Modern Mechanics
เยือนโรงงานผลิตนาฬิกา TAG Heuer (แทค ฮอยเออร์) ชมเบื้องหลังเครื่องจักรผลิตนาฬิกาอันล้ำสมัยและฝีมือของช่างผลิตนาฬิกาชั้นครูที่ทำงานกันอย่างขยันขันแข็งอยู่ในโรงงาน
“สายการผลิต” นั้นคืออะไรกันแน่ ดูเหมือนว่ามันจะไม่มีนิยามที่สั้นๆ อธิบายได้ง่าย แต่ตามความเข้าใจของทุกคนแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะมอบรางวัลอันสูงค่าให้กับ บริษัทนาฬิกาที่มีเครื่องเป็นของตัวเอง และสามารถผลิตแท่นเครื่อง สะพานจักร และสะพานจักรกรอกได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ นั้นก็พอจะอะลุ่มอล่วยได้ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่สามารถสรรค์สร้างอุปกรณ์สำหรับการผลิตและอะไรต่อมิอะไรในเรือนเวลาได้อย่างไม่จำกัด คุณสามารถวางใจในฝีมือของพวกเขาโดยไม่จำเป็นต้องผลิตชิ้นส่วนทุกชิ้นด้วยตัวเองทั้งหมดก็ได้
ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ TAG Heuer เริ่มต้นก้าวแรกที่สำคัญของแบรนด์โดยการเข้าสู่วงจร “สายการผลิต” อย่างเต็มตัวเมื่อปีค.ศ. 2010 โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นเมื่อบริษัทซัพพลายอะไหล่คนสำคัญอย่าง ETA ตัดสินใจที่จะกำหนดข้อจำกัดครั้งยิ่งใหญ่ในการซัพพลายชิ้นส่วนต่างๆ ให้กับโรงงานนาฬิกา ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับการตัดสินใจเปิดแผนกพัฒนาและทดลองผลิตเครื่องภายในที่ TAG Heuer ตัดสินใจอนุมัติเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เพราะมันจำเป็นต้องอาศัยเวลายาวนานในการวิจัยและพัฒนาเครื่องนาฬิกาที่เที่ยงตรง ไว้ใจได้ และอยู่ในต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมเพื่อที่จะสามารถผลิตจำนวนมากได้แม้ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ทุกอย่างต้องพึ่งคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม และในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกาที่มากับฟังก์ชั่นจับเวลาแบบดั้งเดิมนั้น TAG Heuer จึงจำต้องเก็บอัตลักษณ์ของแบรนด์ไว้แบบทิ้งไม่ได้ และก็เป็นที่แน่นอนว่า ฟังก์ชั่นจับเวลานั้นถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของศิลปะในการผลิตนาฬิกาแบบดั้งเดิม ถึงแม้ว่าจะมีตัวเครื่องอัตโนมัติอย่าง Caliber ETA 7750 มาทดแทนได้แล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม กลไกอันซับซ้อนในเรือนเวลานั้น ถึงแม้ว่าจะดูมีขนาดเล็กจิ๋วไม่สลักสำคัญมากนักก็ตาม แต่ละชิ้นส่วนนั้นจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลาและความเชี่ยวชาญทั้งจากวิศวกรและช่างฝีมือเป็นอย่างมากในการศึกษาและพัฒนา และด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เครื่องอัตโนมัติเครื่องแรก Caliber 1887 ที่ออกมาในปีค.ศ. 2010 นั้นก็ถือเป็นเครื่องจับเวลาที่มีความเที่ยงตรงสูงที่ผลิตโดย TAG Heuer เอง ซึ่งก็ส่งผลให้เครื่องนาฬิการุ่นใหม่เอี่ยมอย่าง Heuer 02 T (ที่เปิดตัวในงาน Baselworld 2016) นั้นมีระบบขึ้นลานอัตโนมัติ ฟังก์ชั่นจับเวลา และฟังก์ชั่นตูร์บิญงพร้อมกรงที่ทำจากคาร์บอนน้ำหนักเบาแต่เหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ซึ่งผลลัพธ์แห่งความเที่ยงตรงของเครื่องนี้ก็ได้รับการยืนยันด้วยประกาศนียบัตรรับรองความเที่ยงตรงที่แบรนด์ได้รับ และก็เป็นประกาศนียบัตรที่ไม่ใคร่จะมอบให้กับนาฬิกาตูร์บิญงเท่าใดนัก
จาก T0 จนถึง T3
