6-7 เดือนอาจจะนานเกินไปสำหรับหลายคนที่รอคอยเสื้อผ้าบนรันเวย์

Share This Post

- Advertisement -

Fashion is ‘NOW’

โดยปกติแล้วแฟชั่นวีคนั้นจะเกิดขึ้นในปลายเดือนมกราคมและปลายเดือนมิถุนายนในทุกๆ ปี ซึ่งถือเป็นการแสดงผลงานออกแบบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ฤดูกาล เพื่อให้บายเออร์จากห้าง ร้านดังได้เลือกและจับจองผลงานชิ้นเด็ดที่จะมาแขวนอยู่บนราวให้คุณได้เลือกซื้อในอีก 6-7 เดือนข้างหน้า ทว่ากระบวนการนี้มันยาวนานเกินไป?

สำหรับสื่อมวลชนและในที่นี้ก็คือนักข่าวสายแฟชั่นที่ขยันรายงานข่าว แบบสายฟ้าแลบ เพื่อให้คุณๆ ได้ชมผลงานของนักออกแบบสินค้า ‘High Fashion’ แบบ ‘Real Time’ ผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นเฟซบุค    อินสตาแกรม และสแนปแชต แม้แต่แบรนด์เองยังนำเสนอไลฟ์สตรีม   ให้คุณรู้สึกเสมือนได้นั่งติดขอบรันเวย์ที่บ้านอีกด้วย

การแสดงคอลเลกชั่นบนรันเวย์และพรีเซ็นเทชั่นในช่วงสัปดาห์แฟชั่นวีคนั้นเป็นการนำเสนอผลงานเพื่อบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจ ในการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำฤดูกาล โดยองค์ประกอบต่างๆ ไล่เรียงมาตั้งแต่ลุคของนายแบบ เซ็ตติ้งบนรันเวย์ แสงสีและเพลง ที่ใช้ประกอบการเดินแบบนั้นเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมันจะช่วยสื่อให้ผู้ชมเห็นภาพรวมของฤดูกาลนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในอดีตนั้น การนำเสนอคอลเลกชั่นบนรันเวย์ แบบนี้หกเดือนล่วงหน้าก่อนฤดูกาลจริงจะมาถึงนั้นก็ไม่ส่งผลอะไรมาก แต่ในปัจจุบัน ด้วยระบบการสื่อสารที่รวดเร็วก้าวหน้านั้น ทำให้คุณ ‘อยาก’ ได้สิ่งที่คุณเห็นมาครอบครองในทันที เมื่อบวกกับข้อเท็จจริงที่ว่า สินค้าประเภท ‘Fast Fashion’ นั้นก็สามารถปล่อยสินค้าที่คล้ายกันให้คุณได้จับจ่ายครอบครองเป็นเจ้าของได้เพียงสองอาทิตย์หลังจากที่กระแสความสนใจของผู้คนเริ่มชัดเจนขึ้น จึงเกิดเป็น ข้อคำถามว่าสินค้า ‘High Fashion’ นั้นจะปรับตัวอย่างไรในกระแสสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้

The Battle Begins 

หนึ่งความเห็นที่ทำให้สินค้าไฮแฟชั่นนั้นแตกต่างจากสินค้าฟาสต์แฟชั่นก็คือ สินค้าไฮแฟชั่นเน้นเรื่องคุณภาพ และรูปแบบในการผสมผสานศิลปะของเครื่องแต่งกาย นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจจนทำให้เกิดเป็น ‘เทรนด์’ แต่ในขณะที่สินค้าฟาสต์แฟชั่นเน้นการนำเสนอความรวดเร็วของเทรนด์ที่ถูกกำหนดมาจากสินค้าไฮแฟชั่นอีกที อย่างไรก็ตามจุดนี้กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สินค้าไฮแฟชั่น หรือสินค้าลักชัวรี่นั้นพ่ายแพ้ให้กับระบบสินค้าฟาสต์แฟชั่นอย่างรวดเร็ว เพราะความเร็ว
ในการเกาะกระแสเทรนด์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคสามารถเสพลุคที่คล้ายคลึงกันได้สมอยากทันใจ

การต่อสู้จึงเริ่มขึ้นเมื่อสินค้าไฮแฟชั่นพยายามนำเสนอทางเลือก และวิธีการให้คุณได้จับจองสินค้าคุณภาพดีได้ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่เกินสองเดือนนับจากแฟชั่นโชว์ โดยนำเสนอประสบการณ์ที่เรียกว่า ‘Trunk Show’ คือการนำคอลเลกชั่นบนรันเวย์ที่คุณเห็นให้คุณได้สัมผัส เลือกซื้อ และสั่งจองล่วงหน้าก่อน เสมือนเป็นการ ‘Pre-order’ ก่อนที่สินค้าเหล่านั้น
จะถึงมือคุณในเดือนถัดไป ซึ่งสำหรับผู้บริโภคไฮแบรนด์แล้ว ความ ‘เก๋’ นั้นก็อยู่ที่การได้ ใส่ ‘ก่อน’ ใครในความเร็วที่สูสีกับสินค้าฟาสต์แฟชั่น

ber in Fashion 

เช่นเดียวกับเมื่อหลายปีก่อนที่วงการดนตรีประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน     เมื่อเพลงที่ศิลปินต่างเฝ้าฟูมฟักนั้นถูกเทปผีซีดีเถื่อนขายตัดหน้าก่อนที่อัลบั้มจะออกขายจริงบนแผง ซึ่งการปราบปรามนั้นก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการโจรกรรมทางความคิดนี้ได้ วงการดนตรีจึงปรับกลยุทธ์ใหม่โดยการปล่อยซิงเกิ้ลทีละเพลงดาวน์โหลดออนไลน์แทนที่จะรอปล่อยหมดทีเดียวทั้งอัลบั้ม ซึ่งก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดช่องทางการทำมาหากินของเหล่ามิจฉาชีพทางปัญญาได้อย่างเห็นผลชัดเจน

