Perfect Pairing
เพราะศิลปะส่องทางให้แก่กัน The Rolex Mentor and Protege Arts Initiative จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเปิดสะพานเชื่อมศิลปินรุ่นใหม่ไปสู่ศิลปินระดับมือพระกาฬ โดย Rolex (โรเล็กซ์) จะเป็นผู้คัดเลือก “Mentor” หรือศิลปินใหญ่ ทั้งเจ็ดสาขาวงการศิลปะอันได้แก่ สถาปนิก การเต้น ภาพยนตร์ วรรณกรรม ดนตรี ละครเวที และทัศนศิลป์เพื่อดูแลชี้แนะ “Protege” หรือศิลปินรุ่นเล็กที่ได้รับการคัดเสนอชื่อจากเมนเตอร์ และผ่านการคัดเลือกกลั่นกรองจากคณะกรรมการภายใน Rolex เป็นระยะเวลาหกสัปดาห์ ถึงหนึ่งปี ให้ได้ใช้ชีวิตการทำงานร่วมกัน และผลิตผลงานออกมาสู่สาธารณะเมื่อปิดโครงการ
ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้ แต่เมนเตอร์จะเป็น ผู้เสนอชื่อศิลปินหน้าใหม่ที่ดูมีศักยภาพ และส่งต่อให้ Advisory Board ของ Rolex พิจารณา หลังจากนั้นศิลปิน กลุ่มดังกล่าวจะได้รับคำเชิญให้ส่งใบสมัครพร้อมผลงานที่เคยทำ มาเพื่อร่วมชิงตำแหน่งโปรเทเจเพียงหนึ่งเดียว
Peter Zumthor VS Gloria Cabral
ARCHITECTURE
“ผมเลือกกลอเรียมาเป็นโปรเทเจของผมเพราะผมรู้สึกว่าเธอมีความลุ่มหลงและช่างสังเกต เธอคลั่งไคล้วัสดุต่างๆ และมีความสนใจหลากหลาย ผมชอบที่เธอชอบอ่านหนังสือ และไม่ได้มองว่างานสถาปนิกเป็นแค่อาชีพ แต่เป็นความหลงใหลคลั่งไคล้ แม้ว่าเราจะมีกำแพงด้านภาษา แต่ผมก็รู้สึกได้ว่า หลังจากอธิบายอะไรไปก็ตาม เราสองคนจะเข้าใจกันได้ด้วยความรู้สึกร่วม เธอพยายามทำความเข้าใจผม เรากลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตอนนี้เธอเก่งกว่าผมเสียอีก” Peter Zumthor (ปีเตอร์ ซุมธอร์) สถาปนิกรุ่นใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของรางวัลอันทรงเกียรติจาก Pritzker Prize กล่าวถึง Gloria Cabral (กลอเรีย คาบราล) สถาปนิกรุ่นเด็กจากประเทศปารากวัย “ผมดีใจที่เธอสามารถเปล่งประกายความเก่งออกมาได้ในที่สุด เธอเข้ากับคนในทีมผมได้ดี ผมเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้จากเธอเยอะมาก และผมแอบเสียใจที่โครงการนี้สิ้นสุดลง แต่งานสถาปนิกเป็นงานระยะยาว ผมมั่นใจว่าเราจะติดต่อกันต่อ และมีผลงานร่วมกันแน่ๆ ผมกล้าพูดได้เลยว่า สิ่งที่ Rolex เริ่มไว้นั้น มีค่ามาก”
ปีเตอร์และกลอเรียใช้เวลากว่าหนึ่งปีทำความรู้จักตัวตน สภาพบ้านเกิด ผลงาน และลักษณะนิสัยของกันและกันผ่านมุมมองด้านสถาปนิก ก่อนจะเดินทางไปที่ Cacholic Park ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ อันเป็นพื้นที่ที่ปีเตอร์ได้รับคำเชิญมาให้สร้างโบสถ์หลังเล็ก แต่หลังจากที่เยี่ยมชมพื้นที่กันจนเต็มอิ่มแล้ว ทั้ง สองคนก็ตกลงใจที่จะสร้าง “เรือนน้ำชา” เพื่อเพิ่ม ความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้กับพื้นที่มากกว่า
“การทำงานที่นี่คือการพูดคุยแลกเปลี่ยน และฉันก็ชอบมาก” กลอเรียเล่า “กระบวนการสร้างเรือนน้ำชานั้นน่าสนใจมาก เพราะโดยปกติแล้ว เราจะสร้างโมเด็ลตอนจบงานเท่านั้น แต่การทำงานที่นี่ เราสร้างกัน ตั้งแต่ต้น ดังนั้น เราเลยเห็นการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจบโปรเจ็กต์”
การเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อที่แตกต่างกันระหว่างเมนเตอร์และโปรเทเจคู่นี้นั้นก่อให้เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์สุดวิจิตร ซึ่งจะดำรงอยู่ต่อไปตราบที่โลกนี้ยังคงหมุน