วงการนาฬิกา โดยเฉพาะสายการผลิตแบบใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นต้องการโครงสร้างการผลิตที่ชัดเจน ในโรงงานการผลิตจึงแบ่งลำดับขั้นตอนในการผลิตแยกส่วนอย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่ชิ้นส่วนโลหะพื้นฐานไล่เรียงไปจนถึงขั้นตอนที่นาฬิกาเสร็จสมบูรณ์ เป็นที่แน่นอนว่า ในตอนต้นนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะประกอบไปด้วย ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ วิศวกร และดีไซเนอร์ที่ทำงานร่วมกันที่เมือง La Chaux-de-Fonds ซึ่งก็มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องพื้นฐานทั้งหมดของนาฬิการุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่อง ตัวเรือน หน้าปัด เข็ม หรือสาย วิศวกรผู้ออกแบบตัวต้นแบบนั้นจะทำงานร่วมกับสำนักงานใหญ่เป็นเสมือนผู้แปลงทฤษฎีที่ออกแบบโดยคอมพิวเตอร์ให้ออกมาเป็นนาฬิกาเรือนจริงที่ใช้การได้ หลังจากการทดสอบต่างๆ ในห้องทดลองที่ถูกเรียกกันติดปากว่า “ห้องเชือด” และปรับปรุงแก้ไขจนกระทั่งนาฬิกาเรือนนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงค่อยส่งไปผลิตในสายการผลิตเพื่อนำออกขายในท้องตลาด
ในช่วงต้นๆ ของการพัฒนาและผลิตส่วนประกอบเครื่องนั้น จะมีธรรมเนียมเรียกขั้นตอนนี้ว่า T0 ซึ่งก็จะตามมาด้วยขั้นตอน T1 ซึ่งหมายถึงกระบวนการทดลองประกอบชิ้นส่วนกลไกภายในหลายชิ้น เพื่อที่จะ ให้ออกมาเป็นเครื่องนาฬิกาที่สมบูรณ์ สำหรับ TAG Heuer นั้น ทั้งสองขั้นตอนผลิตที่เมือง Chevenez เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ติดชายแดนประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องนาฬิกาที่เมืองนี้นั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ผ่านการคิดมาแล้วอย่างถี่ถ้วน เพราะมันสามารถดึงดูดช่างทำนาฬิกามีฝีมือจากอีกฟากชายแดนให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ไม่ยากนัก ในปัจจุบันนี้ โรงงานผลิตแห่งนี้มีพนักงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องนาฬิกาอยู่กว่า 40 ชีวิต
กระบวนการผลิตและสร้างสรรค์แท่นเครื่องและสะพานจักรนั้นเกิดขึ้นในตึกหน้าตาทันสมัยในเมือง Fleury ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส โดยเครื่องจักรเหล่านี้นั้นสามารถทำงานได้หลากหลายและสามารถทำงานต่อเนื่องกันได้โดยไม่สะดุด หลังจากที่มันจบงานขั้นตอนหนึ่งแล้ว มันก็จะส่งชิ้นงานนั้นไปยังเครื่องจักรตัวถัดไปเพื่อเริ่มกระบวนการต่อไปได้ทันที กระบวนการจักรกลที่แม่นยำแบบนี้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของความแม่นยำที่เครื่องนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นจับเวลาต้องการ หลังจากที่ผิวของตัวเรือนเสร็จสิ้นกระบวนการฟินิชชิ่งแล้ว เครื่องจักรเหล่านี้ยังสามารถทำหน้าที่ฝังเพชรบนตัวเรือนต่อได้อีกด้วย และมันก็สามารถทำงานละเอียดอ่อนเหล่านี้ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ ไม่มีปัจจัยเรื่องความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าแบบแรงงานมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
