Land of Faith
เพื่อนบ้านของประเทศไทยในทางภูมิศาสตร์ ที่เพิ่งเปิดตัวสู่ประชาคมโลก ‘สาธารณรัฐสหภาพเมียนมา’ ยังคงเป็นดินแดนแห่งศรัทธาที่อบอวลไปด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างไม่เสื่อมคลาย
นับเป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปเที่ยวเยี่ยมเยือนประเทศเมียนมาหรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘พม่า’ เชื่อไหมว่า ความคาดหวังและการรับรู้ที่ถูกหล่อหลอมมาจากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์สมัยชั้นประถมศึกษาได้ถูกลบทิ้งไปจนหมดสิ้น สิ่งแรกที่ผมสัมผัสได้ตั้งแต่อยู่ที่สนามบินคือคนเมียนมานั้นมีแววตาและสีหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความจริงใจ ซึ่งนับเป็นความประทับใจแรกทันทีที่มาถึงประเทศนี้ “มิงกะลาบา สวัสดีทุกคนครับ เดี๋ยวเราจะไปรับประทานข้าวเที่ยงกันก่อนนะครับ หลังจากนั้นเราจะไปไหว้พระที่เมืองหงสาวดีกัน” ไกด์หนุ่มชาวเมียนมาสวมโสร่ง ซึ่งเป็นชุดประจำชาติกล่าวต้อนรับเป็นภาษาไทยแต่แฝงไว้ด้วยสำเนียงพื้นถิ่นที่เราคุ้นหูได้อย่างฉะฉาน
สำหรับการเดินทางไปเที่ยวเมียนมา หลายคนคงมีจุดหมายอยู่ที่การได้ไปไหว้พระ ขอพร (เป็นที่น่าสังเกตว่าบ้านเราก็มีวัดวาอารามมากมาย ทำไมคนไทยถึงต้องดั้นด้นมาแค่ไหว้พระถึงที่นี่) แต่สำหรับผมแล้ว การได้เดินทางมาต่างบ้านต่างเมืองคือการได้มาดูโลก ศึกษาและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมการกิน การอยู่ ความเหมือนและข้อแตกต่าง และการที่จะเข้าใจวิถีชีวิตของคนเมียนมาได้ดีที่สุดก็คือการทำตัวเองให้เหมือนหรือใกล้เคียงชาวเมียนมาให้มากที่สุดนั่นเอง
หลังจากที่ผมอิ่มกับอาหารมื้อแรกในเมืองย่างกุ้งแล้ว ก็เริ่มเดินทางเข้าสู่เมืองหงสาวดีที่คนไทยคุ้นชื่อกันดี แต่คนเมียนมาเรียกเมืองนี้ว่าเมืองพะโค (Bago) อดีตเคยเป็นเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งประมาณ 80 กิโลเมตร ที่เมืองพะโคนี้มีพระธาตุเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง คือ เจดีย์ชเวมอดอร์ หรือที่คนไทยคุ้นชื่อว่า พระธาตุมุเตา (Shwe Mordore) หากยังจำกันได้ ในภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ฉากเมืองหงสาวดี เราจะเห็นสิงห์คู่ตัวใหญ่ ที่นี่ละครับที่ผมจะได้เห็นสิงห์คู่แบบเดียวกับในภาพยนตร์แต่เป็นของจริงครับ บนยอดของพระธาตุมุเตานี้บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ และเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศเมียนมา ซึ่งสูงถึง 114 เมตร มีอายุกว่า 2,000 ปี เป็น 1 ใน 5 ของพระธาตุที่สำคัญที่สุดของประเทศเมียนมาโดยพระธาตุแห่งนี้คือสถานที่ทำพิธีเจาะพระกรรณของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ สมัยที่ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ พระองค์ฝ่าทหารมอญที่เป็นศัตรูเข้ามาด้วยการนำทัพของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งฝ่ายทหารมอญก็ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ แก่พระองค์ได้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จนยอดเจดีย์หักพังทลายลงมา จึงได้บูรณะสร้างยอดเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยยอดเจดีย์เดิมที่พังลงมาก็ยังตั้งอยู่ที่เดิมในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้คนเข้ามากราบไหว้สักการะอย่างใกล้ชิด เป็นธรรมเนียมและวัฒนธรรมที่คนไทยหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเข้ามากราบไหว้พระที่ประเทศเมียนมานั้นต้องถอดรองเท้ากันตั้งแต่เริ่มเข้าอาณาเขตวัด เนื่องด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า โดยแสดงถึงความเคารพ อ่อนน้อมอย่างสูงสุด
