Up with A Great Start
ทำความรู้จักกับเหล่านักธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งรุ่นเก๋า และรุ่นใหม่ในวงการสตาร์ทอัพ
ในประเทศไทยต้อนรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความมีสไตล์แบบลอปติมัม
what is startup
Startup’ คือการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ที่มีโมเดลการสร้างรายได้แบบก้าวกระโดดในลักษณะการหาเงินแบบที่ทำซ้ำได้ง่าย และขยายได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นธุรกิจสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จึงเกิดจากความคิดเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่างในชีวิตประจำวัน และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเป็นสำคัญ
Startup VS SME
ข้อแตกต่างคือสตาร์ทอัพสามารถขยายฐานรายได้ขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนทางกายภาพมากเท่ากับการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี ถ้าคุณทำแอพพลิเคชั่นช่วยหาที่จอดรถที่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นจากหลักร้อยคนเป็นหลักล้านคนภายในสามเดือน คุณยังสามารถจ้างพนักงานเท่าเดิมได้ ในขณะที่คุณจำเป็นต้องจ้าง
คนเพิ่ม หากธุรกิจขายน้ำเต้าหู้ของคุณรุ่งเรือง
Funding Source
ข้อได้เปรียบอีกประการของธุรกิจสตาร์ทอัพคือ คุณไม่จำเป็นต้องหาสินเชื่อหรือลงทุนเองเหมือนกับการทำธุรกิจเอสเอ็มอี แต่สามารถเสนอไอเดียต่างๆผ่านกองทุนสตาร์ทอัพ หรือนักลงทุนให้มาร่วมลงทุนได้ มีแพลตฟอร์มทำนองนี้สำหรับสตาร์ทอัพเกิดขึ้นอยู่ทั่วโลก
มณฑล จิรา (39 ปี)
asiola.co.th
เกิดไอเดียนี้ขึ้นมาได้อย่างไร
พาร์ตเนอร์ชาวสวีเดนเคยทำงานกับแพลตฟอร์ม Pledgemusic ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้นักดนตรีได้ทำงานร่วมกับแฟนๆโดยการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งและกำลังมาแรง มีแคมเปญที่ประสบความสำเร็จเยอะมาก เลยอยากจะเอาเข้ามาในภูมิภาคนี้ แต่เขายัง
ไม่พร้อม ผมเลยบอกว่า งั้นลุยกันเลย ก็เลยเริ่มเป็น Asiola นี่ล่ะครับ
กลไกของ Asiola เป็นอย่างไร
ถ้าเน้นเฉพาะดนตรีอาจจะยาก เพราะศิลปินไม่ได้เยอะขนาดนั้น ดังนั้น เราจึงให้คอนเซ็ปต์โปรเจ็กต์ต่างๆครอบคลุม ทั้งดนตรี ศิลปะ อาหาร และแฟชั่น
ซึ่งเรามองว่าในส่วนของงานศิลปะต่างๆน่าจะมีฐานแฟนๆของศิลปินมาสนับสนุน นั่นคือไอเดียตอนแรกนะครับ แต่พอเรามาลงมือทำจริง
ก็มีจุดให้เรียนรู้หลายจุดเลยครับ
แคมเปญที่ประสบความสำเร็จ
เราเคยคิดว่าจะเป็นแคมเปญของคนที่มีฐานแฟนเยอะมาก แต่จริงๆแล้ว แคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วกลับเป็นแคมเปญของกลุ่มคนที่มีความหลงใหลในเรื่องเดียวกันที่พวกเขารู้จักกันอยู่แล้ว ระดมทุนในระยะเวลาสั้นๆก็ประสบความสำเร็จแล้ว ผลตอบแทนไว หรือไม่ก็เป็นแคมเปญเพื่อสังคมที่คนอยากจะสนับสนุนอยู่แล้ว ทำนองนี้ครับ
ทิศทางและแนวโน้มในอนาคต
