Feast Your Eyes: The Rise of Food As A Visual Culture
คุณคงเข้าใจอารมณ์นี้
คุณกำลังเตรียมตัวเข้านอน กะว่าจะเอานิ้วไถลฟีดเฟซบุคอัพเดทข้อมูลข่าวสารแวดวงโซเชียลอีกสักเล็กน้อยแล้วจะหลับตาเข้าสู่นิทรารมย์ แต่มันก็บังเกิดขึ้น เมื่อคุณไถลไปสองสามช่วงนิ้ว ก็ปรากฏวิดีโอพาสต้าไวท์ซอส เส้นเฟตตูชินีที่แข็งและอ่อนพอดิบพอดี ประกอบกับครีมขาวข้น หนืด ชีสส่วนตกแต่งถูกโปรยลงไปอย่างไม่ตระหนี่ถี่เหนียว สมุนไพรประดับกลิ่นพร่างพรูบนจานเหมือนกับการหว่านเมล็ดพืช อีกจานที่เข้าสู่จอเป็นเนื้อฉ่ำๆที่ถูกกริลล์จนเดือดปุดเป็นฟองอากาศบนผิว น้ำเนื้อไหลเยิ้มต้านทานไม่ไหวจนหยดแหมะๆลงบนเตา รอยไหม้บางๆบนผิวกลับยิ่งดึงดูดสายตา ตาคุณกระพริบถี่ – ซวยแล้ว – คุณคิด – ต่อมน้ำลายคุณหลั่งอย่างช่วยไม่ได้ และเสียงร้องของท้องก็ดังขึ้น และแล้ว – และแล้วคุณก็จบที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
อาหารเป็นสิ่งที่สามารถถูก ‘แปลความ’ ผ่านสื่อต่างๆได้อย่างดิบดีเหลือเชื่อ คุณก็รู้ว่ามนุษย์เราเสพอาหารผ่านทางการรับรสและการดมกลิ่นเป็นหลัก แต่คุณก็อาจอดประหลาดใจไม่ได้ ที่สื่อ ‘ทัศนะ’ อย่างวิดีโอและภาพนิ่งกลับเสนอภาพอาหารได้อย่างมีเสน่ห์เหลือเชื่อ – และควบคุมคุณได้อยู่หมัด – เมื่อคุณเห็นภาพอาหาร เห็นความเคลื่อนไหว หยาดเยิ้ม เผาไหม้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของไฟที่ส่งผลต่อวัตถุดิบ เนื้อที่ค่อยๆหดตัว ซอสก็ค่อยๆมีสีเข้มและเคี่ยวงวดขึ้น – คุณก็ไม่อาจห้ามแรงต้านทานของร่างกายได้ นี่เองที่ทำให้วิดีทัศน์ของอาหาร มักถูกเรียกว่าเป็น ‘Food Porn’
คำว่า Food Porn นั้นถูกใช้มาตั้งแต่ปีค.ศ. 1984 โดยนักวิจารณ์ชื่อ Rosaline Coward (โรซาลีน โควาร์ด) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Female Desire อย่างเต็มไปด้วยแรงปรารถนาว่า “การปรุงอาหารและจัดวางอย่างสวยสดนั้นเป็นงานแห่งการบริการถวายใจอย่างแท้จริง เป็นวิธีบ่งบอกถึงความรักใคร่ผ่านทางการ ‘ให้’ การที่เราปรารถนาจะสร้างชิ้นงานอาหารอันแสนสมบูรณ์และงดงามนั้นเป็นสัญลักษณ์ว่าเราพร้อมพรักและเต็มใจเป็นส่วนหน่ึ่งของการรองรับผู้อื่น Food Porn คงคุณลักษณะเหล่านี้ไว้ผ่านภาพการเตรียมมื้ออาหารผ่านการจัดแสงอันสวยงาม และการประดับประดาที่เวอร์วัง”
เมื่อภาพและวิดีโออาหารทำปฏิกิริยากับร่างกายเราได้ขนาดนี้ – จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่มันจะกลายมาเป็นหมุดหมายทางวัฒนธรรม วันที่อาหารถูกยอมรับว่าเป็นงานศิลป์ที่ครบองค์ประกอบผัสสะ ทำให้เรารู้สึกทั้งตา จมูก หูและปาก – เมื่อวัตถุดิบคือแปรง และสีแดงคือมะเขือเทศ – ภาพของ ‘ผู้ประกอบอาหาร’
ก็ถูกยกระดับขึ้นเป็นศิลปิน
จิตรกรเอกในห้องครัว
Chef’s Table เป็นสารคดีบน Netflix กำกับโดยคนที่คุณก็อาจได้ยลผลงานมาแล้ว อย่าง David Gelb (เดวิด เกลบ์) ผู้กำกับสารคดีอาหารก้องโลก Jiro Dreams of Sushi ที่มีส่วนผลักให้วงการ ‘อาหารทุ่มเท’ ก้าวขึ้นมาอยู่บนฉากหน้าแห่งความสนใจของผู้คนอีกครั้ง
หากคุณเคยชม Jiro Dreams of Sushi คุณคงเข้าใจลมหายใจเข้าออกที่เปี่ยมไปด้วยการเชิดชู-บูชาเหล่าผู้รังสรรค์อาหารบนโต๊ะของเขา ในภาพยนตร์เรื่องนั้น จิโร่ไม่ได้เป็นเพียงเชฟซูชิธรรมดาๆอีกแล้ว แต่เขาถูกฉายภาพเป็นดังซามูไรที่ทุ่มเททั้งชีวิต และใช้เวลาทุกวัน ละเอียดลงไปจนถึงวินาที เพื่อสิ่งที่คุณจะเคี้ยวและกลืนลงคอได้ในไม่กี่คำ อารมณ์นั้นปรากฏเช่นกันใน Chef’s Table
ปัจจุบัน Chef’s Table มีออกมาให้ชมแล้วสามซีซั่น ได้รับความนิยมจนมี ‘สปินออฟ’ เป็นซีรีส์รองที่พุ่งเป้าเฉพาะเจาะจงไปที่วงการอาหารฝรั่งเศสอีกหนึ่งซีซั่น พาเราไปท่องโลกบนจานสีขาวนวล สัมผัสชีวิตเชฟ Massimo Bottura (มัสซิโม บ็อตตูร่า)
แห่งอิตาลี ไปชมครัวของเชฟ Niki Nakayama (นิกิ นากายามะ) แห่งร้าน N/Naka ในลอสแอนเจลิส แวะไปสูดกลิ่นวัฒนธรรมจากจานของเชฟ Alex Atala (อเล็กซ์ อตาลา) แห่งบราซิล ก่อนจะมากรุงเทพฯ แวะร้าน Gaggan ของเชฟ Gaggan Anand (กักกัน อานันด์) และพาเราลัดเลาะสู่แดนหมีขาวด้วยอาหารของ Vladimir Mukhin (วลาดิเมีย มัสคิน) แห่งร้านกระต่ายขาว และกระตุ้นสัมผัสให้เราอยากลิ้มลองอาหารเปรูเวียนผ่านทางจานของ Virgilio Matínez Véliz (เวอร์จิลิโอ มาร์ติเนส เวลีซ) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ดาวดวงใหม่แห่งน่านฟ้าอาหารของเมืองลิม่า”
คุณไม่อาจพลาดความขรึมขลังที่ผู้กำกับตั้งใจมอบให้ Chef’s Table ได้เลย ตั้งแต่ฉากไตเติลที่ฉายภาพห้องครัวเหมือนสนามรบ สายตาของเชฟที่เอาจริงเอาจังกับระดับไฟ จานที่กลายเป็นผืนผ้าใบ ปลาที่ถูกขอดเกล็ดอย่างชำนาญ ซอสน้ำตาลเข้มที่ถูกทาลงไปอย่างไม่ละล้าละลัง
เมื่อทั้งหมดถูกฉายประกอบกับวรรค Winter ของ The Four Seasons (Concerto No.4 in F Minor Op.8) ของวิวาลดี ก็ยิ่งประกอบกันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใช่ – นี่คืองานศิลปะ – หรืออย่างน้อย เราก็รู้ว่าเดวิดและเหล่าเชฟมองเช่นนั้น ผ่านไตเติล ผ่านการตัดต่อ และผ่านสิ่งที่เขาเลือกมาแสดงบนจอ คุณจะได้เห็นความพยายามของเหล่าเชฟ ประสบการณ์และสมรภูมิภายในของพวกเขา ความละเมียดละไมและ
ไม่อ่อนข้อ เอาจริงเอาจังจนบางครั้งสตาฟรอบตัวก็ได้แต่ส่ายหัวด้วยคิดว่า ‘นี่หัวแข็งเกินไปแล้ว’ แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ถึงเชฟหลักจะหัวแข็งอย่างนั้น สตาฟก็ยังพร้อมจะเดินตามเส้นทางของพวกเขา ด้วยหวังว่าหยาดเหงื่อและไมเกรนที่ทุ่มเทให้ จะได้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของมาสเตอร์พีซประจำค่ำคืนนี้
