ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองยุคใหม่ของนักเสพภาพยนตร์อวกาศ เพราะเรามีภาพยนตร์คุณภาพเวียนเข้ามาฉายให้ได้ตีตั๋วเข้าไปนั่งตื่นตาตื่นอารมณ์ในโรงกันอย่างสม่ำเสมอ บ้างก็เป็นหลักชัยสำคัญในเชิงศิลปะการสร้างภาพยนตร์ เช่น Gravity บ้างก็ถ่ายทอดเนื้อหาวิทยาศาสตร์สายแข็งแต่สอดแทรกปรัชญาลึกล้ำเข้าไปให้ผู้ชมต้องบริหารสมองทั้งสองซีก เช่น Interstellar สำหรับแฟนหนังที่ใฝ่หาความบันเทิงเบาสมองก็ยังมีสเปซโอเปราสนุกๆ อย่าง Star Wars: The Force Awakens หรือ Guardians of the Galaxy แต่หากใครชื่นชอบความสมจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ก็สามารถเลือกชม The Martian ได้ตามรสนิยมส่วนตัวของใครของมัน
ตลอดร่วมศตวรรษที่ผ่านมา ผู้ผลิตภาพยนตร์บางครั้งอาจเลือกใช้ฉากอวกาศเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อตีแผ่เรื่องราวนามธรรมที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความอำมหิตผิดเพี้ยน (Event Horizon) หรือความเสียสละ (Sunshine) บางคนอาจจะตีความว่าเพราะห้วงอวกาศอันไพศาลไร้ขอบเขตก็ยังไม่อาจเทียบได้ถึงความลึกลับซับซ้อนของใจคน
โดยเฉพาะหลังจากที่ 2001: A Space Odyssey ได้สร้างปรากฏการณ์เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน และถูกยอมรับให้เป็นผลงานอมตะในยุคให้หลังมานี้ ภาพยนตร์อวกาศหลายเรื่องก็ยังคงยึดแนวทางที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามและอภิปรายข้อโต้แย้งตามคุณค่าและกระแสนิยมของแต่ละยุคสมัย
ภาพยนตร์ที่น่ากล่าวถึงในกลุ่มนี้คือเรื่อง Moon (2009) นักบินอวกาศผู้ปฏิบัติภารกิจเดี่ยวบนดวงจันทร์จนใกล้ครบกำหนดสามปี ก่อนที่จะได้กลับบ้านไปพบภรรยาและลูกสาวซึ่งยังไม่เคยได้พบหน้า แต่อุบัติเหตุเล็กๆ กลับเป็นชนวนที่ทำให้เขาค้นพบความจริงอันน่าสะเทือนใจของภารกิจนี้
ตามด้วย Solaris (1972/2002) นักจิตวิทยาคลินิกถูกมอบหมายให้เดินทางไปยังสถานีอวกาศเพื่อตรวจสอบอาการผิดปกติของลูกเรือ แต่เขากลับพบปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่นำไปสู่คำถามไร้คำตอบมากมาย นิยายจากโปแลนด์เรื่องนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วสามครั้งด้วยกัน
เมื่อขอบเขตความรู้สาขาดาราศาสตร์ของมนุษย์เขยิบกว้างออกไปมากขึ้นทุกที เราส่งยานออกไปลงจอดบนดาวหางได้สำเร็จเป็นครั้งแรกแล้ว และภายในช่วงชีวิตของเรานี้มนุษย์ยังน่าจะได้เหยียบพื้นดาวอังคารอีกด้วย ก็ย่อมแน่นอนว่าจะต้องส่งผลให้ภาพยนตร์อวกาศหลายเรื่องมุ่งถ่ายทอดฉากอวกาศผ่านจอภาพยนตร์ให้สมจริงมากขึ้นไปตามกันเนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่เข้าใจแล้วว่าเหตุใดซีนในภาวะสุญญากาศจึงต้องไม่มีเสียง และทราบความจริงแล้วว่าเมื่ออยู่บนดวงจันทร์เราจะมองไม่เห็นกำแพงเมืองจีนอย่างที่เคยฟังกันมา