Hair and Power: order and chaos
หนึ่งความคับแค้นสมัยเด็กที่ชายไทยมีร่วมกันเห็นจะหนีไม่พ้นผมทรงนักเรียน ผมสั้นกุดแบบ “ขาวสามด้าน” ลักษณะบังคับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนมัธยมศึกษา สัญลักษณ์แห่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย จากคำสอนของบรรดาครูอาจารย์ว่า ความเป็นระเบียบเรียบร้อยนี่แหละที่จะเป็นประโยชน์เมื่อเติบโตสู่สังคมใหญ่
แต่ผมนักเรียนก็กลายเป็นเพียงความทรงจำหรือเรื่องเล่าขำขันในวงเหล้าเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยและต่อมาจนทำงาน แต่สำหรับบางอาชีพ ผมแบบขาวสามด้านก็ยังคงเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด สัญลักษณ์ของการเป็นรั้วของชาตินั้นนอกจากชุดลายพรางสีเขียวเข้ม ก็เห็นจะเป็นผมสั้นกุดแบบขาวสามด้านนี่แหละที่จะช่วยให้เราสังเกตได้ทันที กระแสสังคมต่างชวนให้เราขบคิดถึงความล้าสมัยของค่านิยมที่เคยเป็นใหญ่มาทั้งชีวิต ลอปติมัมฉบับเดือนกุมภาพันธ์ใช้เวลาตลอดเดือนเพื่อค้นคว้าถึงที่มาที่ไปของผมแบบขาวสามด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างผมทรงนักเรียนและทรงผมของทหาร และเหตุใดผมทรงนี้จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมไปได้
The Great War Changed It All
จุดเริ่มต้นของผมสั้นในฐานะข้อบังคับเพื่อความเป็นระเบียบเห็นจะต้องย้อนกลับไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อปีค.ศ. 1914 สงครามครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างฉับพลัน งบประมาณมหาศาลของประเทศสงครามนั้นเทให้กับการพัฒนานวัตกรรมสงครามที่เอื้อให้การศึกสะดวกขึ้นและเพิ่มโอกาสชนะแก่กองทัพ ข้อจำกัดทางกายภาพก็ตามมาเพื่อเอื้อให้นายทหารใช้นวัตกรรมเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด กฎเกณฑ์การตัดผมด้านข้างและหลังให้สั้นกุดถูกประกาศใช้ในกองทัพตะวันตกครั้งแรกเพื่อเอื้อให้นายทหารใส่หมวกเหล็กป้องกันศีรษะได้แน่นที่สุด นี่คือต้นกำเนิดของผมทรง Regulation Cut ผมด้านข้างและด้านหลังสั้นแนบศีรษะส่วนด้านบนไว้ยาวประมาณหนึ่งและแสกข้าง
ต่อมาในสงครามโลกครั้งที่สอง ปีค.ศ. 1939 นายทหารของสหรัฐที่เคยไว้ผมยาวได้อย่างอิสระถูกบังคับให้ตัดผมสั้นเพื่อป้องกันปัญหาเห็บเหาจากการที่ต้องอาศัยในสนามเพลาะเป็นเวลานาน ทางฝั่งเยอรมนี กองทัพนาซีคือต้นกำเนิดของ Undercut ดังที่ปรากฏในภาพถ่ายที่หลงเหลืออยู่ นายทหารตั้งแต่ชั้นผู้ใหญ่ไปจนผู้น้อยจะไว้ผมสั้นแบบขาวสามด้าน ส่วนผมด้านบนไว้ยาว และเสยไปด้านหลัง (ฮิตเลอร์เองก็ไว้ผมทรงนี้)
กฎการไว้ผมทรงทหารในหมู่นักเรียนปรากฏครั้งแรกสมัยการปกครองของจอมพลป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นของความจำเป็นที่จะต้อง “รวมชาติ” เพื่อธำรงเอกราชไว้ นักเรียนถูกบังคับให้ไว้ผมทรงลานบิน (ซึ่งภายหลังเรียกว่า ทรงนักเรียน) ตามอย่างนายทหาร เพื่อเป็นไปตามอุดมคติของสังคมในขณะนั้นที่ประชาชนทุกคนมีภาระหน้าที่ในการปกป้องดูแลชาติ และนักเรียนก็เป็นเสมือนนายทหารน้อยในระบอบการศึกษาที่จะช่วยพัฒนาชาติสืบไป ข้อบังคับทรงผมนั้นมาพร้อมกับข้อบังคับเชิงกายภาพอีกหลายข้อ เช่น เล็บและเครื่องแบบ
Order Was the Dream of Man
Henry Brooks Adams (เฮนรี่ บรูกส์ อดัมส์) นักประวัติศาสตร์ชาวสหรัฐผู้เติบโตมาในครอบครัวนักการเมืองเคยกล่าวไว้ว่า “โกลาหลคือกฎของธรรมชาติ ระเบียบคือความใฝ่ฝันของมนุษย์” จากระเบียบปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การสวมหมวกเหล็ก สู่การเป็นสัญลักษณ์ประจำกายนายทหาร ทรงผมแบบขาวสามด้านกลายมาเป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย สังคมแห่งอำนาจมักผูกโยงความเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้กับข้อจำกัดการแสดงออกทางอัตลักษณ์ของปัจเจกชน ความสัมพันธ์นี้อาจเป็นผลมาจากแนวคิดแบบเผด็จการที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นต่างๆ จึงออกข้อกำหนดให้ทุกคนแสดงออกได้เท่ากัน เพื่อมิให้ผู้ที่มีเงินมากกว่าแสดงออกได้มากกว่า แน่นอนว่าการลดทอนเอกลักษณ์เฉพาะตนย่อมสร้างความสะดวกแก่การปกครอง บอกซ้ายเป็นซ้าย บอกขวาเป็นขวา ความชื่นชอบในทรงผมทหารซึ่งแพร่หลายในหมู่พลเรือนนั้นสันนิษฐานได้ว่า เป็นผลมาจากการกลับมาจากสงครามของเหล่าทหารผ่านศึก ทหารผู้ซึ่งกลายมาเป็นวีรบุรุษของประเทศนำพาเอาทรงอันคุ้นเคยกลับมาด้วย และยังคงรักษาทรงผมแบบทหารไว้ด้วยความเคยชิน ทรงแบบอันเดอร์คัท รองทรงสูง สกินเฮด หรือรองทรงหวีจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษแข็งแกร่งขวัญใจสาวๆ ดังที่เห็นได้จากรันเวย์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา