architect expo 59
งานสถาปนิก 59 ปีนี้ก็น่าสนใจเหมือนเช่นเคย เป็นงานที่ได้พบกับนวัตกรรมและสัมผัสแนวคิดสร้างสรรค์มากมาย แต่สิ่งที่ผมอยากหยิบยกมาพูดถึงเป็นพิเศษก็คือการเชิญสถาปนิกต่างประเทศ มาใน ASA International Forum ซึ่งก็มีทุกปีนะครับ แต่ปีนี้มีสถาปนิกญี่ปุ่นที่มีชื่อชั้นระดับโลกมาพูด เป็นอีกคนหนึ่งที่สถาปนิกไทยหลายคนชื่นชมผลงาน นอกเหนือจากชื่อที่เราคุ้นกันอย่างทาดาโอะ อันโดะ ในขณะที่เราเชิญระดับโลกมาได้ งานของสถาปนิกไทยก็ได้รับการยอมรับในเวทีโลกเช่นกัน ที่สำคัญเป็นโปรเจ็คต์ขนาดเล็ก แต่มีความหมายยิ่งใหญ่มาก
SANAA
ใน ASA International Forum ครั้งนี้ ได้เชิญคู่หูสถาปนิกจาก SANAA บริษัทสถาปัตย์ญี่ปุ่นซึ่งก่อตั้งโดย 2 สถาปนิก คือคาซุโย่ เซจิม่า (Kazuyo Sejima) และ เรียว นิชาซาว่า (Ryue Nishizawa) ผู้เคยได้รับรางวัล Pritzker Prize (ซึ่งเทียบเท่ารางวัลโนเบลในวงการสถาปัตยกรรม) มาแล้ว และเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่รับ รางวัลนี้ด้วย ฟังดูยิ่งใหญ่มากใช่ไหมครับ แต่ผมว่าคนไทยหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับงานออกแบบของพวกเขาดี ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยไปเที่ยวย่านช้อปปิ้งอย่างโอโมเตะซันโดะมาแล้ว ก็ตึก Christian Dior ยังไงล่ะครับ ตึกนี้คือหนึ่งในงานสร้างชื่อของพวกเขาเลยครับ
SANAA เป็นสถาปนิกญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับใน ระดับสากล ได้รับการว่าจ้างไปออกแบบงานที่ต่างประเทศหลายครั้ง และส่วนใหญ่ก็ประสบความสำเร็จสูงด้วย เช่นที่ New Museum ในนิวยอร์ก หรือ Rolex Learning Center ในโลซานน์ รวมถึงงานที่ได้รับเชิญไปออกแบบอย่างที่ Serpentine Pavilion ในลอนดอน ซึ่งจะเชื้อเชิญสถาปนิกที่กำลังมาแรงให้มาออกแบบงานในพื้นที่ เพื่อให้ ผู้คนได้เข้ามาชม สำรวจ และเรียนรู้จากผลงาน ในปี 2009 นั้น SANAA ก็ได้นำเสนอภาพสะท้อนของท้องฟ้าที่ราวกับจำลองเมฆมาไว้ ในสวน ทั้งยังดูเหมือนกับสระน้ำลอยได้ในขณะเดียวกัน ด้วยการใช้วัสดุสะท้อนเงารอบข้างให้เข้ามาอยู่ในฟอร์มอิสระเหมือนจะเคลื่อนที่ได้ ทำให้ผู้คนที่มาเยือนได้รับประสบการณ์ที่ดีจากงานสถาปัตยกรรม นี่ก็เป็น อีกงานหนึ่งที่หลายคนจดจำความเป็น SANAA
ผลงานล่าสุดของพวกเขาคือ River Building ที่ Grace Farm ซึ่งเป็น อาคารสาธารณะอยู่ในเนินเขา งานออกแบบนี้สร้างความฮือฮาด้วยฟอร์มที่เลื่อนไหลเหมือนสายน้ำ ดูเผินๆ คล้ายว่าแนวทางของพวกเขาคือการเล่น กับรูปทรงอิสระ แต่จริงๆ แล้วเขามีวิธีการเข้าถึงโจทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละงาน ในมุมมองของผม ผมคิดว่าแก่นการออกแบบของพวกเขาคือการทำงานให้กลมกลืนเข้าหาพื้นที่ตั้ง ไม่ออกแบบข่มสภาพแวดล้อม แต่ให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็ตรึงสายตาด้วยกระบวนการ บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับความต่อเนื่อง หรือการเลือกวัสดุเฉพาะสำหรับงานนั้นๆ หลายครั้งมักใช้วัสดุที่โปร่งใส โปร่งแสง หรือสะท้อนเงา ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งรอบตัว แต่ดูสะดุดตาไปพร้อมๆ กัน นี่คือเสน่ห์และตัวตนของ SANAA ที่ทำให้งานออกแบบ ของพวกเขาเป็นมากกว่า Modern Japanese และมีความเป็นสากลมาก ผมว่าใครที่ไม่พลาดฟอรัมของ SANAA จะได้วิธีคิดและแรงบันดาลใจกลับไปมากมายเลยครับ ผมก็เช่นกัน
