ถ่ายทอดความร่วมสมัยแก่ช่างฝีมือรุ่นเก่า ลงไปในเครื่องหนังเมดอินอิตาลีจาก Tod’s

Share This Post

- Advertisement -

MADE IN ITALY

ด้วยเลือดรักชาติที่ฝังแน่น Diego Della Valle (ดิเอโก้ เดลลา วัลเล่) นายใหญ่แห่ง Tod’s (ท็อดส์) ได้ปลุกปั้นให้เครื่องหนังเมดอินอิตาลีของเขาปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยถ่ายทอดความร่วมสมัยแก่ช่างฝีมือรุ่นเก่า และทำสารพัดสิ่งอย่างด้วยตนเองเพื่อความสำเร็จเฉกเช่นปัจจุบัน วันที่คนมีชื่อเสียงทั้งหลายต่างสวมใส่รองเท้าของเขาด้วยความภาคภูมิใจ

_dsc0245

787 ล้านยูโร คือตัวเลขเน็ตๆ จากรายได้รวมทั่วโลกของกลุ่มบริษัท Tod’s ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีค.ศ. 2015 ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.2 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้านี้ พูดได้เต็มปากว่าธุรกิจของพวกเขาเติบโตอย่างสวยสดงดงามเมื่อเปรียบเทียบกับลักชัวรี่แบรนด์อื่นๆ สำหรับปีค.ศ. 2014 สภาพคล่องในตลาดหุ้นนั้นแข็งแกร่งมากด้วยผลลัพธ์เฉียดพันล้านยูโร ซึ่งมูลค่าของบริษัทดังกล่าวการันตีความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องประดับหรูอย่างไม่ต้องสงสัย ปัจจุบันนี้ผลกำไรทั้งหมดของกลุ่มบริษัท Tod’s 60 เปอร์เซ็นต์มาจากยอดขายของแบรนด์ Tod’s ล้วนๆ ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์มาจากแบรนด์รองเท้าอื่นๆ ในเครือ เช่น Roger Vivier (โรเช่ วิวีเย่ร์) และ Hogan (โฮแกน) รวมถึง Fay (เฟย์) แบรนด์เสื้อผ้าเรดี้-ทู-แวร์ อย่างไรก็ดี กลุ่มบริษัท Tod’s ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้เพราะวิสัยทัศน์อันเฉียบคมของนายใหญ่ของพวกเขาเองนาม Diego Della Valle (ดิเอโก้ เดลล่า วัลเล่) จากอีกฟากของเทือกเขาแอลป์ เขาคือเจ้านายวัยหกสิบเจ็ดสิบปีที่เสมือนพ่อ! ผู้เป็นที่รักและมีอำนาจบารมีสูงในสังคมอิตาเลียน สื่อระดับชาติทุกแขนงต่างต้องพูดถึงและให้ความสำคัญกับแบรนด์ Tod’s เป็นอันดับหนึ่ง กระทั่งนักการเมืองยังให้ความเกรงขามพ่อใหญ่แห่ง Tod’s เพราะสิ่งที่เขาพูดมีอิทธิพลไม่น้อยต่อสังคมและคนหมู่มาก จนถึงหัวใจหลักของสนามฟุตบอลในประเทศอิตาลีเมื่อเขาซื้อทีม Fiorentina สโมสรฟุตบอลชื่อดังประจำเมืองฟลอเรนซ์ การรักษาสัญลักษณ์ของชาติหลากรูปแบบคือภารกิจที่ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ขวัญใจของทุกคน อาทิ การบูรณะ La Scala โรงละครโอเปร่าแห่งมิลาน ปรับปรุงซ่อมแซมโคลิเซียมแห่งโรม สร้างสรรค์ Cinecittà โรงถ่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ในกรุงโรมหรือหลายคนเรียกว่า ‘Hollywood on the Tiber’ – ดิเอโก้ เดลล่า วัลเล่ – ชื่อนี้ปรากฏอยู่ทุกที่จริงๆ ที่สำคัญมันคือเครื่องพิสูจน์ชัดเจนว่าเขารักชาติยิ่งชีพขนาดไหน แล้วจะไม่ให้ชาวอิตาเลียนรักเขาอย่างท่วมท้นได้อย่างไรเมื่อหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดของบริษัทถูกนำมาใช้ทะนุบำรุงกิจการบ้านเมืองภายในประเทศ แค่นั้นยังไม่พอนักธุรกิจและนักอุปถัมภ์คนนี้ยังอุทิศ 1 เปอร์เซ็นต์ของรายได้เพื่อการพัฒนาแถบแคว้นมาร์เกส์ บ้านเกิดของเขาอีกด้วย

