พบกับเรื่องราวการต่อสู้หลังพวงมาลัยของ Sandy Stuvik นักแข่งรถ GP 3 ลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์คนนี้

Share This Post

- Advertisement -

Life in the Fast Lane

เขาเริ่มต้นอาชีพนักแข่งรถตั้งแต่อายุสี่ขวบ ได้รับชัยชนะจากความเร็วครั้งแรกเมื่ออายุเพียงสิบสามปี 
เป็นคนเอเชียคนแรกที่คว้าแชมป์ Asian Formula Renault มาครอง และขึ้นแท่นแชมป์ที่อายุน้อยที่สุด
ในทำเนียบแชมป์ของรายการ Sandy Stuvik (แซนดี้ สตูวิค) นักแข่งรถลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์คนนี้
จะมาเล่าเรื่องราว และการต่อสู้เบื้องหลังพวงมาลัยของเขาให้กับลอปติมัมฟังแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

SPIELBERG, 1-3 July 2016. Grand Prix of Austria at Red Bull Ring. Sandy Stuvik #08 Trident. Action. © 2016 Sebastiaan Rozendaal / Dutch Photo Agency

มาทำความรู้จักกันก่อน

ผมเริ่มแข่งรถ … ไม่สิ … เริ่มจับความเร็วครั้งแรกตอนสี่ขวบ ได้ไปขับรถโกคาร์ทที่สนามพัทยา ผมชอบขับรถโกคาร์ทตั้งแต่ขับเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกได้ถึงฟีลลิ่งที่แตกต่างจากกีฬาอื่นๆ ที่เคยเล่นอย่างบาสเก็ตบอลหรือฟุตบอล มันไม่รู้สึกถึงความเร็วแบบนี้ ผมก็ติดทันที กลับไปขับทุกวันอาทิตย์ คุณพ่อก็มาขับด้วยกัน จนกระทั่งห้าขวบ คุณพ่อก็ซื้อรถโกคาร์ทให้เป็นของตัวเองครับ หลังจากนั้นก็เริ่มจริงจังกับการขับมากขึ้น ก็เลยได้เข้าสนามฝึกที่ Pattaya’s Racing Circuits ประมาณอาทิตย์ละสามครั้ง ก็เริ่มจริงจังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

m1

ประสบการณ์กับรถโกคาร์

ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสฝึกการขับรถโกคาร์ทจากคุณโทมัส ราลดอร์ฟ ผู้มีประสบการณ์ทั้งการแข่งโกคาร์ทและซูเปอร์คาร์ตั้งแต่อายุได้แค่หกขวบ ตอนนั้นผมได้รับคัดเลือกให้เข้าแข่งชิงแชมป์แห่งประเทศไทย ก็ได้ที่สามไปสำหรับการแข่งครั้งแรกในชีวิต แล้วผมก็แข่งไปเรื่อยๆ จนอายุสิบสามปี ผมก็ได้แชมป์รายการ The Asian Karting Championship พอได้แชมป์แล้ว ผมก็อยากจะไปตัวฟอร์มูลาวัน หรือรถประเภทล้อเปิด ไม่มีบังโคลน เลยตัดสินใจไปเทสต์กับ Formula BMW และ Formula Renault ไปดูว่าจะแข่งซีรีส์ไหนดี คือ รถเขาจะกำหนดเครื่องเหมือนกันหมด ต่างกันแค่ฝีมือนักขับ ตอนนั้นผมตัดสินใจเลือกอยู่ทีม Renault เพราะรถของ Renault แรงกว่าสำหรับฟอร์มูลานี้

SILVERSTONE, 8-10 July 2016. Brittish Grand Prix at Silverstone circuit. Giuliano Alesi #07 Trident and Sandy Stuvik #08 Trident. Action. © 2016 Sebastiaan Rozendaal / Dutch Photo Agency

