Fashion Manual: The Absolute Guide to Men’s Fashion Week

Share This Post

- Advertisement -

 

ประวัติ ข้อมูลและความเปลี่ยนแปลงให้คุณทำความเข้าใจแฟชั่นวีคผู้ชาย ก่อนที่จะตามติดลอฟฟิเซียลออมส์ไปร่วมเปิดฤดูกาลแฟชั่นผู้ชาย Fall/Winter ประจำปี 2018 ที่จะจัดขึ้นเร็วนี้ ๆ

 

The 1st Fashion Show

แถวหน้าของแฟชั่นโชว์ Dior ในปี ค.ศ. 1965 (Photo by Philip Townsend)

แนวคิดการจัดแฟชั่นโชว์เริ่มต้นขึ้น ณ กรุงปารีสในช่วงปี ค.ศ. 1700 สมัยนั้นห้องเสื้อจะจ้างนางแบบมาสวมใส่เสื้อผ้าของตน และเดินเป็นขบวนในห้องเสื้อหรือสถานที่ที่จัดไว้ ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสยังคงเรียกแฟชั่นโชว์ว่า “défilés de mode” หรือแปลเป็นไทยว่า “ขบวนแฟชั่น”

 

Fashion Season

ซ้าย: เสื้อผ้าจากฤดูกาล Fall/Winter ขวา: เสื้อผ้าจากฤดูกาล Spring/Summer

หากสรุปสั้น ๆ จะกล่าวได้ว่า ในหนึ่งปีแบรนด์จะจัดแสดงเสื้อผ้า 2 ครั้ง สำหรับ 2 ฤดูกาล แบ่งออกเป็น Fall/Winter (ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว) และ Spring/Summer (ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน) เสื้อผ้าในแต่ละฤดูกาลจะตัดเย็บด้วยวัสดุที่เหมาะกับสภาพอากาศ เช่น ในช่วง Fall/Winter เป็นผ้าขนสัตว์กันความหนาวเย็นได้ดี ส่วนในช่วง Spring/Summer เป็นผ้าลินินที่ระบายอากาศได้เหมาะสม เป็นต้น โดยเสื้อผ้าแต่ละฤดูกาลจะเดินล่วงหน้าประมาณ 6-8 เดือนก่อนฤดูกาลจริง เพื่อให้เวลาในการผลิตและจัดซื้อ เช่น คอลเลกชั่น Fall/Winter จะเดินแฟชั่นช่วงมกราคม และวางจำหน่ายจริงในเดือนกันยายน

 

Fashion Week

โมเดลบอร์ดหลังเวทีแฟชั่นโชว์ ณ กรุงปารีส

เดิมที่ห้องเสื้อต่าง ๆ จะจัดแสดงเสื้อผ้าของตนตามซีซั่นในวันที่สะดวก แต่เมื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตขึ้น จึงเริ่มมีการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานเพื่อจัดระบบแฟชั่นโชว์เหล่านี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้บายเยอร์และลูกค้า และวิธีที่ง่ายที่สุดคือการรวบรวมโชว์ไว้ในสัปดาห์เดียวกัน นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Fashion Week

 

Meet the Big 4

แนวคิดการจัดแฟชั่นวีคกระจายไปทั่วโลก แต่มีเพียงแฟชั่นโชว์ใน 4 เมืองจาก 4 ประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่คนจับตามอง

1943 – New York

สภานักออกแบบเสื้อผ้าแห่งอเมริกา (CFDA) จัดแฟชั่นวีคขึ้นครั้งแรกในมหานครนิวยอร์กเมื่อปี ค.ศ. 1943 ยุคแรกใช้ชื่อว่า Press Week หรือสัปดาห์สื่อมวลชน เพราะจุดประสงค์ของโชว์หลักคือเพื่อแสดงศักยภาพของนักออกแบบชาวอเมริกันให้บรรดานักข่าวสายแฟชั่นเห็น ถือเป็นการชิงตลาดเสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่ตกต่ำลงเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับนิวยอร์ก แฟชั่นวีคเพื่อเสื้อผ้าผู้ชายจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2015 โดยใช้ชื่อว่า “New York Fashion Week: Men’s” ส่วนปีนี้จะจัดขึ้นวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ ที่กำลังมาถึง

1958 – Milan

แฟชั่นวีคจัดขึ้น ณ เมืองมิลานในปี ค.ศ. 1958 โดยหอการค้าแห่งชาติเพื่อแฟชั่นอิตาเลียน (Camera Moda) โดยใช้ชื่อว่า Settimana della Moda สำหรับแฟชั่นวีคผู้ชายนั้นใช้ชื่อ Milano Moda Uomo ปีนี้งานจัดขึ้นในวันที่ 12-15 มกราคม 2561

1973 – Paris

แม้ฝรั่งเศสจะมีการแสดงแฟชั่นโชว์มาหลายร้อยปี แต่รูปแบบที่รวบรวมหลากแบรนด์ไว้ในสัปดาห์เดียวกันเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1973 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ใต้การนำของสหพันธ์แฟชั่นฝรั่งเศส ที่รวบรวมเอาทั้งแฟชั่นโชว์ของโอต์ กูตูร์ (แฟชั่นชั้นสูง) เสื้อผ้าผู้หญิงและเสื้อผ้าผู้ชายไว้ในสัปดาห์ต่อเนื่องกัน แฟชั่นวีคผู้ชายปีนี้จัดขึ้นวันที่ 17-21 มกราคม 2561

1983 – London

สภาแฟชั่นแห่งสหราชอาณาจักร (BFC) จัดแฟชั่นวีคครั้งแรกในปี ค.ศ. 1983 โดยสภาเปิดสถานที่แสดงโชว์ให้แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ต่อมาในปี 2012 จึงจัด London Collections: Men เพื่อแฟชั่นผู้ชายขึ้นเป็นครั้งแรก โดยที่ในปีนี้จะจัดขึ้นวันที่ 6-8 มกราคม 2561

 

The Future of Fashion Week

ซ้าย: Christopher Bailey ขวา: Tom Ford ทั้งคู่ทดลองใช้โมเดล See Now, Buy Now ในคอลเลกชั่นของตน

แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคย่อมส่งผลต่อแนวทางการจัดแฟชั่นวีคแบบดั้งเดิม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองปัจจัย ดังนี้

1. ตลาดเอเชียที่กลายเป็นกำลังซื้อสำคัญมีฤดูกาลแตกต่างจากฝั่งตะวันตก การจัดแฟชั่นวีคตามฤดูกาล Fall/Winter และ Spring/Summer จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หลายแบรนด์เริ่มหันมาจัดแฟชั่นวีคตามวันเวลาที่เป็นอิสระมากขึ้น

2. การเดินแฟชั่นโชว์ล่วงหน้า 6-8 เดือนอาจใช้เวลามากไป ไม่ทันความต้องการของลูกค้า และช้าไปสำหรับโลกออนไลน์ หลายแบรนด์จึงหันมาใช้แนวคิด See Now, Buy Now คือหลังจากโชว์จบก็สามารถซื้อสินค้าได้เลย เช่น แบรนด์ดังอย่าง Burberry  และ Tom Ford เป็นต้น

ด้วยปัจจัยที่ยกตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปกำลังเปลี่ยนแนวทาง (หรือลดทอนความสำคัญ) ของแฟชั่นวีคทั่วโลก ซึ่งต่อจากนี้เราต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าในปี 2018 แฟชั่นวีคจะเบนเข็มไปอย่างไร หรือยังคงเป็นแฟชั่นวีคที่เรารู้จักเหมือนเช่นเคย

- Advertisement -