นี่ไม่ใช่ศิลปะที่ปราศจากคำถามเสียทีเดียว เมื่อ Chef’s Table ออกฉาย Jay Rayner (เจย์ เรย์เนอร์) นักวิจารณ์แห่ง The Guardian ตั้งข้อสังเกตในมุมตรงข้ามผ่านบทความชื่อ ‘Chef’s Table is Another Slice of Cool Culinary Myth Making’ (Chef’s Table ก็เป็นเพียง การสร้างความเชื่อว่าซีนอาหารนั้นเจ๋งเสียเต็มประดาอีกหนึ่งชิ้นเท่านั้นเอง)
เขาบอกว่า ปรากฏการณ์การยกระดับเชฟขึ้นเป็นศิลปินรอบล่าสุดนั้นอาจสืบเนื่องได้จากหนังสือ Kitchen Confidential ของ Anthony Bourdain (แอนโธนี บูร์แดง) เขาบอกว่า “มันไม่ได้เป็นแบบนี้มาก่อน แต่ก่อน เชฟเหมือนกับทหาร ที่ทั้งถูกนิยาม และได้รับความเคารพ ผ่านทางหน้าที่ของพวกเขา พวกเขามีเครื่องแบบและมีสนามรบเป็นของตนเอง – ซึ่งนั่นก็คือห้องครัว – และพวกเราก็ไม่ได้สนใจว่าชีวิตส่วนตัวของพวกเขาเมื่อถอดผ้ากันเปื้อนจะเป็นอย่างไรมาก่อน จนกระทั่งแอนโธนี บูร์แดงเขียน Kitchen Confidential นั่นแหละ”
หลังจากแอนโธนีเผยให้เห็นชีวิตรอบห้องครัวของเหล่าเชฟแล้ว ค.ศ. 2006 โลกก็ต้อนรับการมาถึงของรายการเรียลลิตี้ทำอาหารอย่าง Top Chef ซึ่งไม่ได้นำเสนอเพียงความสามารถในการทำอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญคือการนำเสนอ ‘วิธีการจัดการกับ
ความกดดัน’ ส่วนบุคคลมากกว่า สิ่งเหล่านี้เองที่ยกระดับให้เชฟเป็นมากกว่าอาชีพ ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมกำลังยกให้เชฟเป็น ‘ซูเปอร์ฮีโร่’
ทำไมเราจึงสนใจตัวตนของเชฟพอๆกับ (หรือกระทั่งมากกว่า) อาหารบนจานที่พวกเขาทำกันล่ะ เจย์ข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมว่า ในโลกที่วัฒนธรรมเมืองเข้ามาครอบงำทุกภาคส่วนแบบนี้ อาชีพทำอาหารเป็นอาชีพ ‘Artisan’ (อันหมายถึงอาชีพที่มีลักษณะความเป็นศิลปิน ทำงานด้วยมือ ทำงาน ‘คราฟต์’) เพียงไม่กี่อาชีพที่หลงเหลืออยู่ เป็นไปได้ไหมว่า การที่พวกเขาหยิบเอาวัตถุดิบมา ‘แปลงรูป’ ต่อหน้าเรานั้นเป็นสิ่งที่แทบไม่มีใครทำกันอีกแล้ว
เมื่อเชฟแสดงความสามารถราวกับนักมายากล พวกเขาจึงเป็นผู้วิเศษ เราไม่ได้รักใคร่เพียงสิ่งที่อยู่ในจาน แต่เราก็หลงใหลผู้ประกอบ หยิบจับ และรังสรรค์จานนั้นขึ้นมาด้วย ถึงอย่างนั้น เมื่อ Chef’s Table วางตัวเองอยู่บนระนาบนี้อย่างหนาหนักเกินไป เช่นเมื่อครั้งที่เชฟ Dan Barber (แดน บาร์เบอร์) แห่งภัตตาคาร Blue Hills สะอึกสะอื้นเพราะภารกิจตามหาวัตถุดิบหลักของมื้อ ทำให้เขาไม่ได้ไปเจอลูกสาวในวันอาทิตย์ก่อน เจย์ก็อยากกลอกตา และร้องออกมาด้วยความหมั่นไส้เหลือประมาณว่า “ให้ตายเหอะ นายไม่ใช่นักผจญเพลิงหรือหมอฉุกเฉินนะโว้ย นายเป็นคนทำอาหารให้กับคนรวยๆเท่านั้นเอง ไปหาลูกสาวนายเถอะ!”
