One Step toward the Future
การที่บริษัทผลิตรถยนต์พร้อมใจกันทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับการจ้างดีไซเนอร์และวิศวกรกลไกฝีมือดีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทนั้น นอกเหนือไปจากการพัฒนารูปแบบ เครื่องยนต์ และดีไซน์ของรถยนต์ อันเป็นสินค้าหลักแล้ว สิ่งที่ได้แถมมาก็คือการออกแบบผลิตภัณฑ์อื่นๆที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของบริษัทโดยรวม
รถยนต์อัจฉริยะ ยางกันรั่ว รถยนต์ไฟฟ้าที่ทำระยะทางได้ 1,000 กิโลเมตร หรือรถยนต์เปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิภายนอกนั้นคือการพัฒนาทางเทคโนโลยียานยนต์ที่เหลือเชื่อแม้แต่ในโลกปัจจุบัน นี่คือการลงทุนครั้งมโหฬารที่บริษัทผลิตยานยนต์ได้ทุ่มลงไปเพื่อคิดค้นนวัตกรรมสุดล้ำหรืออุปกรณ์ชิ้นส่วนเบ็ดเตล็ดเหล่านี้ในประเทศฝรั่งเศส อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นวงการที่มีการศึกษาวิจัยมากที่สุดใกล้เคียงกับวงการแพทย์และการบิน
ในปีค.ศ. 2014 จากแบบสำรวจของนิตยสาร Industrie & Technologie ระบุว่ามีนักวิจัยจำนวนกว่า 28,500 คนทำงานด้านวิจัยและพัฒนาในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ (อย่าง Peugeot และ Renault) และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (อย่าง Valeo, Faurecla และ Plastic Omnlum) นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าในแต่ละปีมีการลงทุนกว่า 5 พันล้านยูโรในกาพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีและดีไซน์เพื่อที่จะขึ้นเป็นผู้นำในวงการยานยนต์ทั่วโลก
ในปีค.ศ. 2015 ข้อมูลจากสถาบันแห่งชาติด้านทรัพย์สินทางปัญญาระบุว่า บริษัทในเครือ Peugeot เป็นบริษัทที่จดทะเบียนสิทธิบัตรสูงสุดในประเทศฝรั่งเศส นับเป็นจำนวน 1,012 ฉบับ แซงหน้าบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ Valeo (ที่จำนวน 668 ฉบับ) และบริษัทในเครือ Renault (ที่จำนวน 539 ฉบับ) ที่ประเทศฝรั่งเศส ศูนย์วิจัยและพัฒนาที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการนั้นมีจำนวน 300 แห่ง เป็นศูนย์วิจัยด้านยานยนต์ทั้งหมด 55 แห่ง ในขณะที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นั้น มีวิศวกรและบุคลากรเฉพาะทางกว่า 12,000 คนที่ทำงานวิจัยและพัฒนาเรื่องรถยนต์แห่งอนาคต ส่วนฝั่งผู้ผลิตรถยนต์นั้นต่างก็ปิดข้อมูลเรื่องกำลังพลเป็นความลับ เพราะการวิจัยและพัฒนาต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำในที่ลับเพื่อกันบริษัทคู่แข่งฉกเอาไอเดียดีๆ ไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีเพียง Renault บริษัทเดียวที่ยอมตอบคำถามเรื่อง การค้นคว้าและวิจัยของเราในวันนี้
ร่วมมือและแบ่งปันองค์ความรู้
ในโลกยุคปัจจุบันนี้ การแข่งขันกันไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาได้มากเท่ากับการร่วมมือกัน “คุณไม่สามารถทำเสมือนว่าบริษัทของคุณเป็นเพียงบริษัทเดียวที่เก่งที่สุดได้อีกต่อไปแล้ว” Virginie Maillard (เวอร์จินี ไมยาร์ด) ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและยุทธศาสตร์ของ Renault กล่าว “เราต้องเปิดกว้างสู่องค์ความรู้อื่นๆ พนักงานจำนวนมากของเรามีส่วนร่วมในโครงงานวิจัยที่ริเริ่มขึ้นโดยพันธมิตร เราทำงานในโครงการระดับภูมิภาคโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสภายุโรป อีกทั้งยังร่วมมือกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ผู้จัดหา มหาวิทยาลัยและศูนย์วิจัย การทำงานร่วมกันทั้งในด้านความปลอดภัย การสื่อสาร การเชื่อมต่อหรือด้านกฎหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นไปในทิศทางที่ดี เพราะเราร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ขับขี่”
หลังจากก่อตั้งศูนย์วิจัยในซิลิคอนวัลเลย์ไปเมื่อปีค.ศ. 2010 Renault ได้เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์โดยจัดตั้ง Open Lab Innovation กลาง Porter School of Environmental Studies มหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลในเดือนมิถุนายน 2016 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยด้านรถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนายานยนต์ รวมไปถึงพัฒนาระบบความปลอดภัยในโลกออนไลน์ เวอร์จินียังบอกอีกว่า “เรามีนโยบายร่วมมือกับสถาบันข้างนอกมาโดยตลอด แต่เพิ่งจะมาทำให้เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเมื่อห้าปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะโลกที่หมุนเร็วขึ้น เราจึงจำเป็นต้องก้าวตามให้ทัน การร่วมมือและมีภาคีจากหลายภาคส่วนจะทำให้เราประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเรา ทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพของบริษัทเราได้อีกด้วย” นโยบายและวิธีการคิดเช่นนี้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเพราะนักวิจัยจะต้องทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและสิ่งต่างๆ จากหลายแหล่ง เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาในนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด
ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้ผลิตรถยนต์บางรายที่ยังคงนโยบายการทำงานตามลำพังเพื่อคิดค้นนวัตกรรมเพื่อรถยนต์แห่งอนาคต โดยหวังว่าจะได้จดทะเบียนสิทธิบัตรอะไรบางอย่างที่ทำให้แบรนด์ตัวเองล้ำหน้าเหนือคู่แข่ง อย่างในกรณีของ Renault ที่วิศวกรซุ่มคิดค้นพัฒนาเรื่องการออกแบบที่นั่งฝั่งคนขับและการควบคุมผ่านจอแสดงผลความละเอียดสูง “ทุกอย่างที่เราพัฒนานั้นจะมองไกลไปถึงอีกยี่สิบปีข้างหน้า และเรามีทีมเฉพาะที่ทำงานให้กับ Renault เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในลักษณะของการวิจัยร่วมกันอยู่ดี” ผู้อำนวยการแผนงานวิจัยอธิบาย และงานวิจัยต่างๆ เหล่านี้นั้นก็ต้องถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากแผนกรักษาความมั่นคงของบริษัทเพื่อป้องกันการจารกรรมความคิดทางอุตสาหกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง
การวิจัยและดำเนินการผลิตผลงานสักชิ้นนั้นล้วนแล้วแต่มีขั้นตอนมากมายและยาวนาน เริ่มจาก “ระยะฟักตัว” หรือช่วงระดมความคิด โดยเปิดกว้างให้ทุกคนเสนอไอเดียขึ้นมา และเมื่อไอเดียไหนโดดเด่นและพอจะมีทางเป็นไปได้ ก็จะเริ่มต้นการวิจัยอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดขอบเขตทุกอย่างอย่างชัดเจน มีการระบุหัวหน้างานวิจัย กำหนดงบประมาณ ระยะเวลาและทีมวิจัย นักวิจัยจะวางมือจากการผลิตผลงานต้นแบบ และหันมาศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจและสุดท้ายก็จะนำเสนอ “ผลการวิจัย” โดยสรุปหลักการและผลการวิจัยที่ค้นพบ หลังจากนั้น ทีมแบบแผนทางเทคโนโลยี (ซึ่งมีเฉพาะในทีม Renault) ก็จะศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ของนวัตกรรมชิ้นนั้นๆ เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจว่าสมควรนำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตรถหรือไม่ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้นั้นกินเวลายาวนานต่อเนื่องหลายปี และมีโอกาสที่จะหยุดกลางคันเสมอ “การหยุดโครงการหรือปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นเกิดขึ้นได้เสมอ” เวอร์จินีกล่าว “ทีมของเรายอมรับกฎกติกาตรงนี้ เพราะพวกเรารู้ว่าการทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมจะนำมาซึ่งความรู้เสมอ แม้ว่างานจะไปไม่ถึงจุดหมายก็ตาม” แม้ว่าการนำไปปฎิบัติได้จริงเป็นบรรทัดฐานสูงสุดในหมู่ผู้ผลิต แต่ความกระหายใคร่รู้และความรักในการประดิษฐ์คิดค้นนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริง จินตนาการคือหัวใจของการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น หากบริษัทอยากให้เงินทุกเม็ดทุกสตางค์ที่ลงทุนไปกับการวิจัยผลิดอกออกผลเป็นยอดขายหรือความสำเร็จ บริษัทต้องไม่ล่ามม้าไว้ในคอก แต่จะต้องให้อิสระทางความคิดอย่างไร้ขีดจำกัดแก่วิศวกรและดีไซเนอร์
รถ เรือ จักรยาน เปียโน และอื่นๆ
