข้าชมฟรีครับ แต่ถ้าส่วนที่สร้างใหม่เสร็จเมื่อไรผมค่อยเก็บค่าเข้าครับ อยากจะให้พิพิธภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล และให้บริการครบวงจร มีการจัดแสดงยานพาหนะทุกประเภท แบ่งเป็นโซนชัดเจน และผมก็จะมีเรือรบหลวงมาอยู่ในคอลเลกชั่นด้วยนะครับ”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.jesadatechnikmuseum.com