สงครามคอมพิวเตอร์กราฟิกแห่งวงการภาพยนตร์ระดับโลก

Share This Post

- Advertisement -

The CG War

เรื่องราวย้อนแย้งสุดอื้อฉาวแห่งวงการฮอลลีวูดเมื่อสตูดิโอ Rhythm & Hues ประกาศล้มละลายเพียงสิบเอ็ดวันก่อนจะได้รับรางวัลออสการ์สาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมประจำปี 2013 จากภาพยนตร์เรื่อง Life of Pi เกิดเป็นศึกต่อรองครั้งมโหฬารระหว่างทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์กับสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่แห่งวงการในยุคปัจจุบันนี้ เทคนิค Visual Effect หรือการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ จากคอมพิวเตอร์นั้นเรียกได้ว่าเป็นเทคนิคปกติ” ที่จะปรากฏในภาพยนตร์แทบจะทุกเรื่อง ถือเป็นเทคนิคที่เข้ามาแทนที่ Special Effect หรือเทคนิคการสร้างสรรค์ฉากและเอฟเฟกต์ต่างๆ ในการถ่ายทำจริงได้เกือบจะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจว่าบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านวิชวลเอฟเฟกต์มากกว่า 20 บริษัทได้ประกาศล้มละลายหรือปิดกิจการลงในระหว่างปีค.ศ. 2003-2013 ถ้าเทคนิค
วิชวลเอฟเฟกต์เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในวงการภาพยนตร์ยุคปัจจุบัน เหตุใดสถานการณ์ของบริษัทเหล่านี้จึงเป็นแบบนี้

life-of-pi-poster_w2

เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจภาระหน้าที่ของศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์กันแบบคร่าวๆ ก่อน การทำวิชวลเอฟเฟกต์นั้นกินวงกว้างมาก เพราะมันคือการทำงานหลังการถ่ายทำ หรือโพสต์โพรดักชั่นโดยการใช้ฝีมือคนและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้างสรรค์ฉาก ตัวละคร และเอฟเฟกต์ต่างๆ ลงไปในภาพยนตร์ที่ถูกถ่ายทำมาแล้วเบื้องต้นเพื่อให้ภาพยนตร์นั้นออกมาโดยสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาพยนตร์ที่ใช้วิชวลเอฟเฟกต์มักจะถ่ายทำด้วยเทคนิคที่เรียกว่า กรีนสกรีนหรือบลูสกรีน จึงกล่าวได้ว่าภาพยนตร์ทุกเรื่องที่ถ่าย  ทำด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนั้นจะไม่สามารถออกฉายได้เลยหาก
ขาดกระบวนการโพสต์โพรดักชั่นอย่างวิชวลเอฟเฟกต์ไป

เหตุที่เทคนิควิชวลเอฟเฟกต์เข้ามามีบทบาทครั้งมโหฬารในวงการภาพยนตร์ก็คืออุปสรรคในการสร้างฉากให้ “สมจริง” ตามจินตนาการอันล้ำเหลือของผู้สร้าง ซึ่งการทำวิชวลเอฟเฟกต์จะสามารถช่วยอุดรูรั่วดังกล่าวได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะใน  การจัดการจินตนาการต่างๆ ด้วยการวาดรูปจากคอมพิวเตอร์นั้น  ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงกับหลักการตาม “ความเป็นจริง” เหมือนกับการสร้างฉากจริงๆ ในกองถ่าย สำหรับผู้กำกับและทีมงานในกอง การทำงานจึงดูเหมือนจะง่ายขึ้น และที่สำคัญคือ เชื่อกันว่า
ประหยัดต้นทุนในการสร้างมากกว่า

ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ทำให้งบประมาณสำหรับการทำวิชวลเอฟเฟกต์ในยุคแรกๆ นั้นเป็นงบประมาณที่ไม่เป็นจริง ยกตัวอย่างจากเรื่อง Life of Pi ที่มีงบประมาณการสร้างอยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีงบประมาณสำหรับการทำวิชวลเอฟเฟกต์จำนวน 500 ช็อต  อยู่เพียง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และเมื่อกระบวนการโพสต์โพรดักชั่นกินระยะเวลายาวนานกว่าที่ประมาณการไว้ (โดยปกติงาน วิชวลเอฟเฟกต์สำหรับภาพยนตร์จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีในชั่วโมงทำงานปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อใกล้เวลาส่งงาน มีการแก้และเก็บงานมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานของศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว) บริษัทที่รับทำวิชวลเอฟเฟกต์จึงไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้จึงก่อให้เกิดปัญหาสะสม จนกลายเป็นการประกาศล้มละลายในที่สุด

v1.bTsxMTE3Njc5MjtqOzE3MDU2OzIwNDg7ODAwOzEyMDA_w2

ในการประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 85 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 ได้มีขบวนประท้วงด้านนอกเพื่อเรียกร้องให้วงการภาพยนตร์ให้ความสำคัญกับศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์มากขึ้น ส่วนในงานเมื่อทีมวิชวลเอฟเฟกต์ขึ้นรับรางวัลออสการ์ และเริ่มกล่าวสปีชก็ถูกตัดเสียงออกด้วยเพลงธีมของภาพยนตร์ Jaws หลังจากที่กล่าวไปได้เพียง 44.5 วินาที ในขณะที่ Ang Li (อัง ลี) ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเองก็ไม่ได้ขอบคุณทีม วิชวลเอฟเฟกต์ จึงยิ่งตอกย้ำถึงความละเลยของวงการภาพยนตร์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับงานสาขานี้ หลังจากนั้นจึงมีการปล่อยภาพฉากจากภาพยนตร์ใหญ่หลายเรื่องก่อนการทำวิชวลเอฟเฟกต์ออกมาในอินเตอร์เนตพร้อมข้อความประกาศกร้าว “จงเคารพศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์” (Please respect the visual effect artists.) เป็น การประกาศสงครามกลายๆ ว่าถ้าขาดศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์แล้ว อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็คงจะไปต่อไม่ได้

ซึ่งในแง่ของการผลิตภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันนั้น เทคนิควิชวลเอฟเฟกต์ได้พัฒนาตัวเองจาก “น้ำจิ้ม” กลายมาเป็น “อาหารหลัก” นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง Avatar (2009) ออกฉาย เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเทคนิคการตลาดเก่าๆ ที่ต้องใช้นักแสดงหลักเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดูนั้นอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไปในโลกยุคที่วิชวลเอฟเฟกต์สามารถเนรมิตรอะไรก็ได้จากอากาศที่ว่างเปล่า ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Life of Pi (2012) และ The Jungle Book (2016) นั้นก็เป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีจากการที่มีนักแสดงอายุน้อยที่ไม่เป็นที่รู้จักแสดงกับ  กรีนสกรีนทั้งเรื่อง และภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องก็ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องคำชมและรายได้แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยดราม่าครั้ง
มโหฬารในวงการก็ตาม

12VYmX_w2

และเมื่อปัญหาหลักของวงการวิชวลเอฟเฟกต์คือการควบคุมต้นทุนเรื่องแรงงานของศิลปิน บริษัทรับทำวิชวลเอฟเฟกต์รุ่นใหม่ๆ จึงแก้ปัญหาโดยการย้ายฐานการผลิตออกมานอกประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างบ้านเราก็ได้อานิสงค์ไปเต็มๆ โดยประเทศไทยและประเทศเวียดนามถือเป็นแหล่งแรงงานใหญ่สำหรับวงการอุตสาหกรรมนี้ เพราะฝีมือของศิลปินท้องถิ่นและค่าแรงที่ไม่โหดมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังๆ มานี่เราจะได้เห็นชื่อคนไทยและคนเวียดนามในตอนจบภาพยนตร์หลายเรื่องในฐานะศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ ซึ่งก็ถือเป็นตลาดแรงงานที่ค่อนข้างมีอนาคต ที่สดใสพอตัวทีเดียวสำหรับภูมิภาคนี้

