Sound of Love
เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่ผมง้างเเป้นพิมพ์ ว่าจะเขียนถึงดนตรีแจ๊ซ มาหลายรอบ ในที่สุดก็ได้เขียนถึงเสียที เพราะแจ๊ซเป็นดนตรี สายเเข็ง’ เเละซับซ้อนที่สุดในสายตาของผม ขอออกตัวก่อนเลยว่า ผมไม่ได้ถนัดเรื่องเเจ๊ซสักเท่าไหร่ ผมพยายามทดลองมาเเล้วหลายรอบ ใช้เวลาเกือบทศวรรษในการซึมซับ คัดงานที่ถูกจริตตัวเอง (ขออนุญาตใช้ศัพท์สายธรรมะเขาฮิตกันซักนิด) ดนตรีเเจ๊ซ เปรียบเหมือน อิสรภาพทางความคิด บางครั้งซับซ้อน บางครั้งง่ายต่อ การเข้าใจ บางครั้งก็ยาก เปรียบเหมือน ความรักในจิตใจของมนุษย์
ผู้เขียนเองเเทบจะไม่มีงานดนตรีสายแจ๊ซเก็บสะสมเป็นของตัวเองมากนัก ทั้งฟอร์เเมทเเผ่นเสียงซีดี หรือเเม้เเต่ดิจิตอลไฟล์ เนื่องมาจากไม่ได้หลงใหล เเละมีอยู่ยุคหนื่ง แผ่นเสียงเพลงเเจ๊ซมีราคาสูงมาก ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นเคยผ่านมือมาหมดเเล้ว เเต่ก็ไม่ได้ซื้อหาเก็บไว้
ย้อนกลับไปหลายปีก่อนในบ้านเรา ก่อนที่ดนตรีสาย EDM (Electronic Dance Music) จะมาครอบงำพื้นที่ทุกตารางนิ้ว เทศกาลดนตรีต่างๆ นั้นเคยมี ‘เเจ๊ซ’ เป็นที่สุดของความฮิปมาก่อน ไม่ว่าจะเทศกาล งานบุญ งานกฐิน ต้องมี คำที่โคตรจะ Cliché นั่นก็คือ เเจ๊ซเฟสติวัล โดยเฉพาะเทศกาลช่วงใกล้ฝนกลางปี ถ้ายังจำกันได้ ไม่รู้ปัจจุบันยังมีอีกหรือเปล่า นั้นก็คือ หัวหินเเจ๊ซเฟส …. จัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เอเจนซี่ดันกระจุย ออร์กาไนซ์ รวยเละ สปอนเซอร์เเฮปปี้ คนมาร่วมงานล้นทะลัก ดารา เซเล็บ (ทั้งขบเเละไม่ขบ) มากันมากมาย แต่ถ้าว่ากันจริงๆ ผมว่าไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ที่ชื่นชอบเพลงเเจ๊ซอย่างจิงจัง ผมเคยไปเเอบถามผู้ที่มาร่วมงานหลายหลายครั้งว่า รู้จักเพลงเเนวนี้ไหม? ชอบศิลปินหรือเปล่า? ส่วนใหญ่ยิ้มเเห้งๆ บอกว่าที่มาเพราะเพื่อนชวน เห็นเขานิยมกัน จึงเป็นที่มาของกระเเสฮิตดนตรีเเจ๊ซ ในช่วงนั้น แต่ก็ถือว่าดีนะครับ เป็นการเปิดโลกการฟังเพลงให้กว้างขึ้น ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป ความนิยมของ ‘เเจ๊ซเฟส’ ก็ค่อยๆ เสื่อมลง กลายเป็นความทรงจำทั้งที่ดีเเละไม่ดีปะปนปนกันไปของออร์กาไนเซอร์เเละเอเจนซี่ในยุคนั้น
พูดถึงสายเเจ๊ซ เคยมีโสดาบันเเห่งวงการเพลงเเจ๊ซเตือนผมว่า อย่าไปได้ลองเสพ เพราะถ้าติดใจขึ้นมานี่งานเข้าแน่ เพราะมันมีหลากหลาย เเบ่งเป็นหลายยุค ซับซ้อนยิ่งกว่าดนตรีป็อป ดนตรีร็อค ถ้าได้เริ่มสะสม อาจถึงขั้นขายบ้านขายรถกันเลยทีเดียว เพราะว่าแจ๊ซเสื่อมความนิยมไปมาก ตอนนี้ก็เลยเป็นยุคทองของคนที่อยากเริ่มฟัง เริ่มเก็บสะสม โดยเฉพาะในรูปแบบของเเผ่นเสียง คุณสามารถหาซื้อแผ่นปั๊มเเรกๆ ที่ผลิตในยุค 50-70 คุณภาพเสียงดี สุดๆ และสภาพเนี้ยบกริบได้ในราคาไม่ถึงพันสำหรับดนตรีเเจ๊ซที่ผมจะมาเล่าถึงคราวนี้
