The Shapes of things to come
เริ่มต้นปีค.ศ. 2017 ด้วยการส่องกล้องมองอนาคต ลอปติมัมนำเสนอเทรนด์ใหญ่ที่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด ศัพท์แปลกๆ ไม่คุ้นหูอย่าง Artificial Intelligence, Internet of Things, Thailand 4.0, Blockchain จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นเทรนด์ที่จะส่งผลกระทบกับชีวิตมนุษย์เราทุกคนในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจ การเงินการธนาคาร ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือแม้แต่เป็นประชาชนตาดำๆ นี่คือ 5 ไอเดียสำคัญที่กำลังเป็นกระแสระดับโลกและกำลังจะมากระทบฝั่งประเทศไทยในปีนี้
Artificial Intelligence
Shakrit Chanrungsakul ที่ปรึกษาด้านแบรนด์และเทคโนโลยี
ผู้คร่ำหวอดในวงการสตาร์ทอัพ และผู้ก่อตั้งบริษัท Fire One One
คอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อราว 50 ปีก่อน เป็นนวัตกรรมสำคัญที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของมนุษย์ เราโยกย้ายฐานข้อมูลจาก ‘กระดาษ’ ไปยังคอมพิวเตอร์ เราทำงาน ค้นหา และจัดการข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์จนเคยชิน จนกระทั่งในปีค.ศ. 2007 Apple Inc. ได้เปิดตัวไอโฟนรุ่นแรก จากนั้นสมาร์ทโฟนก็เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมคนอย่างมหาศาล เดิมที่ต้องวิ่งเข้าหาคอมพิวเตอร์ เพื่อค้นหาข้อมูล ทุกวันนี้เราเข้าถึงข้อมูลได้แทบจะทุกที่ทุกเวลา และเราเข้าถึงคอมพิวเตอร์น้อยลงทุกที ปัจจุบันสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิด ‘พฤติกรรมใหม่’ ซึ่งจะปูทาง ให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะตามมา นั่นก็คือ Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์
หลักการของ AI คือ ตัวช่วยการคำนวณ เหมือนเอาสมองของคนหมื่นๆ คนมาช่วยคิด แต่เงื่อนไขคือ AI ต้องการข้อมูลเข้า (Input) เพื่อที่สมองกลจะได้เรียนรู้ ถ้าเราไม่สอนก็จะไม่มีการเรียนรู้ AI ก็จะยัง เป็นเด็กเหมือนเช่น Siri ในไอโฟนช่วงแรกๆ ที่ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันโต้ตอบกับคนได้ดีขึ้น ด้วยการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ (Machine Learning) ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ อย่าง IBM, Apple และ Google ล้วนพัฒนา AI ของตัวเอง และ AI ก็จะถูกนำมาใช้ในธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้จะทำให้คนจำนวนหนึ่งตกงาน เพราะงานที่มีรูปแบบการทำซ้ำๆ (Routine) จะหายไป คนจะต้องย้ายไปทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันงานในคอลเซ็นเตอร์ก็ถูกแทนที่ด้วย AI กันบ้างแล้ว และธนาคารก็กำลังเริ่มนำ AI ไปใช้ สำหรับเจ้าของกิจการทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ โดยนำมาให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าตัวเองมากขึ้น หากคุณเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ต แทนที่จะนับปริมาณคนเข้าออกห้างด้วยคน ต่อจากนี้ไปควรจะเป็นระบบเซ็นเซอร์ หรือกล้องที่มีระบบตรวจจับใบหน้า (Face Recognition) AI จะช่วยแยกแยะให้ว่าคนที่เข้ามามีกลุ่มไหนบ้าง แต่งตัวอย่างไร เพศอะไร เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ปรับปรุงธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หรือในการจัดการการใช้พลังงานในอาคารสำนักงาน ถ้า AI เรียนรู้ข้อมูลพฤติกรรมการกลับบ้านของคนแต่ละชั้นแต่ละตึก AI ก็จะช่วยบริหารการใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในเมืองไทย มีผู้เชียวชาญด้านเทคโนโลยี AI อยู่ แต่ยังอยู่ในเฉพาะวงแคบๆ การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจทั่วไปนั้นจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอีกมาก อย่างไรก็ดีหลายคนพูดถึงอันตรายของ AI ว่าหาก AI นั้นฉลาดขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะเป็นภัยต่อมนุษยชาติหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ ใหญ่อย่าง Stephen Hawking (สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง) ก็เชื่อว่า จะเป็นเช่นนั้น เราอาจจะต้องจำกัดขอบเขตการใช้ AI แต่ในที่สุดแล้วก็คงเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้
<<เทคโนโลยีนี้ [AI] จะทำให้คนจำนวนหนึ่งตกงาน เพราะงานที่มีรูปแบบการทำซ้ำๆ (Routine) จะหายไป คนจะต้องย้ายไปทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันงานในคอลเซ็นเตอร์ก็ถูกแทนที่ด้วย AI กันบ้างแล้ว และธนาคารก็กำลังเริ่มนำ AI ไปใช้>>
Digital Police
Tanatath Kamolratanapiboon นักธุรกิจ นักลงทุน
ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัย ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงตำรวจ
ในปีค.ศ. 2017 นี้ เทรนด์หนึ่งที่กำลังจะแผ่อิทธิพลครอบงำชีวิตเราๆ ท่านๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั้นก็คือ Digitalization หรือการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจขององค์กรต่างๆ สัญญาณสำคัญคือ การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการ Digitalization ถึงขั้นสถาปนา ‘กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม’ ขึ้นมา ดังนั้นทุกหน่วยงานของรัฐจึงตื่นตัวในการแปลงเป็นระบบดิจิตอลอย่างมาก รวมถึงหน่วยงานผู้รักษากฎหมายอย่างกองบัญชาการตำรวจจราจรที่นำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาปรับใช้ ในองค์กร เปลี่ยนแปลงให้หน่วยงานก้าวล้ำทันสมัย ขึ้นมากมาย
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะล้ำสักเพียงใด แต่ว่าเราทั้งหมดยังคงอยู่ภายใต้กฎหมาย ผู้รักษากฎหมายในยุคดิจิตอล อย่างตำรวจก็จำเป็นต้องทันสมัยเพื่อพร้อมดูแลประชาชนในยุคสมัยนี้ อาจเรียกว่า “ตำรวจ 4.0” ก็ฟังดูจะเข้าเทรนด์อยู่เลยทีเดียว ทว่าไม่ใช่ตำรวจ ที่มีปืนเลเซอร์อย่างโรโบคอป แต่คือตำรวจไทยที่กล้าหาญ บวกกับระบบการปฏิบัติการและอุปกรณ์ไฮเทคนานาชนิดเข้าไปด้วยนี่เอง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีความรู้ความเข้าใจในระบบโครงข่ายอิเลกทรอนิกส์ โซเชียลมีเดีย การใช้อุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย การปฏิบัติงานทุกครั้งโปร่งใสด้วยการติดกล้องไว้บนอกหรือหัว เพื่อใช้ถ่ายทอดสดหรือบันทึกรายละเอียดการทำงาน
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ อีกเช่น การแจ้งความ ร้องเรียน แจ้งเรื่องด่วนต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ กำลังได้รับความนิยมในเวลานี้อย่างเช่น ilertu ที่ช่วยออกใบสั่งแบบออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ และในอนาคตอาจจะมีบริการชำระเทียบปรับตามใบสั่ง ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยที่คุณไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพัก
สมมุติว่าคุณกระทำความผิดบนถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจยุค 4.0 จะสามารถตรวจจับการกระทำความผิดของคุณได้ทันทีผ่านระบบบูรณาการระหว่างกล้อง ตรวจจับ และเรดาร์ ที่เชื่อมต่อกันผ่านเน็ตเวิร์ก ทันทีที่การกระทำความผิดของคุณถูกตรวจพบ ข่าวจะถูกกระจายกันอย่างสายฟ้าแลบผ่านเครือข่ายโซเชียล มีเดียภายในของเจ้าหน้าที่ จะมีการแจ้งไปยังหน่วยสกัดจับ เพื่อควบคุมตัวผู้กระทำผิดไว้ และจะมีการดำเนินการบันทึก กำกับ ตักเตือน หรือลงโทษตามขอบเขตที่มี โดยข้อมูลการกระทำผิดทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในฐานข้อมูลของราชการ ซึ่งจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน และคุณจะไม่สามารถล้างประวัติตนเองได้เหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป นอกจากนี้การติดสินบนเจ้าหน้าที่จะกระทำไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะมีกล้องที่บันทึกการปฏิบัติงานไว้ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้จะทำให้กฎหมายมีความขลังมากขึ้นทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีเราควรใช้รถใช้ถนนอย่างมีสติ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ร่วมทางและเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ขับรถด้วยความใจเย็นและรักษากฎจราจรดีกว่า หากมีการตั้งด่านตรวจก็พยายามให้ความร่วมมือและ พูดคุยกันด้วยรอยยิ้มแบบสยาม และทุกๆ วันของการเดินทางบนท้องถนนจะมีแต่ความสุขครับ
<<สมมุติว่าคุณกระทำความผิดบนถนน เจ้าหน้าที่ตำรวจยุค 4.0 จะสามารถเห็นการกระทำความผิดของคุณได้ทันทีผ่านระบบบูรณาการระหว่างกล้องตรวจจับ และเรดาร์>>
Thailand 4.0
Suriya G.
บรรณาธิการบริหาร นิตยสารลอปติมัม ไทยเเลนด์
หลายคนคงได้ยินข่าว Thailand 4.0 กันมาบ้างไม่มาก ก็น้อย ผ่านสื่อต่างๆ เพราะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาสักพักใหญ่แล้ว แต่บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจริงๆ แล้ว Thailand 4.0 คืออะไร
Thailand 4.0 คือแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่แบ่งออกเป็นระดับ เริ่มต้นจาก Thailand 1.0 คือการผลิตภาคเกษตร ในอดีตสินค้าเกษตรเป็นรายได้หลักของประเทศเรา จากนั้นก็เคลื่อนมาสู่ Thailand 2.0 ซึ่งคือการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรม ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตสินค้าให้กับโลก เราส่งออกสิ่งทอ ยานยนต์ อาหาร ฯลฯ เป็นรายได้หลัก โดยข้อได้เปรียบ ของเราก็คือ แรงงานฝีมือดีและราคาถูก ทว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน เวียดนาม ฯลฯ ได้กลายเป็นคู่แข่งการผลิตในโหมดนี้ ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวขึ้นไปสู่โหมด Thailand 3.0 สร้างมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการผลิต
ปัจจุบันสมาร์ทโฟนเป็นสินค้าสามัญที่คนทั่วไปซื้อหาได้ อีกทั้งเทคโนโลยีการสื่อสารนั้นเร็วขึ้นทวีคูณโครงสร้าง พื้นฐานที่เปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น แต่มีไอเดียเจ๋งๆ สามารถแข่งขันกับบรรษัทระดับโลกได้ เช่น Uber แอพพลิเคชั่นบริการรถยนต์อายุ 5 ขวบ แต่กลับมีมูลค่ามากกว่าผู้ผลิตรถยนต์ GM ที่ก่อตั้งบริษัทมานานกว่าศตวรรษ ปรากฏการณ์อันน่าเหลือเชื่อนี้เป็นผลพวงของ Disruptive Technology หรือ ‘เทคโนโลยีล้มยักษ์’
นอกจากนี้ เทคโนโลยียังพาเราไปสู่ยุค Internet of Things กล่าวคือ ต่อไปนี้อินเตอร์เน็ตจะไม่เพียงเชื่อมระหว่างคนกับคนเท่านั้น แต่จะเชื่อมคนกับสิ่งของต่างๆ อีกด้วย ในอนาคตตู้เย็นจะสามารถบอกเราได้ว่าน้ำดื่มกำลังจะหมด การนำเทคโนโลยีและระบบเน็ตเวิร์กเข้ามาใช้คือโหมดการผลิต 4.0 หรือ Smart Factory
Thailand 4.0 จะเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ช่วยยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง นวัตกรรมเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยยกระดับธุรกิจไม่ว่าจะเล็กใหญ่ เอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพให้ขึ้นไปเป็น 4.0 ได้ ถ้าคุณเป็นเกษตรกรแบบดั้งเดิม ก็ต้องปรับตัวไปเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ (Smart Farming) ถ้าคุณเป็นดีไซเนอร์ ก็จำเป็นต้องที่เข้าใจเทคโนโลยีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตใหม่อย่างเครื่องพิมพ์สามมิติสร้างงานสินค้าต้นแบบในต้นทุนที่ต่ำ ก่อนจะใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการขาย
ในส่วนธุรกิจบริการที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย จะต้องเปลี่ยนจากการให้บริการแบบเดิมๆ ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่มูลค่าสูง โดยใช้แอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้กับลูกค้าได้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่คนในภาคบริการต้องคิด ส่วนแรงงานทักษะต่ำ ก็จะต้องพัฒนาตัวเองให้ไปเป็นช่างที่มีความชำนาญ และมีทักษะสูง เพราะงานประจำที่ทำซ้ำๆ จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
<<ถ้าคุณเป็นเกษตรกรแบบดั้งเดิม ก็ต้องปรับตัวไปเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ (Smart Farming) ถ้าคุณเป็นดีไซเนอร์ ก็จำเป็นต้องที่เข้าใจเทคโนโลยี >>
P2P Economy
Michel Bauwens นักคิดชาวเบลเยี่ยมและผู้ก่อตั้ง P2P Foundation
ชัยชนะของ โดนัล ทรัมป์ เป็นสัญญาณชัดเจนว่า โลกาภิวัตน์ กำลังจะจบสิ้นลง ลัทธิเสรีนิยมใหม่ Neoliberalism คือ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เชื่อว่าตลาดเสรีที่ปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันอย่างอิสระ คือคำตอบของทุกสิ่ง ตามที่นักรัฐศาสตร์ชื่อก้อง Francis Fukuyama (ฟรานซิส ฟุกุยาม่า) ประกาศไว้ในหนังสือ The End of History ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าไม่เป็นเช่นนั้น
จริงอยู่ที่ทุนนิยมโลกาภิวัตน์สร้างโอกาสให้กับประเทศด้อยพัฒนา ช่วยดึงคนนับล้านๆ ให้พ้นจากระดับความยากจน แต่ในขณะเดียวกันก็พรากงานจากชนชั้นกลาง White Working Class ในทวีปยุโรปและอเมริกา จนกลายเป็นพลังด้านกลับให้นักการเมืองขวาจัดอนุรักษ์นิยมเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ระดับเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ ซึ่งไม่สามารถแก้ได้โดยระบบทุนนิยมที่มีหัวใจ หรือการตลาดรักษ์โลกร้อน การปฏิวัติทางเทคโนโลยีของเหล่าสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ เหมือนจะเป็นความหวังในช่วงแรกๆ แต่กลายเป็นว่า เทคโนโลยีทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนไม่กี่คน ตัวอย่างเช่น Apple สร้างงานให้คนจีนเป็นล้านๆ แต่ในอเมริกาแค่หลักหมื่นคน ส่วนผู้ถือหุ้นไม่กี่หยิบมือก็ร่ำรวยจากการเล่นกลทางภาษี