Olafur Eliasson VS Sammy Baloji
VISUAL ARTS
ตั้งแต่เข้ามาเป็นหนึ่งในเมนเตอร์ของโครงการ Olafur Eliasson (โอลาเฟอร์ อีเลียสสัน) ศิลปินลูกครึ่งแดนิชและไอซ์แลนด์ก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เขาไม่ต้องการความสัมพันธ์แบบเหลื่อมล้ำ แต่เขาต้องการการแลกเปลี่ยนความรู้มากกว่า “ผมจะไม่สนใจโครงการนี้เลย หากผมต้องเป็นฝ่ายให้อย่างเดียว” เขาบอก “ผมอยากจะได้รับอะไรจากโครงการนี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวตนของใคร ผมไม่ได้จะมานั่งสั่งให้ใครทำอะไร ผมแค่อยากจะมีบทบาทในการกระตุ้นให้เขาเห็นรายละเอียด และอะไรต่อมิอะไรในงานของเขาให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะในการสร้างสรรค์ผลงานนั้น เรามักจะถามคำถามสำคัญคือ “ทำไปเพื่ออะไร” และ “จะทำอย่างไร” ศิลปินหลายคนมักจะลืมคำถามแรก และมุ่งตรงไปยังคำถาม ที่สอง และพวกเขาก็จะสูญเสียความเป็นศิลปินที่ แท้จริงไป และทุกคนก็จะมองออกว่ามันมีอะไรขาดไป”
และนั่นก็เป็นเหตุผลให้เขาเลือก Sammy Baloji (แซมมี บาโลจิ) ศิลปินหนุ่มไฟแรงจากคองโกมาเป็นโปรเทเจของตนเอง เนื่องจากแซมมี่นั้นมี “สัญชาติญาณอันแรงกล้า และมีพลังที่จะค้นหาคำตอบของคำถามแรก” นั่นก็เป็นเพราะว่าเขาเกิดในประเทศที่ไฟสงครามยังคุกรุ่นอยู่ในฉากหลัง เขาเติบโตมาในประเทศที่ความสับสนเป็นบ่อเกิดของคำถามขัดแย้งมากมายภายในใจของเขา เขาไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ที่วกวนอยู่ในจิตใจของเขาได้จากสภาวะแวดล้อมที่เขาอยู่ เขาจึงแปรเปลี่ยนความสับสนใจในนั้นออกมาเป็นผลงานทางศิลปะที่มีความหมายเร่าร้อนรุนแรงอันส่งผลกระทบต่อจิตใจ ของผู้ดูได้อย่างลึกซึ้ง
หลังจากการเคี่ยวกรำและทำงานร่วมกันอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน ผลงาน Essay on Urban Planning ก็ปรากฏโฉมอยู่ที่พาวิลเลียนของเบลเยี่ยม และประติมากรรมรูปโดม The Other Memorial ก็ไปปรากฏอยู่ที่พาวิลเลียนหลักในงาน Venice Biennale 2015 อย่างเต็มภาคภูมิ
And the New Mentors Are …
โปรเจ็กต์ The Rolex Mentor and Protege Arts Initiative รอบที่แปดประจำปี 2016-2017 นั้นกำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนนี้ เรามาทำความรู้จักกับเมนเตอร์เจ็ดคนบนยอดพีระมิดของทั้ง เจ็ดสาขาเพื่อเตรียมพร้อมชื่นชมผลงานสุดอลังการที่จะมาประดับ วงการศิลปะของโลกภายใต้การนำของ Rolex ไปพร้อมกัน เมนเตอร์ทุกคนมีดีกรีติดตัวทั้งผู้กำกับรางวัลออสการ์ นักเขียนมือดีที่สุดจากแอฟริกา ผู้ประพันธ์ดนตรีสุดเก๋าของวงการดนตรีสมัยใหม่ ผู้กำกับและศิลปินมืออาชีพ สถาปนิกชื่อดัง นักออกแบบ ท่าเต้นผลงานคับแก้ว รวมไปถึงศิลปินแนวทดลองรางวัลคับกล่อง Rolex ได้จัดงานประกาศรายชื่อเมนเตอร์ทั้งเจ็ดคนอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อปลายปี 2015 และทุกคนก็พร้อมที่จะต้อนรับโปรเทเจแล้ว
Ohad Naharin(63 ปี)
เขาเป็นหนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นที่มีวิสัยทัศน์ และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ให้กับ Batsheva Dance Company ที่ประเทศอิสราเอล เป็นที่รู้จักกันในวงการว่าเขาชอบทดลองใช้สไตล์และมูฟเมนต์ใหม่ๆ ที่น่าตื่นตา ตื่นใจในงานของเขา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ การเคลื่อนไหวกระเพื่อมไปทั่วทั้งวงการ นักเต้น และผู้หลงใหลในเสียงเพลง