อายุนิดเดียวเอง มีใบขับขี่ได้เหรอ

ผมไม่มีใบขับขี่ที่ใช้บนท้องถนนได้ครับ แต่ผมมี “ใบขับแข่ง” ที่ออกโดยราชยานยนต์สมาคมเพื่อใช้ขับรถแข่งในสนามโดยเฉพาะ เป็นบัตรแข่งมีอายุปีต่อปี ต้องแจ้งกับราชยานยนต์สมาคมว่าจะแข่งรายการไหนบ้างในปีหนึ่งๆ แล้วเขาก็จะออกให้

BARCELONA (ESP), 13-15 May 2016: Grand Prix of Barcelona at Circuit de Barcelona-Catalunya. Sandy Stuvik #08 Trident. Action. © 2016 Sebastiaan Rozendaal / Dutch Photo Agency

แปลว่าเริ่มแข่งฟอร์มูลาตั้งแต่อายุสิบสามปีเลย

ไม่ครับ แข่งครั้งแรกตอนอายุสิบห้า แต่ซ้อมตั้งแต่อายุสิบสามปี คือ ผมลงแข่งไม่ได้ เพราะฟอร์มูลาเขากำหนดอายุต่ำสุดที่ 15 ปี ตอนนั้นก็บินไปซ้อมที่จีนอย่างหนักมาก แล้วพออายุถึงปุ๊บ ก็ลงแข่งรายการ Asian Formula Renault Championship 2010 เป็นฟอร์มูลารายการแรกในชีวิต แล้วก็เป็นแชมป์เลย (หัวเราะ) ช็อกกันหมด พ่อก็ตกใจนะครับ ตอนนั้นผมเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์รายการนี้ แล้วก็เป็นแชมป์ที่อายุน้อยที่สุดในทำเนียบแชมป์ของรายการ เลยทำให้มีสปอนเซอร์เข้ามาน่ะครับ ถือเป็นการเริ่มต้นอาชีพอย่างจริงจังครั้งแรก

BARCELONA (ESP), 13-15 May 2016: Grand Prix of Barcelona at Circuit de Barcelona-Catalunya. Sandy Stuvik #08 Trident. Action. © 2016 Sebastiaan Rozendaal / Dutch Photo Agency

พอได้แชมป์เอเชีย ก็ขยับไปยุโรปใช่ไหม

ตอนนั้นผมเนื้อหอมสุดๆ ครับ (หัวเราะ) โดนจีบจากหลายทีมมากทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป ตัดสินใจยากมากครับ แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจเข้าร่วมแข่งรายการ Formula Renault Eurocup 2011 ตอนนั้นกดดันมากครับ ทุกคนเก่งหมดเลย มันคืออีกระดับหนึ่งไปเลย ปรับตัวใหม่หมด ทั้งสภาพอากาศ สภาพสนาม เจ็ตแล็ก สภาพร่างกาย ต้องมีวินัยสุดๆ ทั้งในเรื่องการฝึกซ้อม การออกกำลังกาย การกิน ทุกอย่างเลยครับ ปีนั้นผมได้อันดับที่ 28 พอปีถัดมา ก็เข้าร่วมรายการ Formula Renault Northern European Cup ได้อันดับที่ 14 ครับ อดทนมาเรื่อยๆ ครับ

2016 GP3 Series Round 1 Circuit de Catalunya, Barcelona, Spain. Thursday 12 May 2016. The Class of 2016 Photo: Sam Bloxham/GP3 Series Media Service. ref: Digital Image _L4R1145