โลกกำลังปั่นป่วน แต่ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี ทางขวาที่เดินมาสักพัก ก็แน่ชัดแล้วว่าหายนะ ในขณะที่ทางซ้ายก็มืดมัวไม่ชัดเจนว่าคือทางออก แต่ในช่วงเวลาเช่นนี้แหละที่ทางเลือกใหม่มักจะโผล่ขึ้นมา มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่นำเสนอทางเลือก ที่ไม่ใช่ทั้งซ้ายจัดและขวาตกขอบ แตกต่างจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจกระแสหลัก นั่นก็คือเศรษฐกิจแบบ P2P (Peer-to-Peer) ที่เชื่อในสังคมชุมชน (Commons-based Society) เชื่อในการแบ่งปัน และการทำมาหาได้เพื่อชุมชน (Community) ฟังดูเผินๆ เหมือนเอ็นจีโอ โลกสวยในทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์ แต่ไอเดียเหล่านี้กำลังก่อตัวเป็นคลื่นสึนามิที่มีพลังอยู่ใต้น้ำอย่างเงียบเชียบ
แนวคิดนี้มี P2P Foundation เป็นหัวหอก กลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยนักวิจัย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักคิด ก่อตั้งโดย Michel Bauwens (มิเชล เบาเวนส์) นักคิดชาวเบลเยี่ยมที่ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เบาเวนส์เคยเป็นฟันเฟืองของระบอบทุนนิยม เขาทำงานให้กับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ จนกระทั่ง พอถึงช่วงวัยกลางคน เขาเกิดวิกฤติทางด้านจิตวิญญาณ เขารู้สึกว่าชีวิตที่กำลังดำเนินอยู่นี้ไม่ใช่คำตอบ เลยตัดสินใจลาออกจากงาน มาอ่านหนังสือ ค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นเวลากว่า 2 ปี จนกระทั่งก่อตั้ง P2P Foundation ขึ้นมา
เบาเวนส์เสนอว่า แทนที่เราจะทำธุรกิจโดยยึดหลักการหากำไรสูงสุด สร้างมูลค่า (Value) ด้วยวิธีขูดรีดจากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างในระบอบทุนนิยมปัจจุบัน ควรจะเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ประชาชนทุกคนสร้างมูลค่าให้กับชุมชน (Community) แทน Wikipedia เป็นตัวอย่างที่ดีของเศรษฐกิจแบบ P2P ที่การสร้างมูลค่าจากการสละเวลาของคนทำด้วยความยินดี และทุกคนในชุมชนก็ได้ประโยชน์อีกด้วย
<<แทนที่เราจะทำธุรกิจ โดยยึดหลักการหากำไรสูงสุด สร้างมูลค่าด้วยวิธีขูดรีด (Extractive) อย่างในระบอบทุนนิยมปัจจุบัน ควรจะเปลี่ยนเป็น เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ประชาชนทุกคนสร้างมูลค่าให้กับชุมชนแทน>>
Blockchain Technology
Primavera De Filippi นักวิจัยจาก Harvard Law School