img_3772

โรงอาหารและเนอร์สเซอรี่สไตล์อินเฮ้าส์

ทุกอย่างเริ่มต้นที่เมืองเฟอร์โมบนชายฝั่งทะเลเอเดรียติกที่ซึ่งดิเอโก้ เดลล่า วัลเล่ในวัย 22 ตัดสินใจลงหลักปักฐานหลังจากสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายจากเมืองโบโลญ่า และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อทำงานกับพ่อของเขา Dorino (โดริโน่) ในโรงงานครอบครัว ซึ่งสี่สิบปีต่อมาการผลิตรองเท้ากลายเป็นเศรษฐกิจหลักของเมือง นับแต่ปีค.ศ. 1998 ดิเอโก้เลือกที่จะตั้งบริษัทแม่ตลอดจนโรงงานผลิตในโซนอุตสาหกรรมของเมืองบรองกาโดโร่ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่นาทีจากหมู่บ้านคาแซ็ตเต้ที่เขาเกิด ณ เวลานั้นมีเพียงตึกทำงานตึกเดียว ภาพลักษณ์ที่เห็นชวนให้นึกถึงซิลิคอน วัลเลย์กลางชนบทซึ่งรอบข้างไม่มีอะไรเลย พนักงาน 900 คน ทำงานอยู่ประจำภายในสามอาคารดังกล่าว แต่ก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะนายใหญ่ผู้เสมือนพ่อของทุกคนตระหนักถึงสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว จึงมีทั้งโรงอาหารปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นพร้อมเสิร์ฟเมนูตำรับโฮมเมด ซึ่งเขาเองก็มาอุดหนุนเป็นประจำ พร้อมเนอร์สเซอรี่สไตล์ ‘อินเฮ้าส์’ พร้อมด้วยทีมงานครูประถม หมอเด็ก และนักโภชนาการซึ่งดูแลเด็กๆ อายุระหว่าง 2-6 ขวบร่วมสามสิบคน ตลอดจนฟิตเนสที่มีเทรนเนอร์ประจำการตลอดเวลา

tods_company_09

ทุกชั้นปรากฏงานศิลป์

แต่ละอาคารมีสีสัน ท่ามกลางบันไดขนาดใหญ่โตออกแบบโดย Ron Arad (รอน เอราด) ภาพวาดของศิลปิน Giovanni Castel (จิโอวานนี คาสเตล) และโคมไฟบนเพดานของ Jacob Hashimoto (เจค็อบ ฮาชิโมโต้) ส่วนโถงทางเข้ามีลูกโลกขนาดมหึมาของ Felice Limosani (เฟลิซ ลิโมซานี) ตั้งตระหง่านโดดเด่นต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งนอกจากจะเป็นแผนที่โลกอันน่าทึ่งที่สุดแล้ว ของสะสมของซีอีโอชิ้นนี้ยังสื่อถึงจิตวิญญาณเขาที่มุ่งมั่นบริหารธุรกิจให้ก้าวไกลไม่มีที่สิ้นสุด ถัดเข้าไปบนผนังทางเดินข้างโรงงานผลิต แขวนรูปภาพเหล่าเซเลบริตีที่สวมรองเท้าม็อกกาซีนอันเลื่องชื่อของ Tod’s ช่วยตอกย้ำความพิเศษและประวัติความเป็นมาของเมซงเครื่องหนังได้เป็นอย่างดี ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความหลักแหลมทางด้านนโยบายประชาสัมพันธ์ โดยเริ่มใช้แคมเปญโฆษณากับไอคอนฮอลลีวูด เช่นในยุคแรกๆ คือ Gary Grant (แกรี่ แกรนต์) และ Steve McQueen (สตีฟ แม็กควีน) สวมรองเท้าม็อกกาซีนดีไซน์พื้นปุ่มยางซึ่งกำเนิดขึ้นปลายยุค 70s และเป็นที่รู้จักทั่วโลก ส่วนไอคอนรุ่นต่อมาอย่าง Jude Law (จูด ลอว์) Brad Pitt (แบรด พิทต์) หรือ George Clooney (จอร์จ คลูนีย์) ต่างมีรูปปรากฏอยู่บนผนังทางเดินเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้นเรายังได้เห็นแบบเท้าของท็อดส์บอยส์ทั้งหลายถูกจัดแสดงภายในอาคารข้างๆ ราวกับผลงานศิลปะ!