ภาพยนตร์ซึ่งให้ข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มข้นสมจริงหลายเรื่องจึงกลายเป็นบล็อกบัสเตอร์ขึ้นแท่นทำเงินได้อย่างงดงาม นอกจากเรื่องที่ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันดีอย่าง Interstellar, Gravity, The Martian หรือเรื่องที่สร้างจากเหตุการณ์จริงอย่าง Apollo 13 ในกลุ่มนี้ยังมีอีกหลายเรื่องกว่ากลุ่มแรก เช่น Europa Report (2013) แม้ว่าปัจจุบันมนุษย์ยังไม่พบหลักฐานของชีวิตบนดาวดวงอื่นอย่างแน่ชัด แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดการทำงานของทีมค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์บริวารของจูปิเตอร์ได้อย่างน่าเชื่อ ทั้งยังมีข้อมูลสนับสนุนอย่างหนาแน่น ไม่แน่ว่าในวันหนึ่งเราอาจพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ใกล้เคียงความจริงมากก็ได้
ส่วนอีกกลุ่มที่ไม่อาจละเลยที่จะกล่าวถึง คือ ภาพยนตร์อวกาศประเภทที่ไม่โฟกัสไปที่ความสมจริง แต่เน้นมอบความบันเทิงให้ผู้ชมได้เสพกันอย่างเต็มอิ่มผ่านเนื้อหาแฟนตาซีสุดขอบจินตนาการ ทั้งฉากขับยานสุดเร้าใจ ฉากต่อสู้ด้วยอาวุธสุดล้ำ สัตว์อวกาศชวนสะพรึง ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ตลกอย่าง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy แอนิเมชันขวัญใจคนดูทุกเพศวัยอย่าง WALL-E และแนวระทึกขวัญหลายภาคต่อเนื่องอย่าง Riddick หรือแฟรนไชส์ Alien ไล่มาจนถึง Prometheus เป็นต้น
เนื่องจากกลุ่มนี้เข้าถึงตลาดได้กว้าง ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงจุดกำเนิดอารยธรรมขึ้นอย่างมั่นคงในกลุ่มฐานแฟนที่ผูกพันเหนียวแน่น Star Wars คือตัวอย่างที่ทุกคนรู้จักดี นอกจากนี้ยังมี Star Trek ซึ่งเริ่มจากซีรีส์โทรทัศน์ ก่อนจะแตกแขนงไปสู่ภาพยนตร์ นิยาย หนังสือการ์ตูน เกม ของเล่น ฯลฯ มีการบันทึกไว้ว่า Star Trek จุดประกายนวัตกรรมสำคัญของโลกหลายชิ้น รวมถึงโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต อีกทั้งยังถูกจัดให้เป็นสื่อหัวก้าวหน้าทางการเมืองในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของพลเมืองชาวอเมริกัน และยังมีการกล่าวกันว่า Star Trek คือซีรีส์แนวไซไฟที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในขณะที่แม้แต่องค์กรอย่าง NASA ยังถูกตัดงบประมาณลงอย่างน่าใจหายจนต้องพลิกแพลงหันเข้าหาวัฒนธรรมป็อปให้มากขึ้นเพื่อดึงความสนับสนุนจากชาวโลก ภาพยนตร์อวกาศซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นจักรวาลคู่ขนานก็ยังคงเติบโตขึ้นอย่างผ่าเผย การเดินทางไปเหยียบดาวอังคารจะเกิดขึ้นบนจอภาพยนตร์ก่อนความเป็นจริงนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คงน่าเศร้าหากเราเดินออกจากโรงมาแล้วระลึกได้ว่ามนุษยชาติยังคงยืนนิ่งอยู่กับที่ ไม่ออกก้าวเข้าใกล้เรื่องราวบนจอภาพนั้นบ้างเลยแม้สักนิดเดียว
Content by Kanakom Malangpaisorn