Anonymously Well-Knowns
อะไรคือเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังการปกปิดตัวตนของนักเขียน ศิลปิน ดีไซเนอร์ หรือแม้แต่นักธุรกิจ? เพื่อหลีกเลี่ยงอคติในการตัดสิน หรือเพื่อความปลอดภัยส่วนตัว? หรือทั้งสองอย่าง? แล้วเราในฐานะ ผู้เสพผลงาน และผู้บริโภคมีสิทธิแค่ไหนในการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของพวกเขาเหล่านั้น? แล้วเหตุใดเราถึงต้องการที่จะสืบค้นตัวตนที่เขาไม่ต้องการเปิดเผยกันล่ะ?
การปกปิดตัวตนของเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานในหลายสาขานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ในยุคโบราณ นักเขียนส่วนใหญ่เลือกใช้นามปากกาในการประพันธ์เพื่อปกปิดตัวตน และลดข้อครหาว่านวนิยายที่พวกเขาแต่งนั้นอาจจะพาดพิงถึงบุคคลที่พวกเขารู้จักในชีวิตจริง หรือนักเขียนผู้หญิงบางคนก็เลือกใช้นามปากกาที่ฟังดูเหมือนชื่อผู้ชาย เพราะการยอมรับนักเขียนสตรีในบางยุคนั้นยังไม่แพร่หลาย (เรื่องนี้ไม่ต้องย้อนกลับไปไกลมากนักหรอก แม้กระทั่งปลายยุค ‘90s J.K. Rowling (เจ.เค. โรว์ลิ่ง) เองยังได้รับ “คำแนะนำ” จากบรรณาธิการต้นฉบับ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ให้ใช้ชื่อย่อ J.K. แทนชื่อจริงของเธอ (Joanne Rowling) แถมก่อนหน้าที่เธอจะโด่งดังจากซีรีส์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เธอก็เคยใช้นามปากกาว่า Robert Galbraith (โรเบิร์ต กัลเบรธ) มาแล้ว) และการปกปิดตัวตนนั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงวงการวรรณกรรมเท่านั้น
แต่วงการเพลงก็มีนักดนตรีที่สวมหน้ากากตลอดเวลาอย่าง Daft Punk หรือใช้ตัวการ์ตูนแสดงตัวตนอย่าง Gorillaz ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาคือนักดนตรีที่ทำเพลงหลากหลายแนว และต้องการนำเสนอตัวตนที่สอง (Alternated Self) ในเพลงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่รู้กันในบรรดาแฟนเดนตายอยู่ดีว่าตัวจริงของพวกเขาคือใคร อาจจะเพราะพวกเขาไม่ได้ซีเรียสนักกับการปกปิดตัวตนอย่างแท้จริง
แต่ก็มีศิลปินและนักธุรกิจหลายคน (หรือหลายกลุ่ม) ได้อาศัยตัวตนที่สองในการสำแดงความคิดความอ่าน อย่างตรงไปตรงมา รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และสร้างสรรค์ผลงานในสายงานตัวเองอย่างอิสระ เพราะการไม่มีตัวตนในโลกจริงนั้นเป็นการลดอคติในการตัดสินของผู้เสพงานสร้างสรรค์ไปได้หลายเปลาะ นอกจากนั้น การปกปิดตัวตนของศิลปินนั้นยังเป็นการป้องกันความปลอดภัยของตัวเองไม่ว่าจะในเรื่องการถูกคุกคามจากแฟนคลับ หรือการถูกลักพาตัว (ดูอย่างกรณีที่ John Hinckley Jr. (จอห์น ฮินเคิลลีย์ จูเนียร์) พยายามที่จะสังหาร Ronald Reagan (โรนัลด์ เรเกน) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อเรียกร้องความสนใจจาก Jodie Foster (โจดี้ ฟอสเตอร์) ซึ่งฟอสเตอร์ได้ให้สัมภาษณ์หลังจากนั้นว่า เธอรู้สึกว่า ‘ถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน’ หรือกรณีที่ Robert Pattinson (โรเบิร์ต แพททินสัน) ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่สามารถรับมือกับชื่อเสียงของเขาหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Twilight