กลยุทธ์แบบนี้กลายเป็นคำตอบ เพราะมันสามารถสนองความ ‘อยาก’ ของผู้บริโภคได้ทันท่วงที Burberry (เบอร์เบอรี่) คือแบรนด์แรกที่เสนอให้คุณกดสั่งซื้อไอเท็มบนรันเวย์ได้ทันที่ผ่านเว็บไซต์ แต่ก็ยังไม่พออยู่ดี

แบรนด์ไฮแฟชั่นยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั้ง Burberry (เบอร์เบอรี่), Tom Ford (ทอม ฟอร์ด), Tommy Hilfiger (ทอมมี่ ฮิลฟิเกอร์), Moschino (มอสชิโน) และล่าสุด Ralph Lauren (ราล์ฟ ลอเรน) จึงนำเสนอทางเลือก ‘See Now, Buy Now’ ที่ตอบสนองความ ‘อยาก’ ของผู้บริโภคได้ทันทีหลังจากที่โชว์บนรันเวย์จบลง คุณสามารถจับจ่ายและ ‘Wear Now’ โดยไม่ต้องรอ

ฤดูกาลที่ใช้เรียกคอลเลกชั่นจึงถูกปรับให้ตรงกับช่วงเวลาในเดือนนั้นๆ จากคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิถูกเรียกใหม่ว่าคอลเลกชั่น ‘กุมภาพันธ์’ และคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงกลายเป็นคอลเลกชั่น ‘กันยายน’

2 become 1 

ในอดีตที่ผ่านมาของวงการแฟชั่น รันเวย์เครื่องแต่งกายบุรุษนั้นจะถูกแบ่งไว้เป็นสองฤดูกาล คือเดือนมกราคม และเดือนมิถุนายน ในขณะที่รันเวย์ของเครื่องแต่งกายสตรีจะอยู่ที่เดือนมีนาคม และเดือนกันยายนแบรนด์ ชั้นนำอย่าง Bottega Veneta (บ็อตเตก้า เวเนต้า), Gucci (กุชชี่), Burberry (เบอร์เบอรี่) และ Tom Ford (ทอม ฟอร์ด) พร้อมใจกันประกาศยุบรวมรันเวย์ของชายและหญิงเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ต้องการนำเสนอภาพลักษณ์โดยรวมของแบรนด์แต่ละฤดูกาลไว้ให้ชัดเจนทั้งชายและหญิง ซึ่งก็ถือเป็นยุทธวิธีที่เปลี่ยนแนวทางการจัดแฟชั่นวีคยุคหลังๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้วงการมีสีสันน่าจับตามากยิ่งขึ้น

Slow & Steady 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีดีไซเนอร์หลายคนไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลกลายเป็นจับจ่ายแบบนี้ Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ออกความเห็นเรื่อง ‘See Now, Buy Now’ ไว้ว่า “มันวุ่นวายมาก” เริ่มมา ตั้งแต่นักออกแบบที่ทำงานร่วมกับการตลาดและบายเออร์ของห้างที่จะต้องเดาว่าสิ่งไหนควร ‘โชว์’ ต้องมาลุ้นว่ามันจะได้รับความนิยมไหม ก่อนจะโยงความวุ่นวายไปถึงการผลิตให้ทันจัดส่ง และสื่อก็ต้องพร้อมรายงานข่าวสารให้คุณทันที เพื่อให้ ‘See Now, Buy Now’ ประสบความสำเร็จ

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ Tomas Maier (โทมัส ไมเออร์) ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ของ Bottega Veneta ในขณะเปิดนิทรรศการภาพถ่าย ‘Art of Collaborations’ ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเขาออกความเห็นว่า “เราให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของสินค้า กระเป๋าหนึ่งใบที่อาจจะต้องใช้เวลาถึง 72 ชั่วโมง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเร่งสายการผลิตให้ออกมาทัน และผมคิดว่า    ผู้ที่เข้าใจถึง ผลงานฝีมือเหล่านี้ จะสามารถ ‘รอ’ เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของผลงานศิลปะที่ละเอียดอ่อนนี้ได้อย่างแน่นอน”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เรายังคงต้องเฝ้าดูกันต่อไป ไม่ว่าจะ ‘See Now, Buy Now’ หรือ ‘See Now, Buy Later’  นั้นยังไม่มีคำตอบว่าฝ่ายใดจะชนะหรือจะแพ้ แต่ทั้งคู่ก็คือกระแสที่ช่วยขับเคลื่อนวงการแฟชั่นให้หมุนดำเนินก้าวหน้าต่อไป เพิ่มความท้าทายใหม่ๆ ให้กับนักออกแบบและนักการตลาดในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นและเคลื่อนไหวให้กับโลกแฟชั่นอยู่เสมอ และไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเลือกใส่เดี๋ยวนี้ หรือรอใส่ทีหลัง คุณก็มั่นใจได้ว่าลอปติมัมจะอัพเดทข้อมูลแฟชั่นให้คุณได้รู้ก่อนใครอย่างแน่นอน

- Advertisement -