หนึ่ง – สุริยน ศรีอรทัยกุล กับธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับระดับประเทศ

Share This Post

- Advertisement -

Thailand as World’s Jewelry Hub

วันที่ลอปติมัมได้มีโอกาสสัมภาษณ์หนึ่ง – สุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ Beauty Gems กลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับที่ใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทย เราอดประทับใจกับท่าที
อันอ่อนโยน สุภาพ สุขุม ในตัวผู้ชายรูปร่างสันทัดคนนี้ไม่ได้ หนึ่งแต่งตัวเต็มยศด้วยสูทเนื้อผ้าดี ท่าทางการเดินสง่างาม น้ำเสียงทุ้มต่ำมีกังวานแห่งความใจดีแฝงอยู่ และเมื่อเราลงนั่งสัมภาษณ์เขาถึงเรื่องราวธุรกิจอัญมณี เราก็เข้าใจเลยว่า เหตุใดกิริยาของหนึ่งจึงนุ่มนวลจับใจเราได้เช่นนั้น “ผมอยู่กับงานสวยงามครับ งานอัญมณีถือเป็นงานที่ละเอียด คนไทยทำอัญมณีได้ดี เราเก่งไม่แพ้ใครในโลก เพราะคนไทยเราใจเย็น ดูจากงานแกะสลักผักผลไม้ แกะแตงโม งานขบวนแห่บุปผชาติต่างๆ หรือแม้แต่ชุดประจำชาติ จะเห็นได้เลยว่า 
ฝีมือของเราจะโดดเด่นกว่าคนอื่นแบบเห็นได้ชัดเลยครับ” หนึ่งเล่าให้เราฟังว่า เขารับช่วงกิจการของครอบครัวมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว “ถ้าเป็นกิจการที่ชื่อว่า Beauty Gems นี้ ผู้ก่อตั้งจะคือคุณลุง คุณพ่อ และคุณแม่ของผม ส่วนก่อนหน้านั้นเป็นร้านของคุณปู่กับคุณย่าที่เปิดอยู่ที่ถนนเจริญกรุง ถ้าจะให้นับย้อนไปถึง
ยุคนั้น เราก็เปิดมาได้ 77 ปีแล้วครับ แต่ถ้าเป็นแบรนด์ Beauty Gems อย่างเดียว ก็มีอายุ 53 ปี คือคุณพ่อกับคุณแม่ท่านเปิดมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1964 ช่วงนั้นก็เป็นทำส่ง ซื้อมาขายไป จนกระทั่งปีที่ผมเกิด คือค.ศ. 1973 ท่านก็คิดตั้งเป็นโรงงานขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะเห็นว่าคนไทยมีฝีมือจริงๆ จากหน้าร้าน BeautyGems บนถนนเจริญกรุง ก็กลายมาเป็น Beauty Gems Factory ที่เน้นการผลิตอัญมณีคุณภาพสูงเพื่อส่งออกโดยเฉพาะครับ” เขาเล่าดวยสีหน้าและแววตาเปี่ยมสุข เรามองออกได้ไม่ยากเลยว่าเขาชื่นชมคุณพ่อและคุณแม่ที่แผ้วถางกิจการนี้มาจากหัวใจจริงๆ “ต้องนึกภาพนะครับว่าในยุคนั้น ประเทศไทยมีประชากรแค่ 15 ล้านคนเท่านั้น ถนนสายเศรษฐกิจมีแค่เจริญกรุงกับเยาวราช ครอบครัวเราก่อตั้งโรงงานมีพนักงานประมาณ 60 – 70 คน ถือว่าเป็นโรงงานเล็กๆ เท่านั้น หลังจากตั้งโรงงาน ก็ต้องมีแผนกอื่นเพิ่มเติม คือ เราทำโรงงานเพชรพลอย ก็จะมีเรื่องของทองคำ เรื่องเศษทองคำที่เหลือจากการผลิต อะไรพวกนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ก่อตั้งโรงงานทองคำตามมาครับ ก็ค่อยๆขยายไปเรื่อยๆครับ”ในช่วงต้นๆของธุรกิจ เป็นโชคดีของบริษัทที่คุณพ่อและคุณลุงของเขาสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ Beauty Gems จึงได้มีโอกาสไปเปิดตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น “ตอนที่ตั้งโรงงานอย่างเป็นทางการ คุณพ่อเล็งเห็นแล้วว่าศักยภาพตลาดอัญมณีไทยน่าจะขายได้ ตอนนั้นศักยภาพของลูกค้าญี่ปุ่นรุ่นแรกๆคือมาดามของบริษัทรถยนต์ที่มาพักโรงแรมโอเรียนทอลในยุคนั้น และอาศัยการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ตลาดบูมมากในตอนนั้น ทุกคนอยากจะเก็บชิ้นงาน Made in Thailand ไว้ในคอลเลกชั่นกันหมด ถือว่าเป็นโชคดีจริงๆที่เราสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ จึงได้มีโอกาสเปิดตลาดที่ถือว่าเปิดยากได้สำเร็จลูกค้าทั้งหมดในตอนนั้นยังคงเป็นลูกค้าของเรามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะคนญี่ปุ่นเขาภักดีต่อแบรนด์สูงมาก สำหรับพวกเขาแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งรุ่นคุณพ่อเริ่มต้นไว้ได้ดีมากครับ เรากลับมาสานต่อจึงไม่มีปัญหาอะไรมาก”ในเมื่อสามารถทำตลาดฝั่งญี่ปุ่นได้แล้ว หนึ่งและพี่ชายที่กลับมาสานต่อกิจการของครอบครัวในช่วงราวๆปีค.ศ. 1995 ก็ตัดสินใจบุกตลาดฝั่งอเมริกาอย่างจริงจัง เนื่องจากทั้งคู่เรียนต่อที่นั่น และเข้าใจวัฒนธรรมและลักษณะนิสัยของลูกค้าอยู่ไม่น้อย สองพี่น้องจึงขยายฐานการผลิต เพิ่มจำนวนพนักงาน เพิ่มคนงานต่างๆด้วยความต้องการที่จะให้อัญมณีไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศไทย “ถ้าพูดกันตามจริงแล้ว เมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมอัญมณีก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศอยู่แล้ว แต่ผมพยายามผลักดันให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปัจจุบัน ตลาดอเมริกาได้กลายเป็นตลาดหลักของเรา แซงญี่ปุ่นไปแล้ว โดยยอดของอเมริกาอยู่ที่ 40% ในขณะที่ญี่ปุ่น
อยู่ที่ 20%” หนึ่งเล่าด้วยน้ำเสียงแฝงความภูมิใจ แต่ไร้อาการอวดโอ่ “แต่สำหรับส่วนตัวของผม ใจผมรักตลาดในประเทศ เพราะ Beauty Gems ไม่เคยลงตลาดในประเทศเลย ทุกคนรู้ว่าเราเป็นโรงงาน
ผลิตให้แบรนด์เนมเพื่อส่งออก เราก็อยู่ของเราเงียบๆเป็น OEM ให้กับแบรนด์ดังๆไป คุณแม่ก็บอกว่าเป็นแบบนี้ก็ดีแล้วนะ เพราะถ้าลูกทำรีเทลด้วย ลูกจะเหนื่อยนะ ต้องมีคุย มีบริการ แต่คุณแม่ก็ห้ามไม่อยู่หรอกครับ ใจผมรักทางนี้ ผมคิดว่า ถ้าเราเป็นผู้ส่งออกอัญมณีระดับต้นๆของโลก แต่ในเมืองไทยกลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างแต่รู้จักกันในวงแคบๆ แวดวงนักธุรกิจเท่านั้น ผมก็เสียดายนะครับ น่าเสียดายจริงๆ”

ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากให้ของดีๆสวยๆฝีมือของคนไทยอยู่ในประเทศ ทำให้หนึ่งตัดสินใจบุกตลาดภายในประเทศ มีร้านรีเทล จัดงานอีเว้นต์ของบริษัทประจำปี ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘ครัวของโลก’ ในธุรกิจการผลิตอัญมณี “ยอดส่งออกของอัญมณีแซงข้าวไปแล้วนะครับ เราเป็นอุตสาหกรรมในห้องแอร์ ตอนนี้ยอดภายในประเทศก็อยู่ที่ 5% ของรายได้บริษัท จริงๆแล้วตลาดในประเทศโตขึ้นเรื่อยๆในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยอดยังอยู่เท่านั้น เพราะตลาดฝั่งส่งออกโตตามขึ้นไปด้วย ถือว่าประสบความสำเร็จทีเดียว เพราะถือว่าเป็นสินค้าประเภทที่คนไทยสนับสนุนแบรนด์ไทย ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่ง
ในสินค้าไม่กี่ประเภทเท่านั้นนะครับ”

หนึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานมาจากคุณพ่อและคุณแม่ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมอัญมณีทั้งคู่ ทั้งครอบครัวผลักดันหลายเรื่องผ่านสภาอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการตั้งโรงงานอัญมณีในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด “ผมไม่คิดว่าเป็นการแย่งตลาดครับ” หนึ่งตอบเมื่อเราถามถึงสถานการณ์ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย “เพราะเราตั้งใจจะผลักดันให้ประเทศเราเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีของโลก ดีกว่าให้เขาไปตั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราครับ บ้านเรายังเป็นแค่ 2% ของยอดขายอัญมณีทั่วโลกครับ ผมสนับสนุนให้ทุกคนมาเปิดโรงงานในประเทศ ตราบใดที่ไม่แย่งคนงานกันครับ” แต่เงื่อนไขนั้นฟังดูยากทีเดียวสำหรับคนนอกวงการอย่างพวกเรา “จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการแย่งคนงานกันครับ เพราะในบรรดาโรงงานไทยด้วยกันเอง เราคุยกันชัดเจนว่าอย่าแย่งคนกัน ให้ผลิตคนเพิ่ม ส่วนบริษัทต่างชาติที่เข้ามา เขาก็ค่อยๆเรียนรู้ว่าอย่าดึงตัวใคร เพราะวงการนี้แคบ รู้จักกันหมด แต่ให้สนับสนุนการสร้างคนร่วมกันมากกว่า ซึ่งพอเราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะช่วยกันผลักดันให้เมืองไทยกลายเป็นฐานผลิตอัญมณีของ
ทุกแบรนด์ สถานการณ์ก็ดีขึ้น เราอยากจะให้ฐานการผลิตอัญมณีคงอยู่ในประเทศของเราไปจน
ตราบชั่วลูกชั่วหลานครับ”หนึ่งเน้นย้ำเสมอว่าจุดเด่นของประเทศไทยคือแรงงานฝีมือจัดจ้าน ทำงานละเอียดประณีตได้กว่าชาติอื่นแบบเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะขาดไปคือความสามารถในการมองภาพรวม “บอกเลยครับว่า ประเทศที่ผลิตอัญมณีได้ดีจะมีประเพณีและประวัติศาสตร์ยาวนาน อย่างประเทศไทยและอิตาลี ส่วนฮ่องกงนั้นได้เรื่องนวัตกรรม และความแปลกใหม่ แต่ฝีมือทางการช่างแพ้เรากับอิตาลีหลุดลุ่ยเลยครับ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าต่างชาติเขามีเทคนิคในการออกแบบ

<<ยอดส่งออกของอัญมณีแซงข้าวไปแล้วนะครับ เราเป็นอุตสาหกรรมในห้องแอร์ตอนนี้ยอดภายในประเทศก็อยู่ที่ 5% ของรายได้บริษัท>>

เป็นแพทเทิร์น 
เมื่อรวมกับการศึกษาที่สอนให้พวกเขาทำงานเป็นทีม 
พวกเขาจะมองภาพรวมได้เก่งกว่าช่างไทยที่มักจะเก่งอยู่คนเดียว ดังนั้น เมื่อเรานำเข้าทีมดีไซเนอร์ของแบรนด์มาจากต่างประเทศ ที่เขาส่งมาไกด์ เราต้องยอมรับเลยว่า เราทำได้ดีจริงๆเมื่อมีคนมาไกด์ ถ้าไม่มีใครไกด์ เราก็ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น เมื่อเรายอมรับตรงจุดนี้ได้ เราก็ทำงานร่วมกันได้ดี ผลงานออกมาดีจริงๆ วิน-วินทั้งสองฝ่ายครับ”