ออกฉายได้ เพราะมีแฟนคลับเฝ้าติดตามเขาตลอดเวลา และมีแฟนคลับบางคนถึงขั้นแฮ็กเข้ามาในอีเมล์ส่วนตัวของเขา ทำให้เขาเลิกเล่นโซเชียลมีเดีย และสามารถติดต่อเขาได้ผ่านทางเอเจนซี่เท่านั้น) ถึงกระนั้น … เมื่อใครสักคนก้าวเข้ามาเป็นจุดสนใจแล้ว ก็ยากแล้วล่ะที่จะอยู่เงียบๆ โดยไม่เปิดเผยตัวตนได้ เรามาทำความรู้จักคนดังไร้ตัวตน และเหล่าแฟนคลับ (หรือแอนตี้แฟนคลับ) ที่พยายามเปิดเผยตัวตนของพวกเขากัน
Banksy
ถ้าพูดถึงประเด็นปกปิดตัวตนแบบนี้ แล้วไม่พูดถึงศิลปินสตรีทอาร์ทชื่อดังสัญชาติอังกฤษอย่าง Banksy บทความนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์อย่างแน่นอน ผลงานของ Banksy ปรากฏในรถไฟใต้ดินกรุงบริสตอล และกรุงลอนดอนตั้งแต่ช่วงต้นยุค ‘90s แต่เขาเริ่มเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วโลกจากผลงานชื่อ The Mild Mild West ช่วงปีค.ศ. 1999 และผลงานหลังจากนั้นของเขาก็เป็นภาพกราฟิตี้สไตล์ต่อต้านสงคราม ต่อต้านระบอบทุนนิยม รวมไปถึงต่อต้านระบอบต่างๆ ในสังคม ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหัวข้อเหล่านั้นทำให้โลกหันมาสนใจเขาอย่างจริงจัง และเขาก็กลายเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นใหม่คนสำคัญของโลก
เมื่อมีชื่อเสียง ก็มีคนอยากจะขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวของเขา แต่ Banksy ก็ปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวตนอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะกับสื่อใดๆ ก็ตาม มีทฤษฎีหลากหลายที่พยายามจะสืบเสาะค้นหาว่าเขาเป็นใคร ในปีค.ศ. 2014 มีเว็บไซต์หนึ่งอ้างว่าง Paul Horner (พอล ฮอร์เนอร์) ชายหนุ่มวัย 35 ปีจากเมืองลิเวอร์พูลที่ถูกกลุ่ม Anti-Graffiti Task Force ตามจับในข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะคือ Banksy ตัวจริง แต่ต่อมา Jo Brooks (โจ บรูกส์) เอเจนซี่ของ Banksy ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่า Banksy ยังอยู่ดีมีสุขไม่ได้ถูกจับไปไหน ขอให้บรรดาแฟนๆ สบายใจได้
ปีถัดมา Richard Pfeiffer (ริชาร์ด ไฟเฟอร์) ถูกจับข้อหาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งภาพนั้นเป็นภาพที่สร้างสรรค์โดย Banksy ในย่านแมนฮัตตัน แต่จริงๆ แล้ว เขาและคู่หมั้นเพียงแค่เดินผ่านและชื่นชมผลงานชิ้นนั้นอยู่เท่านั้น แต่เขาก็ถูกจับอยู่ดี และ ข่าวก็แพร่ไปไกลแล้วว่าเขาคือผู้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนั้น แต่หกเดือนถัดมา เขาก็หลุดพ้นข้อกล่าวหา และออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการด้วยตัวเองว่าเขาไม่ใช่ Banksy
ต่อมาไม่นานนัก HBO ได้ผลิตสารคดีเรื่อง Banksy Does New York ที่ Chris Healey (คริส ฮีลลีย์) ศิลปินชาวแคนาดาได้ยืนยันว่า Banksy เป็นกลุ่มศิลปินจำนวน 7 ชีวิตที่มีผู้หญิงเป็นหัวหน้า โดยผู้หญิงคนนั้นปรากฏตัวในสตูดิโอของ Banksy ที่เปิดเผยในสารคดีเรื่อง Exit Through the Gift Shop ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ยัง ไม่มีเอเจนซี่ของ Banksy ออกมาปฏิเสธเป็นทางการ แต่ทฤษฎีนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับทั่วไปในหมู่แฟนๆ Banksy เพราะไม่มีใครเชื่อว่าผลงานของเขาเป็นงานกลุ่มนั่นเอง
