Trail of Frank LLoyd wright
ทันทีที่เข้าสู่เขตเมืองคลีฟแลนด์ (Cleveland) เราได้เห็นเค้าลางอดีตอันรุ่งโรจน์ของที่นี่ซึ่งเคยเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ของอเมริกา เพราะว่าเมื่อขับไปตามถนนไฮเวย์ก่อนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองนั้น เราจะผ่านหุบเขาที่เผยให้เห็นร่องรอยของการปรับปรุงสภาพพื้นที่รกร้างในอดีตให้สามารถใช้งานได้ และเนื่องจากเป็นเขตเวลาที่ต่างกันกับที่บ้านเรา ช่วงกลางคืนของที่นี่จึงแสนสั้นและช่วงกลางวันจะยาวนานมาก เราจำต้องตื่นและเดินทางต่อไปยังเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ติดกันห่างออกไปไม่กี่สิบไมล์แต่กินพื้นที่ไกลไปจนถึงเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) สุดชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าเราต้องลาจากริมฝั่งทะเลสาบอีรี (Erie) เพื่อไปเยี่ยมเยียนดินแดนท้องทุ่งที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา โดยต้องลัดเลาะไปให้ถึงที่ตั้งของ “บ้านน้ำตก” (Falling Water House) สุดยอดบ้านในตำนานของสถาปนิก แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) ซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ของเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburg) ราวหกสิบไมล์ ไม่ไกลจากหมู่บ้านมิลล์ รัน (Mill Run) นัก
บ้านพักหลังนี้มีระเบียงของแต่ละชั้นเหลื่อมซ้อนกันและปลูกคร่อมอยู่บนธารน้ำตกในใจกลางป่าใหญ่ หากใครไม่รู้จักที่นี่แล้วละก็ ถือได้ว่าพลาดผลงานชิ้นเอกของสถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกันคนนี้ไปแล้วจริงๆ แต่จะอย่างไรก็ช่างเถิด ถึงตอนนี้เราก็ได้เห็นมันแล้วอย่างเต็มตา อันที่จริง บ้านพักหลังนี้ตระกูลคอฟแมน (Kaufmann) เจ้าของเครือธุรกิจห้างสรรพสินค้าของพิตต์สเบิร์กได้ว่าจ้างไรต์ให้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1935 ในเวลานั้น ไรต์ ถือว่าเป็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของอเมริกา เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1890 เป็นต้นมา ผู้คนต่างกล่าวขวัญถึงแนวคิดทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของเขาที่ต้องการผสมสร้างรูปแบบศิลปะการตกแต่งอาคารด้วยวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น หิน และ ไม้ อันเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ “อินทรียสถาปัตยกรรม หรือ Organic Architecture” นั่นเอง
ลินดา แว็กกอเนอร์ (Lynda Waggoner) ผู้จัดการบ้านพักหลังนี้ซึ่งปัจจุบันสถาบันการดนตรีแห่งเพนซิลเวเนีย (Conservatory of Pensylvania) เป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ ได้กล่าวถึงสไตล์แบบบ้านนี้ว่า “ครอบครัวคอฟแมนได้ให้แนวทางการสร้างบ้านหลังนี้ไว้อย่างชัดเจน นั่นคือให้สร้างบ้านสำหรับไว้พักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นแบบกระท่อมไม้ในสมัยก่อน และปลูกไว้บนที่ที่มีลำธารและน้ำตกไหลผ่าน” ทว่า “กระท่อม” หลังใหม่ดังกล่าวได้ไปไกลเกินกว่าที่วาดฝันเอาไว้เพราะสุดท้ายแล้วได้กลับกลายเป็น “คฤหาสน์ขนาดย่อม” ดีๆ นี่เอง หลังจากใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปี ครอบครัวคอฟแมนอันประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกชายทั้งหลายก็ได้มาพักผ่อนสุดสัปดาห์อย่างสงบสุข ณ ที่แห่งนี้สมดังใจ นอกจากนี้คุณลินดายังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “บ้านหลังนี้ไรต์ได้สร้างให้มันเป็นอาภรณ์จากห้องเสื้อชั้นสูง หาใช่เสื้อขายยกโหลตามท้องตลาด ทั้งนี้ เขาได้ลงพื้นที่ศึกษาสำรวจอย่างจริงจัง แล้วจึงรังสรรค์บ้านพักให้เป็นประหนึ่งชะง่อนผาหินขนาดมหึมาตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธารน้ำตก แตกต่างจากที่ตระกูลคอฟแมนคิดเอาไว้ในตอนแรก และภายในบ้าน เขาก็ได้บรรจงวาดลวดลายตกแต่งไปเสียทุกสิ่งอัน ไม่เว้นแม้แต่เฟอร์นิเจอร์” ห้องภายในบ้านจึงล้วนได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ดังเช่น ห้องรับประทานอาหารที่ถูกเลือกให้อยู่ตรงระเบียงคฤหาสน์หินผา ซึ่งสามารถมองเห็นจากภายนอกได้อย่างชัดเจน และครอบครัวคอฟแมนเองก็ชอบมาปิกนิกกันที่นี่บ่อยๆ
หลังจากเที่ยวบ้านน้ำตกเสร็จ เรายังนึกไม่ออกเลยว่าจะไปเจออะไรที่น่าประหลาดใจได้มากไปกว่านี้แล้ว แต่ใครจะรู้กันล่ะว่าที่ดันแคนเฮ้าส์ (Duncan House) จุดหมายปลายทางต่อไปก็น่าหลงใหลไม่แพ้กัน ที่นี่เป็นบ้านพักหนึ่งในหกหลังโดยฝีมือการออกแบบของไรต์ที่เราสามารถเข้าพักได้ เราจึงขับรถไปที่นั่นโดยใช้ถนนไฮเวย์ สาย 381 ที่ลดเลี้ยวไปตามทุ่งหญ้าป่ากว้าง และพบว่ามีโบสถ์เมทอดิสต์ (Methodist) และอิแวนจิลิสต์ (Evangelist) อยู่ตามรายทางมากกว่าโรงแรมและร้านอาหารเสียอีก แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีของที่นี่ ที่ในปี ค.ศ.1950 ได้มีกลุ่มสถาปนิกนำโดย ปีเตอร์ เบิร์นสตัน (Peter Berndston) ศิษย์เก่าของไรต์เข้ามาพัฒนาพื้นที่ป่าให้กลายเป็นรีสอร์ทตากอากาศประกอบด้วยบ้านพักทั้งหมดจำนวน 20 หลัง ทว่าท้ายที่สุดปีเตอร์ก็สร้างได้แล้วเสร็จเพียงสองหลังเท่านั้น ซึ่งถือว่ายัง
ไม่เพียงพอสำหรับที่จะบุกเบิกธุรกิจรีสอร์ทแบบเฉพาะดังกล่าว อนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการประกาศขายดันแคนเฮ้าส์ซึ่งเป็นบ้านแบบสำเร็จรูปและราคาประหยัดที่ไรต์ออกแบบขึ้นในปี ค.ศ.1957 และลอรา อาร์เจนไบรท์ (Laura Argenbright) ผู้จัดการรีสอร์ทได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “บ้านหลังนี้เดิมอยู่ที่รัฐอิลลินอยส์ แต่ถ้าดูคอนเซ็ปต์ของตัวบ้านแล้ว หากย้ายมันมาอยู่ที่นี่คงจะสร้างรายได้ให้ไม่น้อยเลย” ดังนั้น ทางรีสอร์ทจึงได้ซื้อและขนย้ายดันแคนเฮ้าส์มาปลูกใหม่ที่ โพลีแมท ปาร์ค รีสอร์ท (Polymath Park Resort) แห่งนี้ ที่จริงแล้ว คอนเซ็ปต์ของดันแคนเฮ้าส์ก็ออกจะเรียบง่ายกว่าบ้านน้ำตก อยู่มาก เพราะมันถูกออกแบบให้เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวพร้อมห้องใต้ดิน มีหลังคาเป็นเพิงแหงนเรียบๆ โครงสร้างมีลักษณะคล้ายกระสวยอวกาศคือมีเพียงห้องใหญ่ห้องเดียวทำด้วยหินและมีมุมทำครัวอยู่ในตัว ดูไปแล้วเหมือนกับว่าดันแคนเฮ้าส์นั้นได้สร้างไว้ที่รีสอร์ทแห่งนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที แถมยังกลมกลืนไปกับป่าทึบโดยรอบอีกต่างหาก คุณลอราได้พูดปิดท้ายว่า “มองให้ดีจะเห็นได้ว่ารีสอร์ทนี้ให้บริการลูกค้าเหมือนกับเป็นเกสต์เฮ้าส์ด้วยเหมือนกัน เพราะสามารถจองบ้านพักทางโทรศัพท์หรือทางอินเตอร์เนตก็ได้ จากนั้นก็นัดมารับกุญแจ แล้วคุณก็จะได้เป็นเจ้าของบ้านของสถาปนิกในตำนานในทันที”
ต่อจากนั้นเราได้ขับรถลงใต้ไปตามถนนไฮเวย์ สาย 381 จนถึงยังปลายเนินเขาเคนตัก น็อบ (Kentuck Knob) ณ ที่แห่งนี้ ในช่วงยุค 50 ครอบครัวเฮแกน (Hagan) ได้ว่าจ้างไรต์ให้สร้างบ้านพักทำด้วยไม้และหินเปลือยพร้อมตกแต่งด้วยเหล็กดัดรูปหกเหลี่ยมขึ้น นับเป็นผลงานการออกแบบบ้านลำดับท้ายๆ ของ ไรต์ แล้วเพราะในขณะนั้นเขามีอายุได้ 86 ปี อย่างไรก็ดี บ้านที่เคนตัก น็อบ นี้ก็มีความงดงามแปลกตาไม่น้อยไปกว่าบ้านน้ำตกเลย เพราะที่นี่ ไรต์ได้บรรจงเสกสร้างผลงานที่หลอมรวมมนุษย์เราให้เข้ากับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ต่อมาในปี ค.ศ.1986 คุณเฮแกนได้ล้มป่วยลงอย่างหนัก จึงได้ตัดสินใจขายบ้านหลังนี้ แพทริเซีย คอยล์ (Patricia Coyle) เจ้าหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์บ้านเคนตัก น็อบหลังน้อยนี้ กล่าวย้ำถึงประเด็นดังกล่าวว่า “แต่โชคดีที่ ลอร์ด พาลัมโบ (Lord Palumbo) หนุ่มผู้คลั่งไคล้งานสถาปัตยกรรมได้มาซื้อบ้านหลังนี้ต่อและได้เปิดให้ผู้คนสามารถเข้ามาชมได้ บ้านหลังนี้จึงยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน” และในบรรดาเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวกับไรต์นั้น
เรารู้สึกสนใจใคร่รู้เรื่องของเนมาโคลิน วูดแลนด์ รีสอร์ท (Nemacolin Woodlands Resort) ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมครบวงจรขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ห่างจากที่นี่ไปเพียงไม่กี่ไมล์ เมื่อไปถึงที่นั่น เราจำต้องตกตะลึงกับภาพของบรรดาอาคารที่มีสถาปัตยกรรมอันงดงามเหมือนฝันตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลาง ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาคารโรงแรม ชาโต ลาฟาแย็ตต์ (Château Lafayette) ที่ทอดตัวยาวอวดความหรูหราอลังการเฉกเช่นเดียวกับโรงแรมริตซ์ (Ritz) ในปารีสที่เป็นต้นแบบ และโดยเฉพาะอาคารโรงแรม ฟอลลิง ร็อก (Falling Rock) ที่มีรูปทรงราวกับว่าออกมาจากโต๊ะเขียนแบบของไรต์อันที่จริงแล้ว โรงแรมนี้มีศิษย์เก่าของโรงเรียนการสถาปัตยกรรมที่ไรต์ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นผู้ออกแบบโดยใช้สไตล์ศิลปะเดียวกันกับบ้านน้ำตกของไรต์เพื่อดึงดูดใจลูกค้าที่ต้องการความสบายเป็นส่วนตัวนั่นเอง ที่นี่ประกอบไปด้วยสนามบินส่วนตัว สนามกอล์ฟขนาด 18 หลุมซึ่ง พีท ดาย (Pete Dye) เป็นผู้ออกแบบ ภัตตาคาร โฟร์ ไดมอนด์ (Four-Diamonds) ห้องสวีทถึง 42 ห้องพร้อมด้วยแม่บ้านประจำแต่ละห้อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ด้วยลวดลายที่ เรียกได้ว่าเป็น “ไรต์ เจนเนอเรชันใหม่” เลยทีเดียว งานนี้แม้ว่าจะเป็น “แฝดคนละฝา” แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่านี่เป็น “เซอร์ไพร์ส” ของจริง…
Content by Olivier Reneau, Photography by Philippe Levy, Translation by Arthit Wongsanga