ภาพยนตร์หลายเรื่องโด่งดังเป็นพลุแตกเมื่อเปิดตัวด้วยความแปลกใหม่ในเนื้อหา เทคนิคการถ่ายทำ วิธีการเล่าเรื่อง หรือความว้าวอะไรบางอย่างในเนื้อเรื่องจนทำรายได้ถล่มทลาย มีแฟนๆ ติดตามเหนียวแน่น จนกระทั่งสตูดิโอผู้สร้างเห็นช่องทางทำมาหาเงินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จึงเข็นภาคสองออกมาเพราะเห็นว่ามีกลุ่มแฟนพันธุ์แท้อยู่แล้ว ไม่ต้องทำการตลาดมาก และไม่ต้องเสี่ยงหากลุ่มแฟนๆ กลุ่มใหม่ แต่เป็นที่น่าแปลกใจ (แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่หรอก เอาเข้าจริง) ที่รายได้ของภาพยนตร์ภาคต่อหลายต่อหลายภาคเข้าขั้น “แป้ก” พ่วงด้วยเสียงก่นด่าสรรเสริญเยินยอของแฟนพันธุ์แท้ของภาพยนตร์นั้นๆ เรามาสำรวจกันดีกว่าภาพยนตร์เรื่องไหนควรที่จะหยุดการสร้างไว้ตั้งแต่ภาคแรก เพื่อยกให้กลายเป็นตำนานของวงการไปยาวๆ
1 Now You See Me (2013)
เปิดตัวได้แบบว้าวสุดๆ กับภาพยนตร์มายากลสุดล้ำว่าด้วยการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างนักมายากลผู้ยิ่งใหญ่สองคน โดยมีการเปิดและปิดฉากภาพยนตร์ด้วยฉากกลสุดว้าวที่ทำให้คนดูต้องตื่นตะลึง ถือเป็นภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องมายากลที่ทำได้ดีอันดับต้นๆ ของภาพยนตร์แนวนี้ ดังนั้น เมื่อมันมีภาคสองอย่าง Now You See Me 2 (2016) กลฟินาเล่ของภาคสองจึงไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ “ว้าว” ให้กับคนดูได้เท่ากับภาคแรก และนี่ยังไม่รวมถึงเนื้อเรื่องหลักที่อาศัย “ความเป็นไปไม่ได้” เป็นเรื่องหลักโดยเน้นหนักยิ่งกว่าภาคแรก บอกได้คำเดียวว่า ความตื่นตะลึงที่คุณเคยสัมผัสจากภาคแรกนั้นจืดจางหายไปโดยสิ้นเชิง
2 Independence Day (1996)
ถือเป็นภาพยนตร์เอเลี่ยนไซไฟยุคแรกๆ ของวงการ ซึ่งก็สร้างปรากฏการณ์เอเลี่ยนฟีเวอร์ไปทั่วโลก ณ เวลานั้น ทั้งฉากบุกโลกอันน่าตื่นตะลึง ภาพความประทับใจของฮีโร่ผู้เสียสละเพื่อปกป้องโลก เป็นภาพยนตร์ยุคแรกๆ ที่ทำให้เราคิดได้ว่า “ใครก็เป็นฮีโร่ได้” ถือว่าเป็นการทิ้งท้ายความประทับใจในวัยเด็กของใครหลายๆ คนได้ดี และเมื่อภาคใหม่ Independence Day: Resurgence (2016) นั้นเลือกที่จะดำเนินรอยตามสูตรเดิมเป๊ะๆ แบบยี่สิบปีผ่านไปไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พูดกันตรงๆ ว่าถ้าดูย้อนอดีต ระลึกถึงวัยเยาว์ แบบเห็นตัวละครภาคแรกเติบโตขึ้น แก่ลง และล้มหายตายจากไป ก็คงจะเป็นหนังที่ดูเพลินๆ สนุกดี แต่เราก็แอบเสียดายเบาๆ ว่า ถ้าปล่อยให้ความทรงจำมันถูกแช่แข็งอยู่แบบนั้นบางทีมันอาจจะดีกว่าก็ได้
3 Psycho (1960)
ภาพยนตร์สุดโรคจิตของผู้กำกับไอคอนแห่งวงการอย่างอัลเฟรด ฮิทช์คอกที่ส่งให้แอนโธนี เพอร์คินส์ดังเปรี้ยงปร้างจากบทนอร์แมน เบทส์กับภาพลักษณ์สุดโรคจิต พร้อมฉากชวนสยองตอนจบที่กลายเป็นภาพจำถาวรของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดไปแล้ว และเราเห็นตรงกันใช่ไหมว่า Psycho ภาคอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้น ไม่มีใครจดจำอะไรจากมันได้เลย แต่แฟรนช์ชายส์นี้อาจจะมาแก้ตัวได้นิดหนึ่งจากซีรีส์ชุด Bates Motel ที่ได้ดาราเจ้าบทบาทอย่างเฟรดดี้ ไฮมอร์มาสวมบทเป็นนอร์แมน เบตส์ตอนเด็กช่วงเวลาก่อนที่เขาจะกลายมาเป็นพระเอกในภาพยนตร์ในตำนาน แต่ก็อย่างว่า … ปล่อยไว้เป็นตำนานอาจจะดีกว่าก็ได้นะ เราว่า
