เรื่องราวของ แม่ไม้มวยไทย อัลกอริทึม หุ่นยนต์ แขนกลและงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

Share This Post

- Advertisement -

One-Two Combo

ถ้างานหล่อผนังคอนกรีตอันเป็นซิกเนเจอร์ของเขาออกมาไม่เป็นที่พอใจ มิสเตอร์อันโดะจะตะบันหน้าคนคุมงานก่อสร้างไม่ยั้ง แม้จะรู้ว่านี่เป็นเรื่องอำ แต่เมื่อเราจะต้องไปสัมภาษณ์สถาปนิกหนุ่มไฟแรง ประวิตร กิตติชาญธีระ หรือที่รู้จักกันในนาม เต้-ไชยา อดีตนักมวยผู้เจนเวที มีประวัติชนะทีเคโอมานับครั้งไม่ถ้วน เคยประลอง Mortal Combat แถมยังเป็นศิษย์ครูเล็กสำนักมวยไชยาบ้านช่างไทย ทำให้เราต้องตรวจทานคำถามที่เตรียมมาหลายรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ไปกระตุกกล้ามเนื้อผู้ชายคนนี้ให้โชว์แม่ไม้มวยไทยใส่ ทว่าเมื่อได้เจอตัวจริงแล้วปรากฏว่าสถาปนิกหนุ่มผู้นี้เป็นมิตร และอ้อนน้อมถ่อมตนกว่าที่เราจินตนาการมากหลายคนอาจคุ้นหน้าผู้ชายคนนี้ เพราะเต้เคยเป็นนักแสดงมาก่อน เขาสวมบทบาทนักมวยในภาพยนตร์ ‘ไชยา’ และภาพยนตร์เรื่องอินทรีย์แดงเวอร์ชั่นผู้กำกับวิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง แต่บทบาทหลักที่เต้เล่นจริงไม่อิงแสตนอินคือ ‘สถาปนิก’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kiren Architets Associates (อ่านว่า ‘ขี้เล่น’) เมื่อเราถามว่าชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา หนุ่มเต้-ไชยา ตอบว่า “จริงๆแล้วเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพราะทำเล่นๆ แต่พอทำไปทำมาสเกลงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ” ร่ำเรียนสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยเอแบค ต่อด้วยปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเต้จะตัดสินใจลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านสถาปัตยกรรมอีกใบที่ประเทศสเปน เมื่อก่อนแนวทางการออกแบบของเต้คล้ายกับสถาปนิกรุ่นใหม่หลายคนที่นิยมงานโมเดิร์นร่วมสมัยติดกลิ่นอายมินิมอล การออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์นี้ มีพื้นฐานอยู่ที่การเขียนแบบและใช้คนตัด แต่หลังจากที่ไปเรียนต่อที่ประเทศสเปน เต้ก็ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ได้เรียนรู้การออกแบบสถาปัตยกรรมแนวทางใหม่ๆอย่าง Parametricism ซอฟต์แวร์การก่อสร้างที่ใช้เครื่องมือดิจิตอลมาช่วยในการสร้างฟอร์ม (Digital Fabrication) “เราออกแบบเสร็จก็ถ่ายโอนสิ่งที่เราออกแบบไปให้เครื่อง CNC ตัดได้เลย” เต้ได้เรียนรู้การออกแบบโดยใช้อัลกอรึทึ่ม Digital Fabrication การก่อสร้างด้วยโดรน หุ่นยนต์ และแขนกล “ตอนไปเรียนทีแรกผมงงมาก เขาไม่ได้ให้เราออกแบบบ้านหรือออกแบบตึก เขาพูดถึงอีกเรื่องราวหนึ่งไปเลย” เต้ยอมรับว่าช่วงแรกๆเครียดเหมือนกัน เพราะไม่มีพื้นฐานทาง Computer Science มาก่อนเหมือนคนอื่นๆ ทำไมต้องเป็นสเปน? ถึงแม้ว่าสเปนเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นแห่งงานออกแบบ มีสถาปนิกระดับมาสเตอร์อย่าง Antoni