นอกเหนือไปจากการออกแบบยนตรกรรมติดล้อแล้ว แต่วิศวกรและดีไซเนอร์ เหล่านี้ก็ขยายขอบเขตการออกแบบของตนไปอย่างกว้างขวาง อย่าง Aston Martin (แอสตัน มาร์ติน) เองก็ออกแบบเรือสุดพิเศษรุ่น AM37 เปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้ว และก็กลายมาเป็นไอเท็มที่เหล่ามหาเศรษฐีต่างก็อยากจะได้มาครอบครอง (คงไปคล้ายกับเจ้าตัว Silver Arrows Granturismo Concept ซึ่งออกแบบโดยทีมออกแบบของ Mercedes-Benz (เมอร์เซเดส-เบนซ์)) ในฝั่งของ Alfa Romeo (อัลฟ่า โรเมโอ) เองก็ได้เปิดตัวจักรยานที่ออกแบบเองไปเมื่อปีค.ศ. 2014 โดยจักรยานรุ่น 4C IFD ก็เกิดจากการคิดค้นวิจัยรถยนต์รุ่น 4C Spider จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าหากผู้ใดสามารถออกแบบรถยนต์ได้ก็แทบจะออกแบบอะไรก็ได้ทุกอย่าง ในปีค.ศ. 2010 Peugeot Design Lab ได้เปิดตัว “คอนเซ็ปต์คาร์แห่งอนาคต” เป็นรูปแบบของรถยนต์ในอนาคต และก็เดินหน้าร่วมมือกับคนใน วงการอื่นๆ นอกเหนือจากรถยนต์ ต่อมาในปีค.ศ. 2012 พวกเขาก็จับมือกับ Pleyel ผลิตเปียโนสุดล้ำที่คล้ายคลึงกับรถแข่งแต่มีแนวเส้นสายที่เรียบง่ายดูหรูหรา เปียโนลูกผสมนี้มีคันเหยียบที่แปลกตาและได้ออกแบบให้ตัวโต๊ะสำหรับวางโน้ตในระดับเดียวกับคีย์บอร์ดเพื่อให้ผู้ชมมองเห็นมือนักเปียโนขณะเล่น เนื่องจากเปียโนหลังนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากกระโปรงท้ายรถ ฝาครอบเปียโนจึงตั้งด้วยตัวเอง การออกแบบเล็กๆ ดังกล่าวมีราคาเพียง 16,5000 ยูโร(เท่านั้น)! ในขณะที่แบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Lexus (เลกซัส) ได้ผลิตสเกตบอร์ดลอยได้ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future โดยหลักการคือตัวสเกตบอร์ดมีพื้นผิวแม่เหล็ก บวกกับไนโตรเจนที่มีคุณสมบัติเหนี่ยวนำไฟฟ้าสูง ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับคลื่นแม่เหล็กในพื้นดินทำให้สเกตบอร์ดสามารถลอยตัวเหนือ พื้นดินได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งอาจจะต่อยอดเป็นแนวคิดหรือต้นแบบให้กับรถลอยได้ในอนาคตก็เป็นได้
การจารกรรมทางอุตสาหกรรม ภัยสำคัญของการวิจัยและพัฒนา
อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับที่สอง (รองจากอุตสาหกรรมการบิน) ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมความลับการวิจัย และต้องอยู่ในสงครามประสาทระหว่างกันและกันมาโดยตลอด (ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้ผลิตด้วยกันเอง แรงกดดันจากนโยบายของรัฐ รวมไปถึงการจับมือกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตและบริษัทผลิตชิ้นส่วนต่างๆ) นี่ยังไม่นับว่าต้องคอยระวังสายสืบที่แฝงตัวเข้ามาในฐานะเด็กฝึกงาน พนักงานสองหัว หรือแม้กระทั่งนักสืบที่ถูกส่งเข้ามาขโมยเอกสารงานวิจัยไปแบบดื้อๆ ที่สำคัญ กลุ่มขโมยเหล่านี้นั้นอาจจะไม่ได้มาจากทวีปเอเชีย (แบบที่จีนมักจะถูกตราหน้าว่า ‘ลอก’ ผลงานบ่อยๆ) เสมอไป ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คดีเมื่อปีค.ศ. 2013 ที่ตำรวจสากลแห่งกรุงปารีสได้จับกุมวิศวกรชาวเยอรมันสองคนที่ลักลอบนำเสาชาร์จของ Autolib ออกมาจากบริษัทแม่ในเครือ Bollore ซึ่งทั้งคู่ก็ถูกสอบสวนและค้นพบว่า พวกเขาทำงานให้กับกลุ่ม P3 ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่รับจ้างจาก BMW (บีเอ็มดับเบิ้ลยู) ที่กำลังจะเปิดตัวรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% ในเร็วๆ นี้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะในธุรกิจมูลค่ามหาศาลแบบนี้ ทะเบียนสิทธิบัตรที่ถูกจดก่อนนั้นก็เหมือนกับกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้นมาตรการในการควบคุมและต่อสู้กับเรื่องแบบนี้จึงต้องสูงลิบ ในปีค.ศ. 2008 หลังจากเหตุฉาวโฉ่ที่บริษัท Michelin โดนจารกรรมด้านข้อมูลภายใน บริษัทก็ได้จ้าง Bernard Fesquer (เบอร์นาร์ด เฟสเกต์) อดีตรองผู้อำนวยการด้านเทคนิคของหน่วยงานด้านความปลอดภัยภายนอกมาควบคุมสอดส่องระบบโดยรวมทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน นักสืบมากประสบการณ์ในวัยเกษียณนั้นก็ถูกว่าจ้างโดยบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทเพื่อเฝ้าระวัง การจารกรรมสุดแสนอันตรายแบบนี้