ปราสาท วิทยาภัทร์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์นาฬิกาข้อมือวินเทจ ปากกา และนาฬิกาพก รวมไปถึงนาฬิกาตั้งโต๊ะ และเครื่องมือช่างวินเทจหลากหลายรายการนั้น จริงๆ แล้วเขาเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท อิทเทลเลคท์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเรียนรู้ เรียกได้ว่าเขาไม่มีธุรกิจอะไรเกี่ยวข้องกับวงการนาฬิกาเลย นอกเหนือไปจาก ‘ความรัก’ เท่านั้น
เพราะรักจึงสะสม
“ปกติเวลาใครเข้ามาในห้องนี้จะคิดว่าผมขายนาฬิกา ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับนาฬิกาเลย” ปราสาทเปิดบทสนทนากับเราพร้อมกับมองไปรอบพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่เต็มไปด้วยเรือนเวลาวินเทจด้วยแววตาแห่งความรัก “ผมทำอาชีพเป็นผู้ผลิตเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เป็นนายกสมาคมผู้ผลิตฯ สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษามาหลายสมัย ส่วนนาฬิกานี้ทำเพราะรัก เพราะชอบเท่านั้น ผมจึงจะบอกทุกคนที่เข้ามาในห้องนี้ว่า อย่าขอ หรืออย่าขอซื้อเลย ไม่อย่างนั้นผมจะลำบากใจมาก” ไม่น่าแปลกใจเลยที่ใครๆ จะคิดว่านาฬิกาในห้องนี้มีไว้เพื่อขาย หรือเก็งกำไร เพราะทั้งห้องนั้นเต็มไปด้วยนาฬิกาวินเทจสารพัดรุ่น หลากหลายยี่ห้อ บางรุ่นเก่าเก็บหายากมากเสียจนพิพิธภัณฑ์ของแบรนด์เองก็ยังไม่เคยเห็น “ผมเลือกเก็บเฉพาะนาฬิกาวินเทจ เพราะแต่ละเรือนจะมีเรื่องเล่า มีเรื่องราว เก็บสนุกกว่านาฬิกาใหม่ซึ่งใครมีเงินก็ซื้อได้ และบาง แบรนด์ก็ผูกพันกับตัวผมมากๆ อย่างเช่น Omega นี่ถือว่าผูกพันมาก เพราะเป็นนาฬิกาในฝันของผมสมัยเด็กๆ คือ แบบอยากได้ตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่มๆ แล้วไม่มีเงินซื้อไง ก็เริ่มต้นซื้อ Seiko ไปก่อน ช่วงประมาณยุค ’70s Omega Dynamic ราคาอยู่ที่สามพันสองร้อยบาท ในขณะที่ Seiko M88 ราคาเรือนละสองร้อยบาท ผมอยากได้ ไปขอเขาผ่อน เขาคิดสามร้อยยี่สิบบาท ผ่อนเดือนละร้อย ก็ยังต้องผ่อนไปตั้งสามเดือน แล้วพอเริ่มมีรายได้ ก็เลยเก็บมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นคอลเลกชั่นใหญ่ในปัจจุบัน”
ปราสาทเล่าว่า เขาเริ่มเก็บนาฬิกาเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ ก็เมื่อกว่าสี่สิบปีที่แล้ว ช่วงชีวิตที่เขาตกงาน ไม่มีอะไรทำ ก็หยิบจับของเก่าภายในบ้านมาลูบคลำเล่น เอานาฬิกาโบราณของน้าชายมาขัด เปลี่ยนสาย นำมาใส่ “เพราะไม่มีเงินซื้อใหม่ไงครับ” ปราสาทพูดติดตลก “แต่พอเอามา ใส่จริงๆ ก็รู้สึกหลงรัก รู้สึกว่าสวยมาก เลยเริ่มเห็นของเก่าสวย มีคุณค่า ในสมัยนั้นคนไทยไม่ค่อยเล่นของเก่าเท่าไหร่นะ ยุคแรกๆ ที่ผมไปเดินดูนาฬิกา Rolex Bubble Back สองกษัตริย์สภาพสวยๆ นี่ ราคาเรือนละ ไม่ถึงสองพันนะครับ ผมก็อาศัยเก็บตามมีตามเกิด ไม่ได้เน้นของแพงครับ เน้นของที่ชอบ ผมคิดว่า แค่ซื้อมาเพราะชอบ คุณก็ได้กำไรไปแล้วครับ”
คุณค่าอยู่ที่จิตใจไม่ใช่ราคา!
