DESIGNING THE EXTRAORDINARY
1 คำถามที่เต็มไปด้วยแนวคิดที่แข็งแรง แล้วค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ให้ถึงที่สุด นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม ดูเป็นกระบวนการออกแบบที่ใครๆ ก็อาจทำได้ ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำออกมาดี
ผมกำลังพูดถึงนักออกแบบชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งโดดเด่นไม่เหมือนใคร เขาสร้างงานได้ทุกสเกล ตั้งแต่ประติมากรรม เฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบภายใน สาธารณูปโภค ไปจนถึงอาคารขนาดเล็กและใหญ่ โดยที่เขาไม่ได้เป็นสถาปนิกด้วยซ้ำ แต่ด้วยกระบวนการคิดและความคิดนอกกรอบทำให้ ทุกวันนี้เขาคือคนที่โลกจับตามอง นักออกแบบคนนี้คือ โธมัส เฮเธอร์วิค
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้ไปเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โป เมื่อปี 2010 แล้ว ไม่พลาดการเข้าชมพาวิลเลียนของประเทศอังกฤษที่ต้องต่อแถวรอเข้านานมาก คุณก็จะได้สัมผัสกับงานออกแบบของเฮเธอร์วิคแล้ว ผมต้อง ต่อคิวถึง 5 ชั่วโมง และได้ใช้เวลาเข้าชมงานอยู่ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลา ที่คุ้มค่ามากสำหรับผม งานนี้เต็มไปด้วยพลังการสร้างสรรค์ บวกกับความคิดเชิงวิศวกรรมและงานช่างฝีมือ ทำให้พาวิลเลียนนี้ไม่ได้เป็น แค่อาคารที่มีนิทรรศการแสดงอยู่ภายใน แต่เปลี่ยนวิธีสร้างอาคารไปโดยสิ้นเชิง
ผลงานที่ชื่อ ‘Dandelion’ นี้ ออกแบบเชื่อมโยงระหว่างภายใน กับภายนอก ภายนอกนั้นดูเหมือนลูกบาศก์ขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้น จากท่ออะคริลิกใสยาว 7.5 เมตร จำนวน 60,000 ท่อ ปักเรียงรายกัน ให้ความรู้สึกถึงพลังที่พวยพุ่งออกมา ในขณะที่ปลายท่ออะคริลิกด้านใน ฝังเมล็ดพันธุ์พืชไว้ถึง 250,000 เมล็ด และออกแบบเป็นนิทรรศการให้ ผู้เข้าชมได้สัมผัสถึงความอัศจรรย์ของการเพาะปลูกอันเป็นรากฐานของชีวิต นอกจากนี้ยังออกแบบแลนด์สเคปด้านนอกให้ผู้คนได้เดินเล่น นั่งเล่น ใช้เวลาเฝ้าสังเกตผลงานสร้างสรรค์นี้ได้โดยรอบ ซึ่งด้านหนึ่งของลูกบาศก์ สามารถมองเห็นเป็นเส้นโครงของธงชาติอังกฤษได้ด้วย
นอกจากเฮเธอร์วิคจะสามารถแสดงความเป็นอังกฤษได้ดีแล้ว เขายังตอบโจทย์รัฐบาลที่ว่าจ้างเขามาสร้างผลงานเพื่อให้ติดท็อป 5 ของงาน ปีนั้น ซึ่งพาวิลเลียนของอังกฤษก็สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทองไปได้เลย นับเป็น 1 ในผลงานที่สร้างชื่อให้เขาในระดับโลก ความคิดสร้างสรรค์ที่ออกนอกกรอบของเขาทำให้ตอนนี้โครงการเจ๋งๆ ระดับโลกต้องมีเฮเธอร์วิคเข้าไปมีส่วนร่วมเสมอ ล่าสุดมีงานใหม่ของกูเกิลซึ่งกำลังจะสร้าง Google Mountain View Campus ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก็มี เฮเธอร์วิคร่วมกันออกแบบกับ BIG ทีมสถาปนิกชื่อดังจากเดนมาร์ก
ผมได้เห็นงานของโธมัส เฮเธอร์วิคมาหลายงาน ผมรู้สึกถึงพลังงานการสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นของเขาเสมอ เมื่อปี 2012 ผมได้รับเชิญไปเป็นกรรมการตัดสินในงาน World Architecture Festival (WAF) 2012 (งานของผมในนามของ VaSLab ได้รับการคัดเลือกเป็น Finalist ในงาน WAF ปี 2009 Honda BigWing, ปี 2013 Casa de La Flora และ ปี 2014 Koh Talu Island Resort) จึงได้มีโอกาสพบและฟังการบรรยายของเฮเธอร์วิค ซึ่งได้รับเชิญมาเป็นผู้บรรยายในงาน ถือเป็นการฟังการบรรยายที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผมเลยทีเดียว
และโดยบังเอิญอีกครั้ง เมื่อเดือนที่แล้วผมเดินทางไปงานแต่งงานเพื่อนที่เซี่ยงไฮ้ และพบว่ามีนิทรรศการงานของโธมัส เฮเธอร์วิค แสดงอยู่ที่ Power Station of Art โดยใช้ชื่อว่า ‘New British Inventors: Inside Heatherwick Studio’ ซึ่งเล่ากระบวนการทำงานของเฮเธอร์วิคสตูดิโอผ่านผลงานหลายชิ้น ที่ล้วนแล้วแต่มีมิติที่แตกต่างกัน มันทำให้เราได้เห็นแก่นความคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์งานของเขา