เรากำลังจะออกสตาร์ทอัพอีกตัวที่ช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ต้องการทุนจากคราวด์ฟันดิ้ง เงื่อนไขคือต้องเป็นบริษัทที่มีกิจกรรมอยู่แล้ว
และเราก็กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่น Personal Crowdfunding เช่นกลุ่มเรานัดกันจะมีงานเลี้ยงวันเสาร์ จะต้องแบ่งจ่ายกันคนละเท่าไหร่ ทุกคนก็เข้ามาในแอพนี้ จ่ายมาล่วงหน้าเพื่อให้กิจกรรมไปได้ครับ
ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ (38 ปี)
500.co/500tuktuks-fund/
กลไกของธุรกิจสตาร์ทอัพ
สตาร์ทอัพต่างจากธุรกิจทั่วไปตรงที่สามารถทำซ้ำได้ในสเกลเร็วๆ โตเร็วๆ เรามีการลงทุน แต่ไม่ได้ต้องลงทุนเป็นเส้นตรงหรืออัตราเดียวกับคนใช้ แม้ว่าจะมีคนเข้ามาใช้แอพเราเป็นล้านคน บริษัทเราก็ยังมีพนักงานเท่าเดิม แต่ถ้าเป็นธุรกิจแบบเดิมๆ การลงทุนจะต้องเพิ่มตามไปด้วย ยกตัวอย่างธุรกิจร้านอาหาร ถ้าคนมาทานเยอะขึ้นก็ต้องขยายสาขา เพิ่มพนักงาน
500 Tuk Tuks คืออะไร
เป็นกองทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital Fund) คือเงินลงทุนให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ โดย 500 Tuk Tuks จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ
ที่ดูน่าสนใจโดยถือหุ้นเล็กๆ ไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างการลงทุนของกองทุนเราที่โดดเด่นก็ได้แก่แบรนด์เสื้อผ้า Pomelo และ Grab Taxi ตอนนี้เปิดมาได้สองปีครับ กองทุนประมาณ 550 ล้านบาท ลงทุนไปสัก 40 บริษัทได้
ฝากอะไรถึงผู้อยากทำสตาร์ทอัพ
ด้วยเงื่อนไขโลกปัจจุบัน เราสามารถจำกัดความล้มเหลวของตัวเองให้อยู่ในระดับเล็กได้ การลงมือทำถือเป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างเวลาเราอยากขายอะไรนี่ไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว คุณก็แค่ถ่ายรูปของชิ้นนั้น บรรยายราคา สรรพคุณ โพสต์ลงไอจีหรือเฟซบุค ซื้อบูสต์โพสต์ไปในราคาห้าร้อยบาท ที่สามารถกำหนดเพศ อายุ และความสนใจของคนที่จะเห็นโพสต์ได้ทันที คุณไม่ต้องเสียเวลาทำวิจัยตลาด ไม่ต้องอะไรมาก คุณก็พอมองทิศทางออกแล้วว่าคุณจะขายของได้ไหม ถ้าเกิดของชิ้นนี้ขายไม่ได้ คุณก็จะเสียเงินห้าร้อยบาทบวกค่าของและค่าเสียเวลาของคุณนิดหน่อย คือคุณจะล้มเร็ว และเริ่มต้นใหม่ได้เร็ว
ไม่เดือดร้อนมาก ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินอะไรมากมาย ดังนั้น เริ่มต้นลงมือทำเลยครับ ถ้าคุณมีไอเดียอะไรอยู่ในหัว
นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ (34 ปี)
healthathome.in.th
Health at Home คืออะไร
บริการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะบ้านคือที่พักฟื้นที่ดีที่สุด มีงานวิจัยต่างๆมากมายที่ยืนยันว่าผู้ป่วยที่อยู่บ้านจะมีความพึงพอใจมากกว่า เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และมีค่าใช้จ่ายที่แท้จริงถูกกว่า นอกจากนั้น เรื่องเทรนด์ของการดูแลผู้ป่วยในโลกปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตอันใกล้นี้ วงการสุขภาพจะใช้บ้านของคนไข้เป็นฐานในการดูแลเป็นหลักครับ