ดังที่ปราสาทเล่าให้เราฟังว่า เขาไม่ได้ให้คุณค่าของนาฬิกาในคอลเลกชั่นผ่านราคาค่าตัว แต่ให้คุณค่าทางด้านความพึงพอใจของตัวเองเป็นหลัก เขาจึงให้คำแนะนำแก่คอลเลกเตอร์รุ่นใหม่ๆ เสมอว่า อย่าได้ไปคิดจะ เก็บนาฬิกาเพื่อเก็งกำไร แต่ให้คิดเก็บนาฬิกาที่ชอบ แล้วกำไรจะตามมาเอง “ถ้าพูดกันตรงๆ นะครับ กำไรที่ได้จากการหมุนเวียนนาฬิกานั้น ส่วนมากตกไปอยู่ที่พ่อค้า ไม่ใช่นักสะสม คุณต้องมองให้ออกว่า นาฬิการุ่นใหม่ๆ นั้น โอกาสที่จะได้ราคามากกว่าตอนซื้อนี่น้อยมาก แต่นาฬิกาวินเทจ นี่อีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะอันนี้อาศัยความยาวนานในการเก็บ คือ ถ้าคุณซื้อนาฬิกามาวันนี้ แล้วรอขายต่ออีกสี่สิบปีให้หลัง ราคาอาจจะขึ้นหลายเท่า แต่คุณจะอยู่ถึงวันนั้นไหมล่ะ” ปราสาทถามด้วยเสียงหัวเราะ “ดังนั้น ถ้าคิดจะเป็นคอลเลกเตอร์นะ ให้เก็บด้วยความรัก รับประกันได้กำไรแน่นอน อย่างแรกก็มีความสุข ได้ชื่นชมของที่ชอบที่อยากได้ อย่าเก็บด้วยความคาดหวังว่าจะทำกำไร เพราะถ้าไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ก็จะทำให้ชีวิตเป็นทุกข์นะครับ”
ปรัชญาการเก็บนาฬิกาด้วยความรักที่ปราสาทยึดมั่นนั้นทำให้เขาไม่ตกเป็น ‘ทาส’ ของของสะสมชุดใหญ่ภายในพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมนี้ เมื่อเราถามเขาถึงวิธีการดูแลรักษานาฬิกาจำนวนมหาศาลเหล่านี้ เขาตอบสั้นๆ ว่า “ผม ‘ดู’ เขา แต่ไม่ได้ไปคอยระวังรักษาเขาครับ ไม่อย่างนั้น ผมจะตกเป็นทาสของนาฬิกา คือ ผมซื้อนาฬิกามาดู ผมก็มีความสุขแล้ว ถ้าผมต้องมานั่งระมัดระวังนาฬิกาทุกเรือน ชีวิตผมคงจะลำบากแย่ บางครั้งผมหยิบนาฬิกามาใส่ก็ลืมไขลานด้วยซ้ำ สำหรับผมแล้ว นาฬิกาจะเดินตรงหรือไม่ตรง ไม่ค่อยเป็นประเด็นสำคัญนัก ผมแค่มองว่า ผมชอบดีไซน์นี้ ใส่แล้วสวย อยากใส่ก็ใส่เลย ดังนั้น คำตอบของผมก็คือ ผมไม่ได้ดูแลนาฬิกา ผมแค่เดินดูนาฬิกาแล้วมีความสุขก็เท่านั้น ไม่ได้กังวลจนต้องคอยเช็คว่านาฬิกาแต่ละเรือนเดินตรงหรือไม่”
งานศิลปะที่สวมใส่ได้
“ผมชอบงานศิลปะครับ” ปราสาทตอบเมื่อเราถามว่าเขาชอบนาฬิกาอื่นๆ ที่ไม่ใช่นาฬิกาข้อมือด้วยใช่หรือไม่ “ในห้องนี้จะมีงานศิลปะอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนาฬิกาผสมอยู่ด้วย คือ ผมมองงานศิลปะแล้วรู้สึกว่าสวย ผมก็จะเก็บไว้ แต่งานศิลปะชิ้นใหญ่ๆ แบบภาพวาด หรือนาฬิกาติดผนังนั้น ผมมีพื้นที่จำกัด เพราะไม่มีผนังให้ติด ไม่รู้จะไปเก็บที่ไหน ผมจึงเลือกที่จะเก็บงานศิลปะขนาดเล็กลง ก็ได้แก่นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาพก นาฬิกาตั้งโต๊ะขนาดเล็ก และปากกาแนววินเทจแต่ในขณะเดียวกัน ผมทำงานเกี่ยวกับช่าง ก็เลยมองเครื่องมือวิทยาศาสตร์โบราณเป็นงานศิลปะไปด้วยครับ”