ดูเหมือนว่า เมื่อศิลปะถูกขนานนามว่า ‘ศิลปะ’ บ่อยๆ หลายคนก็พร้อมจะเบือนหน้า (และบึนปาก) หนีไปเสียจากจาน ด้วยความรู้สึกว่ามนตร์สะกดถูกคลายไปนานแล้ว
Too Fast To Be Food
เพียงหนึ่งนาทีเท่านั้น (สั้นกว่า Chef’s Table หลายช่วงตัว) วิดีโอของ Tasty ก็ฉายให้คุณเห็นตั้งแต่สิ่งเหล่านั้นยังเป็นวัตถุดิบ พริกหยวก เบซิล โยเกิร์ต ผงกระเทียมและหอมใหญ่ มือไม้เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วยการเร่งสปีด หยิบสิ่งนั้นผสมกับสิ่งนี้ คนให้ทั่ว ฉับพลันทันใด พวกมันก็กลายเป็นซอสโยเกิร์ตที่พร้อมให้คุณเอาไปจิ้มผักรับประทานได้อย่างเอร็ดอร่อย งานพวกนี้อาจไม่ละเอียดอ่อน งดงามหรือละมุนละไมเหมือนวิดีโอ
ของเดวิดนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่ก็เป็นเวทมนตร์อีกแบบเหมือนกัน
Tasty สื่อลูกของ Buzzfeed แนะนำตัวว่าเป็น “วิดีโอสูตรอาหารขนาดเคี้ยวง่ายที่คุณอยากลอง” (Snack-sized Videos and Recipes You’ll Want to Try) ฟอร์แมตวิดีโอเช่นนี้ยึดครองหัวหาดฟีดของผู้ใช้เฟซบุคทั่วโลกอย่างไม่น่าแปลกใจนัก แน่ล่ะ ใครๆก็อยากเห็นพาสต้าสลัดไก่ซีซาร์ที่ถูกประกอบขึ้นมาอย่างรวดเร็ว วิดีโอของ Tasty เหมือนลูกน้อยแสนอัจฉริยะของภาพถ่ายอาหารในอินสตาแกรมที่ลักลอบได้เสียกับภาพแบบ Before-After ของการลดความอ้วนหรือการแต่งหน้า ที่แปลงโฉมคนในภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือ กระตุ้นความพอใจง่ายๆในบางส่วนของสมองราวกับตอนที่คุณทำอาหารเองจนเสร็จสิ้นแล้วจัดลงจาน แต่ต่างออกไปตรงที่ว่า วิดีโออาหารของ Tasty นั้นช่างดูง่ายดาย สวยงาม เรียบร้อย รวดเร็ว และที่สำคัญ ไม่เลอะเทอะ! คุณสัมผัสความสุขง่ายๆ ของการทำอาหารได้โดยไม่ต้องล้างภาชนะ อะไรจะดีไปกว่านี้ได้อีกล่ะ!