ก้าวต่อไปในวงการของหนึ่งคือ มองหาทีมงาน
ที่จะมาทำแบรนด์รีเทลอย่างเป็นจริงเป็นจัง “ถ้าถามว่าสินค้าเราจะสามารถต่อยอดเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับสูงเหมือนกับลูกค้าเราในปัจจุบันได้ไหม เป็นได้ครับ 
ผมต้องการทีมงานที่มาควบคุมแบรนด์ คุมบรรจุภัณฑ์ คุมบรรยากาศในร้าน ส่วนผมก็รับหน้าที่ควบคุม
การดีไซน์ และการผลิตให้ ถ้ามีทีมงานแบบนั้นสักสิบทีม เปิดสิบสาขา เราก็เป็นแบรนด์ระดับโลกได้แล้วครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยหลักคือจิตวิญญาณของคนทำงาน ความเป็นมืออาชีพ เราต้องเป็นมืออาชีพ รวมกันเป็นทีมหลักสิบคน มีทีมย่อยอีกสิบคน ช่วยกันออกคอลเลกชั่น
อย่างต่อเนื่อง เท่านี้ก็เป็นแบรนด์ที่ดีแล้วครับ ก็รอทีมงานแบบนั้นอยู่” หนึ่งพูดด้วยสีหน้ายิ้มๆ เรามองออกว่าเขาตั้งใจจริงกับแนวคิดนี้ เพียงแค่ต้องการทีมที่มีวิสัยทัศน์ใกล้เคียงกัน สามารถคิดงานและนำเสนอโครงการ
ได้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมาผ่อนงานจำนวนมหาศาลที่เขาถืออยู่ได้ “หลังจากผลักดันให้อัญมณี
หลุดพ้นจากการตีตราว่าเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ แล้ว 
ก้าวต่อไปคือ ผมอยากจะผลักดันภาคการท่องเที่ยว ให้การท่องเที่ยวเข้าใจว่าเมื่อนักท่องเที่ยวมาเมืองไทย นอกจากจะดูวัดวาอาราม น้ำทะเล ภูเขาแล้ว ให้นึกถึงอัญมณีเป็นสินค้าที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน เหมือนกับที่เราไปซื้อน้ำหอม ซื้อกระเป๋าที่ฝรั่งเศส ไปแช่ออนเซนที่ประเทศญี่ปุ่น อยากให้ประเทศไทยเป็น Land of Jewel คำนวณง่ายๆว่า นักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยประมาณปีละสามสิบล้านคน ถ้าสุวรรณภูมิขยายเพิ่มอีกเฟส ก็จะเพิ่มจำนวนเป็นสี่สิบห้าล้านคน ขอเพียงแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์จากจำนวนนั้นซื้ออัญมณี เราก็ผลิตไม่ทันแล้วครับ ขอให้ภาครัฐเข้าใจตรงนี้ เพิ่มสินค้าอัญมณีเข้าไปในการโปรโมทการท่องเที่ยวก็พอครับ”

เราจบการสัมภาษณ์หนึ่งด้วยความรู้สึกหลากหลายรวมกัน ทั้งประทับใจในความสุขุม อ่อนโยน ตื่นตะลึงในวิสัยทัศน์ และความรักที่เขามีต่ออาชีพ และทึ่งใน
แรงขับด้านบวกที่เขาส่งมาถึงทีมงานทุกคน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณสมบัติต่างๆเหล่านั้นทำให้เขานำพา Beauty Gems เข้าสู่ตลาดการแข่งขันเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

<<ผมอยู่กับงานสวยงามครับ งานอัญมณีถือเป็นงานที่ละเอียด คนไทยทำ
อัญมณีได้ดี เราเก่งไม่แพ้ใครในโลก เพราะคนไทยเราใจเย็น>>

- Advertisement -