และในตึก Atelier T1 ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก กว่า 100 ขั้นตอนกระบวนการเกิดขึ้นเพื่อประกอบชิ้นส่วนคุณภาพสูงต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้กลายมาเป็นเครื่องนาฬิกาที่เที่ยงตรงที่สุด อุปกรณ์หลักๆ นั้นไปอยู่ที่สายการผลิตของโรงงาน Lecureux ซึ่งกำหนดมาตรฐานการผลิตทั้งหมดโดย TAG Heuer มีจอฉายภาพกระบวนการทุกขั้นตอนให้กับผู้เชี่ยวชาญที่คุมเครื่องจักรได้เห็น กระบวนการหล่อลื่นโดยใช้คนหยอดน้ำมันแบบดั้งเดิมนั้นถูกยกเลิกไป แต่ใช้เครื่องจักรที่มีความแม่นยำคำนวณปริมาณน้ำมันและหยอดลงไปในแต่ละขั้นตอน ซึ่งก็เป็นการจำกัดความผิดพลาด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความใส่ใจและความละเอียดอ่อนนั้นถือเป็นกระบวนการสำคัญในการผลิตช่วงนี้ และเมื่อกระบวนการผลิตสิ้นสุดลง ก็จะมีกระบวนการตรวจเช็คและแยกคุณภาพอย่างระมัดระวัง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่อง 1887 และ Heuer 01 จะเป็นผู้เข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองทีละเคส
เมื่อเครื่องเดินทางมาถึงเมือง La Chaux-de-Fonds แล้ว ก็มีการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการปรับโครงสร้างภายในองค์กรครั้งใหญ่ที่เมือง Chevenez ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สายพานการผลิตนั้น ก็มีคุณภาพสูงขึ้น และอัตราการผิดพลาดก็ลดน้อยลงแบบเห็นได้ชัดเจน หลังจากนั้นแผนก T2 และ T3 ก็รับหน้าที่ดำเนินการต่อ พวกเขารับผิดชอบเรื่องการประกอบชิ้นส่วนหน้าปัด เข็ม การเข้าตัวเรือน และการใส่สาย ไปจนถึงเรื่องการตีตราและออกเอกสารรับรอง จนสิ้นสุดที่การตรวจสอบคุณภาพครั้งสุดท้าย Jean-Claude Biver (ฌ็อง-คล็อด บีเวอร์) ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นที่หนึ่งเสมอ
เรื่องเล่ารอบตัวเรือน
ไม่ไกลจากเมือง Chevenez คือที่ตั้งของเมือง Cornol ที่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกว่า 140 ชีวิตได้ร่วมมือกันผลิตตัวเรือนด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ตัวเรือนหลากหลายวัสดุถูกผลิตขึ้นเพื่อเรือนเวลาของ TAG Heuer ตั้งแต่รุ่น Aquaracer ไปจนถึงรุ่น Monaco ซึ่งเครื่องจักรหน้าตาดุดันเหล่านี้ ก็ทำงานกันอย่างต่อเนื่องเข้มแข็ง
เริ่มต้นการผลิตด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่ ในการที่จะผลิตตัวเรือนอันซับซ้อนจากแผ่นสเตนเลสสตีลหนึ่งแผ่นนั้น ต้องอาศัยกระบวนการปั๊มขึ้นรูปถึงสิบครั้ง โดยใช้เครื่องปั๊มหลายรูปแบบซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ความถูกต้องแม่นยำสูงสุด และในแวดวงการสรรค์สร้างกลไกนาฬิกา ผู้เชี่ยวชาญด้านตัวเรือนก็จะจัดการตัด ตกแต่ง และเจียรชิ้นส่วนแต่ละชิ้นอย่างประณีตบรรจงจนกระทั่งได้ชิ้นส่วนตัวเรือนที่สมบูรณ์แบบมาประกอบเป็นตัวเรือน
หลังจากขั้นตอนการปั๊มเสร็จสิ้นแล้ว เครื่องจักรอีกส่วนก็จะเจาะรูและประกอบเดือยต่างๆ จัดการลบเหลี่ยมมุม และดำเนินการจนกระทั่งกระบวนการตัวเรือนเสร็จสิ้น อีกครั้งหนึ่งที่มนุษย์และเครื่องจักรจะต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด งานบางส่วนจำต้องอาศัยความแม่นยำไม่ผิดพลาดของหุ่นยนต์ ในขณะที่มนุษย์มีหน้าที่จบงานละเอียดที่เครื่องจักรอาจจะไม่แม่นยำเท่า ทุกขั้นตอนมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดเพื่อให้ได้ตัวเรือนที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็หมายรวมถึงฝาหลังและขอบตัวเรือนด้วย