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับวงการวิชวลเอฟเฟกต์ในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยบริษัทในประเทศ? เราได้ L’Opinion จากผู้กำกับ คนสำคัญในวงการภาพยนตร์ไทยอย่างคุณชายอดัม – หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคล ผู้ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้กับภาพยนตร์อย่างสารวัตรหมาบ้าและผีห่าอโยธยามาร่วมออกความเห็นในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

2-FU7A0261_w2

“ถ้าถามถึงเรื่องสกิลล์ของฝ่ายทำซีจีในประเทศไทย ต้องบอกเลยว่ามีสกิลล์ระดับไปเมืองนอกได้หมดทุกคน แต่ต้องทำความเข้าใจกับวงการซีจีในเมืองไทยก่อน คือ มันแยกเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งที่อัตคัตหน่อยกับฝั่งที่ได้ดี ฝั่งที่ได้ดีก็ฝั่งที่ทำงานโฆษณากับภาพยนตร์    ต่างประเทศ ซึ่งบริษัทพวกนี้จะเงียบมาก มีทั้งบริษัทต่างประเทศที่มาเปิดสาขาในเมืองไทย หรือบริษัทไทยที่รับงานต่างประเทศ แต่เราแทบจะไม่เคยได้ยินชื่อพวกเขาเลย บริษัทเหล่านี้ถือว่าสามารถทำเงินได้สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพในเมืองไทย ในขณะที่ฝั่งอัตคัตหน่อยก็รับงานละครและภาพยนตร์ไทย เป็นบริษัทไทยที่รับงานภายในประเทศ ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นราคาเหมา หรือคิดเป็นต่อตอนหรือต่อช็อตบ้าง ราคาเฉลี่ยสำหรับละครก็อยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,500 บาทต่อช็อต ซึ่งถือว่าถูกมาก” คุณชายอดัมพูดแบบไม่อ้อมค้อมเมื่อเราเริ่มต้นการสัมภาษณ์ในบ้านที่ถูกเซ็ตไว้อย่างสวยงามสำหรับฉากละครที่คุณชายกำลังถ่ายทำให้กับสมาชิกในครอบครัวอยู่ “โดยปกติทีมงานซีจีทั่วไปจะคิดการทำงานออกมาเป็น ‘Man Hour’ ไม่ได้คิดเป็นเงินเดือน โดยจะคำนวณเป็นระยะเวลาในการทำงาน
ต่อผลงานที่ผลิต จำนวนเงินต่อ Man Hour จะสูงขึ้นเมื่อทักษะและความสามารถในการผลิตดีขึ้นและคุ้มค่ามากขึ้น ฝั่งที่รับงานโฆษณาและภาพยนตร์ต่างประเทศคือกลุ่มที่สามารถแตะค่า Man Hour ที่สมเหตุสมผลได้ ในขณะที่กลุ่มรับงานภาพยนตร์และละครไทยนั้น ไม่สามารถทำราคา Man Hour ได้ดีพอ วิธีการแก้ไขก็คือการลดคุณภาพงานลงเพื่อที่จะได้สร้างงานมากขึ้น โดยต้องแบกรับเสียง
ก่นด่าของผู้ชมในระดับหนึ่งไป”

SATURDAY NIGHT LIVE -- "Peter Dinklage" Episode 1699 -- Pictured: Bobby Moynihan during the "Game of Thrones Sneak Peak" sketch on April 2, 2016 -- (Photo by: Dana Edelson/NBC/NBCU Photo Bank via Getty Images)
SATURDAY NIGHT LIVE — “Peter Dinklage” Episode 1699 — Pictured: Bobby Moynihan during the “Game of Thrones Sneak Peak” sketch on April 2, 2016 — (Photo by: Dana Edelson/NBC/NBCU Photo Bank via Getty Images)

คุณชายอดัมยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การทำงานสไตล์บริษัทไทยนั้น ก็คือการรับงานละครครั้งละห้าหกเรื่องพร้อมๆ กัน และเร่งปั่นงาน
ให้ทันกำหนดส่ง และการแก้ไขงานนั้นก็ทำได้น้อยกว่า ถ้าแก้ไขมากก็ต้องชาร์จเพิ่มคุยกันเป็นช็อตต่อช็อต ซึ่งเมื่อเรียกราคาที่สมเหตุสมผลต่อค่า Man Hour ไปแล้ว ส่วนมากก็ไม่ได้ทำจริง นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คุณภาพงานต่ำลงเรื่อยๆ “ผมว่ามันเหมือนกับระบบที่เป็นการคานกันของเฟืองที่สึกหรอ ทุกส่วนเป็นสนิมมารวมกัน แต่เครื่องจักรก็เดินหน้าต่อไปได้ในแบบของมัน แต่ก็คงไม่สามารถไปสู้กับของเมืองนอกได้ เพราะปัญหาหลักคือค่ากลางความสมดุลระหว่างงบประมาณ ระยะเวลา จำนวนงาน การทำงาน และผลงานมันไม่สอดคล้องกันเท่าไหร่ ถ้าถามว่าคนทำงานจะเรียกร้องให้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะทุ่มเวลามากกว่านี้ไหม ตอบได้เลยว่าไม่ เพราะทุกคนก็รู้กันดีว่าในวงการอุตสาหกรรมนี้ มีงบเท่าไร รายได้เท่าไร การเรียกร้องไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หนังเจ๊ง คนทำหนังตาย คนทำละครตาย ก็ส่งผลถึงเขาอยู่ดี”

ฟังดูแล้วอนาคตในวงการซีจีในประเทศไทยดูเหมือนจะมืดหม่นแบบไร้ทางออกเลยทีเดียว “มันก็ไม่ไร้ทางออกขนาดนั้นนะครับ มันก็จะดีขึ้นได้ แต่ทุกอย่างต้องยกระดับขึ้นพร้อมๆ กันมันถึงไปต่อได้ ไม่ใช่แค่ซีจีฝ่ายเดียว คนทำหนังฝ่ายเดียว หรือนายทุนฝ่ายเดียว 
แต่คนดูก็ต้องพร้อมที่จะเสียเงินเข้ามาดูหนัง นายทุนก็ต้องพร้อมที่จะซัพพอร์ต ตลาดก็ต้องพร้อมรับ ทุกอย่างก็ต้องพร้อมไปหมด วงการซีจี ถึงจะเกิดได้ แต่ถ้าถามผมนะ ผมว่าเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันราคาถูก ลงมาก ดูผลงานคนทำวิดีโอในยูทูบดูได้ คนเหล่านั้นเก่ง เพราะเขามีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่เขาใช้ ปัจจุบันมีโปรแกรมออกมาฟรีเลยด้วยซ้ำ คนเข้าถึงของพวกนี้ได้มากขึ้น มีบุคลากรในวงการมากขึ้น ทำงานหลากหลายมากขึ้น ราคาถูกลงบ้าง แรงงานเหล่านี้ก็จะมา
รับโหลดงานได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าถามผมว่ามันจะดีขึ้นไหม 
มันดีขึ้นแน่ๆ แต่จะไม่เร็ว มันจะค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เหมือนกับ
ค่อยๆ ขัดสนิมที่ฟันเฟืองทีละชิ้นๆ แล้วอะไรๆ ก็จะดีขึ้นในอนาคต”

คำตอบสุดท้ายของคุณชายอดัมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการ พัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ นั้นไม่ใช่เป็นการพัฒนาในแบบฉันเก่งมาคนเดียว แต่ต้องอาศัยการพัฒนาร่วมกันทุกภาค ทุกส่วน และทุกองค์กร ที่จะต้องหมุนฟันเฟืองทุกซี่ไปพร้อมกัน ซึ่งวงการซีจีนั้นก็ไม่ต่างกันเลย

 

- Advertisement -