Andrew Gauthier (แอนดริว กอติเยร์) เอ็กซ์เซ็กคิวทีฟโปรดิวเซอร์แห่ง Buzzfeed Motion Pictures บอกว่า “งานของพวกเราบนแพลตฟอร์มโซเชียลนั้นเป็นการเชื่อมโยงคนกับเพื่อนหรือคนกับครอบครัว เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่เราชอบกับคนที่เรารัก และอาหารก็เชื่อมโยงกับทุกอย่างที่ว่ามา ไม่ว่าจะเป็นอาหารค่ำกับครอบครัว กับคู่เดท หรือบรันช์กับเพื่อนสนิท อาหารเป็นสิ่งที่คนแบ่งปัน (และ ‘แชร์’) กันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนจะชอบแชร์วิดีโออาหาร”
นี่เป็นเกมของตัวเลข ตลาดดิจิตอลวิดีโอนั้นมีมูลค่าสูงถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 2017 เติบโตขึ้นจาก 10,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว ด้วยเวลาเพียง 15 เดือน Tasty ก็ทำวิดีโออาหารง่ายๆฉับไวนี้ไปมากกว่า 2,000 ชิ้น เติบโตขึ้นจากแขนงย่อยๆของ Buzzfeed กลายเป็นยักษ์ใหญ่ไร้คนโค่นได้ในเวลาไม่นาน
ปัจจุบันด้วยอายุเพียงสองปี Tasty กวาดแฟนๆชาวเน็ต ไปได้มากกว่า 86 ล้านคนด้วยยอดวิวมากกว่าหมื่นล้านครั้ง (เฉพาะบนเฟซบุค!) เป็นการ ‘เล่น’ กับชาวเน็ตได้เก่งกาจเหลือเชื่อ ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติของเฟซบุค วิดีโอที่เล่นเองโดยอัตโนมัติ เสียงที่ถูกลดความสำคัญ (เพราะคนส่วนใหญ่จะไม่เปิดเสียงฟัง) ทำให้ความเอาจริงเอาจังด้านภาพเพิ่มขึ้นอีก ฟอร์แมตที่สั้นกระชับจับความสนใจคนได้ในทุกเฟรม และขนาดบวกกับการจัดวางจานและวัตถุดิบ (ที่เอาเข้าจริงแล้ว ตอนประกอบอาหารจริงๆคงไม่มีใครวางได้สวยขนาดนี้ในทุกขั้นตอน) ทำให้นี่เป็น ‘รายการปรุงอาหาร’ ที่เหมาะกับโลกใหม่อย่างยิ่ง
โลกของ Tasty เป็นโลกที่ทุกอย่างฉับไวและไร้ความอิหลักอิเหลื่อ โลกที่ซิงก์น้ำสะอาดสะอ้านไม่มีจานชามตกค้าง โลกที่ไม่มีอะไร ‘ไหม้’ หรือ ‘ไม่สุก’ โลกที่ไม่ต้องมีพิธีกรมาบอกว่า “เอาล่ะค่ะ ต่อไป ก็ตั้งน้ำมันให้ร้อน รอสักสามนาที” แล้วพูดขอบคุณสปอนเซอร์กินเวลาสามนาที ที่รอน้ำมันให้ร้อนนั้น
วันนี้ น้ำมันร้อน รอ’ คุณไว้แล้ว คุณไม่ต้องรอน้ำมัน!
ไม่ว่าจะเป็นเวทมนตร์แบบแช่มช้าแต่หนักแน่นอย่าง Chef’s Table หรือแบบฉับไวไร้รอยต่อของ Tasty ล้วนทำให้เราเห็นความสามารถในการแปลงรูปข้ามสื่อ ข้ามพรมแดนของอาหารได้เป็นอย่างดี ทำให้เราตระหนัก อย่างที่เคยรำลึกก่อนหน้ามาแล้วว่าอาหารไม่เคยถูกลิ้มรสเพียงด้วยลิ้น แต่รูปลักษณ์และการเคลื่อนไหวก็เป็นส่วนประกอบแสนสำคัญ
จากผืนผ้าใบ สู่จานเซรามิก สู่หน้าจอ อาหารยังคงอำนาจทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เราทั้งหิวโหยและอิ่มเอิบในทุกสัมผัส และจะเป็นเช่นนี้และเช่นนี้ไปอีกนาน ไม่ว่าสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์ของเราจะเล็กลง หรือใหญ่ขึ้นกี่นิ้ว อาหารจะยังอยู่ตรงนั้นเสมอ