4 Jurassic Park (1993)
ปฏิเสธไม่ได้เลยกับมาสเตอร์พีซระดับตำนานของพ่อมดแห่งวงการฮอลลีวูดที่ปลุกไดโนเสาร์ขึ้นมาเดินโลดแล่นบนจอภาพยนตร์พร้อมด้วยเนื้อเรื่องสุดบรรเจิดอย่างสวนสัตว์ไดโนเสาร์ ซึ่งจูราสสิค ปาร์คนั้นขึ้นหิ้งไปอย่างไม่ต้องสงสัยทั้งเรื่องเทคนิคการถ่ายทำ เทคนิคซีจี การดำเนินเรื่องที่ตื่นเต้นเร้าใจ โอเค … เรายอมรับว่าเนื้อเรื่องและวัตถุดิบมันน่าจะเอาออกมาสร้างภาคแล้วภาคเล่าก็จริงอยู่ แต่เราก็ยังแอบเสียดายทุกครั้งที่เห็นจูราสสิคแฟรนไชส์ยุคหลังๆ ที่ออกมากี่ภาคต่อกี่ภาคก็ไม่ยักจะสนุกและน่าตื่นเต้นได้เท่ากับภาคแรกเลย
5 Zoolander (2001)
ภาพยนตร์สุดฮาแบบฉุดไม่อยู่เรื่องนี้คงทำให้หลายต่อหลายคนหัวเราะท้องคัดท้อแข็งกันมาแล้ว แต่เราเชื่ออย่างหนึ่งนะ คุณลองเปิดดูครั้งที่สองสิ คุณคิดว่ามันจะขำเท่ากับครั้งแรกไหม … มันก็เหตุผลเดียวกับความแป้กของ Zoolander 2 (2016) นั่นล่ะ มันคือมุกที่เราเคยขำ เมื่อมันมารีรันซ้ำ ไอ้ที่เคยขำ มันก็ฝืด มุกใหม่ๆ ก็ใช่ว่าจะมี ถือเป็นภาพยนตร์คอมเมอดี้ที่เราแอบเสียใจจริงๆ ที่มีภาคสอง
6 The Hangover (2009)
แกงค์เพื่อนซี้สุดป่วนทำเรารักได้ไม่ยากจากปาร์ตี้สุดโฉดในภาคแรกและความเละเทะหยำเปของพวกเขา พฤติกรรมแบบนี้ทำเราอินได้ง่ายๆ เพราะเชื่อเถอะว่า หนุ่มๆ ลอปติมัมก็ล้วนแล้วแต่เคยผ่านประสบการณ์สุดๆ แบบนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ก็อย่างว่า … อะไรที่มันมากไปก็ใช่ว่าจะดี The Hangover Part II (2001) และ The Hangover Part III (2013) ก็ดำเนินรอยตามสูตรเดิมเป๊ะๆ เปลี่ยนแค่เวลาและสถานที่ … เหมือนกับกินเหล้าเดิมในขวดเดิมเสียด้วยซ้ำ ถ้าปล่อยให้ความเรื้อนของแกงค์เพื่อนซี้ไว้ให้เป็นตำนานต่อไป จะดีกว่าหรือเปล่า เราแอบสงสัย
7 The Blair Witch Project (1999)
ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องแม่มดถ่ายทำด้วยกล้องมือถือด้วยมุมมองที่แหวกแนว ลงทุนต่ำเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลายเพราะเทคนิคการถ่ายทำและการนำเสนอที่ถือว่าล้ำมากในขณะนั้น ถือเป็นภาพยนตร์สยองขวัญอินดี้ที่จับตลาดวงกว้างได้อย่างพลิกความคาดหมาย มันจึงเกิดปรากฏการณ์ Blair Witch หรือปรากฏการณ์กล้องส่ายกันทั่วบ้านทั่วเมือง และนั่นก็ทำให้ Book of Shadows: Blair Witch 2 (2000) ออกมาแป้กสนิท เพราะเหตุผลเหมือนที่กล่าวมา คือมุกเดิมๆ ที่ไม่สามารถสร้างความว้าวได้เท่ากับภาคแรกแล้วนั่นเอง และแว่วมาว่าตอนนี้กำลังจะมี The Blair Witch Project III ออกมาอีกด้วยนะ … พอเถอะ … เราแอบขอร้องดังๆ
8 Finding Nemo (2003)
ภาพยนตร์สุดน่ารักสำหรับเด็กน้อยเรื่องนี้หลุดเข้ามาติดโผเราด้วยก็เพราะว่า ภาคแรกนั้นให้ความอบอุ่นในใจได้อย่างครบถ้วน มันเป็นภาพยนตร์ที่น่ารัก น่าเอ็นดู และทำให้เราลุ้นไปกับชะตากรรมของเจ้านีโม่ตัวน้อยและครอบครัวได้จนจบเรื่อง และเมื่อ Finding Dory (2006) ออกมานั้น ก็เหมือนกับเรานั่งดูเทปม้วนเดิมที่ถูกกรอกลับเท่านั้นเอง … เปล่านะ … เราไม่ได้บอกว่าการตามหาดอรี่ไม่สนุก มันก็สนุก น่ารัก สดใสเหมือนเดิม แต่มันเหมือนเดิมไง … หาอะไรใหม่ๆ มาหลอกเงินในกระเป๋าเราเถอะ ขอร้องล่ะ
Content by Maya