เริ่มต้นไอเดียนี้ได้อย่างไร
ผมไปเรียนที่นิวยอร์กครับ เห็นว่ามีโฮมแคร์เกิดขึ้นแล้วเพราะใครๆก็อยากอยู่บ้านกันทั้งนั้น พอกลับมาเมืองไทย ผมก็อยากให้เซอร์วิสนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยมีปัญหาหลักๆอยู่สามประการ ประการแรกคือ ยังไม่มีมาตรฐานผู้ดูแลในประเทศไทยอย่างชัดเจน ประการที่สองคือการเฝ้าระวังอาการคนไข้ที่บ้าน ส่วนประการสุดท้ายได้แก่เรื่องของประกัน
การดำเนินการในปัจจุบัน
เราทำมาตรฐานสำหรับผู้ดูแล โดยให้พวกเขามาสอบปฏิบัติ มีอาจารย์พยาบาลมาตรวจสอบการดูแล ปัจจุบันเรามีผู้ดูแลที่ผ่านมาตรฐานอยู่ทั้งหมด 315 คน ต่อมาเราก็มีแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ผู้ดูแลจดบันทึกอาการของคนไข้อย่างละเอียด ในส่วนของประกัน กำลังอยู่ในการดำเนินการเจรจาครับ
แนวโน้มการดำเนินงานในอนาคต
ปัจจุบันนี้เราได้ขยายบริการอื่นๆ เช่น กายภาพบำบัด ทำแผล ตรวจเลือด ให้ยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งยังเน้นการให้บริการในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลก่อนครับ ในอนาคตอาจจะขยายไปให้บริการที่ต่างจังหวัดให้เร็วที่สุด หลังจากการให้บริการในกรุงเทพฯ นิ่งแล้วครับ จุดหมายของเราคือเราอยากเป็น One Stop Service สำหรับการให้บริการดูแลสุขภาพที่บ้าน
จิรายุ พิริยะเมธา (30 ปี)
udrinkidrive.co.th
ไอเดียนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อเกือบสี่ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีสถิติคนตายเพราะเมาแล้วขับมากเป็นอันดับสามของโลก เพื่อนผมเลยคิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา ทำส่งอาจารย์จบปริญญาโทเสร็จเรียบร้อย ก็อยากจะเอามาทำจริงๆ เขาเลยมาเสนอผมที่ช่วยธุรกิจรถลีมูซีนที่บ้านอยู่ในตอนนั้น ผมรู้สึกว่านี่ใช่เลย เพราะส่วนตัวอย่างทำธุรกิจอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้อยู่แล้ว เลยเข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่แรกเลยครับ
ความยากลำบากตอนเริ่มต้น
การคัดคนขับเป็นเรื่องที่เราใส่ใจมาก เราต้องการันตีความปลอดภัยให้กับลูกค้า มีการทดสอบหลายด่าน ทั้งทดสอบเส้นทาง การสัมภาษณ์ เพราะเราต้องการคนขับที่จิตใจและมารยาทดีด้วย หลังจากนั้นก็จะมี
การเทรนนิ่งอย่างเข้มข้นครับ
ผลตอบรับเป็นอย่างไร
ในเดือนแรกมีคนใช้บริการอยู่สิบเที่ยว ซึ่งฟังดูน้อยมากสำหรับอัตราการให้บริการอยู่ที่ห้าพันกว่าเที่ยวต่อเดือนในตอนนี้ แต่สำหรับผมแล้ว สิบเที่ยวนั้นน่าภูมิใจมาก เพราะเราไม่ได้มีงบโฆษณา เปิดให้บริการไป พอคนใช้สิบเที่ยวแรก เขากลับมาใช้อีก และบอกต่อเพื่อนๆของเขา จนเราประสบความสำเร็จขนาดนี้ในวันนี้ครับ
คิดจะขยายไปในทิศทางไหน
เมื่อก่อนเราเปิดให้บริการช่วงสามทุ่มถึงตีห้า แต่ขยายไปเป็นยี่สิบสี่ชั่วโมงแล้ว เพราะลูกค้าอยากใช้บริการตอนไม่เมาบ้าง อยากมีธุระให้จัดการให้