ทำไมถึงมีปัญหาเจ็ตแล็ก

เพราะตอนนั้นผมประจำการในประเทศไทยครับ ยังไม่จบไฮสคูล เลยต้องประจำการในประเทศไทย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ชีวิตเหนื่อยมาก เรื่องรถก็ต้องเอา เรื่องเรียนก็ต้องเอา ผมเหนื่อยมาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ ทางโรงเรียนก็ช่วยโดยอนุญาตให้ส่งการบ้านทางอีเมล์ได้ ตอนนั้นชีวิตเป็นแบบว่า ออกจากประเทศไทยวันพุธเย็น ถึงสนามวันพฤหัส แข่งสุดสัปดาห์ กลับไทยวันจันทร์ ไปเรียน ไปสอบ แต่ก็ผ่านมาได้นะครับ มีซ้ำชั้นครั้งหนึ่งเพราะขาดสอบ เลยจบช้ากว่าเพื่อน เพราะต้องตัดสินใจเลือกว่าจะสอบหรือจะแข่ง ผมตัดสินใจไปแข่ง และก็ได้รองแชมป์ เป็นรายการ European Formula 3 Open ก็คิดว่าตัดสินใจถูกนะครับ แต่หลังจากนั้นก็ต้องไปเรียนใหม่อีกรอบจนเพื่อนๆ จบไปหมดแล้ว ผมก็ตามมาในปี ค.ศ. 2004 พอจบปุ๊บก็เปลี่ยนไปประจำการที่ประเทศอิตาลีเลย ชีวิตดีขึ้นหน่อยครับเพราะแค่นั่งรถไฟไปแข่งในยุโรป

หลังจากไปประจำการที่อิตาลีแล้ว ชีวิตเปลี่ยนไปไหมกดดันขึ้นครับ (หัวเราะ) การแข่งขันแบบนี้มีแรงกดดันจากหลายทาง ทั้งจากตัวเราเอง ต้องทำให้ดีที่สุด สภาพร่างกายต้องพร้อม ผมได้คุณเฮลมุท ฟิงค์ ที่เคยฝึกนักขับดังๆ หลายคนมาเป็นเทรนเนอร์ให้ ซึ่งก็ต้องมีวินัยในการออกกำลังกาย การกิน การใช้ชีวิต และแรงกดดันจากปัจจัยอื่นๆ เพราะกีฬามอเตอร์สปอร์ตเป็นกีฬาราคาแพง การขยับซีซีจาก GP3 ไป GP2 และไปที่สุดอย่าง Formula 1 ต้องใช้เงินหลักหลายร้อยล้าน มันคือแรงกดดัน แต่มันก็คือความท้าทายเหมือนกันนะครับ

2016 GP3 Series Round 1.  Circuit de Catalunya, Barcelona, Spain. Saturday 14 May 2016. Sandy Stuvik (THA, Trident)  Photo: Zak Mauger/GP3 Series Media Service. ref: Digital Image _79P0655

กดดันขนาดนั้น แต่ก็ยังแชมป์อยู่ดี

(หัวเราะ) ผมได้แชมป์รายการ Euro Formula Open 2014 ครับ เป็นรายการ F3 และปีที่แล้วก็จบอันดับที่ 17 ของ GP3 ก็ถือว่า    เดินตามความฝันมาได้ครึ่งทางแล้วนะครับ อีกแค่สองซีรีส์ก็ถึงฟอร์มูลาวันแล้ว ใจผมอยากจะผลักดันตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง    ถึงฟอร์มูลาวันให้ได้ ถ้าถามผมว่ารายการแข่งขันซูเปอร์คาร์เป็นอย่างไร มันก็โอเคนะ ผมชอบระดับหนึ่งทีเดียว แต่มันไม่ใช่ความฝันครับ ความฝันตั้งแต่ขับโกคาร์ทครั้งแรกตอนสี่ขวบคือฟอร์มูลาวันเท่านั้น ผมจะพยายามต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ถ้าเราอยากจะติดตามผลงานคุณแซนดี้ มีช่องทางไหนได้บ้าง

ผมมีแฟนเพจเฟซบุค (FB: Sandy Nicholas Stuvik) ที่ผมจะอัพเดทรายการที่แข่งและลิงค์ให้ดูสดๆ แบบเรียลไทม์ เข้าไปดูได้เลยครับ เพราะในประเทศไทยไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ มันไม่ใช่กีฬาป็อปปูลาร์สำหรับบ้านเรา และผมก็มีทวิตเตอร์กับอินสตาแกรม @sandystuvik ด้วยครับ

- Advertisement -