ในปีค.ศ. 2008 ได้มีนักสืบแบบโพรไฟล์ลิ่งจาก Queen Mary University กรุงลอนดอนได้นำเทคนิคการโพรไฟล์ลิ่งแบบถิ่นที่อยู่มาตามหาตัว Banksy และสรุปว่าเขาคือ Robin Gunningham (โรบิน กันนิ่งแฮม) ศิลปินท้องถิ่นในเมืองบริสตอล ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 2015 โรบินก็ได้ปรากฏตัวในโปรเจ็กต์ Dismaland ของ Banksy ในฐานะเด็กโบกรถ ซึ่งแฟนๆ ก็จำเขาได้ จึงมีการสรุปอย่างจริงจังว่าแท้จริงแล้วโรบินเองนั่นล่ะคือ Banksy
และก็ยังมีนักข่าวอย่าง Craig Williams (เครก วิลเลียมส์) ที่นำเสนอความเกี่ยวข้องกับผลงาน Banksy กับ Robert Del Naja(โรเบิร์ต เดล นายา) ฟรอนท์แมนวง Massive Attack ซึ่งเขายืนยันว่า ทุกครั้งวงนี้ไปเล่นที่เมืองใดๆ ก็ตาม จะต้องมีผลงานของ Banksy ปรากฏตามมาเสมอ แต่ก็นะ ไม่มีการตอบรับหรือปฏิเสธจากเอเจนซี่ของ Banksy ก็สรุปว่ายังไม่สรุปอยู่ดีว่า Banksy คือใครกันแน่
Elena Ferrante
เอเลนน่าเป็นนามปากกาของนักเขียนนวนิยายชาวอิตาเลียน เธอมี
ผลงานเขียนเล่มแรก Troubling Love ตั้งแต่ปีค.ศ. 1992 และโด่งดังไปทั่วโลกตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ผลงานที่สร้างชื่อเสียงที่สุดคือซีรีส์นวนิยายสี่ตอนจบชุด Neapolitan Novels ที่ตีพิมพ์ไปเมื่อปีค.ศ. 2011 ในปีค.ศ. 2016 เธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกใบนี้โดยนิตยสาร Time แม้ว่าเธอจะเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่เธอก็ยืนยันที่จะปกปิดตัวตนที่แท้จริงของเธอไว้อย่างเงียบเชียบ และก็เป็นดังที่เขาว่า ยิ่งไม่อนุญาต ยิ่งอยากจะรู้ จึงมีหลากหลายทฤษฎีว่าด้วยเรื่องตัวตนที่แท้จริงของเธอ โดยเป็นการจับแพะชนแกะของบทสัมภาษณ์ที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ตามสื่อต่างๆ
ต่อมาในปีค.ศ. 2003 เธอตีพิมพ์หนังสือเรื่อง The Act of Falling Apart เป็นจดหมายที่เธอโต้ตอบกับบรรดาบรรณาธิการของเธอ ซึ่งก็เปิดเผยตัวตนของเธอออกมาได้นิดหน่อยว่าเธอเติบโตที่เมืองเนเปิล และออกไปใช้ชีวิตนอกประเทศอิตาลีมาได้สักระยะหนึ่ง เธอถือปริญญาวรรณกรรมคลาสสิก มีลูก แต่ไม่ได้แต่งงานแล้ว
ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น
ปีค.ศ. 2016 Marco Santagata (มาร์โก้ ซานตากาต้า) นักเขียนนวนิยายและศาสตราจารย์ที่ University of Pisa ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วยการระบุตัวตนของเอเลนน่าโดยวิเคราะห์จากสไตล์งานเขียนของเอเลน่าอย่างใกล้ชิด ในตอนที่เธอบรรยายภาพเมืองปิซ่า และเขียนถึงเรื่องการเมืองอิตาลียุคใหม่ และรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาสรุปได้ว่า เอเลนน่าเคยอาศัยอยู่ในเมืองปิซ่า แต่ออกจากเมืองไปในช่วงปีค.ศ. 1966 เธอจึงเสนอทฤษฎีว่าเอเลน่าอาจจะเป็นศาสตราจารย์ชาวเนเปิล Marcella Marmo (มาร์เซลลา มาร์โม) ที่มาเรียนที่เมืองปิซ่าในช่วงค.ศ. 1964 – 1966 แต่ทั้งมาร์เซลลาและเอเจนซี่ของเอเลนน่าก็ออกมาปฏิเสธทฤษฎีนี้กันอย่างพร้อมเพรียง
ช่วงปลายปีค.ศ. 2016 ก็เกิดข่าวครึกโครมไปทั่วโลกเมื่อ Claudio Gatti (เคลาดิโอ กัตติ) ตีพิมพ์บทความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินของ Anita Raja (แอนิตา ราย่า) นักแปลในกรุงโรมว่าเธอนั่นเองที่เป็นเอเลนน่าตัวจริง โดยในบทความนั้นมีข้อมูลเรื่องการเงิน และการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของแอนิตาแบบโจ๋งครึ่ม และบทความนี้ ก็กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางบนโลกวรรณกรรมถึงการคุกคามเรื่องส่วนตัวของนักเขียนและขอบเขตของการเข้าถึงข้อมูลลับต่างๆ โดย Matt Haig (แมตต์ เฮก) นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษถึงกับทวีตข้อความว่า “ความพยายามในการหาตัวเอเลนน่า เฟอร์รันเต้ตัวจริงนั้นเป็นเรื่องที่น่าอดสูและไม่มีค่าใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตัวตนที่จริงที่สุดของนักเขียนก็คือหนังสือที่พวกเขาเขียนนั่นเอง” แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของเคลาดิโอนั้นก็ดูจะเป็นจริงมากที่สุด และยังไร้ซึ่งการปฏิเสธจากเอเจนซี่และสำนักพิมพ์ ก็คงสรุปไปแล้วแบบฉาวโฉ่สินะ เราว่า
Satoshi Nakamoto
เขาเป็นผู้ออกแบบ Bitcoin หรือเงินสกุลดิจิตอลสกุลแรกของโลกที่ต่อมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาดาต้าเบสอย่าง Blockchain ที่จะเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ให้เราทำงานและติดต่อสื่อสารกับทุกคน ได้อย่างอิสระเสรีไร้ซึ่งพรมแดนของประเทศอย่างแท้จริง คุณซาโตชิ นากาโมโต ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ บอกว่าเขาอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เกิดราวๆ ปีค.ศ. 1975 และนั่นก็เป็นเพียงข้อมูลเดียวที่ออกมาจากตัวเขา (หรือตัวพวกเขา เพราะก็ไม่มีใครแน่ใจว่าคุณซาโตชินั้นเป็นคน หรือกลุ่มบุคคลกันแน่) และด้วยความรวยของคุณซาโตชิ (ปีค.ศ. 2016 เขาเป็นเจ้าของบิทคอยน์อยู่ หนึ่งล้านหน่วย ซึ่งก็เทียบเป็นเงินได้ราวๆ 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้นเอง) ก็ย่อมมีคนสงสัยอยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร และก็มีทฤษฎีหลากหลายแตกต่างกันออกไป และส่วนมากทฤษฎีเหล่านั้นก็มุ่งเป้าไปว่าคุณซาโตชิไม่ใช่คนเอเชีย และอาศัยอยู่ที่ประเทศอเมริกาและทวีปยุโรป (แหมนะ … มีแค่เผ่าพันธุ์คอร์เคซอยเท่านั้นสินะที่สามารถคิดค้นอะไรอัจฉริยะเปลี่ยนโลกได้ขนาดนี้)
ในปีค.ศ. 2013 Skye Grey (สกาย เกรย์) บล็อกเกอร์ออนไลน์ได้นำเสนอว่า Nick Szabo (นิก ซาโบ) นั้นอาจจะเป็นคุณซาโตชิตัวจริง เขาเป็นนักค้าการเงินผู้โด่งดังและเป็นเจ้าของบทความบน Bit Gold หลายอัน ซึ่งอ่านๆ แล้วก็มโนได้ไม่ยากว่าเขาเองเป็นคนที่ริเริ่มเรื่องบิทคอยน์เป็นคนแรกๆ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดเจนว่าเขาคือคุณซาโตชิตัวจริง ปีถัดมา นิตยสาร Newsweek ได้ยืนยันว่า Dorian Nakamoto (ดอเรียน นากาโมโต้) ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย (เขามีชื่อจริงว่าซาโตชิ นากาโมโต้) นั้นเป็นคุณซาโตชิ นอกเหนือจากชื่อเดียวกันแล้ว ดอเรียนยังมีโพรไฟล์ที่ชวนให้คล้อยตามว่าเขามีความสามารถมากพอที่จะคิดค้นบิทคอยน์ขึ้นมาจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บทความถูกตีพิมพ์ออกไป บ้านของดอเรียนก็ถูกบุกโดยกองทัพสื่อ และเขาก็ปฏิเสธอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเขาไม่รู้จักเงินสกุลนี้ด้วยซ้ำ ต่อมา P2P Foundation ของคุณซาโตชิก็โพสต์ข้อความเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีตบหน้าสื่อดังฉาดว่า “ผมไม่ใช่ดอเรียน นากาโมโต้นะ” โอเค จบไป
ตัวเลือกถัดมาคือ Hal Finney (ฮัล ฟินนีย์) หน่วยกล้าตายคนแรกๆ ที่เริ่มใช้เงินบิทคอยน์ และเป็นยูสเซอร์ที่มีการโต้ตอบกับดาต้าเบสตลอดเวลา เขาอาศัยอยู่ไม่ไกลจากดอเรียนด้วยซ้ำ นักข่าวจากนิตยสาร Forbes เคยนำลายมือของเขาไปตรวจเทียบกับลายมือของคุณซาโตชิ ซึ่งก็ดูเหมือนกันในหลายจุดแบบไม่น่าเชื่อ แต่ก็มีทฤษฎีว่าเขาอาจจะแค่เป็นโกสต์ไรเตอร์ให้กับคุณซาโตชิก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามฟินนีย์ปฏิเสธเสียงแข็งว่าเขาเป็นเพียงยูสเซอร์เท่านั้น
คนที่อื้อฉาวที่สุดเห็นจะเป็น Craig Steven Wright (เครก สตีเฟ่น ไรท์) เพราะนิตยสาร Wired ได้เขียนว่าเครกนั้นคือคนที่คิดค้นบิทคอยน์ หรือไม่ก็พวกลวงโลกที่ชอบทำให้โลกคิดว่าเขาคิดค้นนั่นล่ะ แต่เครกเองกลับ
ปิดแอ็คเคาน์ทวิตเตอร์ของตัวเองและปิดปากเงียบ ไม่ออกสื่อ ในวันเดียวกันนั้นเอง Gizmodo ก็ตีพิมพ์หลักฐานที่แฮ็กได้จากอีเมล์ของเครกยืนยันว่าคุณซาโตชิคือเครกกับ David Kleiman (เดวิด คลีแมน) นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ที่เสียชีวิตไปเมื่อปีค.ศ. 2013 แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บิทคอยน์ส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเชื่อถือข้อมูลดังกล่าว และบ้านของเครกก็ถูกตำรวจบุกค้นหาเรื่องเอกสารทางภาษีต่างๆ แต่ก็เงียบไป
จนในที่สุด กลางปีค.ศ. 2016 เครกก็ได้โพสต์ขึ้นบล็อกตัวเองว่า เขาคือคุณซาโตชิตัวจริง แต่อย่างไรก็ตาม Peter Todd (ปีเตอร์ ทอดด์) เดเวลลอปเปอร์ของบิทคอยน์ได้ออกมาปฏิเสธการโพสต์ดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าการโพสต์นั้นไม่น่าเชื่อถือและไม่มีที่มา และได้ปฏิเสธเรื่องนี้ลงไปในทวิตเตอร์หลักของบิทคอยน์เองเลยทีเดียว หนึ่งเดือนถัดมา London Review of Books ได้ตีพิมพ์บทความว่าด้วยเรื่องของเครกและสงครามบิทคอยน์ โดยอ้างว่ามีบริษัทของประเทศแคนาดาอยู่เบื้องหลังความพยายามที่จะเปิดเผยตัวของเขา ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทฤษฎีสมคบคิดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็สรุปอีกครั้งว่ายังไม่สรุปอยู่ดี
การตามหาตัวตนของคนที่เราชื่นชม เพื่อทำความรู้จักและนำกลับไปมโนให้ชุ่มชื่นหัวใจนั้นก็คงไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรมากนัก หากพฤติกรรมนั้นไม่ไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของคนผู้นั้นทั้งในโลกจริงหรือโลกเสมือน พึงระลึกไว้เสมอว่าเราทุกคนล้วนต้องการที่ว่างส่วนตัวกันทั้งนั้น บรรดาคนดังก็ไม่ยกเว้นหรอก จริงๆ นะ