พูดคุยกับศิลปินระดับโลก Natanel Gluska ผู้ที่เชื่อว่าวัสดุทุกอย่างมีจิตวิญญาณ รอวันที่ใครสักคนจะเข้ามาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว
The Soul of Materials
Natanel Gluska (นาทาเนล กลัสก้า) เป็นศิลปินที่เกิดในประเทศอิสราเอล แต่อาศัยและทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ แรกเริ่มเดิมทีเขาเป็นจิตรกรก่อนที่จะผันตัวมาเป็นประติมากร เขาแจ้งเกิดในงานของศิลปินหน้าใหม่ไฟแรง Salone Satellite ที่งานมิลานแฟร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขามีชื่อเสียงในระดับสากล
อันที่จริงจะเรียกว่านักออกแบบก็ไม่ใช่ ศิลปินก็ไม่เชิง เราขอเรียกเขาว่า ‘นักสร้าง’ แล้วกัน เพราะเฟอร์นิเจอร์ที่เขาออกแบบเปรียบเสมือนงานศิลปะที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของคนดังหลายคน เช่น Karl Lagerfel (คาล ลาเกอเฟล) Madonna (มาดอนนา) รวมไปถึงนักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้โด่งดังอย่าง Philippe Starck (ฟิลลิปป์ สตาร์ก) ลอปติมัมจึงไม่พลาดโอกาสที่จะพูดคุยกับเขายามที่เขาบินมาจัดแสดงนิทรรศการ ‘One for the Birds’ ที่เมืองไทย
-เกี่ยวกับนิทรรศการ
งานนิทรรศการครั้งนี้ ผมได้เลือกใช้วัสดุผสมผสานจากไม้ บรอนซ์ และภาพพิมพ์ไม้ โดยผมต้องการสร้างงานที่สร้างความรู้สึกเกี่ยวโยงบางอย่างระหว่างคนกับธรรมชาติ ผมชอบที่จะมองออกไปจากร้านอาหารแล้วเห็นนกมาเกาะที่โต๊ะ มันพยายามที่จะเข้ามากินเศษอาหาร คนที่นั่งอยู่หากไม่ตกใจก็จะรอดูว่านกมันจะเข้ามาใกล้ตัวเขาขนาดไหน มันเป็นช่วงเวลาระหว่าง ‘คนหนึ่งคนกับนกหนึ่งตัว’ ที่ไม่มีใครเข้าไปยุ่ง ผมจับเอาความรู้สึกนั้นมาสร้างเป็นผลงาน ซึ่งผมเรียกมันว่า ‘Magic Moment’
-งานชิ้นไหนที่คุณชอบเป็นพิเศษ
เอาจริงๆ ก็ชอบทุกงาน เพียงแต่ความชอบมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงมั้ย?
-ทำไมถึงชอบใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก
ผมอาศัยอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม้จึงเป็นของหาง่าย ไม้บางชิ้นราคาถูกลงหากไม่มีช่างไม้คนไหนสนใจ โดยเฉพาะไม้เก่าหรือไม้ที่ถูกสายฟ้าฟาดมา และอีกอย่างหนึ่งคือความผูกพันธ์ เหมือนนิทรรศการล่าสุดนี้ก็พูดถึงเรื่องป่าในความทรงจำกลายๆ ความทรงจำที่มีส่วนในงาน งานทุกชิ้นมันก็มีที่มาที่ไปจากตัวผมเองนี่แหละ อย่างเช่นภาพพิมพ์ 2 มิติ แม้จะจับต้องหรือนั่งไม่ได้แต่มันคือจุดเริ่มต้นของผมที่เคยวาดภาพบนผืนผ้าใบมาก่อน ผมอยากจะเล่นกับความรู้สึกตรงนั้นด้วย
-“วัสดุทุกอย่างรอวันที่จะถูกเล่าเรื่อง”
ผมเชื่อในคำนี้จริงๆ สำหรับผมแล้วการเลือกใช้วัสดุทุกๆ อย่างคือความท้าทาย ผมชอบเอาชนะความเป็นวัสดุนั้นๆ โดยที่คนอื่นต้องคิดไม่ถึงว่าผมจะทำ เช่นการใช้วัสดุที่มีความแข็งมากมาออกแบบฟอร์มที่ดูนุ่มนิ่ม ซึ่งมันจะชวนให้คุณสัมผัสด้วยความอยากรู้อย่างแน่นอน
-กระบวนการออกแบบ
ผมมักจะเริ่มจากการเดินสำรวจบริเวณรอบที่พักอาศัยที่ผมไปอยู่เดินสำรวจและถ่ายรูป ซึ่งไอเดียผมมักจะมาช่วงเวลานี้ หลังจากปะติดปะต่อไอเดียได้ ผมจะเดินย้อนกลับไปเพื่อเก็บวัสดุที่ผมจะนำมาใช้ทำงาน พอได้วัสดุมาแล้วจึงเริ่มสเก็ตช์แบบต่างๆ ที่วัสดุสามารถทำได้หลังจากทุกอย่างเคลียร์แล้วก็เริ่มลงมือทำเลย
-ทำตามความต้องการของลูกค้า
ผมทำตามใจตัวเองเลย (หัวเราะ) ผมมองว่าเทรนด์พวกนี้มันมาแล้วเดี๋ยวก็ไปน่ะ ยิ่งมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องอีกจะทำให้คุณอึดอัดเปล่าๆ ผมเป็นพวกชอบสวนกระแสหน่อยๆ ถ้าเราไปตามเทรนด์มากๆ แล้ว เราก็คงไม่เป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป
-อนาคต
ผมวางแผนที่จะทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มได้ไอเดียใหม่ๆ บ้างแล้วล่ะ แต่ขออุบไว้ก่อน
-อธิบายผลงานของคุณใน 1 คำ
ความจริง