Gaudi (อันโทนี เกาดี) หรือมาสเตอร์ที่ร่วมสมัยอย่าง Santiago Calatrava (ซานติเอโก คาลาทราวา) ส่วนในเรื่องของโปรดักต์ดีไซน์ก็มีซูเปอร์สตาร์อย่าง Jaime Hayon (เจม เฮย์ออน) และ Patricia Urquiola (แพทริเซีย เออร์เควียล่า) แต่ไม่ค่อยมีคนไทยไปเรียนต่อที่นั่นสักเท่าไหร่ เราเลยถามว่าทำไมเขาถึงเลือกไปที่นั่น เต้ให้คำตอบว่า “เพราะผมชอบสถาปนิกสเปนที่ชื่อ Miralles Tagliabue จากออฟฟิศที่ชื่อ EMBT คนที่ออกแบบพาวิเลียนประเทศสเปนในงาน Expo 2010 ปัจจุบันเขาเสียชีวิตไปแล้ว ผมตั้งใจไว้แล้วว่าถ้าไปเรียนจบที่สเปนแล้วจะไปฝึกงานที่บริษัทเขา” ทว่าด้วยความจำเป็นของชีวิต ทันทีที่เขาเรียนจบ เต้ถูกภาระและความรับผิดชอบต่อธุรกิจครอบครัวเรียกตัวกลับเมืองไทย

แนวทางการออกแบบของ Keeren ตอนนี้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นพื้นฐานในการดีไซน์ “งานออกแบบของเรานั้นถือว่าท้าทายในการสร้าง แต่สามารถทำได้จริง” 
โปรเจ็กต์ล่าสุดของ Keeren คือ งานออกแบบสถาปัตยกรรมภายในโชว์รูมเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยโจทย์จากลูกค้าคือทำอย่างไรให้พื้นที่โชว์รถนั้นสร้างความดึงดูดให้มากที่สุด “ทีแรกทางเจ้าของไม่มั่นใจว่าสิ่งที่เราออกแบบจะทำได้จริงอย่างภาพที่นำเสนอหรือไม่ แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง” เต้โชว์ภาพจากโทรศัพท์มือถือให้เราดู โครงสร้างมีความซับซ้อน ท้าทายแรงโน้มถ่วงโลก เขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นสายได้มาจากสนามแข่งรถ ความเร็วและพลังของรถ

“งานนี้เป็นการออกแบบภายใน แต่เราไม่ต้องการสร้างแค่ Ornament (ส่วนประดับตกแต่ง) แต่สเปซที่สร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้อาคาร” ผลลัพธ์ก็คือสถาปัตยกรรมภายในที่โฉบเฉียวและพริ้วไหว เส้นสายที่มีไดนามิก แน่นอนว่าทั้งหมดใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ และใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างยุคใหม่ในการทำให้ภาพสามมิติที่นำเสนอลูกค้ากลายเป็นจริงขึ้นมา โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาในการออกแบบประมาณ 3 เดือน ถือเป็นโปรเจ็กต์เรือธงของสตูดิโอ Kiren ก็ว่าได้ “ลูกค้าที่เข้ามาก็จะรู้แล้วว่าสไตล์ของเรา” สถาปนิกหนุ่มกล่าว

อย่างที่รู้กัน อาชีพสถาปนิกนั้นหนักหน่วงไม่ใช่เล่น การกลับมารับผิดชอบกิจการโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัวและทำสตูดิโอออกแบบของตัวเอง ทำให้เต้ต้องห่างหายจากมวยไทยไชยาที่เขารัก จากที่เมื่อก่อนมีโอกาสได้ซ้อมมวย 5-6 วัน แต่ตอนนี้ต้องหันมาทุ่มเวลาให้กับการออกแบบแทน เมื่อเราถามว่าการได้เรียนมวยไทยมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอย่างไร เต้ให้คำตอบอย่างหนักแน่น “ทำให้ผมใจเย็นมากๆ มีสติ การฝึกมวยมันต้องฝึกการทำซ้ำๆซึ่งทำให้เกิดสติที่มีสมาธิ พอเรามีสมาธิทำให้การดำเนินชีวิตประจำวัน ตอนต่อยมวยถ้าสติไม่มี หมัดก็โดนเรา ผมก็มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำอะไรต้องมีสติ เต็ม 100% ทั้งการพูด การคิด และการกระทำ” ส่วนการฝึกซ้อมมวยไทยไชยาส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างไร คงไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ผลงานออกแบบล่าสุดของเขาออกอาวุธได้เฉียบคมเป็นที่ประจักษ์แล้ว

 

- Advertisement -