สำหรับเทศกาลเเห่งความรัก (เทศกาลที่รัฐบาล และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ จับตาเฝ้าระวัง ไม่ต่างกับ 7 วันอันตรายในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พยายามป้องกันเยาวชน วัยรุ่น ไม่ให้ประพฤติมิดีมิงามในวันนี้) อัลบั้มเเจ๊ซที่ฟังง่าย สวยงาม มีเมโลดี้ไม่ซับซ้อน เหมาะกับวันเทศกาลนี้ ผมขอเเนะนำซาวด์เเทร็กภาพยนตร์จากฝั่งเมืองผู้ดี ที่ติดโผ 1 ใน หนังที่ดีที่สุดของฝั่งอังกฤษ นั้นก็คือ Alfie ภาพยนตร์จากยุค 1966 กำกับโดยผู้ล่วงลับ Lewis Gilbert เขาเคยกำกับภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ในยุคโรเจอร์ มัวร์ มาหลายตอน เเละ Alfie ก็ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจากเทศกาลเมืองคานส์ เและถูกนำมารีเมคอีกครั้ง ในยุค 2000 โดยได้พระเอกสุดเท่อย่าง Jude Law มาเป็นดารานำ
ความสวยงามของซาวด์เเทร็ก Alfie เหมาะสำหรับนิยามของความรักเเละเสรีภาพ เพราะได้สุดยอดเเห่งวิถีเเจ๊ซยุคใหม่ จากปลายทศวรรษ ที่ 50 นั่นก็คือ ซันนี โรลลินส์ (Sunny Rollins) เสาหลักเเห่งวงการดนตรีเเจ๊ซ โรลลินส์เป็นเด็กหนุ่มวัยเพียง 26 ปี จากกรุงนิวยอร์ก ที่สามารถสร้างงานดนตรีขั้นสูง กับผลงานดนตรีแจ๊ซเเบบ 3 ชิ้นหรือทรีโอ
อัลบั้มชุด Way Out West ของซันนี โรลลินส์ ขย่มคอเเจ๊ซเเละนักวิจารณ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 10 นักเป่าแซ็กโซโฟนที่ดีที่สุดของโลก อัลบั้ม Way Out West อาจเป็นอัลบั้มหยุดโลกในสายเเจ๊ซ เเต่สำหรับผม ยอมรับว่าความรู้ทางดนตรีสายนี้ยังไม่กล้าเเกร่งพอ ส่วนตัวผมชอบซาวด์เเทร็ก Alfie ที่ โรลลินส์ผลิตงานคุณภาพ สวยงาม ฟังง่าย เเละมีคลาส ติดหู นอกจากหนังจะดีเเล้ว เเผ่นนี้ยังอัดด้วยศิลปินแจ๊ซที่โด่งดังมาร่วมงานอีกมากมาย Alfie’s Theme เพลงไตเติ้ลที่ยาวกว่า 9 นาที จะทำให้คุณเคาะจังหวะความรัก เเละดนตรีในหัวใจของคุณออกมาโดยไม่รู้ตัว
อัลบั้มนี้มีความยาวเพียงแค่ครึ่งชั่วโมง ถือว่าเป็น ซาวด์เเทร็กประกอบภาพยนตร์ที่สั้นมาก เเต่ฟังสุดเพลิน เหมาะกับช่วงเวลาวาเลนไทน์ใต้เเสงเทียน (หรือเเสงนีออน)
จะแนวไหนที่คุณผู้อ่านชอบ อย่าลืมคว้าเเผ่น Alfie ของซันนี โรลลินส์ พกติดรถติดตัว ไว้เปิดเอาใจเพศตรงข้าม (หรือจะเพศเดียวกัน หรือไม่มีเพศก็ได้ครับ)
Content by Patrick Chainam, Credit Photography by ZUMAPRESS.com