ข่าวการจากไปของสถาปนิกหญิงระดับตำนาน Zaha Hadid ด้วยโรคหัวใจ ในวัย 65 ปี เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกที่ทำให้หลายคนช็อก เสียงคร่ำครวญดังระงมกับความสูญเสีย ตั้งแต่กรุงเทพฯ แบกแดด ไปจนถึงลอนดอน เพราะเธอคือสถาปนิกหญิงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา
เกิดที่ประเทศอิรักในครอบครัวชนชั้นมีผู้อันจะกิน ก่อนสงครามจะทำให้อิรักกลายเป็นสมรภูมิรบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ Zaha Hadid และครอบครัวต้องอพยพมาอยู่ประเทศอังกฤษ ที่ซึ่งเธอเปรียบเหมือน ‘พลเมืองชั้น 3’ เพราะเป็นทั้งผู้หญิง ชาวต่างด้าว และมุสลิม ในคนคนเดียวกัน แต่ในที่สุดเธอก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการออกแบบสถาปัตยกรรมของโลกด้วยงานออกแบบที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว รูปทรงที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว รื้อสร้างความน่าเบื่อของรูปทรงเรขาคณิต สะท้อนเสรีภาพและจิตวิญญาณของโลกยุคปัจจุบัน ช่วยยกระดับให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นงานศิลปะ
1.เธอผู้ไม่ยอมแพ้
แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมของ Zaha Hadid นั้นล้ำยุคเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ด้วยฟอร์มที่แปลกประหลาด ทลายไอเดียแบบเดิมๆ ช่วงแรกๆ ของชีวิตการทำงานของ Zaha ถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน แม้แต่ขนาดโปรเจ็คต์ที่ชนะการประกวดแบบจ่อเตรียมสร้างแล้วอย่าง Hong Kong Peak ในปี 1982 ก็ถูกล้มไม่เป็นท่า เพราะดีไซน์ของเธอนั้นล้ำเกินยุค ผลงานยุคแรกของ Zaha Hadid Architects จึงเป็นงานสถาปัตยกรรมบนกระดาษ (paper architecture) เสียส่วนใหญ่ กว่าจะได้ทำโปรเจ็คต์สร้างจริงก็ล่วงเลยมาจนปี 1994 นั่นก็คือ โปรเจ็คต์สถานีดับเพลิงเล็กๆ ในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ Vitra ซึ่งก็เป็นงานที่แจ้งเกิดอย่างสวยงาม ปัจจุบันเธอมีผลงานกว่า 950 โปรเจ็คต์ ใน 44 ประเทศทั่วโลก
2.หญิงแกร่งท่ามกลางโลกของผู้ชาย
เป็นที่รู้กันดีว่าแวดวงสถาปัตยกรรมนั้นเป็น ‘โลกของผู้ชาย’ แต่ Zaha ก็พิสูจน์ความสามารถด้วยผลงานสร้างสรรค์อันยอดเยี่ยม จนแม้แต่ชายอกสามศอกก็ยากที่จะปฏิเสธว่ามันโคตรเจ๋ง เธอเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกที่ได้รับ Pritzker Prize รางวัลอันทรงเกียรติยศสูงสุด เปรียบได้กับรางวัลโนเบลทางสถาปัตยกรรม ในปี 2004
3.ผู้นำเทคโนโลยีและดีไซน์
งานออกแบบของ Zaha Hadid นั้นมีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ ฟอร์มที่เฟี้ยวฟ้าวสร้างความตื่นตาให้กับผู้พบเห็น โดยเธอริเริ่มแนวคิด Parametric Design หรือ การออกแบบโดยใช้อัลกอริทึ่มทางคณิตศาสตร์และตัวแปร ในการสร้างฟอร์ม ให้เป็นรูปทรงต่างๆ สถาปัตยกรรมจึงสะท้อนบริบทของสภาพแวดล้อม เป็นคนแรกๆ ที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างที่ไม่เคยมีสถาปนิกคนไหนเคยทำมาก่อน ตัวอย่างเช่นอาคารพาวิเลี่ยน ถอดประกอบได้ที่เธอออกแบบให้กับแบรนด์แฟชั่น Chanel
4.พลังนารีพิฆาต
จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่งานสถาปัตยกรรมที่ Zaha Hadid ออกแบบนั้นเต็มไปด้วยพลังของเพศหญิง หรือ ‘พลังศักติ’ แตกต่างจากอาคารทั่วไปที่สถาปนิกชายออกแบบที่มักเป็นทือตรงเป็น ‘แท่งศิวลึงค์’ อย่างงานออกแบบสนามกีฬาสำหรับโอลิมปิกที่ประเทศการ์ตาร์ อาจเพราะ Zaha นั้นเธอใส่พลังศักติมากไปหน่อย จนทำให้หลายคนวิจารณ์ว่าอาคารมีรูปร่างเหมือน ‘อวัยวะเพศหญิง’ ขนาดยักษ์! แน่นอนว่าหญิงแกร่งอย่างเธอ ก็แค่ยักไหล่ใส่เสียงเม้ามอยที่ไม่มีค่าเหล่านั้น
5.Queen Z แห่งโลกแฟชั่น
แม้ว่ารูปร่างจะไม่ได้หุ่นเพรียวลมเหมือนนางแบบสาว Gigi Hadid แต่ Zaha เป็นผู้ที่ขึ้นชื่อว่าแต่งกายได้เจิดสุดๆ คนหนึ่ง หลายคนยกให้เธอเป็นแฟชั่นตัวแม่ แม้ว่าเรามักจะเห็นเธอปรากฏกายอยู่ในเสื้อผ้าอัดพลีตของ Issey Miyake เสียส่วนใหญ่ แต่สถาปนิกไทยที่เคยทำงานในสำนักงานของเธอ เคยเล่าว่า Zaha น้ันชื่นชอบชุดผ้าไหมมัดหมี่ของไทยเหมือนกัน!
6.ไฟต์ไม่ถอยต่อความอยุติธรรม
เธอเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งที่สุดคนหนึ่ง เพราะการสร้างงานสภาปัตยกรรมที่มีวิสัยทัศน์ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการ แม้ว่าจะมีชื่อเสียงระดับโลกแต่ Zaha Hadid Architects ก็ยังไม่วายโดนคว่ำแบบที่เธอชนะการประกวดอีกหน คราวนี้เป็นการประกวดแบบอาคารสนามกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว แม้ว่าจะชนะอย่างใสสะอาด ถูกต้องตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่ก็มีมีเสียงคัดค้าน นำโดยกลุ่มสถาปนิกญี่ปุ่น ว่าแบบของเธอนั้นดูเหมือน ยานอวกาศขนาดมหึมา แปลกแยก และทำลายภูมิทัศน์เมือง เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเสียใจ (แต่ไม่แคร์) ที่เห็น เพื่อนๆ สถาปนิกที่รู้จักมักคุ้นกันดีอย่าง Toyo Ito, Kengo Kuma, Fumihiko Maki รวมหัวล็อบบี้ให้คว่ำแบบ ส่วนกรรมการโอลิมปิกให้เหตุผลอย่างเป็นทางการว่าเนื่องจากค่าก่อสร้างอาคารนั้นบานปลาย (แล้วทำไมไม่พิจรณาเสียตั้งแต่ตอนคัดเลือกแบบ???) แม้ Zaha พยายามแก้แบบเพื่อประนีประนอมอยู่หลายครั้ง แต่ในที่สุดก็โดนบอกยกเลิก
Zaha ให้ความเห็นว่า ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องของค่าก่อสร้างหรอก แต่เป็นเพราะลัทธิชาตินิยมต่างหาก พวกเขาไม่อยากให้มีงานออกแบบระดับชาติของสถาปนิกต่างชาติอยู่ในโตเกียว แต่สิ่งที่ทำให้ เธอโกรธสุดๆ คือ แบบก่อสร้างของ Kengo Kuma ที่นำมาแทนแบบของเธอนั้น คล้ายกับงานดีไซน์ของเธอสุดๆ ทั้งรูปทรง การวางผังโดยรวม การจัดการกับทางสัญจรอันซับซ้อน ทั้งๆ ที่ Zaha Hadid Architects ใช้เวลาพัฒนาแบบว่า 2 ปี แต่ Kengo Kuma ทำแบบตั้งแต่ต้นจบจบเพียงแค่ 14 สัปดาห์! แถมล่าสุดคณะกรรมการโอลิมปิก ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าแบบ หากว่าเธอไม่ยอมรับเงื่อนไขที่เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรม นั่นก็คือ แบบดีไซน์ทั้งหมดเป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการ สามารถเอาไปปรับใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข! (คาดว่าเพราะกลัวโดนฟ้องเพราะความคล้ายคลึงของวิธีแก้ปัญหาในการออกแบบ) เรื่องนี้กำลังไฟท์กันถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล ทว่า Zaha Hadid ก็อำลาโลกไปเสียก่อน