โรงเรียนพอดี พอดี
สถาปัตยกรรมนั้นไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล แต่สถาปัตยกรรมจะยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ถ้าได้ตอบโจทย์สังคม เช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 ซึ่งนอกจาก บ้านเรือนจะเสียหายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อโรงเรียนอีกหลายแห่งด้วย จึงทำให้กลุ่ม Design for Disasters จุดประกายความคิดที่จะทำโครงการ สร้างโรงเรียนที่สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้ เกิดเป็นความร่วมมือระหว่างหลายองค์กรด้วยกัน เช่น Design for Disasters สมาคมสถาปนิก สยามในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิศวกรรมสถานในพระบรมราชูปถัมภ์ เอกชนต่างๆ และที่สำคัญคือสถาปนิก 9 คนที่เต็มใจมาออกแบบให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด โครงการนี้วางแผนก่อสร้างโรงเรียนทั้งหมด 9 แห่ง ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ขณะนี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว ซึ่งเป็นผลงาน ของ Vin Varavarn Architects และโรงเรียนบ้านหนองบัว ผลงานของ junsekinoarchitect แต่ละแห่งนั้นทีมงานได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยถึงปัญหา การออกแบบโครงสร้างเพื่อรับมือกับแผ่นดินไหว รวมทั้งหาวัสดุในพื้นที่นำมาใช้ผสมผสานกัน ทำให้เกิดดีไซน์ที่ลงตัว ใช้การได้ดี และยั่งยืนอีกด้วย
โครงการที่มีแนวคิดเพื่อสังคมและทำออกมาได้ดีแบบนี้ ก็ได้รับ คัดเลือกไปร่วมแสดงในนิทรรศการที่ Venice Biennale 2016 ด้วย ซึ่งจะเริ่มต้น 28 พฤษภาคมนี้ยาวไปถึงเดือนพฤศจิกายนเลย โดยจะนำดีไซน์ของโรงเรียนพอดี พอดีทั้ง 9 แห่งก็จะนำมาแสดงในงานที่นั่นครับ ซึ่งถ้าใครมีโอกาสก็น่าไปชมนะครับ ปีนี้มี Alejandro Aravena สถาปนิกชาวชิลีเป็นคิวเรเตอร์ ซึ่งเขาตั้งกรอบหัวข้อในปีนี้ว่า “Reporting from the Front’ ผมว่าโครงการนี้ก็สามารถตีความเข้ากับหัวข้อนี้ได้สบายๆ เลย
นอกจากนี้ผลงานออกแบบโรงเรียนบ้านห้วยส้านยาว ยังได้เข้ารอบเป็น Finalist สาขา Educational Architecture จาก 2016 Archdaily Building of the Year Awards ซึ่งทางเว็บไซต์ Archdaily.com จัดเป็นประจำทุกปี แม้จะไม่ได้เป็น The Winner แต่ก็น่าภูมิใจอยู่ดี เพราะเป็นโครงการเล็กๆ โครงการเดียว ท่ามกลางโครงการใหญ่ๆ อีก 4 โครงการ แสดงว่าสาระของที่นี่ก็ต้องสูสีกับโครงการที่มีสถาปนิกระดับโลกรับผิดชอบอยู่เลยทีเดียว ผมรู้สึกว่าโครงการนี้ดีมาก และจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีความร่วมมือจากหลากหลายองค์กรแบบนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว วงการสถาปัตยกรรมเราก็ต้องการผู้ริเริ่ม ไม่ใช่แต่เฉพาะคนในวงการ เช่น กลุ่ม Design for Disasters ซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวของทุกคนขึ้นมา ผมขอชื่นชมจากใจเลยครับ
ไม่ว่าจะเป็นงานของสถาปนิกระดับโลกอย่าง SANAA หรือโครงการเล็กๆ ของกลุ่มคนไทยเราต่างก็มีคุณค่าและได้รับการยอมรับระดับสากล เช่นกัน ผมว่าทั้งหมดอยู่ที่การใส่ใจในแก่นของการออกแบบที่แสดงทั้งตัวตนของสถาปนิก และความพยายามคลี่คลายโจทย์ของแต่ละพื้นที่ให้ดีที่สุดครับ
Content by Vasu V.