ทันทีที่รถจอดเทียบท่า ไกด์ของเราก็ได้แจ้งข้อธรรมเนียมปฏิบัติ ผมก็รีบเปลี่ยนกางเกงเป็นโสร่ง ถอดรองเท้าทิ้งไว้ที่รถ (แม้แต่ถุงเท้าหรือถุงน่องสำหรับสุภาพสตรีก็ต้องถอด) ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคือสิงห์คู่ที่หน้าบันไดสูง ตรงทางขึ้นพระธาตุในท่านั่งตระหง่านราวกับจะคอยตรวจตราผู้คนที่เดินผ่านไปมาจนผมเองก็นึกยำเกรงอยู่ไม่น้อย หลังจากตระเตรียมซื้อดอกไม้ ธูปเทียนบริเวณทางขึ้นจากพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นแล้ว ผมก็เริ่มกวาดสายตาสังเกตผู้คนชาวเมียนมาที่เดินผ่านไปมา ชายชาวเมียนมาทุกคนสวมโสร่ง มือถือข้าวของท้องถิ่น เตรียมเสนอขายให้นักท่องเที่ยว บ้างก็นั่งจิบน้ำชาที่ร้านข้างทาง หญิงสาวชาวเมียนมาแทบทุกคนก็สวมผ้าถุงมีแป้งทานาคาปะหน้าไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญว่าคุณได้ถึงเมียนมาอย่างเป็นทางการแล้ว “ไม่ใช่เฉพาะคนแก่เท่านั้นนะครับที่จะมาวัด คนที่มาวัดมีตั้งแต่คนหนุ่มสาวไปจนถึงคนแก่เลย คนที่นี่ผูกพันกับวัดมาตั้งแต่เกิด ถ้าไม่ไปวัดก็จะไปพักผ่อนตามสวนสาธารณะ เพราะเราไม่มีห้างสรรพสินค้า โรงหนังหรือสถานที่บันเทิงอื่นๆ มากเหมือนเมืองไทย” ไกด์ของเราเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจ แต่เชื่อเถอะ ในใจผมอยากจะตอบเขาไปว่าคนเมียนมาโชคดีกว่าคนไทยเยอะเลย และภาพสุดท้ายที่ฝังอยู่ในหัวผมคือภาพของครอบครัว เด็กเล็ก คนหนุ่มสาวชาวเมียนมาที่ขึ้นมาสักการะพระธาตุด้วย ‘ความสงบ’ บ้างนั่งสวดมนต์ บ้างก็นั่งสมาธิ บางคนนั่งจับกลุ่มคุยกันเงียบๆ ผมเชื่อว่าคุณจะสัมผัสได้ถึงความศรัทธาเลื่อมใสในแก่นของพระพุทธศาสนาของคนเมียนมาได้จริงๆ
จุดมุ่งหมายอีกแห่งหนึ่งที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเมืองย่างกุ้ง คือ การเดินทางไปไหว้สักการะ ‘พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง’ (Shwedagon Pagoda) เมืองย่างกุ้ง (Ranggoon) คืออดีตเมืองหลวงของประเทศเมียนมา ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำอิระวดี เคยเป็นเมืองท่าเก่าของชาวมอญ ชื่อว่า ดากอง (Dagon) จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2298 กษัตริย์อลองพญาเข้ามายึดครองและเปลี่ยนชื่อเป็นย่างกุ้ง ระหว่างทางจากที่พักไปเจดีย์ชเวดากอง นั่งรถผ่านเมืองไปนั้น แวบหนึ่งชวนให้ผมนึกถึงกรุงเทพฯ นอกจากการจราจรที่หนักหนาสาหัสไม่ต่างกันแล้ว ความเจริญทางวัตถุที่ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้ผมกลัวเหลือเกินว่าเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์จะค่อยๆ เลือนหายไปไม่ต่างจากบ้านเรา “คนเมียนมาลำบากมากนะครับ ในเมืองใหญ่ ค่าครองชีพสูงมาก