นอกเหนือไปจากนาฬิกาข้อมือ และของสะสมอื่นๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้คอลเลกชั่นในห้องนี้สมบูรณ์แบบขึ้นอีกหลายเท่าตัว ก็ได้แก่ แอ็กเซสเซอรี่ต่างๆ เกี่ยวกับนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นถาด ฐานตั้ง กล่อง ใบรับประกัน และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งปราสาทเองก็บอกว่า บางครั้ง การ ‘เสาะ’ แสวงหาของเหล่านี้นั้นก็ต้องอาศัยความบังเอิญและพรหมลิขิตเป็นตัวชักพา “การเก็บของเหล่านี้ทำให้เราสนุกขึ้น เพราะการที่เราเอานาฬิกา Rolex ไปใส่บนฐาน Rolex ที่ถูกยุคถูกสมัย ทำให้นาฬิกาดูดีขึ้น และก็ดีต่อจิตใจเราด้วย อย่างฐานของ TAG Heuer แบบโบราณผมก็มีอยู่สองสามชิ้นเท่านั้น ถ้ามีโอกาสเจอ ผมจะซื้อเสมอ นี่รวมถึงกล่องโบราณ ใบรับประกันโบราณ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วยนะครับ เพราะทำให้การสะสมของผมนั้นสนุก และมีเรื่องราวมากขึ้น”
เรื่องราวแห่งความผูกพัน
“นาฬิกาเรือนแรกที่ผมเก็บนี่ ไม่มีชื่อหรือเป็นที่รู้จักเลยครับ ยี่ห้อ Prely ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว เป็นนาฬิกาของน้าชายที่ยกให้พี่ชายผม เมื่อพี่ชายผมซื้อเรือนใหม่ ก็ทิ้งเรือนนี้ไว้ ผมก็เอามาใส่เล่นช่วงตกงาน ก็รู้สึกชอบทันที หน้าปัดแตกลายงา และขึ้นราตามอายุ ดูสวย และคลาสสิกสุดๆ ครับ” และด้วยความผูกพันดังกล่าวนั้น ทำให้ปราสาทเริ่มต้นการสะสมนาฬิกาด้วยความรักอย่างจริงจัง และดังที่เขาเน้นย้ำไว้หลายต่อหลายครั้งว่า การเก็บสะสมของเขานั้นเริ่มต้นจากความรัก ดังนั้น ความรักจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาเก็บสะสมมาจนถึงทุกวันนี้ “มีคนถามผมเสมอว่า มีอะไรค้างคาใจไหมกับการสะสม ผมตอบได้เลยว่า ไม่มีแล้ว เมื่อก่อนผมมี ความฝันที่จะได้ Omega, Rolex และ TAG Heuer บางรุ่นซึ่งในปัจจุบันผมก็ตามเก็บได้หมดแล้ว Rolex Bubble Back ตัวที่ผมคิดว่าสวยที่สุด ในประเทศไทยก็อยู่กับผมแล้ว Corum Saddam Hussein เรือนเดียวในโลกก็ยังโคจรมาเจอผมจนได้ ส่วน Corum Rolls-Royce นี่นายช่างใหญ่ของ Corum จากสวิตเซอร์แลนด์ก็บอกให้มาดูของจริงที่ผม เรียกได้ว่าผมมีครบหมดแล้วล่ะ แต่ในกรณีที่เดินไปเจอบางเรือนแล้วอยากได้ อันนี้ถือเป็นเรื่องไม่คาดคิด ไม่นับนะครับ” ปราสาทจบบทสนทนาด้วยรอยยิ้ม
แม้จะออกตัวว่าไม่มีอะไรค้างคาในใจแล้ว แต่ปราสาทก็ยืนยันว่าเขาจะไม่หยุดสะสมนาฬิกา “ก็หยุดไม่ได้จริงๆ นะครับ ทุกครั้งที่เห็นก็จะคิดว่า เอาไปเพิ่มอีกสักนิดแล้วกัน บางทีซื้อมาเพิ่ม เอามาวางในตู้นาฬิกานี่ก็กลืนหายไปเลย ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเพิ่มขึ้น ผมก็เข้าใจปรัชญาตัวนี้ จนถึงขั้นเขียนติดไว้ที่โต๊ะทำงานว่า ถ้ามีนาฬิกาอีกสักเรือนหรือสองเรือนเพิ่มขึ้น จะทำให้สถานภาพเราแตกต่างไปจากวันนี้ไหม คำตอบก็คือ ไม่หรอก ก็เท่านี้แหละ สถานภาพก็เท่านี้แหละไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้แล้ว แต่ก็อย่างที่บอก เป้าหมายของผมไม่ใช่การทำกำไรจากนาฬิกา แต่คือความสุขที่ได้จากการสะสม ผมเลือกสะสมสิ่งที่ผมมีความสุข และนั่นก็เป็นกำไรสูงสุดของชีวิตแล้วครับ”