_dsc0219

เรื่องราวของชิ้นหนัง

ต้องขอบคุณแรงงานทุกคนในชุดกราวน์สีขาวที่พิถีพิถันสร้างสรรค์รองเท้า Tod’s ด้วยมือ โดยยังคงใช้เทคนิคและกรรมวิธีดั้งเดิม เริ่มต้นจากภาพสเก็ตช์ฝีมือพ่อใหญ่ดิเอโก้ เดลลา วัลเล่เพื่อสรุปแบบและจำนวนวัสดุ จากนั้นใส่ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์สำหรับวางแบบตัดและปรินต์แต่ละชิ้นส่วนออกมาประกอบเป็นรองเท้าตัวอย่างในตอนท้าย ก่อนจะส่งไปฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งรองเท้าแบบแรกถูกรังสรรค์อย่างประณีตตามกฎกติกาของบริษัทโดยช่างฝีมือจำนวน 45 ชีวิต ภายใต้การควบคุมดูแลของหัวหน้าแผนก Paolo Colo (เปาโล โคโล) ผู้เปี่ยมความกระตือรือร้นคูณสอง “ตั้งแต่ผมทำงานที่นี่ตลอด 13 ปี ตัวเลขการผลิตมีแต่เพิ่มขึ้น จากสินค้า 2 -3 แบบกลายเป็น 80 แล้วทุกวันนี้!” ส่วนความรวดเร็วในการผลิต พวกเขาจัดเตรียมหนังใหม่พร้อมผลิตในแต่ละซีซั่นเป็นจำนวนมากโดยจัดเก็บอย่างดีในโกดัง Magazzino ที่ใหม่เอี่ยมอ่อง และกว้างขวางพอสำหรับผืนหนังขนาด 58 ล้านฟุต หรือเท่ากับ 18 ล้านเมตร “ที่นี่เราใช้หน่วยเป็นฟุต (มาตราวัดแบบอเมริกัน) เพื่อให้สอดคล้องกับรองเท้า” Toni Lipani (โทนี ริปานี) หัวหน้าฝ่ายควบคุมและตรวจสอบคุณภาพอธิบาย ตลอดระยะเวลาสี่สิบปีของเมซงหลังนี้โดยเฉพาะภาพลักษณ์เฉพาะตัวของบริษัท เขาคืออีกคนที่เป็นกำลังสำคัญ ทำหน้าที่สั่ง จัดเก็บ และตรวจสอบเครื่องหนังแต่ละชิ้น พินิจพิจารณาทั้งสี ความหนา และความยืดหยุ่น อย่างไรก็ดี รางวัล Maestro del Lavoro จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอิตาลีคือสิ่งตอบแทนสำหรับบทบาทหลักของโทนี ซึ่งเราก็ได้เห็นรางวัลนี้วางโชว์อยู่ในห้องทำงานของเขาสีภายในอาคารหลังที่สามยังไม่แห้งดีเพราะเพิ่งทาเสร็จหมาดๆ ช่างตรงกันข้ามกับประวัติเรื่องราวของเมซงอันเก๋าและเก่าแก่ของพวกเขา เรามองเห็นภาพอดีตของพ่อผู้ซึ่งถ่ายทอดรสนิยมและวิชางานฝีมือแก่ลูกชายท่ามกลางบรรยากาศรอบตัว อีกครั้งกับภาพแขวนประดับผนัง เป็นรูปถ่ายของโดริโน่ เดลลา วัลเล่ ซึ่งดูเหมือนกำลังมองทุกสิ่งอย่างผ่านเลนส์แว่นสีชา

- Advertisement -