ถ้าเทียบกับรายได้ที่ควรจะได้รับ” ไกด์ของเราอธิบายถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมียนมาให้เราฟัง ชวนให้ ผมนึกยิ้มในใจ พลางคิดว่าคนกรุงเทพฯ เองก็คงไม่ต่างกันสักเท่าไร ผมมองออกไปนอกหน้าต่างรถที่นั่งอยู่ ได้เห็นยอดเจดีย์ชเวดากองอยู่สุดสายตา ยอดสีทองสุกสว่างไสวโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางเมืองสีเทาทะมึนที่วุ่นวายราวกับว่าไม่มีสิ่งใดจะรบกวนทำอันตรายได้เลย ทันทีที่เท้าเปล่าของผมได้สัมผัสอาณาเขตของเจดีย์ชเวดากอง พร้อมคณะทัวร์ทั้งชาวยุโรป ชาวจีนและแน่นอนว่าชาวไทยอยู่มากมาย ผมก็ไม่สามารถต้านทานความยิ่งใหญ่ ความสวยงามตระหง่านตรงหน้าได้ ผมจนคำพูด ไม่สามารถอธิบายออกมาได้อย่างละเอียด คุณต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง
พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองตั้งอยู่บนเนินเขาเชียงกุตระ คำว่า ‘ชเว’ หมายถึง ‘ทอง’ ส่วนคำว่า ‘ดากอง’ คือชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง ส่วนยอดของพระเจดีย์บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าจำนวน 8 เส้น ไม่นับรวมเพชรพลอยจำนวนมากมาย และทองคำที่พอกทับอยู่บริเวณครึ่งบนของพระเจดีย์ โดยคนที่ศรัทธานำมาถวายไว้ ตามหลักฐานภาพถ่ายมีเพชรเม็ดใหญ่ขนาด 76 กะรัตประดับอยู่ที่ส่วนยอด ตามตำนานเล่าว่าพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองสร้างขึ้นเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วโดยพี่น้องพ่อค้า 2 คนที่ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและนำพระเกศาทั้ง 8 เส้นกลับมาไว้บูชาและสร้างเจดีย์ดังกล่าว เจดีย์ได้ถูกบูรณะเรื่อยมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอูได้สร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ให้สูง 18 เมตร จนในปัจจุบันมีความสูงอยู่ที่ 98 เมตร มีทางขึ้นลงทั้งหมด 4 ทิศ รอบพระเจดีย์มีพระประจำวันเกิดให้ผู้คนได้สักการะ ระหว่างที่ผมเดินสำรวจความงดงามของศิลปะเมียนมาที่เป็นเอกลักษณ์ราวกับต้องมนต์สะกด ผมสังเกตว่าแม้บริเวณพื้นเจดีย์จะเปิดโล่ง แต่ถือว่าสะอาดมาก จนไกด์ของเราอธิบายให้ฟังว่า “ทุกวัดในเมียนมานั้น พอตกเย็นคนจะเข้าวัดถือไม้กวาดบ้าง ไม้ถูพื้นบ้าง มาทำความสะอาดวัดกันจนเป็นกิจวัตร เป็นวิถีชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว พุทธศาสนาที่เมียนมาจึงเป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่ของคนเมียนมา คุณสังเกตไหมว่าคนเมียนมาไม่จำเป็นต้องห้อยสร้อยพระไว้ที่คอหรือพกวัตถุมงคลอะไรติดตัวเลย คนเมียนมาไม่มีเครื่องรางของขลัง ไม่มีคำว่า ‘พุทธพาณิชย์’ เราไม่เอาสิ่งที่เราเคารพบูชามาทำการค้า เราไม่จำเป็นต้องเอาวัตถุอุปโลกน์มาติดตัวไว้ เพราะพุทธศาสนาอยู่ในหัวใจทุกคนอยู่แล้ว ถ้าคุณเห็นใครมาบอกว่านี่คือวัตถุบูชาจากเมียนมาให้รู้ไว้เลยว่าคุณโดนหลอกแล้ว” ไกด์ชาวเมียนมาคนเดิมของผมพูดติดตลก แต่ทำให้ผมได้กลับมาคิดทบทวนอะไรต่อมิอะไรได้หลายเรื่องทีเดียวครับ หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยเรียนรู้กันแต่ในตำราบ้าง ฟังคนเล่าต่อๆ กันมาบ้างนั้น อาจจะแตกต่างกันไปเลย เมื่อคุณได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง
Content by Chanond M.