Joan Jonas(80 ปี)
เธอได้รับฉายาว่าเป็น ยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกัน
อวองการ์ด” ผู้คร่ำหวอดในวงการแสดงและวิดีโอมากว่าห้าทศวรรษ ผลงานอันน่าตื่นตะลึงของเธอได้เข้าร่วมฉายไปทั่วโลก ได้รับการชื่นชมทั้งในเรื่องวิช่วลสุดอลังการ การตัดต่ออันเป็นเอกลักษณ์ และการเลือกใช้ดนตรีประกอบอันแสนบรรเจิด งานของเธอได้จัดแสดงพาวิลเลียนอเมริกันในงาน Venice Biennale 2015 ที่ผ่านมานี้ด้วย
Mia Couto(60 ปี)
นักเขียนคนสำคัญของทวีปแอฟริกา นวนิยาย เรื่องสั้น และบทกลอนของเขาถูกถ่ายทอดด้วยภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ นวนิยายเรื่องแรกของเขา Terra Sonambula (Sleepwalking Land) ได้รับเลือกว่าเป็นหนังสือแอฟริกันที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ยี่สิบ ทำให้เขาได้รับรางวัล Neustadt International Prize for Literature ไปเมื่อปี 2014 และเขาได้รับเสนอชื่อชิงรางวัล Man Booker International Prize ปี 2015 อีกด้วย
Philip Glass(79 ปี)
เขาคือหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในวงการดนตรีอเมริกัน เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในไลน์ดนตรีที่ใช้โครงสร้างซ้ำๆ เขาทำงานหลากหลายทั้งประพันธ์เพลงซิมโฟนี คอนแชร์โต ซาวด์แทรกประกอบภาพยนตร์ ไปจนถึงโอเปร่า ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาที่สุดได้แก่ Einstein on the Beach ที่เขาร่วมงานกับอดีตเมนเตอร์ของ Rolex อย่าง Robert Wilson (โรเบิร์ต วิลสัน)
Robert Lepage(58 ปี)
ผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวทีชาวแคนาดาผู้นี้มากความสามารถ เขาสามารถรับบทผู้กำกับภาพยนตร์ ละครเวที ไปจนถึงโอเปร่า และสามารถรับหน้าที่เขียนบทและนักแสดงได้อีกด้วย ผลงานสไตล์อวองการ์ดของเขาได้รับความนิยมจาก ผู้ชมทั่วโลก เขาเป็นหัวหน้าบริษัทโปรดักชั่นใหญ่อย่าง Ex Machina ซึ่งกำกับคอนเสิร์ต เพลงร็อกและละครสัตว์รวมไปถึงละครสัตว์ ระดับโลกอย่าง Cirque du Soleil อีกด้วย
Alfonso Cuarón(54 ปี)
เขาคือผู้กำกับเชื้อสายเม็กซิกันคนสำคัญของ วงการ มีผลงานสร้างชื่อทั้งเรื่อง Great Expectations (1998), Harry Potter and the Prisoner of Azkaban (2004) และภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่องล่าสุดอย่าง Gravity (2013) ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สองตัวซ้อนในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม ถือว่าเป็นชาวเม็กซิกันคนแรกที่ได้รับรางวัลใหญ่ขนาดนี้
Sir David Chipperfield(62 ปี)
สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษผู้มีแนวคิดเรื่อง การออกแบบว่าด้วยการให้คุณค่ากับ สสาร การดำรงอยู่ถาวร และความหมาย” ผลงานหลักๆ ได้แก่ Neues Museum ที่กรุงเบอร์ลิน อาคาร Museo Jumex ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ รวมไปถึง Turner Contemporary Gallery ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมันก็ได้กลายมาเป็นแลนด์มาร์ก แห่งใหม่ของประเทศในศตวรรษที่ 21 นี้