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างปลวกสามารถร่วมมือกันสร้างรังใหญ่โตกว่ามันได้ หรือว่านกฝูงใหญ่สื่อสารกันอย่างไรให้บินไปตามทิศทางอย่างมีระบบระเบียบ นักวิทยาศาสตร์บางท่านอธิบายว่าเป็นเพราะ ‘ภูมิปัญญาหมู่’ (Collective Intelligence) โดยสัตว์เหล่านั้นสื่อสารกันด้วยจิตไร้สำนึกที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ จะว่าไปก็มีความคล้ายกับสังคมมนุษย์ ที่สามารถรวมพลังกัน เพื่อสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่เกินตัว อย่างสร้างตึกระฟ้า ยานอวกาศ หรือเรือเดินสมุทรได้ ด้วยการร่วมมือกันทำงานของคนตัวเล็กตัวน้อย ตั้งแต่วิศวกร นายธนาคาร แรงงานที่อาบเหงื่อต่างน้ำ หรือแม้แต่แม่ค้าส้มตำที่หาบของไปขายในไซต์ก่อสร้าง มนุษย์รวมพลังกันเพื่อสร้างสิ่งที่ใหญ่โตมานานเป็นพันๆ ปีแล้ว แต่แตกต่างกันตรงที่ปิรามิดสร้างโดยแรงงานทาสที่โดนบังคับเพื่อผู้นำสมมติเทพ ไม่ใช่ความยินยอมด้วย (Free Will) ส่วนในยุคสมัยใหม่นั้นดีขึ้นมาหน่อย โปรเจ็กต์ใหญ่สำเร็จได้โดยการระดมทุน และการทำงานของคนจำนวนมากในรูปแบบของ ‘บริษัท’ ที่มีการจัดการแบบมีลำดับชั้น ทว่าหงาดเหงื่อแรงงานนั้นต้องแลกกับเงินภายใต้ระบบทุนนิยม
Primavera De Filippi นักวิจัยจาก Harvard Law School เชื่อว่า การรวมตัวในระบบทุนนิยมปัจจุบันนั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ และไม่ใช่หนทางเดียวในการรวมตัวกันของมนุษย์ด้วย เราสามารถรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่จากการขู่เข็ญจากฟาโรห์ หรือล่อด้วยเงินของนายทุน หากมนุษย์สามารถสื่อสารและร่วมมือกันได้ผ่านระบบการสื่อสารที่ซับซ้อน และเชื่อถือได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่าคือ Blockchain
Blockchain คือเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง (Decentralised) และกระจายตัว (Distrubuted) ยืนยันสิทธิของข้อมูลด้วยการถอดรหัสโดยทำให้การแลกเปลี่ยน ‘ข้อมูล’ กับบุคลลอื่นนั้นเชื่อถือ Blockchain ถือกำเนิดขึ้นจาก Bitcoin สกุลเงินดิจิตอลแรกที่ไม่มีรัฐมาควบคุม เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนสามารถร่วมมือกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก ทุกการกระทำถูกบันทึกลงในสัญญาการทำงานอัจฉริยะ Smart Contract ที่แชร์ร่วมกับคนในชุมชน เช่นเดียวกันกับ มด ปลวก ที่ร่วมงานกันสร้างสรรค์อย่างอิสระเสรี
ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเชิงเทคนิค ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องเข้าใจหมด ก็สามารถที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้ อาจลองนึกถึง บริษัทที่ทุกคนทำงานอย่างเป็นอิสระ ตามเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ ไม่มีเจ้านาย หรือลูกน้อง ไม่มี HR มาคอยจ้ำจี้จ้ำไชเรื่องเข้าสาย แต่ถ้าคุณทำงาน (สร้างประโยชน์) มากเท่าไหร่ ระบบก็จะตอบแทนคุณเท่านั้น และคุณสามารถนำเสนอไอเดียใหม่ได้ๆ โดยที่ไม่ต้องกลัว ‘ระบบราชการ’ จะกีดกัน อย่าคิดว่านี่คือเรื่องจากหนังไซไฟ แต่การทำงานแบบนี้มีจริงแล้วที่ Sensorica แล็ปสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศสเปน ใช้ Blockchain เข้ามาสร้างระบบการทำงานแบบเปิด (Open Value Network) ในอนาคต Blockchain ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจินตนาการไม่ออกว่า Blockchain จะเข้ามาเปลี่ยนโลกอย่างไร ให้นึกถึงชีวิตก่อนที่เราจะมีอินเตอร์เน็ตใช้ Blockchain จะเขย่าโลกมากกว่าอินเตอร์เน็ตหลายเท่าตัว
<<ในอนาคต Blockchain ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าจินตนาการไม่ออก ให้นึกถึงชีวิตก่อนที่เราจะมีอินเตอร์เน็ตใช้ Blockchain จะเขย่าโลกมากกว่าอินเตอร์เน็ตหลายเท่าตัว>>