เอารถไปส่งที่ศูนย์ รับรถให้หน่อย หรือเขาขับรถไปสนามบิน ให้เราไปรอ และขับรถกลับไปเก็บที่บ้านให้หน่อย อะไรแบบนี้ครับ อ้อ เคยมีเคสลูกค้าทำศัลยกรรมหน้าอก แล้วไม่สามารถขับรถกลับได้ ก็เรียกด้วยครับ ก็ถือเป็นการขยายไลน์ธุรกิจการให้บริการให้ครอบคลุมมากขึ้นครับ
พงศธร ธนบดีภัทร (23 ปี)
refinn.com
อธิบายกลไกของบริษัทหน่อย
เราเป็นเว็บไซต์ให้คนมารีไฟแนนซ์บ้านออนไลน์เพื่อลดภาระหนี้สิน เราพบว่า เรื่องการบริหารจัดการการเงินไกลตัวคนไทยกว่าที่คิด ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก สถิติง่ายๆคือ
คนไทยกว่า 80% เป็นหนี้ แต่มีจำนวนน้อยมากที่รู้จักวิธีบริหารหนี้สิน คือ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้แพงขนาดนี้ก็ได้ และเราได้หนึ่งในผู้ร่วม
ก่อตั้งที่เป็นนักบริหารการเงินมืออาชีพก่อตั้งบริษัทจากไอเดียนั้นครับ
Refinn เข้ามามีบทบาทอย่างไร
คุณมีหนี้สามล้านกู้ธนาคารมา ผ่อนเดือนละสองหมื่นห้าเป็นเวลายี่สิบห้าปี ถ้าคุณตัดสินใจรีไฟแนนซ์ หนี้อาจจะลดลงเหลือเดือนละสองหมื่น Refinn จึงเป็นตัวกลาง คำนวณทุกอย่างรอบด้านให้ดูว่าคุณควรจะรีไฟแนนซ์ไปที่ไหน เราเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้คำนวณไม่ง่าย จึงทำให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดครับ
ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับ Refinn
ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ เหมือนเราเป็นตัวแทนจากหลายๆธนาคาร ถ้าเราส่งคุณไปธนาคารไหน แล้วธนาคารนั้นอนุมัติ เราก็จะได้ค่าตอบแทนจากธนาคารครับ เป็นค่าคอมมิชชั่นที่ธนาคารจ่ายให้เซลส์อยู่แล้ว เหมือนว่าเว็บเราเป็นหนึ่งในเซลส์ของธนาคาร
โอกาสต่อยอดจากธุรกิจปัจจุบัน
ตอนนี้เรารับรีไฟแนนซ์บ้านเป็นหลัก แต่กำลังอยู่ในกระบวนการเจรจากับหลายๆธนาคารเรื่องการเปิดตัว
สินเชื่อใหม่ อาจจะออกมาเป็นแคมเปญลดภาระหนี้บัตรเครดิต ในรูปแบบที่คุณมีบ้านที่อาจจะผ่อนหมดแล้ว หรือยังผ่อนไม่หมดก็ตาม นำบ้านมาให้ธนาคารประเมินเพื่อนำเงินก้อนไปปิดหนี้บัตรเครดิต แล้วผ่อนต่อกับธนาคาร ทำให้ดอกเบี้ยลดลงจาก 28% เหลือไม่เกิน 10% แน่นอนครับ อะไรแบบนี้
ชิตพล มั่งพร้อม (30 ปี)
zanroo.com
บริการของแสนรู้
เราเป็น Insights Discover
มีการให้บริการสามส่วน สองส่วนแรกคือการให้บริการซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์
อย่าง Social Listening และ Social Engagement เป็นเครื่องมือใน
การเก็บข้อมูลในโลกออนไลน์ที่เป็นข้อมูลสาธารณะ ในส่วนสุดท้ายคือ การให้บริการ Consultant Service คือการส่งบทวิเคราะห์ รายงาน และอินไซด์ให้กับลูกค้าที่เป็นองค์กรครับ
เป็นการให้บริการวิเคราะห์ตลาด
บริษัทผมอยู่ในหมวด MarTech (Marketing Technology) ครับ เมื่อมีข้อมูลที่ได้จากซอฟต์แวร์ จะถูกนำมาวิเคราะห์เชิงลึก เป็นบริการให้กับลูกค้าถึงอินไซด์ของแบรนด์ ลูกค้าเป็นรายใหญ่ทั้งนั้นเลยครับ มีทั้ง
คอนซูเมอร์โปรดักส์ โทรคมนาคม ยานยนต์ และการธนาคาร
เริ่มไอเดียนี้มาได้อย่างไร
ไอเดียนี้เริ่มต้นตั้งแต่ค.ศ. 2013 ครับ ทีมผมอยากรู้ว่าคนไทยคุย
อะไรกัน เลยเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาเก็บข้อมูลบนโลกออนไลน์ ตอนแรกก็เก็บมาดูกันเล่นๆครับ แต่พอดูไปก็เห็นประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะเหล่านี้ จึงพัฒนาเป็นไอเดียธุรกิจนี้ ตั้งใจจะสร้าง World Class Software ให้ได้
วางแผนใหญ่มาตั้งแต่แรกเลยไหม
เราคุยใหญ่กันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คุยกันว่ารายได้ต้องเข้ามาหลักพันล้านนะ เพียงแต่ไม่ได้กำหนดปี พอสำเร็จตามที่ตั้งใจได้ค่อนข้างเร็ว ผมว่าการทำธุรกิจนั้นเหนื่อยทุกขั้นตอนเลยครับ ตอนแรกๆก็ทำเองหมดทุกอย่าง เป็นแมสเซนเจอร์เองด้วย พอเริ่มขยายก็ เหนื่อยขยายบริษัท เหนื่อยบริหารคนจำนวนกว่า 150 คนอีก ตั้งใจว่าจะทำงานต่อไปเพราะมีความสุขที่ไม่ได้เกิดจากตัวเองแล้ว แต่เกิดจากคนในบริษัทที่ประสบความสำเร็จไปด้วย และผมเห็นเขาเหล่านั้นมีชีวิตที่ดีขึ้นครับ
อมฤต เจริญพันธ์ (31 ปี)
hubbathailand.com
ธุรกิจสตาร์ทอัพช่วยสตาร์ทอัพ
เริ่มทำ Co-working Space เมื่อห้าปีที่แล้ว ผมคิดว่าทุกคนคงกำลังหาพื้นที่แบบนี้อยู่ แต่ไม่มีใครเริ่มต้นสักที เห็นเพื่อนๆที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือเพิ่งเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพต้องไปนั่งทำงานร้านกาแฟ ไม่สะดวกเลย แต่จะให้เปิดออฟฟิศของตัวเอง ก็ยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจจะไปในทิศทางไหน ดูเหมือนคนกลุ่มนี้จะไม่มีตัวเลือกเลย ดังนั้นผมเลยคิดว่า ถ้าไม่มีใครทำ งั้นผมลองทำดูสักตั้งก็ได้ จึงเกิดขึ้นมานี่ล่ะครับ
สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น
สิ่งที่เราค้นพบคือ โคเวิร์กกิงสเปซ ไม่จำเป็นต้องหรูมากมาย ส่วนใหญ่ ที่ทำให้คนกลับมาจนเป็นกิจวัตร
คือเขาอยู่เพราะคนอื่น อยู่เพื่อเรียนรู้ จากกันและกัน อยู่เพื่อมิตรภาพ อยู่เพราะได้ต่อยอดงานต่างๆจากคนที่มาร่วมแชร์ในเวิร์กกิงสเปซนี้ ได้ทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น ทุกคน มีความสุข ดังนั้น เราจึงค้นพบว่า แก่นของธุรกิจนี้คือกิจกรรม คน และบรรยากาศที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทั้งหมด
จึงดำเนินธุรกิจไปในทิศทางนั้น
HUBBA เป็นโคเวิร์กกิงสเปซที่จัดกิจกรรมบ่อย เรามีกิจกรรมต่างๆราว 20-30 ครั้งต่อเดือน เคยจัดงานตั้งแต่ปาร์ตี้ผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb ที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 200 คน ไปจนถึงงานประชุมระดับ 6,000 คนมาแล้วครับ และยังมีจัดคอร์สสัมมนาประมาณ 5-10 ครั้งต่อเดือนครับ
แผนการขยายในอนาคต
ตอนนี้เรามีสามสาขาที่ใช้ชื่อ HUBBA ถ้ามีพื้นที่น่าสนใจก็ยินดีจะเปิดเพิ่ม แต่คงไม่มีแผนที่จะไปทำธุรกิจประเภทอื่นครับ เพราะผมเชื่อว่าปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จคือการจดจ่ออยู่กับธุรกิจที่ตนเองถนัด ผมเคยเปิดบริษัทเยอะมาแล้ว แต่ในที่สุดก็รู้ว่า ควรจดจ่อทำ
เรื่องเดียวมากกว่าครับ