กระบวนการถัดไปต้องอาศัยห้องปลอดฝุ่น เพราะมันคือกระบวนการประกอบกระจกแซฟไฟร์ป้องกันหน้าปัด และการประกอบตัวเรือนทั้งหมดเพื่อให้นาฬิกากันน้ำได้อย่างสมบูรณ์ การทดสอบแรงกด และการเช็คคุณภาพโดยรวมอีกครั้งหนึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ห้ามมีข้อผิดพลาด เกิดขึ้นเป็นอันขาด และการทดสอบตัวเรือนนั้นก็โหดหินไม่ต่างจากการทดสอบเครื่องที่เกิดขึ้น ณ เมือง La Chaux-de-Fonds เพราะทุกอย่างจะต้องถูกตรวจสอบอย่างชัดเจนตามมาตรฐานอันสูงส่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพสูงสุดเท่านั้น
หน้าปัดนาฬิกา
เบื้องหลังความพยายามและเทคนิคอันซับซ้อนในการผลิตหน้าปัดนาฬิกานั้นสามารถวัดได้จากอารมณ์ที่คุณสัมผัสได้ยามวางหน้าปัดอันสุดแสนจะสมบูรณ์แบบนั้นลงบนข้อมือของคุณและรัดสายนาฬิการอบข้อมือนั่นเอง ArteCad บริษัทลูกของ TAG Heuer (ที่ตั้งอยู่ในเขต Tramelan ทางตะวันตกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์) นั้นมีขีดความสามารถในการผลิตหน้าปัดทุกประเภท และใช้เทคนิคการผลิตอันซับซ้อนที่เชื่อกันว่าหายสาบสูญไปแล้วได้อย่างคล่องแคล่ว แม้กระทั่งการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ที่โดยปกติจะทำงานอยู่ที่เมือง La Chaux-de-Fonds นั้น เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านหน้าปัดที่นี่ก็จะสามารถหาทางออกให้กับสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำหน้าปัดนาฬิการุ่นเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ หรือมาเพิ่มเติมออกแบบใหม่ให้ทันสมัยก็ตาม
ความสลับซับซ้อนของหน้าปัดแบบใหม่ ยกตัวอย่างให้ชัดเจนก็รุ่น Carrera Heuer 01 และ Carrera Heuer 02T นั้นดูจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี่ หน้าปัดแบบสามมิตินั้นเมื่อก่อนก็มีแค่เพียงปั๊มตรานูน หรือมีกรอบนูนขึ้นมาล้อมรอบหน้าต่างบอกวันที่บนหน้าปัดเท่านั้น แต่ ในปัจจุบันนั้น หน้าปัดส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น และฝีมือในการผลิตนั้นก็ต้องถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแสดงถึงทักษะในการประกอบงานแต่ละชิ้นให้ลงล็อกพอดีกัน ArteCad นั้นถนัดในเรื่องการประกอบชิ้นงานทองเหลืองที่ผ่านการปั๊ม ขัดเงา เคลือบเงา ปั๊มจมและปั๊มนูน รวมไปถึงการใช้ไข่มุกมาทำหน้าปัดสำหรับนาฬิกาสุภาพสตรีเพื่อเพิ่มความหรูหราและมูลค่าให้กับตัวเรือนอีกด้วย
การปั๊มนูนเล็กๆ บางอย่างนั้นต้องอาศัยทักษะอันชำนาญการของช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก เครื่องจักรจะตัดมันออกมาจากชิ้นส่วนโลหะใหญ่ หลังจากนั้นก็จะขัดและเคลือบให้เรียบร้อย ArteCad นั้นก็เชี่ยวชาญเรื่องการเคลือบสารซูเปอร์ลูมิโนวา และผ่านความร้อนในเตาสั่งทำพิเศษ และการติดเครื่องหมายเหล่านั้นลงบนหน้าปัดนั้นก็ไม่ใช่ศาสตร์ที่ทำได้ง่ายนัก เพราะการประกอบติดนั้นคือการเจาะรูขนาดเล็กจิ๋วลงบนหน้าปัดก่อนประกอบให้เรียบที่สุด และเมื่อผู้ตรวจงานขั้นสุดท้ายจบงานนั้น ก็เท่ากับว่านาฬิกาข้อมือเรือนนี้ได้ผ่านกระบวนการผลิตมามากกว่า 100 ขั้นตอน ความพยายามทั้งหลายที่มันได้ผ่านมานั้นถือว่าคุ้มค่า เพราะเรือนเวลาเหล่านี้นั้นถือเป็น “หน้าฉากแห่งกาลเวลา” ที่จะคงทั้ง ความคลาสสิกและเทคโนโลยีไว้ในตัวมันตราบนานเท่านาน
เครื่อง ตัวเรือน และหน้าปัดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างเป็นเรือนเวลาสุดคลาสสิกของ TAG Heuer เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์หลากหลายสาขาที่ร่วมมือกันผลิตเรือนเวลาอันล้ำค่านั้นถือว่าเป็นผู้ร่วมสรรค์สร้างประวัติศาสตร์แห่งเรือนเวลาไปพร้อมกับเทคโนโลยีอันทันสมัยอีกด้วย