Thinking, Making, AND Story Telling
อย่างที่บอกไปว่าเฮเธอร์วิคไม่ได้เป็นสถาปนิก แต่เขาเป็นนักออกแบบที่เรียนศิลปะการออกแบบ 3 มิติ มาจาก Manchester Polytechnic และการออกแบบผลิตภัณฑ์จาก Royal College of Art ด้วยความที่เขาไม่ได้เรียนมาในกรอบของสถาปัตยกรรม งานของเขาจึงตั้งอยู่บนแนวคิดหนึ่งแนวคิดที่แข็งแรง นั่นก็คือ Thinking, Making และ Story Telling แล้วผลักดันแนวคิดนั้นไปให้ถึงที่สุด ผลงานออกแบบที่ประสบความสำเร็จ ทุกชิ้นของเขาจะมี 3 สิ่งนี้เสมอ
Thinking คือ กระบวนการคิด ทุกงานของเขาจะเริ่มจากการตั้งคำถาม 1 คำถาม และพยายามหาคำตอบนั้นออกมาให้ได้ เช่น Spun เก้าอี้ลูกข่างก็เริ่มจากคำถามว่า “รูปทรงสมมาตรที่หมุนได้จะสามารถทำเป็นเก้าอี้ที่นั่งสบายได้หรือเปล่า”
Making คือ กระบวนการผลิต ความโดดเด่นอีกอย่างของเฮเธอร์วิค คือการค้นหานวัตกรรมการผลิตกับวัสดุทั่วไป เพื่อให้ได้ฟอร์มที่หลุดออกไปจากภาพจำเดิมๆ เขามีความคิดเชิงวิศวกรรม และสามารถทำงานประสานกับวิศวกรหรือช่างฝีมือ เพื่อทดลองสร้างรูปทรงใหม่ๆ ที่ข้ามขีดจำกัดของวัสดุ และเขาก็ไม่เคยจำกัดตัวเองอยู่กับวัสดุใดด้วย
Story Telling คือ การเล่าเรื่องที่มาของชิ้นงาน ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่มีตรรกะ ไม่ใช่เรื่องราวฟุ้งฝัน เช่น งานออกแบบคาเฟ่ริมทะเล East Beach Café นอกจากจะมีเรื่องของการหาวิธีออกแบบอาคารที่อยู่ ริมทะเลให้เชื่อมโยงกับทะเลได้แล้ว ยังมีตรรกะในการสร้างงานที่เป็น ‘โครงสร้างที่สร้างรูปทรง และรูปทรงที่สร้างโครงสร้างด้วย’ ซึ่งเป็นตัวอย่างแนวคิดที่น่าสนใจมาก
ไม่ว่าจะเป็นงานขนาดเล็กหรือใหญ่ เฮเธอร์วิคจะใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก ทำให้คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ถึงพลังของเขา ซึ่งคนแบบนี้ต้องมีแพสชั่นที่สูงมากเช่นกัน ไม่ใช่แค่จับดีไซน์มาทำเป็นธุรกิจแล้วก็สำเร็จ แต่ความเป็นนักสร้างสรรค์ของเขาอยู่ในสายเลือดเลย งานของคนแบบนี้มีความสำคัญมาก เพราะสามารถส่งต่อแรงบันดาลใจไปยัง ผู้อื่น และมีส่วนทำให้ชีวิตคนดีขึ้นได้ด้วยดีไซน์ ไม่ใช่แค่ตึกหรืองาน ชิ้นหนึ่งที่มีการใช้วัสดุแปลกตาโดยไม่คิดถึงบริบท แต่งานที่เฮเธอร์วิคทำ มีผลกับสิ่งรอบข้าง หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ผมขอยกอีก 1 ตัวอย่าง คืออาคารศูนย์การเรียนรู้ แห่งมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีนันยาง ที่สิงคโปร์ อาคารรูปไข่เหล่านี้ไม่ได้มีเพียงรูปทรงแปลก แต่ยังมีผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบของชั้นเรียนเก่าๆ จากการที่มีอาจารย์ยืนข้างหน้า นักเรียนนั่งข้างหลัง เป็นการนั่งแบบวงกลม ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักเรียนดีขึ้น นอกจากนี้ แต่ละชั้นเรียนยังไม่มีประตูกั้น ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นเรียนได้ ช่วยสะท้อนภาพการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้มีการแยกขาดระหว่างศาสตร์ แต่ยังบูรณาการหลายศาสตร์เข้าหากันด้วย
นักออกแบบอย่างเฮเธอร์วิคหาไม่ได้ง่ายๆ และผมก็อยากให้มี นักออกแบบอย่างเขาสักคนในประเทศของเรา ถ้าบ้านเมืองเรามีนักสร้างสรรค์ระดับนี้ก็คงดีไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมว่าก็ขึ้นอยู่กับโอกาสที่ได้รับด้วย เพราะโครงการที่มีผลต่อสังคม ไม่ใช่แค่โครงการเอกชน แต่ต้องเป็นโครงการระดับเมือง ระดับประเทศจากรัฐด้วย ที่น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดคลื่นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้เช่นเดียวกับ ที่พาวิลเลียนของอังกฤษ (โครงการรัฐ) สร้างให้แก่ประเทศอังกฤษเลย
“ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมกำลังสร้างงานศิลปะนะผมแค่ต้องการสร้างสิ่งที่มันน่าสนใจที่คนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้”
โธมัส เฮเธอร์วิค นักออกแบบ
Content by Vasu Virajsilp, Photography by Courtesy of Heatherwick Studio